แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์สัปดาห์ที่ 25 (ปีคู่) 

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 9:18-22)

วันหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่เพียงพระองค์เดียว บรรดาศิษย์เข้ามาเฝ้า พระองค์จึงตรัสถามเขาว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นเอลียาห์ บ้างว่าเป็นประกาศกในอดีตคนหนึ่งซึ่งกลับคืนชีพ” พระเยซูเจ้าตรัสถามเขาว่า “ท่านล่ะว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” พระองค์จึงทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด

     พระองค์ตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานเป็นอันมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะและ   ธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่จะกลับคืนชีพในวันที่สาม”


ลก 9:18-22 ถึงแม้ฝูงชนจะมองว่าพระคริสตเจ้าเป็นดังประกาศกที่ยิ่งใหญ่ หรืออาจารย์ พวกเขาก็ยังเชื่อมโยงพระองค์กับประกาศกในพันธสัญญาเดิม และล้มเหลวในการตระหนักว่าพระอาณาจักรของพระองค์ไม่ใช่สำหรับโลกนี้ แม้ว่านักบุญลูกาไม่ได้เชื่อมโยงตอนที่พระคริสตเจ้าทรงแต่งตั้งเปโตรเป็น “ศิลา” ที่พระองค์จะทรงสร้างพระศาสนจักรของพระองค์ และเป็นผู้เก็บ “กุญแจประตูแห่งพระอาณาจักร” แต่นักบุญลูกาก็ได้ทำให้ชัดเจนขึ้นว่า เปโตรมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเหนืออัครสาวกทั้งหมด (เทียบ ลก 22:29-30)  ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่เพียงพระองค์เดียว : โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระวรสารของนักบุญลูกา จะพบพระเยซูเจ้าทรงภาวนาก่อนจะกระทำภารกิจที่สำคัญในศาสนบริการของพระองค์ การภาวนาของพระองค์ในครั้งนี้จะได้ตามมาด้วยเหตการณ์ที่เปโตรยอมรับว่าพระเยซูคือพระคริสตเจ้า

คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 436 คำว่า “พระคริสตเจ้า” (Christos) เป็นคำแปลภาษากรีกของคำภาษาฮีบรูว่า “เมสสิยาห์” ซึ่งแปลว่า “ผู้รับเจิม” คำนี้กลายเป็นพระนามเฉพาะของพระเยซูเจ้าก็เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติพระภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้ตามความหมายของคำนี้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ เพราะในอิสราเอล ผู้ที่ถวายตนปฏิบัติภารกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำมักได้รับการเจิมถวายแด่พระองค์ เช่น ในกรณีของกษัตริย์สมณะ และบางครั้ง ประกาศกด้วย ดังนั้น กรณีพิเศษสุดต้องเป็นกรณีของผู้รับเจิมที่พระเจ้าจะทรงส่งมาเพื่อสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ขึ้นใหม่ในยุคสุดท้าย พระเมสสิยาห์จำเป็นต้องได้รับเจิมโดยพระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าในฐานะกษัตริย์และสมณะ รวมทั้งในฐานะประกาศกด้วย พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหวังของอิสราเอลเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ในทั้งสามบทบาทของสมณะ ประกาศก และกษัตริย์สำเร็จเป็นจริง

CCC ข้อ 2600 พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเน้นการกระทำของพระจิตเจ้าและความหมายของการอธิษฐานภาวนาในการปฏิบัติพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาก่อนการปฏิบัติพันธกิจที่สำคัญของพระองค์ เช่น ก่อนที่พระบิดาจะทรงเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในการรับพิธีล้าง เมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ก่อนจะทรงทำให้แผนการความรักของพระบิดาสำเร็จไปโดยการรับทนทรมานของพระองค์ พระองค์ยังทรงอธิษฐานภาวนาก่อนถึงเวลาที่จะทรงมอบพันธกิจอย่างเด็ดขาดแก่บรรดาอัครสาวก ก่อนจะทรงเลือกและเรียกศิษย์สิบสองคน ก่อนที่เปโตรจะประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระคริสต์ของพระเจ้า” และเพื่อหัวหน้าของบรรดาอัครสาวกจะไม่เสียความเชื่อเมื่อถูกประจญ การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าก่อนเหตุการณ์ความรอดพ้นที่พระบิดาทรงขอให้พระองค์ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นการมอบถวายความตั้งพระทัยแบบมนุษย์ของพระองค์ไว้กับพระประสงค์ที่เปี่ยมด้วยความรักของพระบิดา


