แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคารสัปดาห์ที่ 33 (ปีคู่) 

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 19:1-10) 

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าเมืองเยรีโคและกำลังจะเสด็จผ่านเมืองนั้น ชายคนหนึ่งชื่อศักเคียส เป็นหัวหน้าคนเก็บภาษี เป็นคนมั่งมี เขาพยายามมองดูว่าใครคือพระเยซูเจ้า แต่ก็มองไม่เห็นเพราะมีคนมากและเพราะเขาเป็นคนร่างเตี้ย เขาจึงวิ่งนำหน้าไป ปีนขึ้นต้นมะเดื่อเทศ เพื่อให้เห็นพระเยซูเจ้า เพราะพระองค์กำลังจะเสด็จผ่านไปทางนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงที่นั่น ทรงเงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตรตรัสกับเขาว่า “ศักเคียส รีบลงมาเถิด เพราะเราจะไปพักที่บ้านท่านวันนี้” เขารีบลงมาต้อนรับพระองค์ด้วยความยินดี ทุกคนที่เห็นต่างบ่นว่า “เขาไปพักที่บ้านคนบาป” ศักเคียสยืนขึ้นทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะยกทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้แก่คนจน และถ้าข้าพเจ้าโกงสิ่งใดของใครมา ข้าพเจ้าจะคืนให้เขาสี่เท่า” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “วันนี้ ความรอดพ้นมาสู่บ้านนี้แล้ว เพราะคนนี้เป็นบุตรของอับราฮัมด้วย บุตรแห่งมนุษย์มาเพื่อแสวงหาและช่วยคนเลวทรามให้รอดพ้น”


ลก 19:1-10 เรื่องราวของศักเคียสนั้นเป็นตัวอย่างของชีวิตจริงในสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับอุปมาเรื่องการกลับใจ ดังเช่นคนเก็บภาษีส่วนใหญ่ในยุคของพระองค์ ศักเคียสได้ถูกต่อว่าจากประชาชนชาวยิว ว่าคดโกงเงินของพวกเขาและร่วมมือกับชาวโรมัน แต่ถึงกระนั้น เมื่อพระคริสตเจ้าได้เห็นเขาจากระยะไกล เขาก็ได้ตอบรับด้วยความปรารถนาที่จะสำนึกผิดและกลับใจ พันธกิจของพระคริสตเจ้าคือ การมาเพื่อผู้ที่ได้หลงทางไป มากกว่าผู้ที่ยังคงอยู่ แต่ไม่รู้สึกว่าต้องการสำนึกผิด

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 1443 ขณะที่ทรงเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าไม่เพียงแต่ทรงอภัยบาปเท่านั้น แต่ยังทรงแสดงผลของการอภัยบาปนี้ด้วย พระองค์ทรงคืนคนบาปที่ทรงอภัยบาปให้แล้วกลับคืนให้แก่ชุมชนที่บาปได้ทำให้เขาห่างเหินหรือแม้กระทั่งแยกตัวออกไป เครื่องหมายของเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจน พระเยซูเจ้าทรงต้อนรับคนบาปให้มาร่วมโต๊ะกับพระองค์ ยิ่งกว่านั้นยังเสด็จไปร่วมโต๊ะกับพวกเขาด้วย การที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้แสดงด้วยวิธีการน่าประทับใจในเวลาเดียวกันให้เห็นการได้รับอภัยจากพระเจ้า และการกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของประชากรของพระเจ้าด้วย


ลก 19:8-10 ศักเคียสได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะตัดสละจากความร่ำรวยของเขา และจะชดใช้ให้แก่ผู้ที่เขาได้คดโกงมาอย่างมากมาย นัยสำคัญคือการชดเชยความอยุติธรรมและชดใช้บาปของเขา เขาได้ตอบรับความรักของพระคริสตเจ้า และปรารถนาที่จะตอบรับความรักนั้นด้วยวิธีที่ยิ่งใหญ่กว่า ดังนั้นการสำนึกผิดของเขาจึงสมบูรณ์ และเขาได้กลับเข้ามาอยู่ในพระหรรษทานของพระเจ้า  สี่เท่า : ภายใต้กฎหมาย การตัดสินที่หนักที่สุดคือการชดใช้คืนสี่เท่าของจำนวนที่ได้ขโมยมา การอภัยของศีลศักดิ์สิทธิ์และความยุติธรรมทางสังคม ยังคงเรียกร้องให้ชดใช้ในสิ่งที่สูญเสียหรือถูกขโมยไปในเวลาที่สามารถทำได้  บุตรของอับราฮัม : วลีนี้ไม่ใช่เพียงแค่บอกว่า ศักเคียสได้รวมเข้าอยู่ในบรรดาผู้ถูกเลือกสรรแล้วเท่านั้น แต่การกลับใจและความตั้งใจที่จะแก้ไขตนเองของเขากลายเป็นแบบอย่างตามแนวทางตัวอย่างความเชื่อของอับราฮัม

CCC ข้อ 549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่นความหิว ความอยุติธรรม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์

CCC ข้อ 2412 ความยุติธรรมแลกเปลี่ยนเรียกร้องให้ชดใช้ทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปคืนแก่เจ้าของเป็นการซ่อมแซมความอยุติธรรมที่ได้ทำลงไป พระเยซูเจ้าทรงชมเชยศักเคียสที่ได้ตัดสินใจทำเช่นนี้ “ถ้าข้าพเจ้าโกงสิ่งใดของใครมา ข้าพเจ้าจะคืนให้เขาสี่เท่า” (ลก 19:8) ผู้ที่ได้ไปยึดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาครอบครองไม่ว่าจะโดยตรงหรือไม่ จำเป็นต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะหรือเป็นสิ่งของชนิดเดียวกัน ถ้าสิ่งของนั้นหายไป รวมทั้งกำไรและผลประโยชน์ที่เจ้าของเดิมน่าจะได้รับจากสิ่งของนั้นด้วย เช่นเดียวกัน ทุกคนที่มีส่วนในการขโมยสิ่งของนั้นไม่ว่าด้วยวิธีใดและได้รับผลประโยชน์โดยรู้ตัวจากการนี้ ยังต้องคืนให้เจ้าของตามส่วนความรับผิดชอบและผลกำไรของตนด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่สั่งการ ให้ความช่วยเหลือ หรือช่วยปกปิดการนี้

CCC ข้อ 2712 การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการอธิษฐานภาวนาของบุตรของพระเจ้า เขาเป็นคนบาปได้รับอภัยแล้วที่ยอมรับความรักที่ทรงรักเราและยังปรารถนาที่จะตอบสนองความรักนั้นโดยรักให้มากขึ้นอีก แต่เขาก็ยังรู้อีกว่าความรักที่ตนตอบแทนก็เป็นความรักที่พระจิตเจ้าทรงหลั่งลงในใจของเขา เพราะทุกสิ่งเป็นพระหรรษทานจากพระเจ้า การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌาณเป็นการถวายตัวอย่างถ่อมตนและยากจนแด่พระประสงค์ที่รักของพระบิดาเพื่อร่วมสนิทให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระบุตรที่รักของพระองค์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)