แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ ฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง

บทอ่านจากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 3:15-16, 21-22)                      

เวลานั้น ประชาชนกำลังรอคอย ทุกคนต่างคิดในใจว่า ยอห์นเป็นพระคริสต์หรือ ยอห์นจึงประกาศต่อหน้าทุกคนว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย  แต่ผู้ที่ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้าจะมา และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” 

ขณะนั้นประชาชนทั้งหมดกำลังรับพิธีล้าง พระเยซูเจ้าก็ทรงรับพิธีล้างด้วย และขณะที่ทรงอธิษฐานภาวนาอยู่นั้น ท้องฟ้าก็เปิดออก และพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ มีรูปร่างที่เห็นได้ดุจนกพิราบ แล้วมีเสียงจากสวรรค์ว่า “ท่านเป็นบุตรที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา” 


ลก 3:1-20  ยอห์น บัปติสต์ คือประกาศกที่ “ร้องในถิ่นทุรกันดาร” ตามคำทำนายของประกาศกอิสยาห์ ผู้ได้เตือนประชาชนว่า “จงเตรียมทางของพระยาห์เวห์” (อสย 40:3-5) ท่านได้เรียกทุกคนให้กลับใจก่อนที่พระผู้ไถ่กู้จะปรากฏมาในไม่ช้านี้ เหตุว่าการละทิ้งบาปคือเงื่อนไขจำเป็นเพื่อการมีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า     

พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง

CCC ข้อ 535 พระเยซูเจ้าทรงเริ่มพระชนมชีพเปิดเผยโดยทรงรับพิธีล้างจากยอห์นในแม่น้ำจอร์แดนยอห์น “เทศน์สอนเรื่องพิธีล้างซึ่งแสดงถึงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป” (ลก 3:3) คนบาปจำนวนมาก คนเก็บภาษีและทหาร ชาวฟาริสีและสะดูสี และหญิงโสเภณี พากันมารับพิธีล้างจากยอห์น “เวลานั้น พระเยซูเจ้าก็เสด็จมา” ด้วย ยอห์นรู้สึกลังเลใจ แต่พระเยซูเจ้าทรงยืนยันและรับพิธีล้าง แล้วพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระเยซูเจ้าดุจนกพิราบ และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา” (มธ 3:13-17) เหตุการณ์นี้เป็นการแสดงองค์ของพระเยซูเจ้า (“Epiphania”) ว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์แห่งอิสราเอลและพระบุตรของพระเจ้า  


ลก 3:15-16  ยอห์นกล่าวอย่างชัดเจนว่า ท่านเองมิได้เป็นพระเมสสิยาห์ผู้มีอำนาจอภัยบาปได้ อีกทั้งยังบ่งชี้ว่า พิธีล้างของท่านนั้นเป็นดังเครื่องหมายและเป็นภาพลักษณ์ล่วงหน้าถึงศีลล้างบาปที่จะถูกก่อตั้งขึ้นโดยพระคริสตเจ้า ซึ่งจะประทานพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรของพระจิตเจ้า      

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 696  “เพลิง” – ขณะที่น้ำหมายถึงการเกิดและความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราในพระจิตเจ้า เพลิงหรือไฟก็เป็นสัญลักษณ์ของพลังเปลี่ยนแปลงของพระจิตเจ้า ประกาศกเอลียาห์ซึ่ง “เป็นเหมือนไฟ วาจาของเขาเผาผลาญเหมือนคบไฟ” (บสร 48:1) ได้อธิษฐานภาวนาวอนขอไฟจากสวรรค์ลงมาเผาเครื่องบูชาบนภูเขาคาร์แมล ซึ่งเป็นรูปแบบของพระจิตเจ้าที่ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่ทรงสัมผัส ยอห์นผู้ทำพิธีล้างซึ่ง “จะ ‘มีจิตใจ’ และพลังของประกาศกเอลียาห์มาเตรียมรับการเสด็จมาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ลก 1:17) แจ้งข่าวถึงพระคริสตเจ้าว่า พระองค์คือผู้ที่ “จะทำพิธีล้างด้วยพระจิตเจ้าและด้วยไฟ” (ลก 3:16) คือด้วยพระจิตเจ้าที่พระคริสตเจ้าเคยตรัสถึงว่า “เรามาเพื่อจุดไฟในโลก เราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้โลกนี้ลุกเป็นไฟ” (ลก 12:49) เช้าวันเปนเตกอสเต พระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือบรรดาศิษย์ใน “เปลวไฟ” ลักษณะเหมือนลิ้น และโปรดให้เขาได้รับพระองค์เต็มเปี่ยม ธรรมประเพณีด้านชีวิตจิตจะยังรักษา “เพลิง” ที่มีความหมายอย่างมากนี้เป็นสัญลักษณ์ของการกระทำของพระจิตเจ้าไว้ตลอดไป “อย่าดับไฟของพระจิตเจ้า” (1 ธส 5:19)   


