แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 31 (ปีคู่)  สมโภชนักบุญทั้งหลาย

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 5:1-12ก) 

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นประชาชนจำนวนมาก จึงเสด็จขึ้นบนภูเขา เมื่อประทับแล้ว บรรดาศิษย์เข้ามาห้อมล้อมพระองค์ พระองค์ทรงเริ่มตรัสสอนว่า “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก ผู้หิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่างๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก”


มธ 5:1 บนภูเขา : บทเทศน์บนภูเขา เริ่มต้นจากบทนี้ ไปจนถึงบทที่ 7 คือการประกาศถึงความรอดพ้น เริ่มต้นด้วยความสุขแท้ (ขั้นของพระพรสูงสุดหรือความสุข) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของข่าวดี พระวาจาของพระเจ้าได้ถูกประกาศบนภูเขาซีนาย เมื่อพระเจ้าได้ประทานพระบัญญัติแก่โมเสส ในบทเทศน์บนภูเขา พระคริสตเจ้าได้ทรงประกาศบัญญัติใหม่ ซึ่งทำให้กฎของโมเสสนั้นสมบูรณ์ ความสุขแท้ได้ทำให้พระสัญญาของพระเจ้ากับโมเสสและประชากรที่ทรงเลือกสรรนั้นบรรลุความสมบูรณ์ บัญญัติใหม่นี้ได้นำพวกเขาไปสู่ “ดินแดนแห่งพันธสัญญา” ของพระอาณาจักรสวรรค์ ที่ซึ่งบรรดาผู้ได้รับความรอดพ้นจะประสบกับ ความสุข พระหรรษทาน ความสวยงาม และสันติสุขอย่างสมบูรณ์ อันที่จริงแล้วเรื่องความสุขแท้จริงนี้ เป็นดังภาพเหมือนของพระพักตร์ของพระเยซูคริสตเจ้า อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงกระแสเรียกของแต่ละคน ในการกระทำ ด้วยลักษณะเฉพาะของผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบคริสตชน

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์” (รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์  พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนายเพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า[…] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ

CCC ข้อ 764 “พระอาณาจักรนี้ปรากฏแจ้งแก่มวลมนุษย์ในพระวาจา พระราชกิจและการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” การรับพระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็น “การรับพระอาณาจักร” นี้ด้วย เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มของพระอาณาจักรนี้คือ “ฝูงแกะน้อยๆ” (ลก 12:32) ของคนเหล่านั้นที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาเรียกให้มารวมอยู่โดยรอบพระองค์ และทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” ของเขา เขาเหล่านี้รวมเป็นครอบครัวแท้จริงของพระเยซูเจ้า ผู้ที่ทรงเรียกให้มาอยู่กับพระองค์นั้น พระองค์ทรงสอน “วิธีปฏิบัติแบบใหม่” และคำอธิษฐานภาวนาเฉพาะให้เขาด้วย

CCC ข้อ 1716 ความสุขแท้เป็นสาระสำคัญในคำเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า การประกาศเรื่องความสุขแท้เป็นการย้ำถึงพระสัญญาที่ทรงทำไว้กับประชากรที่ทรงเลือกสรรนับตั้งแต่อับราฮัมเป็นต้นมา ความสุขแท้ทำให้พระสัญญาดังกล่าวสำเร็จบริบูรณ์ จัดให้พระสัญญาไม่หมายถึงเพียงการครอบครองแผ่นดินส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการได้ครอบครองเมืองสวรรค์ “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้าย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน ผู้มีใจอ่อนโยนย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก ผู้หิวกระหายความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรมย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุขเมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหง และใส่ร้ายต่างๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก” (มธ 5:3-12)

