แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 29 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 12:13-21)                 

เวลานั้น ประชาชนคนหนึ่งทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์ โปรดบอกพี่ชายข้าพเจ้าให้แบ่งมรดกให้ข้าพเจ้าเถิด” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “มนุษย์เอ๋ย ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นผู้แบ่งมรดกของท่าน” แล้วพระองค์ตรัสกับคนเหล่านั้นว่า “จงระวังและรักษาตัวไว้ให้พ้นจากความโลภทุกชนิด เพราะชีวิตของคนเราไม่ขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเขา แม้ว่าเขาจะมั่งมีมากเพียงใดก็ตาม”

พระองค์ยังตรัสอุปมาเรื่องหนึ่งให้เขาทั้งหลายฟังอีกว่า “เศรษฐีคนหนึ่งมีที่ดินที่เกิดผลดีอย่างมาก เขาจึงคิดว่า ‘ฉันจะทำอย่างไรดี ฉันไม่มีที่พอจะเก็บพืชผลของฉัน’ เขาคิดอีกว่า ‘ฉันจะทำอย่างนี้ จะรื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม จะได้เก็บข้าวและสมบัติทั้งหมดไว้ แล้วฉันจะพูดกับตนเองว่า ดีแล้ว เจ้ามีทรัพย์สมบัติมากมายเก็บไว้ใช้ได้หลายปี จงพักผ่อน กินดื่มและสนุกสนานเถิด’ แต่พระเจ้าตรัสกับเขาว่า ‘คนโง่เอ๋ย คืนนี้ เขาจะเรียกเอาชีวิตเจ้าไป แล้วสิ่งที่เจ้าได้เตรียมไว้จะเป็นของใครเล่า คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง แต่ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า ก็จะเป็นเช่นนี้’” 


ลก 12:13-21 อุปมาเรื่องนี้สอนเราว่า ชีวิตที่มีศูนย์กลางอยู่บนความทะเยอทะยาน ความโลภ และความพึงพอใจ คือชีวิตที่ไร้ความหมาย คนโง่เขลาขาดความตระหนักว่าชีวิตของเขาจะต้องสิ้นสุดลงพร้อมกับทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เขาสะสมมา ชีวิตที่เกิดผลอย่างแท้จริงต้องดำเนินไปด้วยกิจเมตตาแห่งความรักต่อผู้อื่น และต้องไม่ยึดติดกับวัตถุสิ่งของ 

การเคารพต่อบุคคลและทรัพย์สินของเขา

CCC ข้อ 2407 ในเรื่องเศรษฐกิจ ความเคารพต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์เรียกร้องให้ใช้คุณธรรมการเดินสายกลางเพื่อควบคุมให้เอาใจใส่แต่พอควรต่อทรัพย์สมบัติของโลกนี้ ยังเรียกร้องให้ใช้คุณธรรมความยุติธรรม เพื่อปกป้องสิทธิของเพื่อนพี่น้องและคืนสิทธิที่เขาควรจะมีให้เขา เรียกร้องให้ใช้คุณธรรมความร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันตามกฎพึงปฏิบัติและตามพระทัยกว้างขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ที่แม้ทรงร่ำรวย ก็ยังทรงยอมกลายเป็นคนยากจน เพื่อเราจะได้ร่ำรวยเพราะความยากจนของพระองค์

อุปสรรคของการอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2727 เรายังต้องเผชิญกับวิธีคิด “ของโลกนี้” ที่มักจะแทรกเข้ามาในตัวเราถ้าเราไม่ระวังตัว เช่นคิดว่าความจริงมีเพียงอย่างเดียวคือต้องพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลและวิทยาการ (แต่การอธิษฐานภาวนาเป็นธรรมล้ำลึกที่อยู่เหนือความสำนึกที่วิญญาณอาจไม่รู้สึกก็ได้) บางคนคิดถึงแต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับเท่านั้น (การอธิษฐานภาวนาไม่มีผลประโยชน์ ดังนั้นจึงใช้ไม่ได้) บางคนอาจคิดถึงความรู้สึกที่ดีและความสุขใจว่าเป็นมาตรการของความจริง ความดีและความงาม (แต่การอธิษฐานภาวนา ในฐานะที่เป็น “ความรักความงาม [philokalia] ก็รวมอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์และทรงความจริงแล้ว) ในที่สุดบางคนยังคิดว่าการอธิษฐานภาวนาเป็นปฏิกิริยาต่อการบ้างาน การอธิษฐานภาวนาเป็นการหนีจากความวุ่นวายของโลก (แต่การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนไม่ใช่การหนีออกไปจากความเป็นจริงและปลีกตัวออกไปจากชีวิต)


ลก 12:14  ใครตั้งเราเป็นผู้พิพากษาหรือเป็นผู้แบ่งมรดกของท่าน : ศูนย์กลางแห่งพันธกิจของพระคริสตเจ้าคือ การปลดปล่อยมนุษยชาติจากการเป็นทาสของบาป พระองค์ทรงมอบวิธีเฉพาะแห่งการประยุกต์ใช้คำสอนของพระองค์และกฎศีลธรรมให้แก่เรา  

เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่น ความหิว ความอยุติธรรม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)