แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 27 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 10:2-16)                

เวลานั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลถามหวังจะจับผิดพระองค์ว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ชายจะหย่ากับภรรยา” พระองค์ตรัสตอบว่า “โมเสสได้บัญญัติไว้ว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “โมเสสอนุญาตให้ทำหนังสือหย่าร้างและหย่ากันได้” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะใจดื้อแข็งกระด้างของท่าน โมเสสจึงได้เขียนบัญญัติข้อนี้ไว้ แต่เมื่อแรกสร้างโลกนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชายและหญิง ดังนั้น ชายจะละบิดามารดา และชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” เมื่อกลับเข้าไปในบ้านแล้ว บรรดาศิษย์ทูลถามถึงเรื่องนี้อีก พระองค์จึงตรัสตอบว่า “ผู้ใดหย่าร้างภรรยา และแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่ากับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน”

มีผู้นำเด็กเล็กๆ มาเฝ้าพระเยซูเจ้าเพื่อทรงสัมผัสอวยพร แต่บรรดาศิษย์กลับดุว่าคนเหล่านั้น เมื่อทรงเห็นเช่นนี้ พระองค์กริ้ว ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้ เราบอกความจริงกับท่านว่า ผู้ใดไม่รับพระอาณาจักรของพระเจ้าอย่างเด็กเล็กๆ เขาจะไม่เข้าสู่พระอาณาจักรนั้นเลย” แล้วพระองค์ทรงอุ้มเด็กเหล่านั้นไว้ ทรงปกพระหัตถ์ และประทานพระพร 


มก 10:1-12  ยอห์น บัปติสต์ถูกประหารชีวิตด้วยสาเหตุส่วนใหญ่จากเฮโรด เพราะท่านเทศน์สอนในเรื่องการหย่าร้างและการแต่งงานใหม่ ชาวฟาริสีอาจคาดหวังว่าพระคริสตเจ้าจะตรัสบางอย่างในทำนองเดียวกันที่จะทำให้เฮโรดทรงกริ้ว พระองค์ตรัสชัดเจนว่าโมเสสอนุญาตให้หย่าร้างได้ แต่แผนการดั้งเดิมของพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานนั้นได้กำหนดให้ชายเดียวและหญิงเดียวผูกพันกันด้วยพันธะแห่งชีวิต ซึ่งผูกขาดและแยกจากกันไม่ได้ตลอดไป      

การสมรสในองค์พระผู้เป็นเจ้า

CCC ข้อ 1612 พันธสัญญาการสมรสระหว่างพระเจ้ากับประชากรอิสราเอลของพระองค์ได้เตรียมพันธสัญญานิรันดรที่พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และทรงมอบชีวิตของพระองค์ ได้ทรงรับมนุษยชาติทั้งมวลที่ได้รับการไถ่กู้จากพระองค์แล้วเข้ามาร่วมสนิทกับพระองค์ และดังนี้จึงเป็นการเตรียม “งานวิวาหมงคลของลูกแกะ”   

CCC ข้อ 1613 เมื่อพระเยซูเจ้ากำลังจะทรงเริ่มเทศนาสั่งสอนประชาชน ได้ทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์ครั้งแรกของพระองค์ –ตามการวอนขอของพระมารดา– ในงานเลี้ยงฉลองงานสมรสครั้งหนึ่ง พระศาสนจักรให้ความสำคัญมากแก่การที่พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในงานวิวาหมงคลที่หมู่บ้านคานา พระศาสนจักรเห็นว่าเหตุการณ์ที่นั่นเป็นการยืนยันถึงความดีของการสมรสและงานสมรสที่นั่นยังจะเป็นเครื่องหมายทรงประสิทธิภาพถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าอีกด้วย    

CCC ข้อ 1614 เมื่อทรงเทศน์สอน พระเยซูทรงสอนอย่างชัดเจนถึงความหมายดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงตามที่พระผู้สร้างทรงประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่ม การอนุญาตที่โมเสสยอมให้หย่าร้างจากภรรยาของตนได้นั้นเป็นการยอมอนุโลมตามความดื้อกระด้างของจิตใจ ความสัมพันธ์การสมรสของชายและหญิงจึงลบล้างไม่ได้ พระเจ้าเองทรงกำหนดไว้ ดังนั้น “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย” (มธ 19:6)    