CCC ข้อ1717 ความสุขแท้เหล่านี้แสดงภาพของพระเยซูคริสตเจ้าและบรรยายถึงความรักของพระองค์ แสดงถึงการเรียกบรรดาผู้มีความเชื่อให้มาร่วมรับสิริรุ่งโรจน์ของพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ แสดงให้เห็นการกระทำและท่าทีที่เป็นลักษณะเฉพาะของชีวิตคริสตชน เป็นคำสัญญาที่คาดไม่ถึงซึ่งค้ำจุนความหวังในความยากลำบาก ความสุขแท้เหล่านี้กล่าวล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์รู้อย่างลางๆ ถึงพระพรและรางวัลที่เขาจะได้รับ รางวัลเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นแล้วในชีวิตของพระนางมารีย์พรหมจารีและบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

CCC ข้อ1718 ความสุขแท้เหล่านี้ตรงกับความปรารถนาตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความสุข ความปรารถนาที่ว่านี้มีที่มาจากพระเจ้า พระองค์ทรงวางความปรารถนานี้ไว้ในใจมนุษย์เพื่อทรงดึงดูดเขามาหาพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้เดียวที่จะตอบสนองความปรารถนานี้ได้อย่างสมบูรณ์ “เราทุกคนล้วนอยากจะมีความสุข และไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้ก่อนที่จะถูกกล่าวออกมาเสียด้วย” “ดังนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ได้อย่างไร ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็แสวงหาชีวิตที่เป็นสุข ขอให้ข้าพเจ้าแสวงหาพระองค์ เพื่อวิญญาณข้าพเจ้าจะได้มีชีวิต เพราะร่างกายของข้าพเจ้ามีชีวิตจากวิญญาณ และวิญญาณข้าพเจ้าก็มีชีวิตจากพระองค์” “พระเจ้าเท่านั้นทำให้อิ่มได้”

CCC ข้อ 1719   ความสุขแท้เปิดเผยให้เห็นว่ามนุษย์มีความเป็นอยู่เพื่ออะไร มนุษย์ทำงานต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ใด พระเจ้าทรงเรียกเราเพื่อจะได้ร่วมความสุขกับพระองค์ การที่ทรงเรียกเช่นนี้มุ่งถึงบุคคลมนุษย์แต่ละคน แต่ก็ยังมุ่งถึงพระศาสนจักรทั้งหมด ซึ่งเป็นประชากรใหม่ของผู้ที่ได้รับพระสัญญาและดำเนินชีวิตในความเชื่อถึงพระองค์อีกด้วย

CCC ข้อ 1720 พันธสัญญาใหม่ใช้วิธีพูดหลายอย่างเพื่อบรรยายถึงความสุขที่พระเจ้าทรงเรียกมนุษย์มารับ เช่น อาณาจักรสวรรค์ของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว การเห็นพระเจ้า “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มธ 5:8) การเข้าร่วมยินดีกับองค์พระผู้เป็นเจ้า การเข้าไปพักผ่อนกับพระเจ้า “ที่นั่นเราจะพักผ่อนและจะแลเห็น เราจะแลเห็นและจะรัก เราจะรักและจะสรรเสริญ นี่คือสิ่งที่จะเป็นมาในที่สุดโดยไม่มีที่สิ้นสุด อะไรเล่าจะเป็นจุดหมายของเราถ้าไม่ใช่การไปถึงพระอาณาจักรที่ไม่มีวันจะจบสิ้น”

CCC ข้อ 1721 พระเจ้าทรงวางเราไว้ในโลกเพื่อให้เรารู้จักพระองค์ รับใช้พระองค์ และรักพระองค์ เพื่อเราจะได้บรรลุถึงสวรรค์ ความสุขแท้ทำให้เรา “มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า” (2 ปต 1:4) และมีส่วนในชีวิตนิรันดร มนุษย์ย่อมเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าและร่วมชีวิตของพระตรีเอกภาพพร้อมกับความสุขแท้

