แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา ปี A

ภายใต้  "ศิลา"  และ  "กุญแจ"

g

     ชายคนหนึ่งทำกุญแจตู้เซฟเก็บเงินหายไปตอนหัวค่ำ  เขาจึงเริ่มมองหากุญแจอยู่ภายนอกบ้าน  เพื่อนบ้านบางคนเห็นดังนั้นก็เลยมาช่วยกันหาด้วย  เวลาผ่านไปนานพอควร  ทุกคนเริ่มเหนื่อยและหมดแรง  แต่ก็ยังหาไม่เจอ  เพื่อนคนหนึ่งจึงถามขึ้นว่า  "ทำกุญแจหายที่ไหนกันแน่"  เขาตอบว่า  "น่าจะเป็นภายในบ้าน"  "อ้าว... แล้วทำไมพาเราออกมาหานอกบ้านล่ะ"  เขาตอบว่า  "ก็นอกบ้านมีแสงสว่างมากกว่าในบ้าน"

     คนเรามักจะมองกุญแจผิดที่ผิดทางอยู่บ่อยๆ ใช่หรือไม่  ที่ตลกก็คือ  กุญแจที่จะไขความเข้าใจเกี่ยวกับพระวาจาของพระเจ้าอาทิตย์นี้ก็คือเรื่องของ  "กุญแจ" นั่นเอง   ซึ่งในบทอ่านแรก  หมายถึงกุญแจราชวังของกษัตริย์ดาวิด  ส่วนในพระวรสารหมายถึง  กุญแจแห่งอาณาจักรสวรรค์

     ในโลกและภาษาของพระคัมภีร์  เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบกุญแจ  เป็นสัญลักษณ์หมายถึง เป็นผู้ดูแลทรัพย์สิน  และยังหมายถึงอำนาจอีกด้วย  ในบทอ่านแรกเล่าว่า  อำนาจในการถือกุญแจของเชบนาถูกถอดออก  และนำไปมอบให้แก่คนอื่น  ส่วนในพระวรสาร  สัญลักษณ์ของกุญแจปรากฏอีก  คือการที่พระเยซูเจ้าได้ทรงมอบกุญแจแห่งอาณาจักรสวรรค์ให้แก่นักบุญเปโตร  เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องกุญแจดีมากขึ้น  ขอยกอีกสองตัวอย่างที่พูดถึงเรื่องนี้ที่ปรากฏอยู๋ในหนังสือวิวรณ์

" เราเป็นผู้มีชีวิต  เราตายไปแล้ว  แต่บัดนี้เรามีชีวิตอยู่ตลอดนิรันดร  เรามีอำนาจเหนือความตาย  และเหนือแดนผู้ตาย (= แปลตามตัวอักษรว่า  "เราถือกุญแจแห่งความตาย และกุญแจแห่งแดนผู้ตาย")  ดังนั้น  จึงเขียนสิ่งที่ท่านได้เห็น  คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน " (วว 1:18-19)h

" จงเขียนถึงทูตสวรรค์ของพระศาสนจักรที่เมืองฟิเลเดลเฟียว่า 'พระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ทรงสัตย์ ผู้ทรงถือกุญแจของกษัตริย์ดาวิด  เมื่อพระองค์ทรงเปิด  ไม่มีผู้ใดปิดได้  และเมื่อพระองค์ทรงปิดก็ไม่มีผู้ใดเปิดได้' " (วว 3:7)

     ขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องที่เป็นภูมิหลังของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบทอ่านแรก  เชบนาเป็นมหาเสนาบดี  เป็นนายกรมราชวังของกษัตริย์เฮเซคียาห์  ถือเป็นตำแหน่งใหญ่รองจากกษัตริย์เท่านั้น  เชบนาผู้นี้เป็นผู้ต่อต้านนโยบายของประกาศกอิสยาห์  ที่เน้นให้ไว้วางใจแต่องค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น  พระเจ้าจึงทรงดึงเชบนาลงจากตำแหน่ง  และให้เอลียาคิมได้ตำแหน่งนั้นแทน  ตำแหน่งนี้โดยธรรมประเพณีแล้ว  ทุกๆเช้าเขาจะต้องส่งคนไปเปิดประตูวัง  เป็นคนคอยกำกับดูแลว่าจะให้ใครเข้ามา  และคอยส่งคนกลับออกไป  จึงเทียบเท่ากับผู้ที่ถือกุญแจ  หรือมีอำนาจไขประตูวังให้ใครเข้า  ใครออก

