แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคารสัปดาห์ที่ 24 (ปีคู่) ระลึกถึงแม่พระมหาทุกข์

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 19:25-27)

 เวลานั้น พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเห็นพระมารดาและศิษย์ที่รักยืนอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสกับพระมารดาว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” แล้วตรัสกับศิษย์ผู้นั้นว่า “นี่คือแม่ของท่าน” ตั้งแต่เวลานั้น ศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางเป็นมารดาของตน


 ยน 19:25-27  หญิงเอ๋ย : ในงานมงคลสมรสที่เมืองคานา พระคริสตเจ้าได้ทรงกล่าวเรียกพระมารดาของพระองค์ด้วยคำว่า “สตรี” ซึ่งเป็นคำที่ชวนให้ระลึกถึง เอวา “สตรี”แห่งสวนเอเดน ความนบนอบเชื่อฟังของพระนางมารีย์ที่มีต่อพระเจ้าได้พลิกกลับบาปที่เอวาได้ทำ ด้วยเหตุนี้ พระศาสนจักรจึงได้ยกย่องพระนางมารีย์เป็น เอวาใหม่  นี่คือแม่ของท่าน : เป็นคำกล่าวที่มอบความไว้วางใจต่อศิษย์สุดที่รักให้ดูแลมารดาของพระองค์ และมอบศิษย์ให้แด่มารดาของพระองค์ พระคริสตเจ้าได้ทรงแต่งตั้งพระนางมารีย์ให้เป็นมารดาของพระศาสนจักร พระนางจึงทรงเป็นมารดาฝ่ายจิตของบรรดาคริสตชนผู้มีความเชื่อ คำว่า ศิษย์ “ที่พระเยซูเจ้าทรงรัก” มักเป็นคำที่ใช้หมายถึง ร่างกายทั้งครบของพระศาสนจักร ในบทวันทามารีย์ เราวอนขอพระมารดา “โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตาย” เพื่อวอนขอให้พระนางประทับกับเราในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ดังที่พระนางได้ทรงอยู่แทบเชิงไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า  

        คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก CCC ข้อ 495 พระนางมารีย์ ซึ่งในพระวรสารได้รับพระนามว่า “พระมารดาของพระเยซูเจ้า” (ยน 2:1; 19:25) แม้ก่อนจะประสูติพระบุตร นางเอลีซาเบธก็ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าประกาศว่าพระนางทรงเป็น “พระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:43) แล้ว พระองค์ที่พระนางได้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์เดชะพระจิตเจ้า และทรงรับสภาพมนุษย์มาเป็นพระบุตรของพระนางนี้ก็มิใช่ผู้ใดอื่นจากพระบุตรนิรันดรของพระบิดา พระบุคคลที่สองของพระตรีเอกภาพ พระศาสนจักรประกาศว่าพระนางมารีย์ทรงเป็นพระมารดาของพระเจ้า (Theotokos) โดยแท้จริง

     CCC ข้อ 501 พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระนางมารีย์ แต่ความเป็นพระมารดาฝ่ายจิตของพระนางมารีย์แผ่ขยายครอบคลุมมนุษย์ทุกคนที่พระองค์เสด็จมาทรงกอบกู้ “พระนางประสูติพระบุตรซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก (เทียบรม 8:29) ซึ่งหมายถึงผู้มีความเชื่อที่พระนางทรงร่วมมือให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนด้วยความรักเยี่ยงมารดา”

     CCC ข้อ 726 พระพันธกิจนี้ของพระจิตเจ้าจบลงเมื่อพระนางมารีย์ทรงเป็น “หญิง” เป็นเหมือนกับ “นางเอวาคนใหม่” ซึ่งเป็น “มารดาของผู้มีชีวิตทั้งหลาย” พระนางทรงเป็นพระมารดา “ของพระคริสตเจ้าทั้งองค์” (totius Christi) เมื่อเป็นเช่นนี้ พระคัมภีร์จึงกล่าวถึงพระนางว่าทรง “ร่วมภาวนาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” พร้อมกับศิษย์ทั้งสิบสองคน (กจ 1:14) ในช่วงเริ่มแรกของ “ยุคสุดท้าย” ตอนเช้าของวันเปนเตกอสเตเมื่อพระศาสนจักรแสดงตนแก่มวลมนุษย์

      CCC ข้อ 963 หลังจากที่เราได้กล่าวถึงบทบาทของพระนางพรหมจารีในพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้าและพระจิตเจ้าแล้ว บัดนี้เราต้องพิจารณาว่าพระนางทรงอยู่ที่ไหนในพระธรรมล้ำลึกของพระศาสนจักรด้วย “พระนางพรหมจารีมารีย์ […] ทรงเป็นที่ยอมรับและได้รับเกียรติเป็นพระมารดาของพระเจ้า และพระผู้ไถ่โดยแท้จริง […] ยิ่งกว่านั้น พระนางยังเป็นมารดาอย่างสมบูรณ์ของส่วนต่าง ๆของพระวรกาย(ของพระคริสตเจ้า)...เพราะพระนางทรงร่วมงานไถกู่นี้ด้วยความรักเพื่อให้บรรดาผู้มีความเชื่อได้เกิดในพระ ศาสนจักร เป็นเสมือนส่วนต่าง ๆ ของ(พระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็น)ศีรษะ” “พระนางมารีย์พระมารดาของพระคริสตเจ้าจึงทรงเป็นพระมารดาของพระศาสนจักรอีกด้วย”

