แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 1:14-20)  

หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า ‘เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด’

      ขณะที่ทรงดำเนินไปตามชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นซีโมนกับอันดรูว์น้องชายกำลังทอดแหอยู่ในทะเลสาบ เพราะเขาเป็นชาวประมง พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า ‘จงตามเรามาเถิด เราจะทำให้ท่านเป็นชาวประมงหามนุษย์’ ทันใดนั้น เขาก็ละแหไว้ แล้วตามพระองค์ไป

      เมื่อทรงดำเนินไปอีกเล็กน้อย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยากอบ บุตรของเศเบดี และยอห์นน้องชายกำลังซ่อมแหอยู่ในเรือ ทันใดนั้น พระองค์ทรงเรียกเขา เขาก็ละเศเบดี บิดาของเขาไว้ในเรือกับลูกจ้าง แล้วตามพระองค์ไป


มก 1:14-20 จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด : ในภาษากรีกคำว่า Metanoia มีความหมายว่า การกลับใจอย่างลึกซึ้ง พระหรรษทานแห่งการกลับใจและความสามารถในการดำเนินชีวิตสู่ความศักดิ์สิทธิ์นี้มอบให้กับผู้ที่มีความเชื่อในการรับศีลล้างบาป การตอบรับในทันทีของบรรดาอัครสาวกและการตอบสนองอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อการเรียกของพระคริสตเจ้า เป็นตัวอย่างของท่าทีที่เหมาะสมในการยอมรับการเป็นศิษย์ของพระองค์ การกลับใจไม่ได้สงวนไว้สำหรับการเริ่มต้นชีวิตคริสชนเท่านั้น แต่ต้องเป็นลักษณะนิสัยคงที่ตลอดทุกวันในชีวิตของเรา เทศกาลมหาพรตจึงเป็นช่วงเวลาพิเศษที่จะกระตุ้นให้เกิดการกลับใจโดยผ่านทางการภาวนาและการใช้โทษบาป

  CCC ข้อ 541 “หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า ‘เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด’” (มก 1:14-15) “ดังนั้น พระคริสตเจ้าจึงทรงสถาปนาพระอาณาจักรสวรรค์ เพื่อทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา” พระประสงค์ของพระบิดาก็คือ “การยกมนุษย์ขึ้นให้มีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า” พระองค์ทรงทำเช่นนี้โดยทรงรวมมวลมนุษย์มาอยู่รอบพระบุตรเยซูคริสตเจ้า การมารวมกันเช่นนี้คือ “พระศาสนจักร” ซึ่งเป็น “เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มต้น” ของพระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้

  CCC ข้อ 1422 “ส่วนผู้ที่เข้าไปรับศีลอภัยบาป ย่อมได้รับการอภัยความผิดที่เขาได้ทำต่อพระเจ้าจากพระกรุณาของพระองค์ และพร้อมกันนั้นเขายังรับการคืนดีกับพระศาสนจักรที่เขาได้ทำให้ได้รับบาดแผลเมื่อทำบาป และพระศาสนจักรก็ยังใช้ความรัก แบบฉบับ และการอธิษฐานภาวนาทำงานเพื่อช่วยให้เขากลับใจด้วย”

  CCC ข้อ 1423 ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการกลับใจ (Conversionis sacramentum) เพราะทำให้การที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์เรียกให้กลับใจกลายเป็นความจริง นั่นคือทรงแนะนำให้เขากลับมาหาพระบิดาที่เขาได้จากไปเพราะบาป ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิต (Poenitentiae sacramentum) เพราะบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การเดินทางของคริสตชนคนบาปเป็นการส่วนตัวและร่วมกับพระศาสนจักรที่จะกลับใจและชดเชยบาปที่ได้ทำ

  CCC ข้อ 1427 พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราให้กลับใจ การเรียกนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการประกาศถึงพระอาณาจักร “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1:15) ในการเทศน์สอนของพระศาสนจักร การเรียกนี้มุ่งเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักพระคริสตเจ้าและข่าวดีของพระองค์ ดังนี้ ศีลล้างบาปจึงเป็นสถานที่สำคัญของการ กลับใจพื้นฐานครั้งแรก อาศัยความเชื่อในข่าวดีและศีลล้างบาปจึงมีการประกาศละทิ้งความชั่วและรับความรอดพ้น ซึ่งเป็นการอภัยบาปทั้งหมดและการประทานชีวิตใหม่


มก 1:17 จงตามเรามาเถิด : ถ้อยคำเหล่านี้บ่งบอกถึงลักษณะของกระแสเรียกของพวกเขาให้เชิญชวนผู้อื่นมาหาพระคริสตเจ้า บรรดาอัครสาวกถูกเรียกให้ไปประกาศในพระนามของพระคริสตเจ้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำข่าวดีไปสู่มนุษย์ทุกคน การเรียกของพระคริสตเจ้าสู่การเป็นสาวกเป็นเรื่องโดยตรงและเป็นส่วนบุคคล

  CCC ข้อ 787 ตั้งแต่เริ่มแรก พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์ให้มาอยู่กับพระองค์ ทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรแก่เขา ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมพันธกิจและความยินดี และร่วมพระทรมานกับพระองค์ พระเยซูเจ้ายังตรัสถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่านี้ระหว่างพระองค์กับผู้ที่ติดตามพระองค์ว่า “จงดำรงอยู่ในเราเถิด ดังที่เราดำรงอยู่ในท่าน […] เราเป็นเถาองุ่น ท่านทั้งหลายเป็นกิ่งก้าน” (ยน 15:4-5) และยังตรัสถึงความสัมพันธ์ล้ำลึกแท้จริงระหว่าง พระกายของพระองค์กับของเราด้วย “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา ก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)