แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

มธ 12:1-8…
1ครั้งหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลีในวันสับบาโต บรรดาศิษย์รู้สึกหิว จึงเด็ดรวงข้าวมากิน 2เมื่อชาวฟาริสีสังเกตเห็นดังนั้น จึงทูลพระองค์ว่า “ดูซิ ศิษย์ของท่านกำลังทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโต” 3พระองค์ตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านในพระคัมภีร์หรือว่ากษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำสิ่งใดเมื่อหิวโหย 4พระองค์เสด็จเข้าไปในพระนิเวศของพระเจ้า เสวยขนมปังที่ตั้งถวายพร้อมกับบรรดาผู้ติดตาม ขนมปังนั้นผู้ใดจะกินไม่ได้ นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้น

5ท่านไม่ได้อ่านในธรรมบัญญัติหรือว่า ในวันสับบาโตนั้น บรรดาสมณะในพระวิหารย่อมละเมิดวันสับบาโตได้โดยไม่มีความผิด 6เราบอกท่านทั้งหลายว่า ที่นี่มีสิ่งยิ่งใหญ่กว่าพระวิหารเสียอีก 7ถ้าท่านเข้าใจความหมายของข้อความที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ ท่านคงจะไม่กล่าวโทษผู้ไม่มีความผิด 8เพราะบุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต”


อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• วันนี้พ่อร่วมสัมมนาพระสงฆ์ พ่อได้ยินการแบ่งปันประสบการณ์ของคุณพ่อท่านหนึ่งที่ท่านทำงานอยู่ที่ประเทศเกาหลีเป็นเวลายาวนาน ท่านได้ทำงานเพื่อบรรดาผู้ยากไร้ชายขอบสังคม คนไทยที่ทำงานเกาหลีและมีความยากลำบากในรูปแบบต่างๆ พ่อนั่งฟังประสบการณ์ของคุณพ่อท่านั้นด้วยความสนใจจริงๆ พ่อฟังด้วยความสุขมากๆ เพราะคุณพ่อเขาได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับผู้ยากไร้ กับคนยากจน

• ในช่วงสรุปของการบรรยาย คุณพ่อได้ใช้คำภาษาอังกฤษที่พ่อชอบ มากๆ คือ คำว่า “The Beauty of Poverty” แปลว่า “ความงดงามของความยากจน” พ่อชอบจริงๆ เพราะความยากจนคือเสน่ห์ของชีวิตของพระศาสนจักร การเลือกอยู่ข้างคนจน โดยเฉพาะคำสอนของพระสันตะปาปาฟรังซิส ที่เรียกร้องเราให้หันไปหาคนยากจน และเลือกอยู่เคียงข้างคนจน... พระสันตะปาปาเน้นให้เรายอมเป็นพระศาสนจักรที่ยากจน (ยอมยากจนลง) เพื่อคนยากจน เหมือนพระเยซูเจ้าผู้ยอมกสละความเป็นพระเจ้าลงมารับสภาพมนุษย์ดุจเรา

• พ่อคิดว่า การเลือกอยู่เคียงข้างคนยากจน คือ “เสน่ห์” ของพระศาสนจักรเสมอมา ติดตามเอกสารสมัชชาพ่อก็พบความจริงประการนี้... พ่ออยากเชิญชวนให้เราทบทวนข้อเสนอมสมัชชาข้อสำคัญจริงๆข้อนี้อีกครั้งครับ อ่านดีๆนะครับ

• ข้อเสนอที่ 22 พระศาสนจักรที่ยากจนสำหรับคนยากจน
o พระศาสนจักรต้องเลือกอยู่ข้างคนจนเป็นอันดับแรก เรื่องนี้จะต้องเป็น “เทววิทยาชีวิต” (Theology of life) ของพระศาสนจักรมากกว่าเป็นเพียงความคิดหรืองานบริการสังคม สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิสทรงต้องการให้พระศาสนจักรดำเนินชีวิตและทำงานอยู่เคียงข้างคนยากจน พระคริสตเจ้าทรงเป็นต้นแบบที่ล้ำค่าที่สุดในเรื่องการถ่อมพระองค์ลงมา ทรงบังเกิดอย่างยากจน ทรงทิ้งความร่ำรวยสูงสุด ลงมารับสภาพดุจทาสเป็นมนุษย์เหมือนเรา และทรงรักมนุษย์จนกระทั่งยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน (เทียบ ฟป. 2:7-8)
o พระศาสนจักรต้องไม่สะสมความร่ำรวย และสถาบันของพระศาสนจักรต้องเป็นประจักษ์พยานต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้มีพื้นที่ที่เปิดกว้างต้อนรับคนยากจน
o พระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช และคริสตชนทุกคน ต้องเลือกที่จะดำเนินชีวิตอย่าง เรียบง่าย สมถะ พอเพียง มีเมตตากรุณา รักและรับใช้ อยู่เคียงข้างคนจน เน้นความยุติธรรมในสังคม กล้าละทิ้งความสะดวกสบายและความมั่นคงส่วนตน เพื่อเป็นประจักษ์พยานที่มีประสิทธิภาพและประกาศข่าวดีใหม่ได้อย่างแท้จริง