CCC ข้อ 1615 การกล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่าพันธะการสมรสไม่มีวันจะลบล้างได้นั้นอาจทำให้หลายคนมีความข้องใจและเห็นว่าการเรียกร้องเช่นนี้แทบจะปฏิบัติไม่ได้ ถึงกระนั้นพระเยซูเจ้าก็มิได้ทรงกำหนดให้คู่สมรสต้องแบกภาระหนักเกินกำลังจนแบกไม่ไหว หนักกว่าธรรมบัญญัติของโมเสส  พระองค์เสด็จมาเพื่อทรงรื้อฟื้นระเบียบของการเนรมิตสร้างตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ถูกบาปรบกวน พระองค์จึงประทานกำลังและพระหรรษทานเพื่อดำเนินชีวิตการสมรสตามมาตรการใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า สามีภรรยาที่ดำเนินชีวิตตามพระคริสตเจ้า สละตนเอง แบกไม้กางเขนของตน จะสามารถ “เข้าใจ” ความหมายดั้งเดิมของการสมรสและดำเนินชีวิตตามความหมายนี้ได้อาศัยความช่วยเหลือของพระคริสตเจ้า พระหรรษทานของการสมรสแบบคริสตชนนี้เป็นผลจากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของชีวิตคริสตชนทั้งหมด    

CCC ข้อ 1616 อัครสาวกเปาโลก็กล่าวให้เข้าใจเรื่องนี้ด้วยว่า “สามีจงรักภรรยาดังที่พระคริสตเจ้าทรงรักพระศาสนจักรและทรงพลีพระองค์เพื่อพระศาสนจักร ทรงบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” (อฟ 5:25-26) แล้วยังเสริมทันทีว่า “‘เพราะเหตุนี้ ชายจะละบิดามารดาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน’ ธรรมล้ำลึกประการนี้ยิ่งใหญ่นัก ข้าพเจ้าหมายถึงพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร” (อฟ 5:31-32)    

CCC ข้อ 1617 ชีวิตทั้งหมดของคริสตชนเป็นเครื่องหมายความรักฉันท์สามีภรรยาของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักร ตั้งแต่ศีลล้างบาป ซึ่งเป็นการเข้ามาอยู่ในประชากรของพระเจ้า ก็เป็นพระธรรมล้ำลึกการสมรสแล้ว เป็นเสมือนการใช้น้ำชำระในการสมรสที่ทำกันก่อนการเลี้ยงในงาน ได้แก่ศีลมหาสนิท การสมรสแบบคริสตชนจึงเป็นเครื่องหมายที่มีประสิทธิผล เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งพันธสัญญาของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร เพราะหมายถึงพันธสัญญานี้และประทานพระหรรษทานให้ด้วย การสมรสระหว่างผู้รับศีลล้างบาปแล้วจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ของพันธสัญญาใหม่อย่างแท้จริง   


มก 10:4  หนังสือหย่าร้าง : เพราะประชาชนรักษาสัญญาแห่งการแต่งงานด้วยความยากลำบาก โมเสสจึงยอมอนุญาตให้มีการหย่าร้างเพื่อพิทักษ์สตรีที่ถูกปล่อยให้ดำเนินชีวิตโดดเดี่ยวและไร้ซึ่งการสนับสนุนในด้านการปกป้องและการเงิน พระคริสตเจ้าทรงทำให้การแต่งงานกลับสู่สภาพดั้งเดิมตามพระประสงค์ของพระเจ้าและยกขึ้นสู่ระดับของศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการสมรส ซึ่งประทานพระหรรษทานแห่งความรักด้วยความรักของพระคริสตเจ้า และพระหรรษทานแห่งการแบกรับความยากลำบากซึ่งเป็นผลมาจากการแต่งงานและการเลี้ยงดูบุตร     

การสมรสภายใต้การอบรมสั่งสอนของธรรมบัญญัติในพันธสัญญาเดิม

CCC ข้อ 1609 โดยที่ทรงพระกรุณา พระเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งมนุษย์ที่ทำบาปเลย โทษที่สืบเนื่องมาจากบาป เช่น ความทุกข์ของการคลอดบุตร การทำงาน “ด้วยหยาดเหงื่อบนใบหน้า” (ปฐก 3:19) ยังเป็นการเยียวยาที่ทำให้ผลร้ายของบาปลดน้อยลง หลังจากที่มนุษย์ตกในบาปแล้ว การสมรสช่วยให้มนุษย์เอาชนะการเก็บตัว “ความเห็นแก่ตัว” ที่รักแต่ตนเอง การแสวงหาความสุขส่วนตัว แล้วเปิดตนให้แก่ผู้อื่น มีความช่วยเหลือกัน มอบตนเองแก่กันได้   