ลก 9:21 มิให้พูดเรื่องนี้แก่ผู้ใด : พระคริสตเจ้ามิได้ทรงเป็นของโลก และมิได้เป็นพระเมสสิยาห์ตามความคาดหวังทางการเมืองของชาวยิวส่วนใหญ่  เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเปิดเผยนี้คือเวลาที่ตรงกับพระมหาทรมาน และการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระองค์

CCC ข้อ 559 กรุงเยรูซาเล็มจะต้อนรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่เสมอไม่ให้ประชาชนพยายามต้องการจะแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ ทรงเลือกเวลาเสด็จอย่างพระเมสสิยาห์เข้าในนคร “ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์” (ลก 1:32) และทรงจัดเตรียมการเสด็จเข้านี้โดยละเอียด พระองค์ทรงรับการโห่ร้องต้อนรับดุจพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด เหมือนผู้นำความรอดพ้นมาให้ (คำว่า “โฮซานนา” แปลว่า “จงช่วยให้รอดพ้นเถิด”) แต่บัดนี้ “กษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (สดด 24:7-10) “ประทับบนหลังลา” (ศคย 9:9) เสด็จเข้านครของพระองค์ ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยน ซึ่งเป็นภาพของ พระ ศาสนจักรมาอยู่ใต้พระอานุภาพมิใช่ด้วยกลอุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความถ่อมตนซึ่งเป็นพยานถึงความจริง เพราะเหตุนี้ ในวันนั้นพวกเด็กๆ และ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” ซึ่งโห่ร้องต้อนรับพระองค์เหมือนกับที่บรรดาทูตสวรรค์เคยแจ้งข่าวแก่พวกคนเลี้ยงแกะ จะเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของพระอาณาจักรพระศาสนจักรจะนำคำโห่ร้องของพวกเด็กๆ เหล่านี้ที่ว่า“ท่านผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจงได้รับพระพร” (สดด 118:26) มาขับร้องอีกในบท “Sanctus [ศักดิ์สิทธิ์]” ของพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อเริ่มต้นการระลึกถึงงานฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า

CCC ข้อ 560 การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูเจ้าแสดงถึงการมาถึงของพระอาณาจักรที่พระเมสสิยาห์กษัตริย์กำลังจะทำให้เป็นจริงอย่างสมบูรณ์โดยปัสกาการสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พิธีกรรมของพระศาสนจักรเริ่มสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์โดยการฉลองระลึกถึงเหตุการณ์นี้ในวันอาทิตย์ใบลาน

CCC ข้อ 840 ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราพิจารณาถึงอนาคต ประชากรของพระเจ้าทั้งในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ต่างก็มุ่งสู่จุดหมายคล้ายกัน คือการรอคอยการเสด็จ(กลับ)มาของพระเมสสิยาห์ แต่สำหรับประชากรกลุ่มหนึ่งเป็นการรอคอยการเสด็จกลับมาของพระเมสสิยาห์ผู้ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ ผู้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรของพระเจ้า ส่วนประชากรอีกกลุ่มหนึ่งยังรอคอยการเสด็จกลับมาเมื่อสิ้นพิภพของพระเมสสิยาห์ซึ่งยังมีลักษณะไม่ชัดเจน เป็นการรอคอยที่ควบคู่กับความไม่รู้จักหรือไม่ยอมรับรู้พระเยซูคริสตเจ้าอย่างน่าเสียดาย


ลก 9:22 บุตรแห่งมนุษย์ : เป็นนามที่พระคริสตเจ้ามักจะใช้กล่าวถึงพระองค์เอง บางที่เพื่อเน้นถึงความเป็นมนุษย์ของพระองค์ แต่ก็เป็นนามที่ไม่เคยมีผู้ใดใช้เลย พระนามนี้เป็นการรวมของสองคำทำนายในพันธสัญญาเดิม คือ ผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ ในหนังสือประกาศกอิสยาห์ และคำทำนายจากหนังสือประกาศกดาเนียล (เทียบ ดนล 7:13)

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)