วันเสาร์ เทศกาลพระคริสตสมภพ
พระวรสาตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 1:35-42)
เวลานั้น ยอห์นกำลังยืนอยู่ที่นั่นกับศิษย์สองคน และเห็นพระเยซูเจ้าเสด็จผ่านไป จึงกล่าวว่า “นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” เมื่อศิษย์ทั้งสองคนได้ยินยอห์นกล่าวดังนี้จึงติดตามพระเยซูเจ้าไป พระเยซูเจ้าทรงผินพระพักตร์มาทอดพระเนตรเห็นเขากำลังติดตามพระองค์ จึงตรัสถามว่า “ท่านแสวงหาอะไร” เขาทูลตอบว่า “รับบี” ซึ่งแปลว่า พระอาจารย์ “พระองค์ทรงพำนักอยู่ที่ไหน” พระเยซูเจ้าตรัสว่า “มาดูเถิด” เขาจึงไป เห็นที่ประทับของพระองค์ และพักอยู่กับพระองค์ในวันนั้น ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายสี่โมง
อันดรูว์น้องชายของซีโมนเป็นคนหนึ่งในสองคนที่ได้ยินคำพูดของยอห์น และตามพระเยซูเจ้าไป อันดรูว์พบซีโมนพี่ชายเป็นคนแรก จึงกล่าวว่า “เราพบพระเมสสิยาห์แล้ว” (พระเมสสิยาห์ หรือพระคริสตเจ้า แปลว่า ผู้รับเจิม) เขาพาพี่ชายไปเฝ้าพระเยซูเจ้า พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรเห็นเขา จึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมน บุตรของยอห์น ท่านจะมีชื่อว่า เคฟาส” ซึ่งแปลว่า “เปโตร” หรือ “ศิลา”
ยน 1:31-36 อันที่จริงพระคริสตเจ้าเองทรงเป็นลูกแกะของพระเจ้า พระองค์จึงไม่ทรงต้องรับการไถ่กู้ แต่พระองค์ได้ทรงรับพิธีล้างร่วมกับคนบาปเพื่อร่วมในอัตลักษณ์ของมนุษยชาติที่ตกในบาป เป็นพยานถึงการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าเหนือพระคริสตเจ้า เพื่อยืนยันถึงการเล่าเรื่องพิธีล้างในพระวรสารสหทรรศน์ การเสด็จมาของพระจิตเจ้าเป็นการยืนยันสำหรับยอห์น (และสำหรับเรา) ว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรพระเจ้าที่ได้รับเจิมโดยพระจิตเจ้า
พระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”
ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า...
CCC ข้อ 486 พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระบิดาทรงปฏิสนธิเป็นมนุษย์ในพระครรภ์ของพระนางมารีย์พรหมจารี ทรงเป็น “พระคริสตเจ้า” นั่นคือทรงรับเจิมจากพระจิตเจ้า ตั้งแต่แรกเริ่มที่ทรงความเป็นอยู่อย่างมนุษย์ แม้ว่าการแสดงความจริงประการนี้ค่อยๆ ปรากฏตามลำดับ แก่บรรดาผู้เลี้ยงแกะ แก่โหราจารย์ แก่ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง แก่บรรดาศิษย์ ดังนั้น พระชนมชีพทั้งหมดของพระเยซูคริสตเจ้าจะแสดงให้ปรากฏว่า “พระเจ้าทรงเจิมพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38)
พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
CCC ข้อ 536 สำหรับพระเยซูเจ้า การทรงรับพิธีล้าง เป็นการยอมรับและเริ่มพันธกิจของพระองค์ในฐานะ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน (ของพระเจ้า)” พระองค์ทรงอนุญาตให้ใครๆ นับว่าทรงเป็นคนบาปคนหนึ่งพระองค์ทรงเป็น “ลูกแกะของพระเจ้า ผู้ทรงลบล้างบาปของโลก” (ยน 1:29) อยู่แล้ว “พิธีล้าง” ยังเกริ่นถึงการสิ้นพระชนม์อย่างเหี้ยมโหดของพระองค์ พระองค์เสด็จมาก็เพื่อ “ทำให้ความยุติธรรมทุกอย่างสมบูรณ์” (มธ 3:15) ซึ่งหมายความว่า “ทรงทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า” พระองค์ทรงยอมด้วยความรักที่จะรับการล้างซึ่งหมายถึงการสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราจะได้รับการอภัย พระสุรเสียงของพระบิดาตอบการยอมรับนี้โดยตรัสว่าทรงพอพระทัยอย่างยิ่งในพระบุตรของพระองค์ พระจิตเจ้าซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมีอย่างเต็มเปี่ยมแล้วตั้งแต่ทรงปฏิสนธิยังเสด็จลงมา “ประทับอยู่เหนือพระองค์” พระเยซูเจ้าจะทรงเป็นผู้ประทานพระจิตเจ้านี้สำหรับมวลมนุษย์ เมื่อทรงรับพิธีล้าง “ท้องฟ้าเปิดออก” (มธ 3:16) ท้องฟ้านี้ซึ่งบาปของอาดัมได้ปิดไว้ และน้ำที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์โดยพระเยซูเจ้าและการเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าจึงเป็นเสมือนการเปิดฉากการเนรมิตสร้างครั้งใหม่