CCC ข้อ 1610 มโนธรรมด้านศีลธรรมเกี่ยวกับการสมรสซึ่งมีสามีภรรยาเพียงคนเดียวที่แยกจากกันไม่ได้ค่อยๆเพิ่มขึ้นในพันธสัญญาเดิมเป็นดังการอบรมสั่งสอน แม้การที่บรรดาบรรพบุรุษและกษัตริย์มีภรรยาหลายคนยังไม่ถูกประณามโดยตรง ถึงกระนั้นธรรมบัญญัติที่พระเจ้าทรงมอบแก่โมเสสก็มีแนวโน้มที่จะปกป้องสตรีจากการที่บุรุษแสดงอำนาจทำตัวเป็นนายตามใจชอบ แม้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกการทำเช่นนี้ว่าเป็นร่องรอย “ใจดื้อแข็งกระด้าง” ของบุรุษ ซึ่งทำให้โมเสสอนุญาตให้สตรีหย่าร้างได้    

CCC ข้อ 1611 เมื่อบรรดาประกาศกพิจารณาเห็นพันธสัญญาของพระเจ้ากับอิสราเอลในภาพของความรักซื่อสัตย์ของสามีภรรยาที่ไม่ยอมให้มีมือที่สามเข้ามาแทรกเลยนั้น ท่านก็เตรียมมโนธรรมของประชากรที่ทรงเลือกสรรให้เข้าใจถึงความลึกล้ำแห่งเอกภาพและความแตกแยกไม่ได้ของการสมรส เรื่องราวน่าประทับใจในหนังสือนางรูธและโทบิตยังแสดงให้เห็นความหมายลึกซึ้งของการสมรส ความซื่อสัตย์และอ่อนโยนระหว่างสามีภรรยา ธรรมประเพณีในหนังสือเพลงซาโลมอนแลเห็นการแสดงออกอย่างพิเศษของความรักประสามนุษย์ในฐานะที่ความรักนี้สะท้อนให้เห็นความรักของพระเจ้า ความรักที่ “แข็งแรงเหมือนความตาย” และที่ “น้ำมากมายไม่อาจดับได้” (พซม 8:6-7)  

  


มก 10:8-9  ในการแต่งงาน พระเจ้าทรงกำหนดให้ชายและหญิง “กลายเป็นเนื้อเดียวกัน” ในความเป็นหนึ่งเดียวของการมอบตนให้แก่กันและกันและความซื่อสัตย์ ระหว่างการแต่งงานของทั้งคู่ที่รับศีลล้างบาปแล้วนั้น “การแต่งงานที่เกิดจากการสัญญาและบรรลุผลสำเร็จแล้ว ไม่อาจถูกทำลายได้ด้วยพลังของมนุษย์หรือด้วยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นความตายเท่านั้น” (CIC 1141)  

การแสดงความสมัครใจของคู่สมรส

CCC ข้อ 1625 ผู้มีบทบาทสำคัญในพันธสัญญาการสมรสคือชายและหญิงที่ได้รับศีลล้างบาปแล้ว มีอิสระที่จะสมรสด้วยกัน และแสดงความสมัครใจของตนออกมาอย่างอิสระเสรี “มีอิสระ” หมายความว่า

- ไม่ถูกบังคับ 

- ไม่มีข้อขัดขวางตามกฎธรรมชาติและตามกฎหมายของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 1626 พระศาสนจักรถือว่าการแลกเปลี่ยนความสมัครใจระหว่างคู่สมรสเป็นองค์ประกอบจำเป็น “ที่ทำให้เกิดการสมรส” ถ้าไม่มีการแสดงความสมัครใจก็ไม่มีการสมรส

