แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 12 เทศกาลธรรมดา

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 7:21-29)

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้น มิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้ ในวันนั้นหลายคนจะกล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ประกาศพระวาจาในพระนามของพระองค์ ขับไล่ปีศาจในพระนามของพระองค์ และได้กระทำอัศจรรย์หลายประการในพระนามของพระองค์มิใช่หรือ’ เมื่อนั้น เราจะกล่าวแก่เขาว่า ‘เราไม่เคยรู้จักท่านทั้งหลายเลย ท่านผู้กระทำความชั่ว จงไปให้พ้นหน้าเรา’ ผู้ใดฟังถ้อยคำเหล่านี้ของเราและปฏิบัติตาม ก็เปรียบเสมือนคนมีปัญญาที่สร้างบ้านไว้บนหิน ฝนจะตก น้ำจะไหลเชี่ยว ลมจะพัดโหมเข้าใส่บ้านหลังนั้นบ้านก็ไม่พัง เพราะมีรากฐานอยู่บนหิน ผู้ใดที่ฟังถ้อยคำเหล่านี้ของเรา และไม่ปฏิบัติตามก็เปรียบเสมือนคนโง่เขลาที่สร้างบ้านไว้บนทราย เมื่อฝนตก น้ำไหลเชี่ยว ลมพัดโหมเข้าใส่บ้านหลังนั้น มันก็พังทลายลงและเสียหายมาก” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถ้อยคำเหล่านี้จบแล้ว ประชาชนต่างพิศวงในคำสั่งสอนของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา


มธ 7:21 การร้องเรียก “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า” แต่เพียงภายนอกนั้นไม่เพียงพอที่จะได้รับชีวิตนิรันดร์ ดังนั้น การกลับใจและความปรารถนาที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การทำงานต้องเป็นการประกาศถึงความเชื่อของเรา และการภาวนาของคริสตชนจะต้องสะท้อนถึงการยอมรับอย่างจริงใจและความปรารถนาที่จะให้พระประสงค์ของพระบิดาสำเร็จไป เมื่อความปรารถนาของเรา และของพระองค์ เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว พระอาณาจักรสวรรค์จะเกิดขึ้นบนโลกนี้และในตัวเรา

CCC ข้อ 1821 ดังนั้นเราจึงอาจหวังสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้ผู้ที่รักพระองค์และทำตามพระประสงค์ในสถานการณ์ใดไม่ว่า แต่ละคนต้องมีความหวัง และอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า มั่นคงอยู่ในความหวังนี้จนถึงที่สุดไปรับความยินดีที่เป็นรางวัลนิรันดรจากพระเจ้าตอบแทนกิจการดีที่เขาได้ทำไว้อาศัยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาด้วยความหวังขอให้ “ทุกคนได้รับความรอดพ้น” (1 ทธ 2:4) พระศาสนจักรปรารถนาที่จะร่วมสนิทกับพระคริสตเจ้าพระสวามีของตนในสิริรุ่งโรจน์แห่งสวรรค์ “วิญญาณเอ๋ย จงหวัง จงหวังเถิด เจ้าไม่รู้ว่าวันและเวลาจะมาถึงเมื่อไร จงเอาใจใส่ตื่นเฝ้าไว้ เพราะทุกสิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความปรารถนาที่มั่นใจของเจ้าจะกลับเป็นไม่มั่นใจ และเวลาสั้นๆ จะกลับยาวขึ้น จงระวังตัวไว้ ยิ่งเจ้าจะต่อสู้มากขึ้นเท่าใด เจ้าก็จะแสดงความรักที่เจ้ามีต่อพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น เจ้าจะมีความยินดีชื่นชมผู้ที่เจ้ารักด้วยความยินดีและความรักที่ไม่มีวันจะจบสิ้นได้เลย”

CCC ข้อ 2611 การอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อไม่ได้ประกอบด้วยเพียงการกล่าวว่า “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า”แต่อยู่ในใจที่พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาพระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญบรรดาศิษย์ให้สนใจร่วมแผนงานกับพระเจ้าในการอธิษฐานภาวนาด้วย

CCC ข้อ 2826 เมื่ออธิษฐานภาวนา เราอาจแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าและได้รับความพากเพียรที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์นั้น พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เข้าในพระอาณาจักรไม่ใช่ด้วยคำพูด แต่โดยปฏิบัติตาม “พระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 7:21)


มธ 7:24-27 การเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเยซูเจ้า และซื่อสัตย์ต่อคำสอนของพระองค์ คือการสร้างรากฐานไว้บนหิน ที่ทำให้เรามีความเข้มแข็งและมั่นคงในการที่จะเผชิญหน้ากับความยากลำบาก

CCC ข้อ 1970 กฎแห่งพระวรสารเรียกร้องให้มีการเลือกระหว่าง “ทางสองแพร่ง” และให้นำพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “กฎปฏิบัติ” (Golden Rule) ที่สรุปได้ดังนี้ “ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก”   (มธ 7:12) กฎแห่งพระวรสารทั้งหมดรวมอยู่ในบัญญัติใหม่ของพระเยซูเจ้าที่สั่งให้เรารักกันเหมือนกับที่พระองค์ทรงรักเรา


มธ 7:28-29 ผู้มีอำนาจ : พระเยซูเจ้าไม่ได้เพียงเสนอทางเลือก ในการใช้เหตุผลเพื่อการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์เท่านั้น แต่ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงสอนอย่างผู้มีอำนาจ ไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์ คำสอนของพระองค์นั้นทรงอำนาจสูงสุดทั้งในการอธิบายและทำให้ธรรมบัญญัติของโมเสสบรรลุความสมบูรณ์

CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์”(รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนายเพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า[…] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ

 

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church)