 CCC ข้อ 1722 ความสุขแท้เช่นนี้อยู่เหนือความเข้าใจและกำลังของมนุษย์เท่านั้น แต่เกิดมาจากการที่พระเจ้าประทานให้เราเปล่าๆ จึงได้ชื่อว่า “เหนือธรรมชาติ” เหมือนกับพระหรรษทานที่ช่วยให้มนุษย์เข้าไปรับความสุขกับพระเจ้า “‘ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า’ แต่ก็ ‘ไม่มีใครจะเห็นพระเจ้าและมีชีวิตอยู่ได้’ เพราะความยิ่งใหญ่และพระสิริรุ่งโรจน์เหลือที่จะพรรณนาได้ของพระองค์ เพราะเราไม่อาจเข้าถึงพระบิดาได้  แต่เพราะความรักและพระกรุณาและเพราะทรงทำได้ทุกสิ่ง พระองค์จึงประทานสิ่งนี้ให้แก่ผู้ที่รักพระองค์ คือให้เห็นพระองค์ […] เพราะว่า ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์นั้น เป็นไปได้สำหรับพระเจ้า’”

CCC ข้อ 1723 ความสุขแท้ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้นี้ทำให้เราต้องเลือกปฏิบัติตามศีลธรรม เชิญชวนให้เราชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความโน้มเอียงเลวๆ ของเราเพื่อแสวงหาความรักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง สอนเราว่าความสุขแท้จริงไม่อยู่ในทรัพย์สมบัติหรือความสะดวกสบาย ไม่อยู่ในความรุ่งโรจน์หรือความสำเร็จของมนุษย์ ไม่ใช่ในกิจการงานใดๆ ของมนุษย์ แม้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง เช่นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศิลปะ ไม่อยู่ในสิ่งสร้างใดๆ แต่อยู่ในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความดีและความรักทุกประการ “ทุกวันนี้ใครๆ ก็กราบไหว้ความร่ำรวยเป็นพระเจ้า ผู้คนจำนวนมาก มนุษย์ทุกคนยินดีกราบไหว้ความร่ำรวย ใครๆ ก็วัดความสุขตามทรัพย์สมบัติ และยังวัดความน่าเคารพนับถือตามทรัพย์สมบัติด้วย […] สภาพเช่นนี้เกิดมาจากความมั่นใจว่าทรัพย์สมบัติสามารถบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปได้ ทรัพย์สมบัติจึงเป็นรูปเคารพแบบหนึ่งในปัจจุบัน และชื่อเสียงเกียรติยศก็เป็นรูปเคารพอีกแบบหนึ่ง […] ชื่อเสียงเกียรติยศ การเป็นที่ยอมรับและการสร้างชื่อเสียงในโลกได้กลายเป็นความดีสูงสุด เป็นสิ่งที่ควรได้รับการเคารพกราบไหว้ในตัวเอง […] สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นชื่อเสียง ‘ฉาบฉวย’”

CCC ข้อ 1724 พระบัญญัติสิบประการ คำเทศน์บนภูเขา และคำสอนของบรรดาอัครสาวกล้วนบอกให้เรารู้จักหนทางไปสู่อาณาจักรสวรรค์ เราค่อยๆ ร่วมเดินทางไปตามทางนี้ทีละก้าวโดยกิจการประจำวันที่ได้รับการค้ำจุนจากพระหรรษทานของพระจิตเจ้า อาศัยพระวาจาของพระคริสตเจ้าคอยช่วยเหลือ เราย่อมค่อยๆ บังเกิดผลในพระศาสนจักรเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า

CCC ข้อ 1725 ความสุขแท้ย้ำพระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้ตั้งแต่อับราฮัมและทำให้พระสัญญานี้สำเร็จไปโดยจัดให้นำไปสู่พระอาณาจักร ความสุขแท้เหล่านี้ตอบสนองความปรารถนาความสุขที่พระเจ้าทรงวางไว้ในใจของมนุษย์

CCC ข้อ1726 ความสุขแท้สอนเราถึงจุดหมายสุดท้ายที่พระเจ้าทรงเรียกเราให้บรรลุถึง คือพระอาณาจักร     การชมพระพักตร์พระเจ้า การมีส่วนร่วมพระเทวภาพ ชีวิตนิรันดร การเป็นบุตร และการพักผ่อนในพระเจ้า