CCC ข้อ 1627 การแสดงความสมัครใจอยู่ที่ “กิจการแบบมนุษย์ (actus humanus) ที่คู่สมรสมอบและรับตนเองระหว่างกัน” “ผมรับคุณเป็นภรรยา....” “ดิฉันรับคุณเป็นสามี....” การแสดงความสมัครใจนี้ที่รวมคู่สมรสไว้ด้วยกันบรรลุถึงความสำเร็จสมบูรณ์ในการที่ทั้งสองคนร่วม “เป็นเนื้อเดียวกัน”

CCC ข้อ 1628 การแสดงความสมัครใจต้องเป็นกิจการที่แสดงเจตนาของคู่สมรสแต่ละคนโดยปราศจากการถูกบังคับหรือความกลัวอย่างหนักเพราะถูกข่มขู่จากภายนอก ไม่มีอำนาจใดของมนุษย์จะมาแทนการแสดงความสมัครใจนี้ได้ ถ้าขาดอิสรภาพนี้ การสมรสย่อมเป็นโมฆะ

CCC ข้อ1629 เพราะเหตุผลนี้ (หรือเพราะเหตุผลอื่นที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ) พระศาสนจักร หลังจากที่ศาลพระศาสนจักรที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาเงื่อนไขต่างๆ แล้ว จึงอาจประกาศว่า “การสมรสเป็นโมฆะ” ได้ ซึ่งหมายความว่าการสมรสนั้นไม่เคยมีอยู่เลย ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาจึงมีอิสระที่จะแต่งงานได้ แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากความสัมพันธ์ที่เคยมีก่อนหน้านั้น

CCC ข้อ 1630 พระสงฆ์ (หรือสังฆานุกร) ที่เป็นประธานในพิธีสมรสเป็นผู้รับการแสดงความสมัครใจของคู่สมรสในนามของพระศาสนจักรและประทานพรของพระศาสนจักรแก่เขา การที่ศาสนบริกรของพระ ศาสนจักร (และพยาน) อยู่ที่นั่นแสดงว่าพิธีสมรสเป็นกิจกรรมแท้จริงของพระศาสนจักร

CCC ข้อ1631 เพราะเหตุนี้ พระศาสนจักรโดยปกติจึงขอร้องจากบรรดาผู้มีความเชื่อของตนให้ใช้รูปแบบของพระศาสนจักรเพื่อประกอบพิธีสมรส มีเหตุผลหลายประการร่วมกันเพื่ออธิบายการกำหนดเช่นนี้

- การสมรสที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นกิจกรรมด้านพิธีกรรม ดังนั้นจึงควรประกอบพิธีนี้ในพิธีกรรมทางการของพระศาสนจักร

- การสมรสทำให้เกิดมีลำดับขั้น ของพระศาสนจักร ทำให้เกิดทั้งข้อบังคับในพระศาสนจักรระหว่างสามีภรรยาและเกี่ยวข้องกับบุตรด้วย

- เนื่องจากการสมรสเป็นสถานภาพชีวิตในพระศาสนจักร จึงจำเป็นต้องมีความแน่ใจเกี่ยวกับการสมรสด้วย (ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดให้มีพยาน)

- ลักษณะการแสดงความสมัครใจอย่างเปิดเผยเป็นทางการเป็นการปกป้องการแสดงความสมัครใจนี้หลังจากที่ได้แสดงออกแล้ว และช่วยให้คู่สมรสมีความซื่อสัตย์ต่อการแสดงความสมัครใจนี้ด้วย

CCC ข้อ 1632 เพื่อให้การแสดงความสมัครใจของคู่สมรสเป็นการกระทำโดยอิสระและมีความรับผิดชอบ และเพื่อให้พันธสัญญาการสมรสมีรากฐานอย่างมั่นคงแบบมนุษย์และคริสตชน การเตรียมตัวเพื่อการสมรสจึงมีความสำคัญยิ่ง

- แบบฉบับและการสั่งสอนที่ได้รับมาจากบิดามารดาและครอบครัวจึงเป็นวิธีการสำคัญของการเตรียมตัวนี้

- บทบาทของผู้อภิบาลและชุมชนคริสตชนในฐานะที่เป็น “ครอบครัวของพระเจ้า” จึงมีความจำเป็นเพื่อจะมอบคุณค่าแบบมนุษย์และคริสตชนของการสมรสและครอบครัวแก่คู่สมรส ยิ่งกว่านั้นในสมัยของเรา เยาวชนจำนวนมากรู้จากประสบการณ์ของครอบครัวแตกแยก ซึ่งไม่อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างเพียงพออีกต่อไป

