แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

ยน 16:29-33…
29บรรดาศิษย์ทูลว่า “ใช่แล้ว บัดนี้พระองค์ตรัสอย่างชัดแจ้ง มิได้ใช้อุปมาใดๆ 30บัดนี้พวกเรารู้ว่าพระองค์ทรงทราบทุกสิ่ง และไม่จำเป็นที่ใครจะทูลถามพระองค์อีก ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าพระองค์ทรงมาจากพระเจ้า” 31พระเยซูเจ้าตรัสว่า
32“บัดนี้ ท่านทั้งหลายเชื่อแล้วหรือ
จะถึงเวลา และเวลานั้นก็มาถึงแล้ว
ที่ท่านทั้งหลายจะกระจัดกระจายไปคนละทิศคนละทาง
และจะทิ้งเราไว้คนเดียว
แต่เราไม่อยู่คนเดียว
เพราะพระบิดาทรงอยู่กับเรา
33เราบอกเรื่องเหล่านี้กับท่านแล้ว
เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา
ในโลกนี้ ท่านจะมีความทุกข์ยาก
แต่อย่าท้อแท้
เราชนะโลกแล้ว”


อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• พี่น้องที่รัก วันนี้พ่อคงต้องขออนุญาตให้ความรู้ หรือจะเรียกว่าถวายความรู้ก็ได้ครับ ความรู้เกี่ยวกับ “คำปราศรัยอำลาของพระเยซูคริสตเจ้า” (Farewell Discourse) ขอให้สักหน่อยจริงๆ เอาแบบสรุป สั้น กระชับ และเสริมความรู้พระคัมภีร์จริงๆ ให้กับพีน้อง เพราะนี่คือหน้าที่ของพ่อในฐานะพระสงฆ์ครับ การเทศน์สอนคือการประกาศสอนความรู้ ความเข้าใจ ความรัก และการดำเนินชีวิตด้วยกัน โดยมีพระวาจาในพระคัมภีร์เป็นเรื่องสำคัญ... พ่อขอเสนอเป็นความรู้ที่พ่อก็ศึกษาไตร่ตรองและสรุปให้สั้นที่สุดครับ... พี่


• น้องทราบไหมหนอว่า บทพระวรสารที่เราอ่านมานานหลายวัน หรืออ่านมาเป็นสัปดาห์ เรื่องเถาองุ่น เรื่องพระบิดา เรื่องพระผู้บรรเทา (พระจิตเจ้า) ที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวกับบรรดาศิษย์ เราได้ยินประโยคเป็นประจำว่า “เราจะไป เรากำลังจะไป เราจำเป็นต้องไป เราคือหนทางความจริงและชีวิต... พระบิดาทรงอยู่กับเรา...” 


• พ่อกำลังกล่าวถึงพระวาจากพระวรสารนักบุญยอห์น คือ ก่อนที่พระองค์จะรับทรมาน สิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ พระองค์ใช้เวลามากๆ ในการนำเสนอของพระวรสารนักบุญยอห์น... เน้นว่า พระองค์ทรงอยู่กับบรรดาศิษย์ ณ อาหารค่ำสุดท้ายเป็นเวลายาวนาน เพราะทรงกล่าว “ปราศรัยอำลาต่อบรรดาศิษย์”


• สรุปว่า พระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 14-17 คือ “คำปราศรัยอำลา” นี้ครับ... พระเยซูเจ้าอำลาบรรดาศิษย์เป็นพระวาจาอย่างล้ำค่ามากๆ เป็นเรื่องการกล่าวก่อนจาก และเป็นพินัยกรรมชีวิตที่มอบให้ศิษย์ของพระองค์ พ่อจะขอเล่าถึงความหมายของคำปราศรัยอำลานี้ให้ได้ศึกษาไตร่ตรองกันครับ

