แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์สัปดาห์ที่ 30 (ปีคู่)  

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 14:1-6) 

วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของหัวหน้าชาวฟาริสีผู้หนึ่ง ผู้ที่อยู่ที่นั่นต่างจ้องมองพระองค์ ขณะนั้นชายคนหนึ่งเป็นโรคบวมกำลังอยู่เฉพาะพระพักตร์ พระเยซูเจ้าจึงตรัสถามบรรดานักกฎหมายและชาวฟาริสีว่า “อนุญาตให้รักษาโรคในวันสับบาโตหรือไม่” แต่คนเหล่านั้นนิ่งเงียบ พระองค์จึงทรงพยุงผู้ป่วยขึ้น ทรงรักษาเขา แล้วให้กลับไป พระองค์ตรัสกับคนเหล่านั้นอีกว่า “ถ้าผู้ใดมีบุตรหรือมีโคตกลงไปในบ่อ จะไม่รีบฉุดขึ้นมาทันทีแม้เป็นวันสับบาโตหรือ” แต่คนเหล่านั้นตอบคำถามนี้ไม่ได้


ลก 14:1-6 บรรดานักกฎหมายและชาวฟาริสีได้พยายามที่จะทำให้พระคริสตเจ้าทรงติดกับ โดยการเชิญพระองค์ไปรับประทานอาหารค่ำในวันสับบาโต โดยที่นั้นมีชายคนหนึ่งซึ่งเป็นโรคบวมรวมอยู่ด้วย พวกเขาเชื่อกันว่าโรคนี้เป็นผลจากบาป จึงทำให้ชายผู้นี้ไม่บริสุทธิ์ พระคริสตเจ้าไม่เพียงแต่รักษาชายผู้นี้ในวันสับบาโตเท่านั้น แต่ยังทรงสัมผัสเขาอีกด้วย ในสายตาของชาวฟาริสี การกระทำทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นการกระทำที่ผิด ทั้ง “ลูกชายกับโค” ที่พระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงนั้น ต่างแสดงถึงการอนุญาตให้ทำความดีในวันสับบาโตได้ แม้จะอยู่ภายใต้กฎของชาวยิวก็ตาม 

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด

CCC ข้อ 582  ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] – ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาปอย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้า ชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)