ข้อคิดข้อรำพึง
พระวาจาพระเจ้า ของอาทิตย์ที่ 5 เทศกาลธรรมดา ปี B
เรื่องของโยบในบทอ่านแรกเป็นเรื่องที่น่ารับไว้พิจารณา
หนังสือโยบ เล่าเรื่องบุรุษผู้หนึ่งซึ่งดูเหมือนว่ามีความเพียบพร้อมเป็นอย่างยิ่งกับชีวิตในตอนต้นๆ เช่นว่า เขามีภรรยาที่น่ารัก มีลูกชาย 7 คน และลูกสาว 3 คน เขามีสมบัติพัสถานมากกว่าใครๆ เขาเป็นคนดี ไม่เคยใช้อำนาจและความร่ำรวยไปในทางที่ผิด มีแต่ใช้ในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการด้วยใจกรุณาเป็นอย่างยิ่ง
แต่ความศรัทธาในพระและความดีต่อผู้อื่นของโยบถูกทดสอบ
หายนะโถมกระหน่ำเข้ามาเหมือนระลอกคลื่นที่ไม่ยอมหยุด เขาสูญเสียครอบครัว สูญเสียเพื่อนๆ สูญเสียความโชคดี สูญเสียทรัพย์สมบัติ ผู้ส่งข่าวหรือ Messengers ต่างก็เข้ามารายงานให้โยบทราบแต่เรื่องที่น่ากลัว ที่ต้องสูญเสียไป และโศกนาฏกรรม สิ่งที่โยบทำได้ก็คือ ฉีกเสื้อคลุม โกนศีรษะแสดงความทุกข์ กราบลงหน้าจรดพื้น กล่าวว่า “ข้าพเจ้าตัวเปล่าออกมาจากครรภ์มารดา ข้าพเจ้าก็จะตัวเปล่ากลับไป องค์พระเจ้าประทานให้มา องค์พระเจ้าทรงเอาคืน”
เห็นไหมครับ แม้สูญเสียเกือบทุกสิ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่โยบไม่ยอมสูญเสียไป คือความเชื่อที่มีต่อพระเจ้า
โยบยังยากลำบากไปกว่าการสูญเสียของนอกกาย คือยังเสียสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บพากันมารุมเร้าท่านอีกด้วย แม้ภรรยาของท่านยังแนะนำโยบว่า ควรสาปแช่งพระเจ้า และตายไปเสีย แต่โยบก็ยังรักษาความเชื่อไว้มั่น
คนสมัยต่อๆ มา และโดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันที่โดนกระทำ มักโทษไปที่โชคชะตาว่าทำไมโหดร้ายเช่นนี้ อุตส่าห์ทำความดีทำไมถึงได้รับข่าวร้ายเป็นการตอบแทน แต่เชื่อไหมครับว่าโดนไม่ถึงครึ่งที่โยบได้รับหรอก บางคนโดนไปแค่ดอกเดียว เสียความเชื่อไปเลย เรื่องของโยบสอนเราได้มากถึงเรื่องความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของมนุษย์ คนที่ได้รับความยากลำบากต่างๆ ทั้งๆ ที่เป็นคนดี ไม่ใช่เป็นเหยื่อของพระเจ้า แต่การทนทุกข์ทรมาน มักมีความหมายพิเศษ ที่ในเวลานั้นๆ คนที่ได้รับอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจว่าทำไมพระเยซูเจ้าต้องยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน ก็คงจะเข้าใจหนทางแห่งความรอดพ้นได้ดีขึ้น
ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกเล่าเรื่องพระเยซูเจ้าทรงรักษาไข้แม่ยายของซีโมน โดยทรงจับมือนาง พยุงให้ลุกขึ้น ไข้ก็หาย และพอตกค่ำบรรดาคนเจ็บป่วย และถูกผีสิงในเมืองนั้น ต่างก็พากันมาหาพระเยซูเจ้า เพื่อให้ทรงรักษา จะเห็นว่า พระเยซูเจ้าเมื่อทรงเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานและการเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน(รวมทั้งของพระองค์ด้วย) มิได้ทรงคร่ำครวญตัดพ้อต่อว่าพระเจ้าแต่อย่างใด แต่กลับยื่นมือไปสัมผัสกับมัน และพยุงผู้ที่รับผลของความยากลำบากให้ลุกขึ้น พระองค์ทรงรักษาเยียวยาด้วยฤทธิ์อำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เชื่อไหมครับ ว่าการทำอัศจรรย์รักษาเยียวยาประชาชนต้องออกแรงเยอะ เพราะพระเยซูเจ้าทรงทุ่มเททั้งกายและใจ จนกระทั่งพอคนกลับไปหมด พระองค์ทรงปลีกวิเวกไปยังที่สงัดและทรงอธิษฐานภาวนา เพราะนี่เป็นการเพิ่มพลังชีวิตพระในพระองค์นั่นเอง
พี่น้องครับ ถ้าเราพบว่าเรามีแต่ความทุกข์ยาก ชีวิตมีแต่ความลำบาก คงพบคำตอบในพระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้แล้วนะครับ และคงรู้ด้วยว่า พระเยซูเจ้าทรงมองปัญหานี้อย่างไร ทรงจัดการกับปัญหานี้อย่างทุ่มเทเพียงใด และทรงเสริมเพิ่มพลังจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยวิธีใด เราคงต้องทำเช่นเดียวกัน
(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา อาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012)