o คำปราศรัยอำลานี้ กินพื้นที่ 4 บท ในพระวรสาร... คือ ยอห์น 14-17

o เรื่องราวคือพระองค์กล่าวสอนและตักเตือน อบรมบรรดาศิษย์ หลังจากทรงสรุปอาหารค่ำสุดท้าย พระองค์ทรงนั่งอยู่กับพวกเขาต่อเนื่องอย่างยืดยาวเพื่อสอนพวกเขา... เราเคยร้องเพลงที่ขึ้นด้วยคำว่า “ในคืนสุดท้ายที่องค์พระคริสต์ ยังมีชีวิตเหมือนเราบนแผ่นดินนี้ พระองค์ได้มีบัญชาแก่เราทุกคน...” ซึ่งนี่คือความหมายนั้นที่ทรงใช้เวลา “ในคืนสุดท้าย” กับบรรดาศิษย์ของพระองค์ ถ้าจะอ่านดีๆ เราจะเห็นถ้อยคำที่อ่อนโยน ทรงสอน ทรงยืนยัน ทรงอำลา ทรงสัญญา ฯลฯ
o ในบทที่ 14 พระเยซูเจ้าตรัสยืนยันว่า 

1. พระองค์กำลังจะจากไปจากบรรดาศิษย์ พระองค์จะกลับไปหา “พระบิดา” และ พระองค์จะทรงส่งพระจิตเจ้ามายังพวกเขาเพื่อพระจิตเจ้าจะทรงนำบรรดาศิษย์ของ พระองค์ตลอดไป

2. พระองค์ทรงประทาน “สันติภาพ” แก่บรรดาศิษย์ และทรงบัญชาให้พวกเขา “รักกันและกัน” Command to love one another (ภาพเหมือนคนที่รักลูกๆหลานๆ ก่อนจะตายไป จะสั่งด้วยความรักที่สุด คือ ให้พวกเขาจงรักกันและกัน) พระเยซูเจ้าทรงสั่งบรรดาศิษย์ให้ดำเนินชีวิตในความรักตลอดไป ทั้งนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงและเพื่อเป็นการปฏิบัติภารกิจของพระองค์ นั่นคือ ภารกิจแห่งความรักนั่นเอง

3. พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงความจริงที่ลึกซึ้งถึง “ความเป็นหนึ่งเดียว” Unity ของพระองค์กับพระบิดาในองค์พระจิตเจ้า ซึ่งต้องความเป็นหนึ่งเดียวนี้ต้องเป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบความเป็นหนึ่งเดียวที่ทรงบัญชาให้บรรดาศิษย์ต้องประยุกต์ใช้ ต้องประยุกต์เข้าในชีวิตของพวกตน โดยการ “รักพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งความรักต่อพระองค์ หรือ “การดำรงอยู่ในพระองค์ เชื่อในพระองค์” ความรักต่อพระองค์โดยมีต้นแบบความรักของพระบิดา พระบุตร และพระจิต “การรักพระเยซูเจ้าคริสตเจ้านี้”... คือ “กุญแจ” Key สำคัญที่สุดของคำปราศรัยอำลา เรื่อง “ความรักซึ่งกันและกันตามแบบอย่างของความรักพระตรีเอกภาพ” นี้ปรากฎอยู่ในพระคัมภีร์โดยตลอด โดยเฉพาะในความหมายของ “บัญญัติใหม่” The New Commandment นั่นคือ “จงรักกันและกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (love one another as I have loved you)
o ยอห์นบทที่ 15-16 พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาษาเปรียบเทียบสำคัญ คือ “ต้นองุ่นและกิ่งก้าน” (the Vine) เปรียบพระเยซูเจ้าทรงเป็นต้นองุ่น (บ่อเกิดของชีวิตและชีวิตเพื่อความดีของโลก) และบรรดาศิษย์เป็นกิ่งก้าน ซึ่งทำให้เราเห็นความหมายของ “ความเป็นศิษย์พระเยซู” ในพระวรสารนักบุญยอห์น
o เรื่องต้นองุ่นนี้เน้นจริงๆ เรื่อง “ความรักในระหว่างบรรดาศิษย์ของพระองค์” และทรงเตือนบรรดาศิษย์เรื่องการเบียดเบียนที่กำลังตามมา “ถ้าโลกเกลียดชังท่าน จงรู้ว่าโลกเกลียดชังเราอยู่ก่อนแล้ว” อย่างไรก็ตาม ในโลกท่านจะมีความทุกข์ยาก พระองค์ตรัส “แต่ย่าท้อแท้ เพราะเราชนะโลกแล้ว” (ยน 16:33) ข้อความนี้คือข้อความสุดท้ายของพระวรสารที่เราอ่านวันนี้เลยครับ...
o บทที่ 17 ที่เราจะอ่านต่อไปนั้น พระเยซูเจ้าทรงภาวนาเพื่อบรรดาศิษย์ และพระศาสนจักรที่จะตามมา... บทที่ 17 เป็นคำภาวนาที่ยาวที่สุดของพระเยซูเจ้าในพระวรสารทั้งสี่เลยครับ (เรื่องนี้ควรจำไว้เลยว่า คำภาวนาที่ยาวที่สุดของพระเยซูเจ้าในพระวรสารทั้งสี่ คือ ยอห์น บทที่ 17) 
1. คำภาวนานี้เป็นที่รู้กันว่านี่ คือ “คำภาวนาอำลา” (Farewell Prayer) หรือคำภาวนาแห่งพระมหาสมณะสูงสุด หรือ “คำภาวนาสงฆ์” (High Priestly Prayer) ของพระเยซูเจ้า 
2. หัวใจของคำภาวนา คือ การถวายเกียรติแด่พระบิดาเจ้า และ
3. เป็นการร้องขอความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อบรรดาศิษย์อาศัย “ความรัก” พระองค์ภาวนาต่อพระบิดาเพื่อผู้ติดตามพระองค์ “เพื่อทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันดังที่เราเป็นหนึ่งเดียวกัน” และ “ความรักที่ทรงรักข้าพเจ้าฉันใด ความรักนั้นจะได้คงอยู่ในพวกเขา และข้าพเจ้าจะอยู่ในพวกเขา”
o สรุปคำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้า มี 4 ภาค คือ