     CCC ข้อ 964 บทบาทของพระนางมารีย์ต่อพระศาสนจักรนั้นแยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ของพระนาง กับพระคริสตเจ้า และยังสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์นี้ด้วย “ความสัมพันธ์นี้ของพระนางมารีย์กับพระบุตรในงานไถ่กู้เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เวลาที่พระคริสตเจ้าทรงปฏิสนธิจากพระนางพรหมจารีจนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์” ความสัมพันธ์นี้เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในเวลาที่ทรงรับทรมาน “พระนางพรหมจารียังทรงก้าวหน้าอยู่เสมอในวิถีทางแห่งความเชื่อ และทรงรักษาความสัมพันธ์ของพระนางกับพระบุตรไว้อย่างมั่นคงจนถึงไม้กางเขนที่ซึ่งพระนางทรงยืนอยู่ด้วยตามแผนการที่พระเจ้าทรงจัดไว้ (เทียบ ยน 19:25) ทรงร่วมทุกข์อย่างแสนสาหัสกับพระบุตรแต่องค์เดียวของพระนางและร่วมถวายตนด้วยจิตใจเยี่ยงมารดาเป็นบูชาร่วมกับพระบุตร เต็มพระทัยยอมถวายพระบุตรที่ทรงบังเกิดจากพระนางเป็นเครื่องบูชาด้วยความรัก และในที่สุดพระนางยังทรงรับเป็นมารดาของศิษย์ที่พระเยซูเจ้าซึ่งกำลังจะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนทรงมอบให้ด้วยพระวาจาที่ตรัสว่า “แม่ นี่คือลูกของแม่” (เทียบ ยน 19:26-27)”

      CCC ข้อ 2677 “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลาย....” เรารู้สึกแปลกใจเหมือนนางเอลีซาเบธ“ทำไมพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า” (ลก 1:43) เพราะเหตุที่พระนางมารีย์ทรงให้พระเยซูพระบุตรของพระนางแก่เรา พระนางจึงเป็นพระมารดาพระเจ้าและพระมารดาของเรา เราจึงอาจฝากตัวเรา ความกังวลและความต้องการทุกอย่างของเราไว้กับพระนางและวอนขอได้ พระนางทรงวอนขอเพื่อเราเช่นเดียวกับเพื่อพระนางเอง “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) เราฝากตัวไว้กับคำวอนขอของพระนาง เรามอบตัวเราพร้อมกับพระนางไว้กับพระประสงค์ของพระเจ้า “พระประสงค์จงสำเร็จไปเถิด” “โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตายเทอญ” เมื่อวอนขอให้พระนางมารีย์ภาวนาเพื่อเรา เรายอมรับว่าเป็นคนบาปน่าสงสารและหันมาหา “พระมารดาผู้ทรงเมตตากรุณา” มาหาพระนางผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ เราฝากตัวเราไว้กับพระนาง “บัดนี้” ในวันนี้ชีวิตของเรา ความวางใจของเรายังขยายออกไปอีกเพื่อมอบ “เวลาที่เราจะสิ้นใจ” แก่พระนาง ณ บัดนี้ด้วย ขอให้พระนางอยู่กับเราในเวลานั้นเหมือนกับที่ได้ทรงอยู่กับพระบุตรเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และขอให้พระนางทรงรับเราเหมือนกับเป็นมารดาของเรา และนำเราไปพบพระบุตรของพระนางในสวรรค์ด้วย

        CCC ข้อ 2678 ความศรัทธาของคริสตชน พระศาสนจักรตะวันตกในสมัยกลางได้พัฒนาการสวดสายประคำขึ้นเป็นการทดแทนพิธีทำวัตรแบบชาวบ้าน ส่วนในพระศาสนจักรตะวันออก การภาวนาที่มีรูปแบบการตอบรับซํ้าๆ กันเช่น Akathistos และ Parklesis ยังคงเป็นรูปแบบการอธิษฐานภาวนาคล้ายกับการขับร้องทำวัตรในพระศาสนจักรต่างๆ ของจารีตไบแซนไทน์ ขณะที่ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรอาร์เมเนีย ค็อปต์ และซีเรียคชอบบทเพลงสรรเสริญแบบชาวบ้านต่อพระมารดาพระเจ้ามากกว่า แต่บท “วันทามารีย์” บท Theotokia เพลงสรรเสริญของนักบุญเอเฟรมหรือเกรโกรีแห่งนาเร็ก ต่างยังรักษาธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีรากฐานเดียวกัน

           CCC ข้อ 2679 พระนางมารีย์เป็นผู้อธิษฐานภาวนาที่สมบูรณ์ เป็นรูปแบบของพระศาสนจักร เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระนาง เราก็ใกล้ชิดกับแผนการของพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาเพื่อช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น เรารับพระนางมาเป็นมารดาของเรา28 พระมารดาของพระเยซูเจ้ากลับมาเป็นพระมารดาของทุกคนผู้มีชีวิต เราอาจอธิษฐานภาวนากับพระนางและอธิษฐานภาวนาตอ่ พระนางได้ การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรคล้ายกับว่าได้รับการอุดหนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กับพระองค์ในความหวัง

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)