วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา
บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 3:13-19)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปบนภูเขา ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ เขาเหล่านั้นก็มาเฝ้าพระองค์ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน โดยให้มีอำนาจขับไล่ปีศาจด้วย อัครสาวกสิบสองคนที่ทรงแต่งตั้ง คือ ซีโมน พระองค์ทรงตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่า “เปโตร” ยากอบบุตรของเศเบดี และยอห์น น้องชายของยากอบ พระองค์ทรงตั้งชื่อให้สองพี่น้องนี้ว่า “โบอาแนรเกส” ซึ่งแปลว่า “ลูกฟ้าร้อง” อันดรูว์ ฟิลิป บารโธโลมิว มัทธิว โทมัส ยากอบบุตรของอัลเฟอัส ธัดเดอัส ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม และยูดาส อิสคาริโอท ต่อมายูดาสผู้นี้ได้ทรยศต่อพระองค์
มก 3:13-19 ในการก่อตั้งพระศาสนจักร พระคริสตเจ้าทรงมอบโครงสร้างเฉพาะที่ยั่งยืนไปจนถึงวาระสุดท้าย มีพระฐานานุกรมที่ประกอบด้วยอัครสาวกสิบสองคนโดยมีนักบุญเปโตรเป็นหัวหน้า ในภาษากรีกคำว่า Apostolos มีความหมายว่า “ผู้แทน” หรือ “ผู้ถูกส่งไป” บรรดาอัครสาวกได้รับเลือกให้ทำงานเคียงข้างกับพระคริสตเจ้า เข้าร่วมในพันธกิจของพระองค์ และรับส่วนร่วมในอำนาจของพระองค์ พวกเขาจึงถูกส่งไปประกาศและรักษาผู้เจ็บป่วยในพระนามของพระองค์ จำนวนของพวกเขามีความหมายที่สำคัญ กล่าวคือ มีจำนวนเท่ากับเผ่าทั้งสิบสองของชาวอิสราแอล ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรรในพันธสัญญาเดิม พวกเขาจึงเป็นอัครสาวกสิบสองคนซึ่งนำพระศาสนจักรในพันธสัญญาใหม่ที่พระคริสตเจ้าจะทรงสถาปนาขึ้นให้เป็นประชากรใหม่ของพระเจ้า ศาสนบริการของอัครสาวกทั้งสิบสองยังคงดำเนินต่อไปในปัจจุบันโดยทางผู้สืบตำแหน่งจากพวกท่าน คือบรรดาบิชอปที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปา ผู้สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร
“กุญแจพระอาณาจักร”
CCC ข้อ 551 นับตั้งแต่ทรงเริ่มเทศน์สั่งสอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงเรียกชายกลุ่มหนึ่งจำนวนสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์เพื่อจะมีส่วนร่วมพันธกิจกับพระองค์ พระองค์ทรงจัดให้เขามีส่วนร่วมพระอำนาจของพระองค์ “ทรงส่งเขาไปประกาศพระอาณาจักรพระเจ้าและรักษาโรค” (ลก 9:2) บุคคลเหล่านี้คงมีส่วนร่วมกับพระอาณาจักรของพระคริสตเจ้าตลอดไป เพราะพระองค์ทรงนำพระศาสนจักรผ่านเขาเหล่านี้ “เราจัดพระอาณาจักรให้ท่านทั้งหลายดังที่พระบิดาทรงจัดไว้ให้เรา ท่านจะได้กินและดื่มร่วมโต๊ะกับเราในพระอาณาจักรและจะนั่งบนบัลลังก์พิพากษาอิสราเอลทั้งสิบสองตระกูล” (ลก 22:29-30)
CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป
พระศาสนจักร – พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น
CCC ข้อ 765 พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดให้ชุมชนของพระองค์มีโครงสร้างซึ่งจะคงอยู่จนถึงความสำเร็จสมบูรณ์ของพระอาณาจักร โดยเฉพาะมีการเลือกสาวกสิบสองคนพร้อมกับเปโตรในฐานะผู้นำของเขา สาวกสิบสองคนเป็นตัวแทนของสิบสองเผ่าของอิสราเอล เป็นศิลารากฐานของนครเยรูซาเล็มใหม่ สาวกทั้งสิบสองคน และศิษย์อื่นๆ มีส่วนร่วมพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระอานุภาพของพระองค์ และชะตากรรมของพระองค์ด้วย โดยกิจการเหล่านี้ทั้งหมด พระคริสตเจ้าทรงเตรียมและก่อสร้างพระศาสนจักรของพระองค์
พระศาสนจักรสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก
CCC ข้อ 858 พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)
พิธีบวชพระสังฆราช – ความสมบูรณ์ของศีลบวช
CCC ข้อ 1557 สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 สอนว่า “ความสมบูรณ์ของศีลบวชได้รับสืบทอดต่อมาในพิธีเจิมถวายพระสังฆราช ทั้งธรรมเนียมด้านพิธีกรรมและคำสอนของบรรดาปิตาจารย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์เรียกความสมบูรณ์นี้ว่าเป็น ‘สมณภาพสูงสุด’ หรือ ‘จุดสูงสุดของศาสนบริการ’”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)