CCC ข้อ 1727 ความสุขแท้ของการมีชีวิตนิรันดรเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้เราโดยไม่คิดมูลค่า    ความสุขแท้นี้อยู่เหนือธรรมชาติเช่นเดียวกับพระหรรษทานซึ่งนำเราไปรับ

CCC ข้อ 1728 ความสุขแท้ตั้งเราไว้ให้ตัดสินใจว่าจะเลือกความสุขแท้หรือผลประโยชน์ของโลกนี้ ชำระจิตใจเราเพื่อสอนเราให้รักพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง

CCC ข้อ 1729 ความสุขแท้ของสวรรค์กำหนดมาตรการให้เรารู้จักเลือกใช้สิ่งของของโลกนี้ตามกฎของพระเจ้า

CCC ข้อ 2763 พระคัมภีร์ทั้งหมด (ธรรมบัญญัติ ประกาศก และเพลงสดุดี) เป็นความจริงในพระคริสตเจ้า พระวรสารเป็น “ข่าวดี” นี้ นักบุญมัทธิวสรุปการประกาศข่าวดีนี้ของพระองค์ไว้ในบทเทศน์บนภูเขา ดังนั้น บทภาวนาวอนขอพระบิดาของเราจึงอยู่ตรงกลางของการประกาศข่าวดีนี้ คำขอแต่ละข้อของบทภาวนาที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เราบทนี้จึงรับการอธิบายในบริบทนี้  “บทข้าแต่พระบิดาเป็นบทภาวนาที่สมบูรณ์ที่สุด […] ในบทข้าแต่พระบิดานี้เราไม่เพียงวอนขอทุกสิ่งที่เราอาจปรารถนาได้อย่างถูกต้อง แต่ยังเป็นสิ่งที่ทรงบัญชาสั่งให้เราปรารถนาด้วย บทภาวนาบทนี้จึงไม่เพียงแต่สอนเราให้วอนขอเท่านั้น แต่ยังสอนเราอีกด้วยว่าเราต้องปรารถนาวอนขออะไรบ้าง”

CCC ข้อ 2764 บทเทศน์บนภูเขาเป็นคำสอนสำหรับชีวิต บทข้าแต่พระบิดาเป็นบทภาวนา แต่ในทั้งสองเรื่องนี้พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ความปรารถนาและอารมณ์ความรู้สึกของเรามีรูปแบบใหม่ พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้มีชีวิตใหม่และใช้บทภาวนาบทนี้อธิษฐานภาวนาวอนขอชีวิตนี้ ความถูกต้องของชีวิตของเราจะขึ้นอยู่กับความถูกต้องของการอธิษฐานภาวนาของเรา


มธ 5:3 พระอาณาจักรเป็นของผู้ที่มีจิตใจยากจน ผู้ซึ่งรับพระวาจาของพระเจ้าด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงเรียกว่าเป็นผู้ยากจนและต่ำต้อย นักบุญเกรโกรี แห่งนิซซา (D.394) ได้เปรียบเทียบว่า จิตใจยากจนก็เท่ากับความสุภาพถ่อมตนนั้นเอง วลีนี้ได้ถูกใช้กับชาวอิสราเอลที่ดำเนินชีวิตด้วยความชอบธรรม ที่แสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าท่ามกลางการถูกทดลองและความยากลำบากอย่างมากมายถึงแม้ว่าความสุขแท้จริงจะชี้ไปยังความสุขชั่วนิรันดร์ แต่ผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยความสุขแท้จริงนั้น จะพบกับความสุขท่ามกลางความทุกข์ทรมานบนโลกนี้ด้วยเช่นกัน เพราะว่าพวกเขารู้ว่ากำลังอยู่บนหนทางสู่นิรันดร และการได้รับความบรรเทาจากความรู้นั้น ทำให้สามารถมอบถวายความทุกข์ทรมานของพวกเขาแด่พระเจ้าได้

