แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา

พระวรสาตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 14:15-24)              

เวลานั้น ผู้ร่วมโต๊ะคนหนึ่งได้ทูลพระเยซูเจ้าว่า “ผู้ที่กินอาหารในพระอาณาจักรของพระเจ้าย่อมเป็นสุข” พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ชายผู้หนึ่งจัดงานเลี้ยงใหญ่และเชิญคนเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงเวลางาน เขาส่งผู้รับใช้ไปบอกผู้รับเชิญทั้งหลายว่า ‘เชิญมาเถิด ทุกอย่างพร้อมแล้ว’ แต่ทุกคนต่างขอตัว คนแรกพูดว่า ‘ข้าพเจ้าได้ซื้อที่นาไว้แปลงหนึ่ง จำเป็นต้องไปดู จึงขออภัยที่มางานเลี้ยงไม่ได้’ อีกคนหนึ่งพูดว่า ‘ข้าพเจ้าซื้อโคไว้ห้าคู่ กำลังจะไปทดลองใช้งาน จึงขออภัยที่มางานเลี้ยงไม่ได้’ อีกคนหนึ่งพูดว่า ‘ข้าพเจ้าเพิ่งแต่งงาน จึงมาไม่ได้’

ผู้รับใช้กลับมารายงานทุกอย่างแก่นายของตน นายโกรธมาก พูดกับผู้รับใช้ว่า ‘จงรีบออกไปตามลานสาธารณะและตามถนนในเมือง จงพาคนยากจน คนพิการ คนตาบอดและคนง่อยเข้ามาที่นี่เถิด’ ผู้รับใช้กลับมาบอกนายว่า ‘นายขอรับ ข้าพเจ้าทำตามคำสั่งของท่านแล้ว แต่ยังมีที่ว่างอีก’ นายจึงบอกผู้รับใช้ว่า ‘จงออกไปตามทางเดินและตามรั้วต้นไม้ เร่งเร้าผู้คนให้เข้ามาเพื่อทำให้คนเต็มบ้านของเรา เราบอกท่านทั้งหลายว่า ไม่มีผู้ที่ได้รับเชิญคนใดจะได้ลิ้มรสอาหารของเรา’” 


ลก 14:15-24 อุปมาเรื่องการเลือกที่นั่งในงานเลี้ยงนี้ทำให้คิดถึงประเด็นเรื่องการเรียกสากลของการไถ่กู้  เมื่อบรรดาผู้ถูกเลือกหาข้ออ้างที่จะไม่รับคำเชิญให้มาร่วมงานเลี้ยง เจ้าภาพจึงเชิญผู้ที่ไม่ได้รับเลือก เช่น ผู้ป่วย คนยากจน และใครก็ตามที่สามารถเชิญมาได้ ในเมื่อชาวยิวบางคนได้ปฏิเสธคำเชิญนี้ ชนต่างชาติจึงเข้ามาแทนที่พวกเขา อุปมาเรื่องนี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงความสุขอย่างมากล้นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระอาณาจักรพระเจ้า และภาพลักษณ์ของงานฉลองสมรสชี้ให้เห็นถึงงานเลี้ยงในสวรรค์ซึ่งเฉลิมฉลองโดยเหล่าทูตสวรรค์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในสวรรค์ 

“ท่านทั้งหลายจงทำการนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด”

CCC ข้อ 1344 ดังนั้น ประชากรของพระเจ้าที่กำลังเดินทางในโลกนี้จึงประกาศพระธรรมล้ำลึก ปัสกาของพระเยซูเจ้า “จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา” (1คร 11:26) ในการประกอบพิธีแต่ละครั้งประชากรนี้เดิน “ผ่านหนทางแคบแห่งไม้กางเขน” มุ่งหน้าไปสู่งานเลี้ยงในสวรรค์ ในงานเลี้ยงนี้บรรดาผู้รับเลือกสรรทุกคนจะนั่งร่วมโต๊ะแห่งพระอาณาจักร

งานเลี้ยงปัสกา

CCC ข้อ 1382 พิธีมิสซา ในเวลาเดียวกันอย่างแยกกันไม่ได้ เป็นทั้งการถวายบูชาและการระลึกถึงที่ทำให้การถวายบูชาบนไม้กางเขนและการเลี้ยงอาหารมื้อค่ำเพื่อรับพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่ตลอดไป แต่ก่อนอื่นหมดการประกอบพิธีถวายบูชาขอบพระคุณมุ่งไปยังการร่วมสนิทของบรรดาผู้มีความเชื่อกับพระคริสตเจ้าโดยการรับศีลมหาสนท การรับศีลมหาสนิทเป็นการรับพระคริสตเจ้าผู้ทรงถวายพระองค์เพื่อพวกเรานั่นเอง 

การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2770 ในพิธีกรรมบูชาขอบพระคุณ บทข้าแต่พระบิดาปรากฏเป็นดังบทภาวนาของพระศาสนจักรทั้งหมด บทภาวนานี้เปิดเผยความหมายและประสิทธิผลของพิธีบูชาขอบพระคุณไว้ครบครัน การที่บทภาวนาบทนี้ตั้งอยู่ระหว่างบท Anaphora (บทขอบพระคุณ) และพิธีกรรมการรับศีลมหาสนิท ในด้านหนึ่งจึงรวมการวอนขอและการเชิญพระจิตเจ้าให้วอนขอแทนที่แสดงออกในบท Epiclesis (บทอัญเชิญพระจิตเจ้า) และในอีกด้านหนึ่งเป็นดังการเคาะประตูงานเลี้ยงของพระอาณาจักรที่การรับศีลมหาสนิทเป็นเสมือนการเกริ่นล่วงหน้า

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)