     จึงนำมาสู่การเปรียบเทียบเรื่องในพระวรสารของวันนี้ที่พระเยซูเจ้าได้ตรัสกับนักบุญเปโตรว่า  "เรามอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้  ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้  จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย  ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้  ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย"  นักบุญมัทธิวผู้นิพนธ์พระวรสารวางนักบุญเปโตรในฐานะเป็นผู้นำ  และเป็นโฆษกของบรรดาอัครสาวก  เช่นใน  มธ 14:28, 29  (นักบุญเปโตรขอเดินบนน้ำไปหาพระเยซูเจ้า  และพระองค์ทรงอนุญาต)  และใน มธ 15:15  (นักบุญเปโตรทูลพระองค์ว่า  "โปรดอธิบายข้อความที่เป็นปริศนานี้เถิด")  ให้สังเกต ณ ที่นี้ว่า  เมื่อพระเยซูเจ้าได้ตรัสถามบรรดาอัครสาวกว่า  "ผู้คนเขาว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร"  พวกสาวกต่างตอบตามความหมายคำทำนายถึงพระเมสสิยาห์ที่เชื่อกันอย่างแพร่หลายทั่วไปว่า  "เป็นยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง  เป็นประกาศกเอลียาห์  เป็นประกาศกเยเรมีห์  หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง"  แต่นักบุญเปโตรกลับประกาศว่า  "พระองค์คือพระคริสตเจ้า  พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต"  พระเยซูเจ้าจึงตรัสตอบเขาว่า  "ซีโมน บุตรของยอห์น  ท่านเป็นสุข  เพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้  แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย"  แล้วพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งนักบุญเปโตรให้เป็นหัวหน้าดูแลพระศาสนจักรด้วยคำว่า  "ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา  ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้..."

     อย่างไรก็ตาม  นักบุญเปโตรไม่ได้เป็นคนหนึ่งที่เคยประกาศว่าพระเยซูเจ้าคือใครเท่านั้น  แต่ได้เคยปฏิเสธพระองค์ด้วย  ท่านไม่ได้เป็นผู้ที่ยืนยันความเชื่อในพระองค์เท่านั้น  แต่ยังเคยลังเลสงสัยในพระองค์ด้วย  จะเห็นได้ว่า  ท่านต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเยซูเจ้าในกิจการต่างๆเสมอ  แต่พระเยซูเจ้าก็ทรงเรียกท่านให้เป็นผู้นำ  ให้ท่านเป็นผู้ที่ทำให้พี่น้องทุกคนเข้มแข็งขึ้น  ให้ท่านเป็นผู้ปกครองพระศาสนจักร  ทำให้พระศาสนจักรมีเอกภาพ  ให้คอยดูแล  คอยปกป้องความเชื่อ  และการแพร่ธรรมต่างๆ   นี่แหละ  ถือเป็นภารกิจ "หิน"  ที่ให้คนที่ชื่อ "หิน" เป็นผู้กระทำ

     แต่แท้จริงแล้ว  นักบุญเปโตรก็มีเคล็ดลับในการทำงาน  การที่ท่านตระหนักว่าตนอ่อนแอ  และเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้ามาก่อน  ทำให้ท่านไม่เย่อหยิ่ง  แต่มีความถ่อมสุภาพ  ท่านเข้าใจภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้กระทำเป็นอย่างดี  ท่านกล่าวถึงท่านเองว่า  "ซีโมน เปโตร  ผู้รับใช้และอัครสาวกของพระเยซูเจ้า" (2ปต 1:1)  และกล่าวด้วยว่า  "แต่ละคนจงใช้พระพรที่ได้รับมาเพื่อรับใช้กันและกัน" (1ปต 4:10)

     วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2005  เมื่อพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16  ได้รับตำแหน่งพระสันตะปาปา  ได้ทรงอธิบายพระองค์เองว่าเป็น  "ผู้รับใช้ที่อ่อนแอของพระเจ้า" (= "weak servant of God")  แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งของการเป็น  "ผู้รับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลาย"  (servus servorum)  ในขณะที่ถ้าย้อนกลับไปในเวลาที่นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา  ในขณะที่เริ่มต้นสมณสมัยของพระองค์  ได้ตรัสว่า  "จงเปิดประตูให้กว้างขวางเพื่อพระคริสตเจ้า"  ("Open wide doors for Christ")  เหมือนกับทรงตระหนักทราบว่าพระองค์เป็นผู้ถือกุญแจ  และทรงรู้ถึงความรับผิดชอบที่จะต้องรับใช้และเปิดประตูพระศาสนจักรให้กว้างไว้เพื่อกิจการของพระจิตเจ้า

     คำว่า "ศิลา" หรือ "หิน"  เตือนใจเราว่าพระศาสนจักรต้องมีความเข้มแข็ง  ไม่ใช่ เข้มงวด  คอยสนับสนุน ไม่ใช่จ้องลงโทษ  ในขณะที่คำว่า "กุญแจ"  หมายถึงแรงบันดาลใจในเรื่องของการเปิดออก และความเป็นมิตร  อย่าลืมว่า  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองซีซารียาแห่งฟิลิป  ซึ่งเป็นดินแดนของคนต่างศาสนา  ภารกิจของพระศาสนจักรนั้นต้องมีความเป็นสากล  นั่นคือ เป็นผู้รับใช้ให้กับชาวโลกนั่นเอง

 

(คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ  เรียบเรียงใหม่ วันที่ 16 สิงหาคม 2020

Based on : Sunday Seeds For Daily Deeds ; by Francis Gonsalves, S.J.)

ijk