“บรรดาเยาวชนควรได้รับความรู้อย่างเหมาะสมและทันเวลาในเรื่องศักดิ์ศรีของความรักฉันสามีภรรยา เรื่องหน้าที่และการงาน โดยเฉพาะภายในแวดวงครอบครัวเอง เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของความบริสุทธิ์ และเมื่อถึงอายุที่เหมาะสม เขาจะได้ผ่านจากการเป็นคู่หมั้นอย่างมีเกียรติไปสู่พิธีสมรสได้”

ผลของศีลสมรส

CCC ข้อ 1638 “จากการสมรสที่ถูกต้องย่อมเกิดมีพันธะที่ผูกขาดและคงอยู่ตลอดไปโดยธรรมชาติ นอกจากนั้นในการสมรสแบบคริสตชนคู่สมรสยังได้รับพลังของศีลนี้โดยเฉพาะและได้รับการเจิมถวายเพื่อทำหน้าที่และดำเนินชีวิตให้สมกับหน้าที่และศักดิ์ศรีของตนด้วย”

พันธะของการสมรส

CCC ข้อ 1639 การแลกเปลี่ยนความสมัครใจที่คู่สมรสมอบตนและรับกันและกันนี้ได้รับการประทับตราจากพระเจ้า จากพันธสัญญาของเขาทั้งสอง “ย่อมเกิดมีสถาบันมั่นคงตามแผนการณ์ของพระเจ้าขึ้นในสังคมด้วย” พันธสัญญาของคู่สมรสมีส่วนร่วมในพันธสัญญาของพระเจ้ากับมนุษย์ “ความรักแท้จริงของคู่สมรสย่อมถูกรับเข้ามาอยู่ในความรักของพระเจ้า”

  CCC ข้อ1640 ดังนั้น พันธะการสมรส จึงถูกสถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าเองจนว่าการสมรสที่ถูกต้องและสมบูรณ์โดยเพศสัมพันธ์ของผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมไม่มีวันจะถูกลบล้างได้ พันธะนี้ซึ่งเกิดจากกิจการอิสระเสรีแบบมนุษย์และการมีเพศสัมพันธ์ตามมาด้วยนั้นเป็นสภาวะที่เพิกถอนเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกต่อไปทำให้เกิดมีพันธสัญญาที่มีความซื่อสัตย์ของพระเจ้าเป็นประกัน พระศาสนจักรจึงไม่มีอำนาจตัดสินอะไรคัดค้านแผนการณ์นี้ตามพระปรีชาญาณของพระเจ้าได้

พระหรรษทานของศีลสมรส

CCC ข้อ 1641 คู่สมรสคริสตชน “มีพระพรของพระเจ้าในสถานภาพชีวิตและตำแหน่งของตนภายในประชากรของพระเจ้า” พระหรรษทานนี้โดยเฉพาะของศีลสมรสมีเจตนาเพื่อทำให้ความรักของสามีภรรยามีความสมบูรณ์ เพื่อทำให้เอกภาพที่แตกแยกไม่ได้ของทั้งสองมีความมั่นคงโดยพระหรรษทานนี้ “สามีภรรยาย่อมช่วยเหลือกันในชีวิตสมรส รวมทั้งในการรับบุตรที่จะเกิดมาและอบรมให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์”

CCC ข้อ 1642 พระคริสตเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดของพระหรรษทานนี้  “ครั้งหนึ่ง พระเจ้าทรงพบกับประชากรของพระองค์โดยพันธสัญญาแห่งความรักและความซื่อสัตย์ฉันใด บัดนี้ พระผู้ไถ่ของมนุษย์และเจ้าบ่าวของพระศาสนจักรก็เสด็จมาพบคู่สมรสคริสตชนโดยศีลสมรสฉันนั้น” ประทานพลังให้เขาแบกไม้กางเขนของตนขึ้นติดตามพระองค์ เพื่อเขาจะได้ให้อภัยกันอีกหลังจากที่ได้พลาดพลั้งไปแล้ว สามารถแบกภาระของกันและกันได้” เพื่อเขาจะได้ “ยอมอยู่ใต้อำนาจของกันและกันด้วยความเคารพยำเกรงพระคริสตเจ้า” (อฟ 5:21) และรักกันด้วยความรักเหนือธรรมชาติ อ่อนโยน และบังเกิดผล ตั้งแต่ในโลกนี้แล้ว พระองค์ประทานให้เขาทั้งสองคนมีความยินดีในความรักและให้ชีวิตครอบครัวของเขาเป็นการชิมลางความชื่นชมยินดีของงาน        วิวาห์มงคลของลูกแกะ