ยอห์น ผู้นำหน้าพระคริสตเจ้า ประกาศก และผู้ประกอบพิธีล้าง
CCC ข้อ 719 ยอห์นเป็น “ยิ่งกว่าประกาศก” พระจิตเจ้าทรงทำให้ “การตรัสทางประกาศก” สำเร็จไปในตัวเขา ยอห์นเป็นผู้ทำให้ “กลุ่ม” ประกาศกซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ประกาศกเอลียาห์สิ้นสุดลง ยอห์นประกาศว่าการปลอบโยนอิสราเอลอยู่ใกล้แล้ว เป็น “เสียง” ของผู้ปลอบโยนซึ่งกำลังจะมาถึง “เขามาในฐานะพยานเพื่อเป็นพยานถึงแสงสว่าง” (ยน 1:7) ตามที่พระจิตเจ้าแห่งความจริงจะทรงเป็นพยานด้วย ดังนี้ ในยอห์น พระจิตเจ้าทรงบันดาลให้ “การค้นหาและวิเคราะห์ของบรรดาประกาศก” และ “ความปรารถนา” ของบรรดาทูตสวรรค์สำเร็จเป็นจริง “เจ้าเห็นพระจิตเจ้าเสด็จลงมาประทับอยู่เหนือผู้ใด ผู้นั้นคือผู้ที่ทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า ข้าพเจ้าเห็นและเป็นพยานยืนยันว่าท่านผู้นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า […] นี่คือลูกแกะของพระเจ้า” (ยน 1:33-36)
ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
CCC ข้อ 1286 ในพันธสัญญาเดิม บรรดาประกาศกประกาศว่าทุกคนรอคอยให้พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาประทับเหนือพระเมสสิยาห์ เพื่อประกอบพระพันธกิจในการนำความรอดพ้นของพระองค์ การเสด็จลงมาของพระจิตเจ้าเหนือพระเยซูเจ้าเมื่อทรงรับพิธีล้างจากท่านยอห์นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระองค์ (พระเยซูเจ้า) คือผู้ที่จะต้องเสด็จมา พระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ เป็นพระบุตรของพระเจ้า พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า พระชนมชีพและพระพันธกิจทั้งหมดของพระองค์ดำเนินไปในความสัมพันธ์ร่วมกับพระจิตเจ้าที่พระบิดา “ประทานให้อย่างไม่จำกัด” (ยน 3:34)
ยน 1:36-51 เป็นที่น่าสนใจว่า ศิษย์บางคนจากอัครสาวกกลุ่มแรกได้มาหาพระเยซูเจ้าตามคำเชิญของศิษย์ที่ได้ติดตามพระองค์อยู่ก่อนแล้ว สิ่งนี้เป็นกรณีที่อธิบายว่าการแพร่ธรรมหรือการประกาศพระวรสารนั้นโดยธรรมชาติแล้วจะบังเกิดขึ้นโดยผ่านทางมิตรภาพและความสัมพันธ์ส่วนบุคคล สิ่งนี้ยังอธิบายรวมไปถึงพระนามต่างๆ ของพระเยซูเจ้าด้วย เช่น ลูกแกะพระเจ้า รับบี พระเมสสิยาห์ พระบุตรพระเจ้า กษัตริย์แห่งอิสราแอล และบุตรแห่งมนุษย์
ชีวิตของมนุษย์ คือการรู้จักพระเจ้าและรักพระองค์
CCC ข้อ 3 ทุกคนที่รับการเรียกของพระคริสตเจ้าโดยที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือ และตอบสนองโดยอิสระเช่นนี้ยังได้รับแรงผลักดันจากความรักต่อพระคริสตเจ้าให้ไปประกาศข่าวดีทั่วทุกแห่งในโลก เขาทั้งหลายได้รักษาสมบัติล้ำค่าที่ได้รับมาจากบรรดาอัครสาวกนี้ไว้อย่างซื่อสัตย์ ทุกคนที่มีความเชื่อในพระคริสตเจ้าได้รับเรียกมาให้ถ่ายทอดสมบัติล้ำค่านี้ต่อไป เพื่อประกาศความเชื่อ ดำเนินชีวิตร่วมกันฉันพี่น้องและร่วมเฉลิมฉลองโดยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และการอธิษฐานภาวนา
