แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลธรรมดา

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 3:1-6)               

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในศาลาธรรมอีกครั้งหนึ่ง ที่นั่นมีชายมือลีบคนหนึ่ง ประชาชนบางคนคอยจ้องมองดูว่า พระองค์จะทรงรักษาชายมือลีบในวันสับบาโตหรือไม่ เพื่อจะหาเหตุกล่าวโทษพระองค์ พระองค์ตรัสสั่งชายมือลีบว่า “ลุกขึ้น มายืนตรงกลางนี่ซิ” แล้วตรัสถามคนทั้งหลายว่า “ในวันสับบาโตนั้น ควรทำความดีหรือความชั่ว ควรจะช่วยชีวิตหรือปล่อยให้ตายไป” คนเหล่านั้นก็นิ่งอยู่ พระองค์จึงทอดพระเนตรเขาเหล่านั้นด้วยความกริ้ว เศร้าพระทัยเพราะจิตใจหยาบกระด้างของเขา แล้วตรัสสั่งชายมือลีบว่า “จงเหยียดมือซิ” เขาก็เหยียดมือ มือนั้นก็หายลีบเป็นปกติ ชาวฟาริสีจึงออกไป และประชุมกับพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรดทันที เพื่อปรึกษาว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร 


มก 3:1-6  ในตอนแรกบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีตั้งคำถามในใจว่า พระคริสตเจ้าจะทรงดูหมิ่นพระเจ้าโดยการให้อภัยบาปของคนเป็นอัมพาตหรือไม่ หลังจากนั้นพวกเขาได้เผชิญหน้ากับพระองค์ด้วยวาจาเมื่อบรรดาศิษย์เด็ดรวงข้าวในวันสับบาโต และตอนนี้พระองค์ยังทรงทำการรักษาในวันสับบาโตอีกด้วย จึงทำให้พวกเขาเริ่มคิดวางแผนที่จะกำจัดพระองค์

เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 548  เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้าและเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 582  ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […] ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิด พระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโตเพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

วันสับบาโต

CCC ข้อ 2173 พระวรสารเล่าถึงหลายกรณีที่พระเยซูเจ้าทรงถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดวันสับบาโต แต่พระเยซูเจ้าไม่ทรงเคยฝ่าฝืนความศักดิ์สิทธิ์ของวันนี้เลย พระองค์ทรงตีความหมายของกฎนี้อย่างทรงอำนาจ “วันสับบาโตมีไว้เพื่อมนุษย์ มิใช่มนุษย์มีไว้เพื่อวันสับบาโต” (มก 2:27) พระคริสตเจ้าทรงใช้ความเห็นอกเห็นใจชี้ให้เห็นว่าทรงมีอำนาจทำดีในวันสับบาโต ไม่ใช่ทำชั่ว ช่วยชีวิตให้รอด ไม่ใช่ทำลายชีวิต วันสับบาโตเป็นวันแห่งพระกรุณาขององค์พระผู้เป็นเจ้า และวันถวายเกียรติแด่พระเจ้า “บุตรแห่งมนุษย์จึงเป็นนายเหนือแม้กระทั่งวันสับบาโตด้วย” (มก 2:28)


มก 3:4  ในขณะที่กฎโมเสสกำหนดให้หลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่จำเป็นในวันสับบาโต พระคริสตเจ้าทรงสอนว่างานด้านกิจเมตตาสามารถแทนที่การพักผ่อนในวันสับบาโตได้เสมอ

CCC ข้อ 2173 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 3:1-6)


มก 3:5-6  จิตใจหยาบกระด้าง : การปฏิเสธอย่างดื้อรั้นต่อการกลับใจเช่นนี้ไม่เป็นกลางทางศีลธรรม (เพราะศีลธรรมบอกว่า ถูก หรือ ผิด ไม่มี “ตรงกลาง”) เพราะกว่าจะมาถึงจุดที่ความจริงไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปในใจของคนๆ หนึ่งได้นั้นต้องมาจากการเลือกอย่างเป็นปกตินิสัยในการต่อต้านคำเชิญจากพระเจ้าให้ปฏิรูปตนเองด้านศีลธรรมและด้านจิตวิญญาณ ดังนั้นความหยาบกระด้างของจิตใจนี้จึงเป็นผลมาจากการเลือกที่จะเห็นแก่ตัวในรูปแบบต่างๆ มากกว่าเลือกที่จะกระทำอย่างสุภาพและด้วยความรัก

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

CCC ข้อ 591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน” โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวงช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยความไม่เชื่อที่ทำให้ตาบอด

ความหนักของบาป – บาปหนักและบาปเบา

CCC ข้อ 1859 จะเป็นบาปหนักได้จำเป็นต้องมีความรู้ตัวเต็มที่ และมีความจงใจเต็มที่ด้วย บาปหนักสมมุติว่าต้องมีความรู้ว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นบาป ขัดกับพระบัญญัติของพระเจ้า บาปหนักยังเรียกร้องให้มีความตั้งใจที่รู้ตัวเพียงพอที่จะเป็นการเลือกส่วนตัวได้ การแสร้งว่าไม่รู้และใจดื้อด้านไม่ทำให้ความจงใจทำบาปน้อยลง แต่ยิ่งทำให้เพิ่มมากขึ้น

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)