CCC ข้อ 544 พระอาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของคนยากจนและต่ำต้อย นั่นคือเป็นของคนเหล่านั้นที่รับพระอาณาจักรด้วยจิตใจถ่อมตน พระเจ้าทรงส่งพระเยซูเจ้ามา “ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน” (ลก 4:18) พระองค์ทรงประกาศว่าคนเหล่านี้ย่อมเป็นสุข “เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5:3) พระบิดาทรงโปรดที่จะเปิดเผยเรื่องที่ถูกปิดบังไว้จากผู้มีปรีชาและรอบรู้ให้แก่ “บรรดาผู้ต่ำต้อย” เหล่านี้ พระเยซูเจ้าทรงร่วมชีวิตของผู้ยากจนนับตั้งแต่ทรงสมภพในรางหญ้าจนถึงไม้กางเขน ทรงมีประสบการณ์ความหิวโหย ความกระหาย และความขัดสน ยิ่งกว่านั้น  พระองค์ยังทรงกระทำพระองค์เป็นหนึ่งเดียวกับคนยากจนทุกชนิดและทรงกำหนดให้ความรักต่อคนเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ผู้หนึ่งจะเข้าในพระอาณาจักรของพระองค์ได้

CCC ข้อ 1716 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:1)

CCC ข้อ 2546 “ผู้มีใจยากจนย่อมเป็นสุข” (มธ 5:3) ความสุขแท้ในพระวรสารเปิดเผยลำดับของความสุขและพระหรรษทาน ของความงดงามและสันติ พระเยซูเจ้าทรงเฉลิมฉลองความยินดีของผู้ยากจนที่อาณาจักรสวรรค์เป็นของเขาแล้ว “ข้าพเจ้าคิดว่าพระวจนาตถ์ทรงเรียกความสุภาพถ่อมตนโดยสมัครใจว่า ‘การมีจิตใจยากจน’ และท่านอัครสาวก(เปาโล)แสดงแบบอย่างความยากจนของพระเจ้าให้เราเห็นเมื่อท่านกล่าวว่า ‘แม้ทรงร่ำรวย พระองค์ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่เรา’ (2 คร 8:9)”


มธ 5:4 ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า รวมถึงผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากความรักต่อความทุกข์ยากอื่นๆ ซึ่งมาจากความเป็นจริงของบาป และผลที่ตามมาคือทำให้ออกห่างจากพระเจ้า

CCC ข้อ 1716 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:1)


มธ 5:5 ผู้มีใจอ่อนโยน คือผู้ที่เลียนแบบพระคริสตเจ้า(เทียบ มธ 11:29;21:15) ด้วยการแสดงความมีน้ำใจและความสุภาพอ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์ของพวกเขา 

CCC ข้อ 716 ประชากร “ผู้ถ่อมตน” (หรือ “ยากจน”) ต่ำต้อยและอ่อนโยนที่วางใจต่อแผนการของพระเจ้าของตนอย่างเต็มเปี่ยม ผู้ที่รอคอยความยุติธรรมไม่ใช่จากมนุษย์ แต่จากพระเมสสิยาห์ ในที่สุดเป็นผลงานซ่อนเร้นยิ่งใหญ่ของพระจิตเจ้าตลอดเวลาแห่งพระสัญญาเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า คุณค่าจิตใจของคนเหล่านี้ที่พระจิตเจ้าทรงชำระและส่องสว่างแล้วมีแสดงอยู่ในบทเพลงสดุดี ในคนยากจนเหล่านี้ พระจิตเจ้าทรงเตรียม “ประชากรให้พร้อมที่จะรับเสด็จองค์พระผู้เป็นเจ้า” 

CCC ข้อ 1716 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:1)


มธ 5:7 ผู้มีใจเมตตา ย่อมมีความเห็นอกเห็นใจอย่างเคารพ ต่อความทุกข์ ความบกพร่อง และความต้องการของผู้อื่น พวกเขาคอยช่วยเหลือผู้ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน พร้อมที่จะเมินเฉยและให้อภัยต่อความผิดพลาดและความขุ่นเคืองต่างๆ

CCC ข้อ 1716 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:1)

