แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 11:1-4)        

เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเหมือนกับที่ยอห์นสอนศิษย์ของเขาเถิด” พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐานภาวนา จงพูดว่า ‘ข้าแต่พระบิดา พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายทุกวัน โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย เหมือนข้าพเจ้าทั้งหลายให้อภัยแก่ผู้อื่น โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายไม่ให้แพ้การผจญ’” 


ลก 11:1-4  โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนา : เพื่อตอบสนองการวอนขอนี้พระคริสตเจ้าทรงมอบ “บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ให้แก่เรา หรือเป็นที่รู้จักกันว่า บทข้าแต่พระบิดา บทภาวนานี้เชื้อเชิญให้เราเรียกพระเจ้าว่า “พระบิดาของเรา” และให้ไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์ฉันบุตรของพระเจ้าที่เราได้รับมาโดยทางการรับศีลล้างบาป การใช้บุรุษที่หนึ่งเป็นพหูพจน์นั้นต้องการเน้นว่า นี่เป็นคำภาวนาร่วมกันของครอบครัวของพระเจ้า คือ พระศาสนจักร เช่นเดียวกับความเป็นหนึ่งเดียวที่มีอยู่ในระหว่างสมาชิกของพระศาสนจักรนั่นเอง การอธิษฐานภาวนาของเรามีศูนย์กลางอยู่ที่การนมัสการพระเจ้าและพระอาณาจักรของพระองค์ รวมทั้งเป็นการวอนขอพระองค์สำหรับสิ่งที่เราต้องการและการร่วมมือกันเพื่อพระอาณาจักรนี้ ในตอนท้ายของบทภาวนามีการเชื่อมโยงถึงการอภัยที่เราได้รับจากพระเจ้าไปสู่การให้อภัยต่อเพื่อนมนุษย์ นี่คือบทภาวนาพื้นฐานของคริสตชนทุกคนซึ่งใช้อธิษฐานภาวนาพร้อมกันในการทำกิจศรัทธาของพระศาสนจักร รวมทั้งในทุกๆ พิธีบูชาขอบพระคุณอีกด้วย แตร์ตูเลียนได้เขียนไว้ว่า บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้านี้เป็น “บทสรุปพระวรสารทั้งครบอย่างแท้จริง” (De orat., 1:PL 1, 1155)

ความสัมพันธ์ของเรากับพระธรรมล้ำลึกของพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 520 ตลอดพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์เป็นแบบฉบับของเราพระองค์ทรงเป็น “มนุษย์ครบครัน” และทรงเชื้อเชิญเราให้เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ พระองค์ประทานแบบฉบับให้เราปฏิบัติตามโดยการถ่อมพระองค์ ทรงอธิษฐานภาวนาเป็นตัวอย่างการอธิษฐานภาวนา ทรงเรียกเราให้เอาอย่างความยากจนของพระองค์โดยยอมรับความขัดสนและการถูกเบียดเบียน

ทำไมจึงต้องมีศีลแห่งการคืนดีอีกหลังจากศีลล้างบาป

CCC ข้อ 1425 “ท่านได้รับการชำระล้างแล้ว ท่านได้รับความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ท่านได้รับความชอบธรรมแล้ว เดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า และเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา” (1คร 6:11) เราจึงต้องสำนึกถึงพระพรยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าประทานให้เราในศีลของกระบวนการรับเข้าเป็นคริสตชนเพื่อจะเข้าใจว่าบาปเป็นสิ่งแปลกปลอมเพียงไรสำหรับผู้ที่สวมพระคริสตเจ้าไว้แล้ว แต่นักบุญยอห์น อัครสาวกก็เขียนไว้ว่า “ถ้าเราพูดว่า เราไม่มีบาป เรากำลังหลอกตนเอง และความจริงไม่อยู่ในเรา” (1ยน 1:8) และองค์พระผู้เป็นเจ้าเองก็ทรงสอนเราให้อธิษฐานภาวนาว่า “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพทั้งหลาย” (ลก 11:4) และทรงเสริมว่าการที่เราให้อภัยความผิดแก่กันนั้นมีความสัมพันธ์กับการอภัยที่พระเจ้าจะประทานแก่บาปของเรา

พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2601 “พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อทรงอธิษฐานจบแล้ว ศิษย์คนหนึ่งทูลพระองค์ว่า ‘พระเจ้าข้า โปรดสอนเราให้อธิษฐานภาวนาเถิด’” (ลก 11:1) เมื่อศิษย์ของพระคริสตเจ้าเห็นพระอาจารย์ทรงอธิษฐานภาวนา ก็อยากจะอธิษฐานภาวนาด้วย เขาจึงอาจเรียนรู้ได้จากพระอาจารย์แห่งการอธิษฐานภาวนา เมื่อพิจารณาและได้ยินพระบุตร (ทรงอธิษฐานภาวนา) บรรดาบุตรก็เรียนรู้ที่จะอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาด้วย

การอธิษฐานเพื่อวอนขอ

CCC ข้อ 2632 การวอนขอของคริสตชนมีศูนย์กลางอยู่ที่ความปรารถนาและการแสวงหาพระอาณาจักรที่มาถึงตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ต้องมีลำดับความสำคัญในการวอนขอ ก่อนอื่นต้องวอนขอพระอาณาจักร แล้วจึงวอนขอสิ่งที่จำเป็นสำหรับรับพระอาณาจักรนี้ และเพื่อร่วมงานกับการมาถึงของพระอาณาจักร การร่วมงานนี้กับพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า ซึ่งบัดนี้ยังเป็นพันธกิจของพระศาสนจักรด้วย จึงเป็นสาระสำคัญของการอธิษฐานภาวนาของกลุ่มคริสตชนสมัยอัครสาวกเช่นกัน การอธิษฐานภาวนาของเปาโล อัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ เปิดเผยให้เรารู้ว่าความเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อกลุ่มคริสตชนทุกแห่งต้องเป็นพลังบันดาลใจของการอธิษฐานภาวนาของคริสตชน ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนร่วมงานให้พระอาณาจักรมาถึงโดยการอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2759-2865


ลก 11:3  อาหารประจำวัน : พระศาสนจักรสอนว่า สิ่งนี้หมายถึงทั้งอาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกายและอาหารสำหรับชีวิตฝ่ายจิตด้วย เช่น ศีลมหาสนิท เป็นต้น

คำวอนขอ

CCC ข้อ 2861 ในคำวอนขอข้อสี่ เมื่อกล่าวว่า “โปรดประทาน... แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” เรามีความสัมพันธ์ร่วมกับเพื่อนพี่น้องของเรา แสดงความไว้วางใจของเราเยี่ยงบุตรต่อพระบิดาในสวรรค์ “อาหาร (ของเรา)” หมายถึงอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของเราในโลกนี้เพื่อทุกคนจะได้มีอาหารที่จำเป็นเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต และยังหมายถึงอาหารที่จำเป็นสำหรับชีวิต คือพระวาจาของพระเจ้าและพระวรกายของพระคริสตเจ้า (ในศีลมหาสนิท) ด้วย เราต้องรับอาหารนี้ “ประจำวัน” ใน “วันนี้” ของพระเจ้าเป็นอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่ง จากงานเลี้ยงในพระอาณาจักรสวรรค์ ที่ศีลมหาสนิทเป็นการเกริ่นล่วงหน้าถึงงานเลี้ยงนี้

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)