ลก 3:21-22  การรับพิธีล้างของพระคริสตเจ้ายืนยันถึงพระเทวภาพของพระองค์และเปิดเผยอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกถึงพระบุคคลทั้งสามในพระตรีเอกภาพ อีกทั้งเป็นการสถาปนาการคืนดีระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติเนื่องจากการรับพิธีล้างของพระองค์แสดงว่า พระคริสตเจ้าทรงระบุอัตลักษณ์ของพระองค์เองกับมนุษยชาติที่เป็นคนบาปแม้ว่าพระองค์ไม่มีบาปเลยก็ตาม พระองค์ทรงแบกรับบาปของโลกไว้เองเพื่อความรอดพ้นของเรา การเสด็จมาของพระจิตเจ้าเหนือพระคริสตเจ้านั้นมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะพระจิตทรงอยู่เคียงข้างพระองค์ในทุกครั้งที่พระบิดาทรงส่งพระองค์ไป พระจิตทรงร่วมอยู่ในทุกพันธกิจของพระบุตร ในพระวรสารตอนนี้เรายังพบอีกรายละเอียดหนึ่งคือ นักบุญลูกาชี้ให้เห็นบ่อยครั้งว่า พระคริสตเจ้าทรงภาวนาอยู่เสมอเพื่อเตรียมตัวสำหรับการตัดสินใจครั้งสำคัญและในเหตุการณ์ต่างๆ แห่งพันธกิจของพระองค์      

CCC ข้อ 535 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ลก 3:1-20)      

พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง

CCC ข้อ 536  สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน (ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่งพระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง” ยังเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราจะได้รับการอภัย พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์ พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์” พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่   

“ลูกแกะที่ทรงลบล้างบาปของโลก”

CCC ข้อ 608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ซึ่งลบล้างบาปของโลก” ดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่าและแบกบาปของคนทั้งปวง ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก  พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย    

สรุป - พระพันธกิจของพระบุตรและพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 743 ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงวันสิ้นพิภพ เมื่อพระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ พระองค์ก็ทรงส่งพระจิตเจ้าด้วยเสมอ พระพันธกิจของพระบุตรและพระจิตเจ้านั้นเป็นหนึ่งเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้   

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2600 พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเน้นการกระทำของพระจิตเจ้าและความหมายของการอธิษฐานภาวนาในการปฏิบัติพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาก่อนการปฏิบัติพันธกิจที่สำคัญของพระองค์ เช่น ก่อนที่พระบิดาจะทรงเป็นพยานยืนยันถึงพระองค์ในการรับพิธีล้าง เมื่อทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ ก่อนจะทรงทำให้แผนการความรักของพระบิดาสำเร็จไปโดยการรับทนทรมานของพระองค์ พระองค์ยังทรงอธิษฐานภาวนาก่อนถึงเวลาที่จะทรงมอบพันธกิจอย่างเด็ดขาดแก่บรรดาอัครสาวก ก่อนจะทรงเลือกและเรียกศิษย์สิบสองคน ก่อนที่เปโตรจะประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น “พระคริสต์ของพระเจ้า” และเพื่อหัวหน้าของบรรดาอัครสาวกจะไม่เสียความเชื่อเมื่อถูกประจญ การอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าก่อนเหตุการณ์ความรอดพ้นที่พระบิดาทรงขอให้พระองค์ปฏิบัติจนสำเร็จเป็นการมอบถวายความตั้งพระทัยแบบมนุษย์ของพระองค์ไว้กับพระประสงค์ที่เปี่ยมด้วยความรักของพระบิดา     

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)