CCC ข้อ 2447 งานเมตตากรุณาเป็นกิจการแสดงความรักที่เราช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเราเมื่อเขามีความต้องการทางร่างกายและจิตใจ การสั่งสอน ให้คำแนะนำ ปลอบโยน ให้กำลังใจเป็นงานเมตตากรุณาด้านจิตใจ เช่นเดียวกับการให้อภัยและความพากเพียรอดทน งานเมตตากรุณาด้านร่างกายส่วนมากประกอบด้วยการเลี้ยงดูผู้หิวโหย ให้ที่อยู่แก่ผู้ไม่มีที่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มี เยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วยและผู้ถูกจองจำ ฝังศพผู้ตาย ในบรรดางานเหล่านี้ การให้ทานแก่ผู้ยากไร้


มธ 5:8 ผู้มีใจบริสุทธิ์ มีเจตจำนงบริสุทธิ์ที่จะทำให้ความปรารถนา และความคิดของตนสอดคล้องกับของพระเจ้า พวกเขาให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการประพฤติที่บริสุทธิ์ ว่าเป็นคุณธรรมที่ช่วยปลดปล่อยซึ่งนำไปสู่การภาวนาที่ลึกซึ้งและการทำกิจเมตตา เขาจะได้เห็นพระเจ้า : เป็นคำที่ได้อ้างอิงถึงสวรรค์ ที่ซึ่งผู้ได้รับความรอดพ้นจะได้เห็นพระเจ้าหน้าต่อหน้าในนิมิตแห่งความสุขแท้จริง

CCC ข้อ 1720, 1722 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:1)

CCC ข้อ 1967 กฎแห่งพระวรสารปรับปรุงให้ธรรมบัญญัติดั้งเดิมสมบูรณ์ขึ้น ขัดเกลา ก้าวข้ามและทำให้สมบูรณ์ ในบทเทศน์เรื่องความสุขแท้จริง กฎแห่งพระวรสารทำให้พระสัญญาสำเร็จไปโดยยกย่องและจัดไว้ให้มุ่งหา “พระอาณาจักรสวรรค์” กฎนี้มุ่งหาผู้ที่เตรียมพร้อมด้วยความเชื่อเพื่อจะไปรับความหวังใหม่นี้ เช่นผู้ยากจน สุภาพถ่อมตน เป็นทุกข์โศกเศร้า มีใจบริสุทธิ์ ถูกเบียดเบียน   เพราะพระคริสตเจ้า และดังนี้จึงขีดเส้นทางไปสู่พระอาณาจักรอย่างที่ไม่มีใครคาด

CCC ข้อ 2518 ความสุขแท้ประการที่หกประกาศว่า “ผู้มีใจบริสุทธิ์ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า” (มธ 5:8) “ใจบริสุทธิ์” หมายถึงผู้ที่ปรับความคิดและเจตนาของตนให้เข้ากับข้อเรียกร้องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า โดยเฉพาะในสามเรื่อง คือในเรื่องความรัก ในเรื่องความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องทางเพศ ในเรื่องการรักความจริงและความถูกต้องของความเชื่อ มีความสัมพันธ์กันระหว่างความบริสุทธิ์ของจิตใจ ร่างกาย และความเชื่อ

CCC ข้อ 2639 คำสรรเสริญเป็นรูปแบบของการอธิษฐานภาวนาที่ยอมรับอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงเป็นพระเจ้า คำสรรเสริญเป็นการขับร้องถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าโดยตรง ถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระองค์ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ทรงกระทำ แต่เพราะการที่ “พระองค์ทรงเป็น” เป็นการมีส่วนร่วมความสุขของบรรดาผู้มีใจบริสุทธิ์ที่รักพระองค์ด้วยความเชื่อก่อนที่จะได้เห็นพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์ โดยคำสรรเสริญ พระจิตเจ้าทรงร่วมกับจิตใจของเราเพื่อเป็นพยานยืนยันว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นพยานยืนยันแก่พระบุตรเพียงพระองค์เดียวที่พระเจ้าทรงรับเราเป็นบุตรบุญธรรมในพระองค์และที่เราถวายพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระบิดาเดชะพระบุตรนี้ คำสรรเสริญรวมการอธิษฐานภาวนารูปแบบอื่นๆไว้และนำการอธิษฐานภาวนารูปแบบต่างๆ เหล่านี้ไปถวายพระองค์ผู้ทรงเป็นบ่อเกิดและจุดหมายปลายทาง “พระเจ้ามีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดา สรรพสิ่งมาจากพระองค์ เราเป็นอยู่เพื่อพระองค์” (1 คร 8:6)


