วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 19:45-48)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในพระวิหาร ทรงเริ่มขับไล่บรรดาพ่อค้า ตรัสกับเขาว่า “มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า บ้านของเราจะเป็นบ้านแห่งการอธิษฐานภาวนา แต่ท่านทั้งหลายกลับมาทำให้เป็นซ่องโจร”พระองค์ทรงสั่งสอนในพระวิหารทุกวัน บรรดาหัวหน้าสมณะ ธรรมาจารย์และหัวหน้าประชาชนหาวิธีกำจัดพระองค์ แต่หาวิธีไม่ได้ว่าจะทำอย่างไร เพราะประชาชนทุกคนกำลังตั้งใจฟังพระองค์
ลก 19:45-48 เรื่องราวของพระคริสตเจ้าทรงขับไล่บรรดาพ่อค้าที่มาทำการค้าขายในพระวิหารซึ่งเล่าโดยพระวรสารสหทรรศนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ในพระวรสารโดยนักบุญลูกาได้เพิ่มเติมไว้ว่า พวกศัตรูของพระคริสตเจ้าได้ตกลงที่จะ “ทำลายพระองค์” ด้วย คนแลกเงินที่บริเวณลานพระวิหารได้จัดหาสิ่งจำเป็นไว้บริการ เช่น ขายนกพิราบและลูกแกะให้แก่ผู้แสวงบุญเพื่อถวายบูชาตามจารีตพิธี อย่างไรก็ตามพวกเขาได้ใช้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารเพื่อการค้าของตน เอาผลประโยชน์อย่างไม่ยุติธรรมจากผู้มาแสวงบุญ พระคริสตเจ้าทรงแสดงความโกรธเคืองโดยชอบธรรม เพราะเหตุว่าคนเหล่านั้นได้ขาดความเคารพต่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านพระบิดาของพระองค์
พระเยซูเจ้าและพระวิหาร
CCC ข้อ 584 พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังพระวิหารในฐานะสถานที่พิเศษเพื่อพบพระเจ้า สำหรับพระองค์ พระวิหารคือที่ประทับของพระบิดา เป็นบ้านการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงขัดเคืองพระทัยเมื่อลานด้านนอกของพระวิหารกลายเป็นตลาดสถานที่ค้าขาย ถ้าทรงขับไล่บรรดาพ่อค้าออกไปจากพระวิหาร พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพราะความรักเป็นพิเศษต่อพระบิดา “อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า’ (สดด 69:10)” (ยน 2:16-17) หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว บรรดาอัครสาวกก็ยังคงมีความเคารพต่อพระวิหารต่อมาด้วย
สถานที่ที่เหมาะสำหรับอธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2691 โบสถ์ บ้านของพระเจ้าเป็นสถานที่เฉพาะของการอธิษฐานภาวนาตามพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนวัด ที่เดียวกันนี้ยังเป็นสถานที่พิเศษเพื่อนมัสการการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท การเลือกสถานที่โดยเฉพาะไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญสำหรับการอธิษฐานภาวนาแท้จริง
- สำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอาจเป็น “มุมสำหรับการอธิษฐานภาวนา” ที่มีหนังสือพระคัมภีร์และรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเราจะได้อยู่ “ตามลำพัง” ต่อหน้าพระบิดาของเรา ในครอบครัวคริสตชน ห้องอธิษฐานภาวนาเล็กๆ เช่นนี้ช่วยให้มีการอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้เป็นอย่างดี
- ในท้องที่ที่มีอารามตั้งอยู่ กระแสเรียกของชุมชนเหล่านี้ก็คือช่วยส่งเสริมการภาวนาทำวัตรร่วมกับบรรดาสัตบุรุษและช่วยให้มีความสงบเงียบที่จำเป็นสำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วย
- การแสวงบุญเชิญชวนให้เราคิดถึงการเดินทางของเราในโลกนี้ไปยังสวรรค์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติยังเป็นเวลาพิเศษเพื่อรื้อฟื้นการอธิษฐานภาวนา สักการสถานต่างๆ จึงเป็นสถานที่พิเศษสำหรับผู้แสวงบุญ ให้เป็นดัง “พระศาสนจักร” ที่แสวงหาพุน้ำทรงชีวิต นำรูปแบบของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนมาเป็นชีวิต
สรุป - การอธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2692 เมื่อพระศาสนจักรที่ยังเดินทางอยู่ในโลกนี้อธิษฐานภาวนา ก็สัมพันธ์การอธิษฐานภาวนาของตนกับของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ และขอให้ท่านเหล่านี้ช่วยวอนขอแทนตนด้วย
CCC ข้อ 2693 แนวปฏิบัติด้านชีวิตจิตคริสตชนในแบบต่างๆ ล้วนมีส่วนธรรมประเพณีที่มีชีวิตของการอธิษฐานภาวนาและเป็นผู้นำที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับชีวิตจิต
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)