แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดีสัปดาห์ที่ 34 (ปีคู่) 

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 21:20-28) 

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า“เมื่อท่านทั้งหลายเห็นกองทัพต่างๆ ล้อมกรุงเยรูซาเล็ม ก็จงรู้ไว้เถิดว่าความพินาศของนครนั้นใกล้เข้ามาแล้ว เวลานั้นผู้ที่อยู่ในแคว้นยูเดียจงหนีไปยังภูเขา ผู้ที่อยู่ในกรุงจงรีบออกไปเสีย ผู้ที่อยู่ในชนบทก็จงอย่าเข้ามาในกรุง เพราะวันเหล่านั้นจะเป็นวันพิพากษาลงโทษ ข้อความที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์จะเป็นจริงทุกประการ น่าสงสารหญิงมีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อนในวันนั้น ทุกขเวทนาใหญ่หลวงจะครอบคลุมทั่วแผ่นดินและพระพิโรธจะลงมาเหนือชนชาตินี้ บางคนจะตายด้วยคมดาบ บางคนจะถูกจับเป็นเชลยไปอยู่ในประเทศต่างๆ กรุงเยรูซาเล็มจะถูกคนต่างศาสนาเหยียบย่ำจนกว่าจะครบเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้”

      “จะมีเครื่องหมายในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวต่างๆ ชนชาติต่างๆ บนแผ่นดินจะทนทุกข์ทรมาน ฉงนสนเท่ห์ต่อเสียงกึกก้องของทะเลที่ปั่นป่วน มนุษย์จะสลบไปเพราะความกลัว และหวั่นใจถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในโลก เพราะสิ่งต่างๆ ในท้องฟ้าจะสั่นสะเทือน หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาในก้อนเมฆ ทรงพระอานุภาพและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายจงยืนตรง เงยหน้าขึ้นเถิด เพราะในไม่ช้าท่านจะได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระแล้ว”


ลก 21:24 ในที่นี่พระคริสตเจ้าทรงใช้ภาษาเชิงอธิบายเรื่องราวในพันธสัญญาเดิมถึงเหตการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลาย  เวลาของชนต่างชาติ : พระเจ้าทรงอนุญาตให้ชนต่างชาติ (ชาวโรมัน) มีพลังพิชิตชาวอิสราแอล และสร้างอาณาจักรของพวกเขา

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 58 พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับโนอาห์มีผลใช้บังคับตลอดช่วงเวลาของนานาชาติ จนถึงการประกาศพระวรสารแก่นานาชาติ พระคัมภีร์ให้ความเคารพนับถือแก่บุคคลสำคัญ “ของชาติต่างๆ” บางคน เช่น “อาเบลผู้ชอบธรรม” เมลคีเซเดค กษัตริย์และสมณะซึ่งเป็นรูปแบบของพระคริสตเจ้าหรือ “โนอาห์ ดาเนียลและโยบ” ผู้ชอบธรรม (อสค 14:14) ดังนี้ พระคัมภีร์จึงบอกว่าผู้ดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับโนอาห์อาจบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ได้สูงเพียงใด เมื่อเขารอคอยพระคริสตเจ้าผู้ที่จะทรง “รวบรวมบรรดาบุตรของพระเจ้าที่กระจัดกระจายอยู่ให้กลับเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 11:52)

CCC ข้อ 674 การเสด็จมาอย่างรุ่งเรืองของพระเมสสิยาห์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดก็ได้ของประวัติศาสตร์นี้ขึ้นกับ การที่พระองค์ได้รับการยอมรับจาก “อิสราเอลทั้งหมด”  ซึ่งส่วนหนึ่งของเขายังมีจิตใจกระด้าง “ไม่มีความเชื่อ” (รม 11:20) ในองค์พระเยซูเจ้า นักบุญเปโตรกล่าวกับชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มในวันเปนเตกอสเตว่า “ดังนั้น ท่านจงเป็นทุกข์ กลับใจ และหันมาหาพระเจ้าเถิด เพื่อบาปของท่านจะได้รับการอภัย และดังนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงบันดาลให้เวลาแห่งการให้กำลังใจมาถึง และจะทรงส่งพระคริสตเจ้าที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้ามาหาท่าน คือพระเยซูเจ้าพระองค์ยังต้องทรงรออยู่ในสวรรค์ จนกระทั่งถึงเวลาที่จะทรงฟื้นฟูทุกสิ่งขึ้นใหม่ ดังที่พระเจ้าตรัสไว้ตั้งแต่โบราณกาลโดยปากของบรรดาประกาศกผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” (กจ 3:19-21) และนักบุญเปาโลก็สะท้อนความคิดเดียวกันว่า “การที่พระองค์ทรงรับพวกเขากลับมาอีกเป็นสิ่งใด ถ้าไม่ใช่เป็นชีวิตที่คืนมาจากบรรดาผู้ตาย” (รม 11:15) การที่ชาวยิวทุกคนเข้ามารับความรอดพ้นจากพระเมสสิยาห์หลังจากที่ชนต่างชาติเข้ามามีความเชื่อครบจำนวนเสียก่อนนั้นจะเป็นโอกาสให้ประชากรของพระเจ้าบรรลุถึง “ความสมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า” (อฟ 4:13) ซึ่งในการนี้ “พระเจ้าจะทรงเป็นทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28)


ลก 21:27 ประชาชนทั้งหลายจะเห็นบุตรแห่งมนุษย์...พระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่ : ภาพนิมิตนี้กล่าวถึงทั้งการสถาปนาพันธสัญญาใหม่และการเสด็จมาครั้งที่สอง พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าจะต้องผ่านความยากลำบากและความทุกข์ทรมานจากการถูกเบียดเบียน ในขณะที่มุ่งไปสู่ความสมบูรณ์ในวาระสุดท้าย   

CCC ข้อ 671 ถึงกระนั้น พระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าที่เป็นปัจจุบันอยู่แล้วในพระศาสนจักรของพระองค์ก็ยังไม่สมบูรณ์โดยการเสด็จมาในโลกของพระมหากษัตริย์ผู้ “ทรงพระอำนาจและพระสิริรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่” (ลก 21:27)พระอาณาจักรยังถูกต่อต้านจากอำนาจชั่วร้าย แม้ว่าอำนาจชั่วร้ายเหล่านี้ได้ถูกปัสกาของพระคริสตเจ้าพิชิตอย่างเด็ดขาดไปแล้ว ก่อนที่ทุกสิ่งจะถูกปราบให้อยู่ใต้อำนาจของพระองค์ “ก่อนที่ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่จะมาถึง ที่ซึ่งความยุติธรรมจะพำนักอยู่นั้น พระศาสนจักรที่กำลังเดินทางอยู่ในโลกนี้ ก็ใช้ศีลศักดิ์สิทธิ์และระเบียบปฏิบัติต่างๆ แสดงให้เห็นสภาพของโลกนี้ที่จะผ่านพ้นไป ขณะที่พระศาสนจักรเองก็ดำรงอยู่ท่ามกลางสิ่งสร้างที่ยังคงร้องคร่ำครวญประหนึ่งหญิงคลอดบุตรอยู่จนถึงบัดนี้ และกำลังรอคอยการเปิดเผยของบรรดาบุตรของพระเจ้า” เพราะเหตุนี้ บรรดาคริสตชนจึงอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อขอให้พระคริสตเจ้าเสด็จกลับมาโดยเร็ว โดยทูลว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เชิญเสด็จมาเถิด” (วว 22:20)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)