“เราจะบรรยายให้เพียงพอได้อย่างไรถึงความสุขแห่งการสมรสที่พระศาสนจักรนำมารวมกัน ถวายให้มั่นคง อวยพรให้เด่นชัด บรรดาทูตสวรรค์ประกาศให้ทุกคนทราบ พระบิดาทรงรับรอง […] ช่างน่าชื่นชมที่ผู้มีความเชื่อสองคนมารวมในความวางใจเดียวกัน ความปรารถนาเดียวกัน ระเบียบเดียวกัน การรับใช้ร่วมกัน ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน เป็นผู้รับใช้เจ้านายคนเดียวกัน ไม่มีความขัดแย้งกันทั้งจิตใจและร่างกาย แต่ทั้งสองคนอยู่ในเนื้อเดียวกันโดยแท้จริง ที่ใดมีเนื้อเดียวกัน ที่นั่นก็มีจิตใจเดียวกันด้วย”

ผลดีและข้อเรียกร้องจากความรักของคู่สมรส

CCC ข้อ 1643 “ความรักของคู่สมรสรวมทุกสิ่งที่ทุกส่วนของบุคคลหนึ่งแทรกแซงเข้าไปไว้ในตัว – การเรียกร้องของร่างกายและสัญชาติญาณ พลังความรู้สึกและความรัก ความปรารถนาของจิตใจและเจตนา – ความรักนี้มุ่งหาเอกภาพที่เป็นส่วนตัวที่สุด คือเอกภาพที่นอกจากความสัมพันธ์เป็นเนื้อเดียวกันแล้วยังไม่ทำอะไรอื่นนอกจากใจเดียวจิตเดียวกัน เอกภาพนี้จึงเรียกร้องไม่ให้มีการแยกจากกันได้และเรียกร้องความซื่อสัตย์ของการมอบตนแก่กันอย่างที่สุดและนำไปสู่การให้กำเนิดชีวิต พูดสั้นๆ เรากำลังกล่าวถึงคุณสมบัติตามธรรมชาติของความรักฉันสามีภรรยา แต่ยังมีความหมายใหม่ซึ่งไม่เพียงแต่ชำระและทำให้ความรักนี้มั่นคงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้คุณสมบัติเหล่านี้สูงขึ้นจนกลายเป็นการประกาศถึงคุณค่าที่เป็นคุณค่าเฉพาะของคริสตชนด้วย”

ความซื่อสัตย์ของคู่สมรส

CCC ข้อ 2364 คู่สมรสทั้งสองคนร่วมกันสร้าง “การร่วมชีวิตและความรักของสามีภรรยาตามที่พระผู้สร้างทรงตรากฎหมายกำหนดไว้ การร่วมชีวิตเช่นนี้ตั้งอยู่บนพันธสัญญาแห่งการสมรส หรือการแสดงเจตนาของตนโดยไม่มีวันเลิกถอนได้” ทั้งสองคนมอบตนแก่กันอย่างสมบูรณ์ตลอดไป เขาไม่เป็นสองคนอีกต่อไป แต่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน พันธสัญญาที่คู่สมรสทั้งสองคนได้ทำไว้กำหนดข้อบังคับให้เขารักษาไว้เป็นหนึ่งเดียวและไม่อาจลบล้างได้ “สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าแยกเลย” (มก 10:9)   

การหย่าร้าง

CCC ข้อ 2382 พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเน้นย้ำถึงพระประสงค์ของพระผู้เนรมิตสร้างซึ่งทรงประสงค์ให้การสมรสยกเลิกไม่ได้ พระองค์ทรงยกเลิกการยกเว้นที่แทรกเข้ามาในพันธสัญญาเดิม ระหว่างผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้ว “การสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายและสมบูรณ์ด้วยเพศสัมพันธ์ (ratum et consummatum) แล้วไม่มีอำนาจมนุษย์และเหตุผลใดๆ นอกจากความตายอาจลบล้างได้”    