ความสัมพันธ์ของเรากับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 520 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นแบบฉบับของเราพระองค์ทรงเป็น “มนุษย์ครบครัน” และทรงเชื้อเชิญเราให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พระองค์ประทานแบบฉบับให้เราปฏิบัติตามโดยการถ่อมพระองค์ ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนา ทรงเรียกเราให้เอาอย่างความยากจนของพระองค์โดยยอมรับความขัดสนและการถูกเบียดเบียน
“ลูกแกะที่ทรงลบล้างบาปของโลก”
CCC ข้อ 608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้าซึ่งลบล้างบาปของโลก” ดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่า และแบกบาปของคนทั้งปวง ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย
ทำไมต้องมีศาสนบริการของพระศาสนจักร
CCC ข้อ 878 ในที่สุด ศาสนบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรยังมีลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลด้วย ถ้าบรรดาศาสนบริกรของพระคริสตเจ้าทำงานร่วมกัน เขาก็ยังทำงานเป็นการส่วนตัวด้วย เขาแต่ละคนได้รับเรียกมาเป็นการส่วนตัว “ท่านจงตามเรามาเถิด” (ยน 21:22) เพื่อว่าในพันธกิจส่วนรวม เขาแต่ละคนจะได้เป็นพยานส่วนตัว รับผิดชอบเป็นการส่วนตัวเฉพาะพระพักตร์พระองค์ผู้ประทานพันธกิจให้เขาทำงาน “ในพระบุคคลของพระองค์” และเพื่อผู้อื่น “ข้าพเจ้าล้างท่านเดชะพระนามพระบิดา...” “ข้าพเจ้าอภัยบาปท่าน...”
การเป็นพรหมจารีเพื่อพระอาณาจักร
CCC ข้อ 1618 พระคริสตเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชนทั้งหมด ความสัมพันธ์กับพระองค์จึงมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งหมดด้านครอบครัวหรือสังคม นับตั้งแต่สมัยแรกของพระศาสนจักรแล้ว มีชายและหญิงหลายคนที่ได้สละผลดียิ่งใหญ่ของการสมรสเพื่อติดตามลูกแกะไปทุกแห่งที่พระองค์เสด็จ เพื่อจะได้สาละวนในการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า หาวิธีทำให้พระองค์พอพระทัย เพื่อออกไปพบเจ้าบ่าวเมื่อพระองค์เสด็จมา พระคริสตเจ้าทรงเรียกบางคนให้ตามเสด็จพระองค์ในชีวิตชนิดที่พระองค์เองทรงเป็นแบบอย่าง “บางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด” (มธ 19:12)
ยน 1:41 พระเมสสิยาห์ : ในภาษาฮีบรูหมายถึง “ผู้รับเจิม” ส่วนในภาษากรีกใช้คำว่า Christos ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “พระคริสตเจ้า”
ยน 1:42 เคฟาส : เป็นคำภาษาแอราเมอิก มีความหมายว่า “ศิลา” ในภาษากรีกว่า Petros เป็นที่มาของชื่อ “เปโตร” ในพระคัมภีร์อำนาจของการตั้งชื่อใครบางคนบ่งบอกถึง “การเป็นเจ้าของ” บุคคลนั้น และเป็นการส่งสัญญาณถึงบทบาทหรือภารกิจใหม่ที่พระเจ้าทรงมอบให้กับบุคคลนั้น บทบาทพิเศษของท่านคือการรับใช้ดั่งศิลา ซึ่งพระคริสตเจ้าจะทรงสถาปนาพระศาสนจักรขึ้นบนศิลานี้
“กุญแจพระอาณาจักร”
CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป
คณะพระสังฆราชและสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ทรงเป็นประมุข
CCC ข้อ 881 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งให้ซีโมนคนเดียวที่ทรงให้นามว่า “เปโตร” เป็นศิลาตั้งพระ ศาสนจักรของพระองค์ และทรงมอบกุญแจ (พระศาสนจักร) ให้เขา ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้อภิบาลดูแลฝูงแกะทั้งหมด “เห็นได้ชัดว่าบทบาทที่จะผูกและแก้ที่เปโตรได้รับนี้ยังได้ทรงมอบให้แก่คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนอีกด้วย” บทบาทผู้อภิบาลนี้ของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ เกี่ยวข้องกับรากฐานของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชสืบต่อบทบาทนี้โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นประมุข
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)