• พี่น้องที่รัก สัมมนาพระสงฆ์ครั้งนี้เน้นเรื่องการประกาศข่าวดีจริงๆ และสมชัชาใหญ่ก็สะท้อนสิ่งที่พระสันตะปาปาฟรังซิสสอนเราด้วยแบบอย่างชีวิตของพระองค์เอง พ่อคิดว่า นี่คือ “เสน่ห์” ของพระศาสนจักร และต้องเป็นเช่นนี้เสมอให้จริงๆ ให้จงได้ เราคงไม่มีทางอื่นแล้วครับ ต้องไม่มีทางอื่นแน่นอน
• พ่อยอมรับว่า มีธรรมเนียมชีวิต มีสถาบันพระศาสนจักรในรูปแบบต่างๆมากมาย มีวิถีปฏิบัติในชีวิตที่บ่อยครั้งทำให้พระศาสนจักร สมาชิกของพระศาสนจักรเองก็อาจก้าวเกินเลย เดินตามกระแสสังคมโลก กระแสชีวิตแบบโลกีย์มากเกินไป มีพิธีการทางการต่างๆมากมาย จนกลายเป็นประเพณีที่เดินออกไปตามกระแสโลก

• พี่น้องจำได้ไหมว่า พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงทำอะไรในสันตะสมัยของพระองค์ตั้งแต่ทรงรับหน้าภาระกางเขนเป็นพระสันตะปาปา พระองค์กระทำสิ่งที่เด่นชัด
o ทรงเตือนบรรดาสมณทูตของสันตะสำนักตั้งแต่ต้นๆสมัยของพระองค์ บรรดาสมณทูตต้องไม่ดำเนินชีวิตเป็นคนชั้นสูงในสังคม ถ้าบรรดาสมณทูตซึ่งก็เป็นผู้แทนของพระองค์ทำตัวเป็นคนชั้นสูงไฮโซในสังคม ก็ถือว่าหมดสภาพจากการเป็นผู้แทนของพระองค์
o ทรงเลือกดำเนินชีวิตในบ้านซานตามาร์ธา ไม่ทรงประทับบรรทมในวังของพระสันตะปาปา ทรงเลือกถวายมิสซาทุกวันที่บ้านซานตามาร์ธาจนถึงเวลานี้ ทรงเป็นแบบอย่างจริงๆในเรื่องการดำเนินชีวิตเรียบง่าย
o ทรงใช้ยานพาหนะอย่างเรียบง่าย ไม่เน้นความยิ่งใหญ่หรูหราเลย ทรงเลือกแบบนี้จริงๆ
o เสด็จออกไปเยี่ยมประชาชน ในโอกาสเข้าเฝ้าทุกวันพุธ มีคนนำหมวกขาวเลียนแบบพระสันตะปาปาที่มีขายเป็นของที่ระลึก ราคาถูกๆ ขอแลกกับหมวกขาวของพระองค์ที่ตัดอย่างพิเศษมากๆ พระองค์ก็ให้แลกทันที รองเท้าสีแดงแบบที่พระสันตะปาปาใช้กันมานับร้อยๆปี ก็ทรงเลิกใช้ ทรงสวมรองเท้าเก่าๆต่อไป
o ทรงสอนเตือนใจเรื่องสำคัญที่เรานำมาร่างในสมัชชาใหญ่ของพระศาสนจักรไทย เพราะทรงเน้นให้พระศาสนจักรต้องเป็นพระศาสนจักรที่ยากจนเพื่อคนยากจน

• พี่น้องที่รัก ทั้งหมดที่พ่อเล่ามานี้ พ่ออยากเน้นให้เราต้องตัดสินใจ “ความงดงามของความยากจน” พระสันตะปาปาเองก็สอนว่า เพราะบรรดาคนยากจนมีบทสอนแก่ชีวิตเรามากมาย