มก 10:11-12  แม้ว่าหลายๆ ประเทศอนุญาตให้หย่าร้างภายใต้กฎหมายบ้านเมืองก็จริง แต่ก็ไม่สามารถล้มล้างสัญญาแห่งการแต่งงานที่ถูกต้องได้ ดังที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนไว้ว่า ผู้ที่แต่งงานแล้ว แต่ได้หย่าร้างตามกฎหมายบ้านเมือง แล้วไปแต่งงานใหม่ (ปราศจากการประกาศเป็นโมฆะตามกฎหมายพระศาสนจักร) เขาก็ทำผิดประเวณี การแต่งงานนั้นยังคงถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้าโดยไม่ขึ้นกับสถานภาพด้านการแต่งงานของบุคคลนั้น และทำให้การแต่งงานที่มาภายหลังเป็นโมฆะเป็นทั้งหมด บรรดาผู้ที่แต่งงานโดยถูกต้องซึ่งรอคอยการแต่งงานใหม่หรือมีความสัมพันธ์ทางเพศกับอีกบุคคลหนึ่งคือผู้ที่ทำบาปหนัก เขาต้องถูกระงับการรับศีลมหาสนิท พระศาสนจักรมองยังบุคคลที่มีความยากลำบากในด้านนี้ด้วยความเมตตาและเชื้อเชิญพวกเขาสู่การกลับใจและรับการอภัยบาปอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดีและอภัยบาป       

ความซื่อสัตย์ของความรักระหว่างสามีภรรยา

CCC ข้อ 1649 ถึงกระนั้น มีสถานการณ์บางอย่างที่คู่สมรสไม่อาจอยู่ด้วยกันได้เพราะสาเหตุต่างๆ ในกรณีเช่นนี้ พระศาสนจักรยอมให้คู่สมรสแยกกันอยู่และเลิกอยู่ด้วยกันได้ คู่สมรสยังไม่เลิกเป็นสามีภรรยากันเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า จึงไม่มีอิสระที่จะแต่งงานใหม่ได้ ในกรณียากลำบากเช่นนี้ การคืนดีกัน ถ้าเป็นไปได้ น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างดีที่สุด ชุมชนคริสตชนจึงรับเชิญให้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้ดำเนินชีวิตแบบคริสตชนในความซื่อสัตย์ต่อพันธะการสมรสที่ยังคงแยกกันไม่ได้อยู่    

CCC ข้อ 1650 ในหลายประเทศ มีคาทอลิกหลายคนที่ไปหย่าร้างตามกฎหมายบ้านเมืองแล้วไปแต่งงานใหม่ตามกฎหมาย เพราะความซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเยซูคริสตเจ้า (“ผู้ใดหย่าร้างภรรยาและแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีต่อภรรยาคนเดิม และถ้าหญิงคนหนึ่งหย่าร้างกับสามีไปแต่งงานกับอีกคนหนึ่ง ก็ทำผิดประเวณีเช่นเดียวกัน” มก 10:11-12) พระศาสนจักรจึงยึดมั่นว่าตนไม่อาจยอมรับว่าการแต่งงานใหม่นี้ถูกต้องมีผลบังคับได้ ถ้าหากว่าการสมรสครั้งแรกถูกต้องแล้ว ถ้าผู้ที่หย่าร้างแล้วไปแต่งงานใหม่ตามกฎหมายบ้านเมือง เขาก็อยู่ในสภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้าโดยแท้จริง ดังนั้น ตราบใดที่เขายังคงอยู่ในสภาพเช่นนี้ เขาจึงไม่อาจเข้าไปรับศีลมหาสนิทได้ เพราะสาเหตุเดียวกัน เขาไม่อาจทำหน้าที่รับผิดชอบบางประการของพระศาสนจักรได้ ผู้ที่จะรับการคืนดีโดยศีลอภัยบาปได้ก็คือผู้ที่เป็นทุกข์เสียใจที่ได้ล่วงละเมิดเครื่องหมายของความซื่อสัตย์ต่อพระคริสตเจ้า และยอมผูกมัดตนเองที่จะดำเนินชีวิตโสดโดยสมบูรณ์เท่านั้น    

