แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์สัปดาห์ที่ 32 (ปีคู่) 

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 18:1-8)      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องหนึ่งแก่บรรดาศิษย์เพื่อสอนว่าจำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย พระองค์ตรัสว่า “ผู้พิพากษาคนหนึ่งอยู่ในเมืองหนึ่ง เขาไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด หญิงม่ายคนหนึ่งอยู่ในเมืองนั้นด้วย นางมาพบเขาครั้งแล้วครั้งเล่าพูดว่า ‘กรุณาให้ความยุติธรรมแก่ดิฉันสู้กับคู่ความเถิด’ ผู้พิพากษาผู้นั้นไม่ยอมทำตามที่นางขอร้องจนเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จึงคิดว่า ‘แม้ว่าฉันไม่ยำเกรงพระเจ้าและไม่เกรงใจมนุษย์ผู้ใด แต่เพราะหญิงม่ายผู้นี้มาทำให้ฉันรำคาญ ฉันจึงจะให้นางได้รับความยุติธรรม เพื่อมิให้นางรบเร้าฉันอยู่ตลอดเวลา’”

      องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “จงฟังคำที่ผู้พิพากษาอธรรมคนนั้นพูดซิ แล้วพระเจ้าจะไม่ประทานความยุติธรรมแก่ผู้เลือกสรรที่ร้องหาพระองค์ทั้งวันทั้งคืนดอกหรือ พระองค์จะไม่ทรงช่วยเขาทันทีหรือ เราบอกท่านทั้งหลายว่า พระองค์จะประทานความยุติธรรมแก่เขาโดยเร็ว แต่เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”


ลก 18:1-8 อุปมาเรื่องนี้ได้สอนถึงคุณค่าของความเพียรพยายามในการสวดภาวนา และไม่สูญเสียกำลังใจในการวอนขอ ผู้พิพากษาในอุปมานี้ไม่เป็นทั้งคนที่มีความเชื่อ หรือมีใจดีเป็นพิเศษ แต่ได้ให้ตามสิ่งที่หญิงม่ายได้ร้องขอ เพียงเพราะต้องการให้นางหยุดการร้องขออย่างไม่สิ้นสุดเท่านั้น ดังนั้นพระเจ้าผู้ทรงรักเราจะมีพระทัยดีมากกว่านั้นอีก หากเรายังคงเป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์ อย่างไรก็ตามองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปรียบพระองค์เองกับผู้พิพากษาที่ไร้พระเจ้าในแง่ที่ว่าพระองค์ทรงคาดหวังการสวดภาวนาที่พากเพียรและไม่หยุดหย่อน ยิ่งเรามีความเชื่อมากเท่าไหร่ คำภาวนาของเราก็ยิ่งมีประสิทธิผลมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเพราะเรามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเป็นก็เพราะว่าในการเติบโตในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้านั้น ทำให้เราจะมีความใส่ใจในการทำตามพระประสงค์ของพระองค์มากยิ่งขึ้น พระศาสนจักรได้ปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยการ “สวดภาวนาสม่ำเสมอ” ในพิธีกรรมทำวัตร ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทำให้กิจกรรมทั้งวันของมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 2098 กิจกรรมความเชื่อ ความหวังและความรักที่พระบัญญัติประการแรกสั่งให้ปฏิบัติสำเร็จไปในการอธิษฐานภาวนา การยกจิตใจขึ้นหาพระเจ้าเป็นการแสดงออกถึงการที่เรานมัสการพระเจ้า การอธิษฐานภาวนาสรรเสริญและขอบพระคุณ การวอนขอแทนผู้อื่นและขอความช่วยเหลือ การอธิษฐานภาวนาเป็นเงื่อนไขจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้หนึ่งสามารถปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้าได้ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” (ลก 18:1)

CCC ข้อ 2573 พระเจ้าทรงรื้อฟื้นพระสัญญากับยาโคบ บิดาของอิสราเอลทั้งสิบสองเผ่า ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับเอซาวพี่ชาย ตลอดทั้งคืน เขาต่อสู้กับบุรุษลึกลับ “คนหนึ่ง” ที่ไม่ยอมเปิดเผยนามของตนแก่เขา แต่อวยพรเขาก่อนจะจากไปตอนรุ่งสาง ในเรื่องเล่าเรื่องนี้ ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตของพระศาสนจักรได้มองเห็นสัญลักษณ์ของการอธิษฐานภาวนาว่าเป็นเสมือนการต่อสู้ของความเชื่อและชัยชนะของความอุตสาหะบากบั่น

CCC ข้อ 2613 นักบุญลูกาเล่าเรื่องอุปมาเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนาโดยเฉพาะไว้ให้เราสามเรื่อง

 - เรื่องแรกคือ “เรื่องเพื่อนที่ไม่รู้จักกาละเทศะ” เชิญเราให้อธิษฐานภาวนาโดยไม่ลดละ “จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน” ดังนี้ พระบิดาผู้สถิตในสวรรค์จะประทานทุกสิ่งที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่วอนขอ โดยเฉพาะพระจิตเจ้าที่ทรงรวมพระพรทุกอย่างไว้

  - เรื่องที่สองคือ “เรื่องหญิงม่ายผู้รบเร้า” มีศูนย์กลางอยู่ที่ลักษณะประการหนึ่งของการอธิษฐานภาวนา คือ “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” โดยพากเพียรในความเชื่อ “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมา จะทรงพบความเชื่อในโลกนี้หรือ”

