แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 4

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 1:21-28)  

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อถึงวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรม และทรงเริ่มสั่งสอน คำสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์

      ทันใดนั้น ในศาลาธรรมชายคนหนึ่งซึ่งปิศาจสิงอยู่ ร้องตะโกนว่า ‘ท่านมายุ่งกับเราทำไม เยซู ชาวนาซาเร็ธ? ท่านมาทำลายเราใช่ไหม? เรารู้ว่าท่านเป็นใคร ท่านคือองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงดุมันและทรงสั่งว่า ‘จงเงียบ! ออกไปจากผู้นี้!’ เมื่อปิศาจทำให้คนนั้นชักและร้องเสียงดังแล้ว มันก็ออกไปจากเขา ทุกคนต่างประหลาดใจจึงถามกันว่า “นี่มันเรื่องอะไร เป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจ เขาสั่งแม้กระทั่งปิศาจและมันก็เชื่อฟัง’ แล้วกิตติศัพท์ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทุกแห่งตลอดทั่วแคว้นกาลิลีทันที


มก 1:21-22 เมื่อถึงวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรม: ถึงแม้ว่าพระองค์จะถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎของวันสับบาโต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามทำงานในวันสับบาโต) พระคริสตเจ้าไม่เพียงแต่ปฏิบัติตามกฎของโมเสสเพียงเท่านั้น แต่พระองค์ยังทรงเติมเต็มกฎนั้นให้มีความหมายครบถ้วนที่สุดด้วย

CCC ข้อ 2173 พระวรสารเล่าถึงหลายกรณีที่พระเยซูเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงเคยฝ่าฝืนความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้เลย พระองค์ทรงตีความหมายของกฎนี้อย่างทรงอำนาจ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27) พระคริสตเจ้าทรงใช้ความเห็นอกเห็นใจชี้ให้เห็นว่าทรงมีอำนาจทำดีในวันสับบาโต ไม่ใช่ทำชั่ว ช่วยชีวิตให้รอด ไม่ใช่ทำลายชีวิต วันสับบาโตเป็นวันแห่งพระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันถวายเกียรติแด่พระเจ้า “บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:28)


มก 1:23-28 บรรดาอาจารย์ของบทบัญญัติของโมเสสมักอ้างอิงถึงอำนาจของอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง และชาวยิวที่ขับไล่ปีศาจก็มักขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของอีกผู้หนึ่งเช่นกัน อย่างไรก็ตามพระคริสตเจ้าทรงสอนด้วยอำนาจของพระองค์เอง (เทียบ มก 1:22) และทรงขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจในพระนามของพระองค์เองเช่นเดียวกัน (เทียบ มก 1:27)

CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)