มธ 5:9 ผู้สร้างสันติ ไม่เพียงแต่แสวงหาการคืนดีกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์เท่านั้น แต่เขาต้องการช่วยผู้อื่นให้ปรองดองกัน และสานสันติในทุกๆ ความสัมพันธ์ด้วย 

CCC ข้อ 2305 สันติภาพในโลกนี้เป็นภาพและผลของสันติภาพของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็น “เจ้าแห่งสันติ” (อสย 9:5) ของพระเมสสิยาห์ เดชะพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ทรงขจัดการเป็นศัตรูกันเดชะพระองค์ ทรงทำให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้าและทรงบันดาลให้พระศาสนจักรเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพของมนุษยชาติและความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า “พระองค์คือสันติของเรา” (อฟ 2:14) และทรงประกาศว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข” (มธ 5:9)

CCC ข้อ 2330 “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า” (มธ 5:9)


มธ 5:10 ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหง คือศิษย์ที่แท้จริง ผู้ที่พากเพียรอย่างมั่นคงในความเชื่อ และยอมรับความทุกข์ทรมานเพราะความซื่อสัตย์ของเขาต่อพระคริสตเจ้า 

CCC ข้อ 886 “พระสังฆราชแต่ละองค์เป็นที่มาและรากฐานที่แลเห็นได้ของเอกภาพภายในพระศาสนจักรท้องถิ่นของตน” ในฐานะนี้บรรดาพระสังฆราช “ปฏิบัติงานอภิบาลปกครองของตนเหนือประชากรของพระเจ้าส่วนที่ถูกมอบหมายไว้ให้ปกครองดูแล” โดยมีคณะสงฆ์และสังฆานุกรเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาพระสังฆราช พระสังฆราชแต่ละองค์จึงมีส่วนร่วมความเอาใจใส่ดูแลพระศาสนจักรท้องถิ่นทุกแห่ง ซึ่งเขาทำได้โดยเฉพาะ “เมื่อปกครองพระศาสนจักรของตนอย่างดีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักรสากล” และทำเช่นนี้ “เพื่อผลประโยชน์ของพระกายทิพย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นประหนึ่งพระศาสนจักร(ท้องถิ่น)ทั้งหลายที่รวมเป็นร่างกายเดียวกันด้วย” ความเอาใจใส่ดูแลนี้จะต้องขยายโดยเฉพาะไปสู่คนยากจน และผู้ที่ถูกเบียดเบียนเพราะความเชื่อ และยังขยายไปสู่บรรดาธรรมทูตผู้ทำงานอยู่ทั่วโลกด้วย

CCC ข้อ 1716 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:1)

CCC ข้อ 1967 อ่านเพิ่มเติมที่ด้านบน (มธ 5:8)


มธ 5:11-12 พระคริสตเจ้าคือแบบอย่างของความสมบูรณ์ครบครัน และการเชื้อเชิญให้ติดตามพระองค์นั้น มิได้หมายถึงเพียงแค่การภาวนาและความนอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงความปรารถนาที่จะยอมรับการเสียสละตนเอง ความลำบาก และการถูกเบียดเบียนอันเนื่องมาจากคำเชื้อเชิญนั้นด้วย

CCC ข้อ 520 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นแบบฉบับของเรา พระองค์ทรงเป็น “มนุษย์ครบครัน” และทรงเชื้อเชิญเราให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พระองค์ประทานแบบฉบับให้เราปฏิบัติตามโดยการถ่อมพระองค์ ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนา ทรงเรียกเราให้เอาอย่างความยากจนของพระองค์โดยยอมรับความขัดสนและการถูกเบียดเบียน

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)