• ถ้าเราเลือกธรรมเนียมมากมาย ประเพณี ภาษีสังคม และรูปแบบพิธีการชีวิตในพวกเราคริสตชน หรือนักบวช พระสงฆ์ ในพระศาสนจักร ถ้าเรามีเรื่องประเพณีของสถาบันพระศาสนจักรมากมายจนไฮโซไม่รู้ตัว และเราก็ติดกับสิ่งเหล่านี้ เน้นสิ่งเหล่านี้เป็นดังพิธีกรรมพิธีการประเพณีหรือธรรมประเพณีที่เปลี่ยนแปลงหรือละเมิดไม่ได้... พ่อคิดว่า เราอาจยึดติดและอาจพาเราให้มองข้ามกฎสำคัญที่สุดของชีวิต คือ กฎแห่งความรักและเมตตากรุณานั่นเอง

• พระวรสารวันนี้ก็เรื่องนี้แหละครับ... เคร่งครัดวันสับบาโตกันมากเหลือเกิน มีเรื่องต้องห้ามมากมายในวันสับบาโต พวกฟาริสีแหละตัวดีนักในพระวรสาร เคร่งครัดธรรมเนียมมากมายของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะประเพณีของวันสับบาโต... เน้นที่สุด และถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเลยจริงๆนะครับ

• อ่านพระวรสารดีๆ และเราจะพบว่า เราต้องไปทางไหน เราต้องเลือกอยู่เคียงข้างคนยากจนจริงๆใช่หรือไม่เพื่อเป็นคริสตชนที่ดี... พระเยซูเจ้าตรัส “ถ้าท่านเข้าใจความหมายของข้อความที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ ท่านคงจะไม่กล่าวโทษผู้ไม่มีความผิด เพราะบุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต”

• พ่อคิดว่าชัดเจนแล้วว่าเราจะเป็นคริสตชนไปทางไหนกันดีครับ... พระเยซูเลือกมาเกิดอย่างยากจนเพื่อเรา เราฉลองการบังเกิดของพระองค์กันแสนซึ้ง ทรงเกิดในถ้ำเลี้ยงสัตว์ยากจนเหลือเกิน.. แล้วเราจะไปทางไหน ไฮโซหรือเลือกความยากจนดีหนอ

• ขนาดกษัตริย์ดาวิดยามหิวจริงๆ ขนมปังถวายนั้นห้ามเด็ดขาดสำหรับคนอื่น เฉพาะสมณะเท่านั้น แต่ยามหิวนั้น กษัตริย์ดาวิดก็นำมารับประทานและแบ่งให้พรรคพวกที่หิวรับประทานได้ด้วย.. ไม่มีปัญหาทางศาสนา เพราะได้รับการยกเว้นเพราะความหิว

• พี่น้องที่รัก.. ทุกวันนี้สังคมเรา มีคนหิว ยากไร้ และขาดสิ่งที่จำเป็นเพื่อชีวิตเยอะมากนะครับ และพระศาสนจักรของเรา สถาบันพระศาสนจักรขอเราก็ “มีพอ มีเหลือ หรือร่ำรวย” พ่อที่จะแบ่งปัน มอบให้ จนถึงขึ้น ยอมจนลงจริงๆเพื่อคนยากจน พ่อกลัวจังเลย กลัวว่าสมัชชาฯ และคำสอนหรือแบบอย่างของพระสันตะปาปาจะเป็นเพียงคำสอน อุดมการณ์ ความคิดหรือที่เรียกว่าไอเดียสวยหรู แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริงจัง หรือเจริญชีวิตตรงข้ามกับสิ่งที่สอน ซึ่งนั่นคือวิถีของฟาริสีสมัยพระเยซูเจ้า สภาพแบบนี้พบได้เสมอในชีวิตศาสนานะครับ พ่อมั่นใจ สมัชชาฯ ก็เรียกร้องดังเช่นพระสันตะปาปาเรียกร้อง “กลับใจ” นะครับ

• พี่น้องที่รัก.. เริ่มจากเราทุกคนนะครับ เริ่มจากครอบครัว ชุมชนวัด พระศาสนจักรท้องถิ่นโดยร่วม เริ่มเถอะครับ ทำสิ่งที่พระเยซูสอน สิ่งที่พระองค์พอพระทัย “‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’” ถ้าไม่เมตตากรุณา เราก็ไม่ใช่คริสตชนนะครับ
• ขอพระเจ้าอวยพรทุกท่านครับ...