    - เรื่องที่สามคือ “เรื่องชาวฟาริสีและคนเก็บภาษี” ที่กล่าวถึงใจถ่อมตนของผู้อธิษฐานภาวนา “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งเลยที่จะภาวนาว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงเมตตาเทอญ” “Kyrie eleison”

CCC ข้อ 2710 การเลือกโอกาสและระยะเวลาของการอธิษฐานภาวนาโดยเพ่งฌานนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจมั่นคงซึ่งเปิดเผยความลับของจิตใจ การอธิษฐานภาวนาโดยพิศเพ่งฌานไม่เกิดขึ้นเมื่อเรามีเวลาเท่านั้น เราแสวงหาเวลาเพื่อเข้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความตั้งใจอย่างมั่นคงที่จะทำเช่นนี้โดยไม่ยอมเลิกแม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากและจิตใจแห้งแล้ง การรำพึงภาวนาอาจทำไม่ได้เสมอแต่เราอาจเข้าไปอธิษฐานภาวนาโดยเพ่งฌานได้เสมอ ไม่ขึ้นกับสุขภาพ การงานหรือสภาพความรู้สึกของวิญญาณ หัวใจเป็นสถานที่ของการค้นหาและการพบปะ ในความยากจนและในความเชื่อ


ลก 18:3 หญิงม่าย : หญิงที่สามีเสียชีวิตนั้น สามารถจัดการได้เพียงเล็กน้อย และต้องพึ่งพาครอบครัวหรือความเอื้ออาทรของผู้อื่นเพื่อความต้องการพื้นฐานของเธอ ด้วยเหตุนี้หญิงม่ายจึงจำกัดอยู่ในกลุ่มที่อ่อนแอและเปราะบางที่สุดของสังคม

CCC ข้อ 922 นับตั้งแต่สมัยอัครสาวกแล้วได้มีหญิงสาวพรหมจารี และหญิงม่ายคริสตชน ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้อยู่ใกล้กับพระองค์โดยไม่แบ่งแยก ด้วยใจ ร่างกาย และจิตที่อิสระยิ่งขึ้น เขาเหล่านี้ได้รับคำแนะนำที่พระศาสนจักรรับรองเพื่อดำเนินชีวิตในฐานะพรหมจารีหรือความบริสุทธิ์อย่างถาวร “เพื่ออาณาจักรสวรรค์” (มธ 19:12)

CCC ข้อ 1351 ตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม พร้อมกับขนมปังและเหล้าองุ่นสำหรับพิธีบูชาขอบพระคุณ บรรดาคริสตชนยังนำของถวายของตนมาถวายเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ขัดสนด้วย ธรรมเนียมการเก็บทานนี้ซึ่งเป็นสิ่งควรปฏิบัติอยู่เสมอนี้ได้รับพลังบันดาลใจมาจากพระฉบับแบบของพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพื่อเราจะได้ร่ำรวย “ผู้มีฐานะดีและสมัครใจแต่ละคนย่อมบริจาคตามความประสงค์และสิ่งที่รวบรวมได้ก็ถูกนำมามอบให้ผู้ที่เป็นประธานเพื่อจะช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้าและหญิงม่าย รวมทั้งผู้ที่มีความขัดสนเพราะโรคภัยหรือสาเหตุอื่น และช่วยเหลือผู้ถูกจองจำ คนต่างด้าว พูดสั้นๆ คือทุกคนที่มีความต้องการ” 

CCC ข้อ 2208 ครอบครัวจึงต้องดำเนินชีวิตให้สมาชิกของตนเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ต่อผู้อื่น ดูแลเยาวชนและคนชรา คนเจ็บป่วยหรือพิการและยากจน มีหลายครอบครัวที่บางครั้งไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ได้ บุคคลหรือครอบครัวอื่น รวมทั้งสังคมด้วย จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือ “การปฏิบัติศาสนกิจที่บริสุทธิ์และไร้มลทินเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าพระบิดาคือการเยี่ยมเด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน และการรักษาตนให้พ้นจากมลทินของโลก” (ยก 1:27)


ลก 18:8 พระวรสารข้อนี้บอกเป็นนัยว่า พระศาสนจักรจะต้องผ่านช่วงเวลาแห่งการทดลองอย่างหนักซึ่งจะทดสอบความเชื่อของผู้คนมากมายที่เชื่อก่อนที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมา

CCC ข้อ 675 ก่อนที่พระคริสตเจ้าจะเสด็จมา พระศาสนจักรจะต้องผ่านการทดลองสุดท้ายที่จะทำให้ความเชื่อของผู้มีความเชื่อหลายคนต้องสั่นคลอนการเบียดเบียนซึ่งจะอยู่เคียงข้างกับการเดินทางของพระศาสนจักรในโลกนี้ จะเปิดเผยให้เห็น “ธรรมล้ำลึกแห่งความชั่วร้าย” ในรูปของความหลอกลวงทางศาสนาที่เสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างเสแสร้งทำให้หลายคนต้องยอมปฏิเสธความจริง ความหลอกลวงด้านศาสนาที่ร้ายแรงที่สุดนั้นก็คือความหลอกลวงของผู้เป็นปฏิปักษ์กับพระคริสตเจ้า(Antichrist) หรือพระเมสสิยาห์จอมปลอมที่ทำให้มนุษย์ยกย่องตนเองแทนพระเจ้าและพระเมสสิยาห์ของพระองค์ผู้เสด็จมารับสภาพมนุษย์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)