1. ภาคแรก เรามอบสันติสุขของเราให้แก่ท่าน

2. ภาคสอง เราคือลำต้น(องุ่น) ท่านทั้งหลายคือกิ่งก้าน

3. ภาคสาม ถ้าโลกเกลียดชังท่าน โลกเกลียดชังเราก่อนแล้ว

4. ภาคสี่ คำภาวนาอำลา... ภาวนาเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน

• พี่น้องที่รัก เมื่อเราได้อ่านพระวรสารนักบุญยอห์นอย่างดีๆ เราจะเห็นว่า... คำปราศรัยอำลาของพระเยซูเจ้านั้น ล้ำค่าที่สุด เป็น “ความสัมพันธ์กับพระเจ้าพระบิดาและพระจิตเจ้า” 

o ในชีวิตที่สำคัญมากคือ “ชีวิตพระตรีเอกภาพ” เป็นต้นแบบของชีวิตที่เราเรียกว่า “ชีวิตจิตแห่ความเป็นหนึ่งเดียวหรือชีวิตพระตรีเอกภาพ” นั่นเอง

• พ่อคิด ไตร่ตรอง ศึกษาพระคัมภีร์ตอนเหล่านี้จากยอห์น... ทำให้พ่อเชื่อ และมั่นใจว่า สำหรับเราคริสตชน

o เราพึงต้องได้เรียนรู้แท้จริงว่าชีวิตของพวกเราคนในฐานะคริสตชน จำเป็นต้องเป็นชีวิตแห่งบัญญัติแห่งความรัก ชีวิตแห่งพระตรีเอกภาพ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความรักซึ่งกันและกัน” 

o เราจำเป็นครับ จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องรักพระเยซูคริสตเจ้า และรักเพื่อนพี่น้องของเราจริงๆ (พ่อเน้นเสมอ ไม่รักไม่ได้ ไม่รัก ไม่ใช่คริสตชน เกลียชังละก็ลูกผีเลยครับ)

o เราจำเป็นต้องเรียนรู้จักความรักและชีวิตพระตรีเอกภาพ...อย่างจริงจัง ทำเครื่องหมายกางเขนกันตลอด “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต” กล่าวเมื่อใดมือเราก็ทำ “เครื่องหมายแห่งความรักที่สุด “กางเขน” ทันที” แต่ชีวิตเราจะขัดแย้งกับความรักด้วยความเกลียดชัง อคติและวิภากษณ์วิจารณ์เป็นอาจิณไม่ได้เลยนะครับ

o จงจำลองชีวิตพระตรีเอกภาพ ชีวิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียนี้ลงสูชีวิตของเราทุกคนจริงๆครับ... อ่านคำปราศรัยอำลานี้ดีๆ นะครับ น่ารักมากเลยครับ ขอพระเจ้าอวยพรครับ