CCC ข้อ 1651 เกี่ยวกับคริสตชนที่ดำเนินชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้และบ่อยๆ ปรารถนาจะรักษาความเชื่อและอบรมสั่งสอนบุตรในแบบคริสตชน บรรดาพระสงฆ์และทั้งชุมชนต้องแสดงความเอาใจใสอย่าให้เขารู้สึกว่าตนเป็นเสมือนผู้แยกตนจากพระศาสนจักร ที่เขาในฐานะผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วยังสามารถและต้องมีส่วนร่วมชีวิตด้วย “นอกจากนั้น เขาควรได้รับเตือนในฟังพระวาจาของพระเจ้า ร่วมพิธีบูชามิสซา สวดภาวนาต่อไป ช่วยงานเมตตาจิตและงานที่ชุมชนริเริ่มเพื่อความยุติธรรม อบรมสั่งสอนบุตรในความเชื่อคริสตชน ปลูกฝังเจตนารมณ์และงานชดเชยบาป เพื่อวอนขอพระหรรษทานของพระเจ้าเช่นนี้ทุกๆ วัน”    

การเป็นชู้

CCC ข้อ 2380 การเป็นชู้ การมีชู้ คำนี้หมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ของคู่สมรส เมื่อสองคน ที่อย่างน้อยคนหนึ่งแต่งงานแล้ว มีเพศสัมพันธ์กัน –แม้ไม่เป็นการถาวร– เขาย่อมเป็นชู้กัน พระคริสตเจ้าทรงประณามการเป็นชู้ แม้แต่เพียงปรารถนาจะทำเท่านั้นด้วย พระบัญญัติประการที่หกและพันธสัญญาใหม่ห้ามไม่ให้เป็นชู้กันโดยเด็ดขาด บรรดาประกาศกยังกล่าวถึงความหนักของบาปประการนี้ด้วย ท่านเหล่านี้เห็นว่าการเป็นชู้เป็นภาพของการนับถือรูปเคารพ    


มก 10:13-16  การเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งเกิดจากการจุ่มตัวอย่างลึกซึ้งในชีวิตของพระเจ้า เรียกร้องให้มีการไว้วางใจเยี่ยงเด็ก และการน้อมรับทุกๆ สิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงสอนไว้     

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 699 “มือ” (หรือ “พระหัตถ์”) พระเยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาคนเจ็บป่วย และอวยพระพรเด็กๆ บรรดาอัครสาวกจะทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังประทานพระจิตเจ้าอาศัยการปกมือของบรรดาอัครสาวก จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึง “การปกมือ” ว่าเป็น “คำสอนพื้นฐาน” สำคัญเรื่องหนึ่งของตน พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายนี้ซึ่งแสดงถึงการประทานพลังของพระจิตเจ้าไว้ในพิธี “epiclesis” (= การอัญเชิญพระจิตเจ้า) ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ    

ความจำเป็นของศีลล้างบาป

CCC ข้อ 1261 เกี่ยวกับเด็กทารกที่ตายไปโดยไม่ได้รับศีลล้างบาป พระศาสนจักรไม่อาจทำอะไรได้นอกจากฝากเขาไว้กับพระกรุณาของพระเจ้าเหมือนกับที่ปฏิบัติในพิธีฝังศพสำหรับเด็กเหล่านี้ อันที่จริง พระกรุณายิ่งใหญ่ของพระเจ้า “ผู้มีพระประสงค์ให้ทุกคนได้รับความรอดพ้น” (1 ทธ 2:4) และพระทัยอ่อนโยนของพระเยซูเจ้าต่อเด็กๆ เมื่อตรัสว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย” (มก 10:14) ทำให้เราหวังได้ว่ามีหนทางความรอดพ้นสำหรับเด็กทารกที่ตายไปโดยยังไม่ได้รับศีลล้างบาป ยิ่งกว่านั้น พระศาสนจักรยังเตือนอย่างแข็งขันยิ่งขึ้นไม่ให้ขัดขวางเด็กทารกเข้ามาหาพระคริสตเจ้าอาศัยพระพรแห่งศีลล้างบาป  

  


มก 10:14  ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด : พระศาสนจักรสอนเกี่ยวกับความสำคัญของศีลล้างเด็กอยู่เสมอ สิ่งนี้สะท้อนถึงแนวปฏิบัติของศาสนจักรทางตะวันออก ซึ่งโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการเริ่มต้นคริสตชน (ศีลล้างบาป ศีลกำลัง และศีลมหาสนิท) ให้แก่บรรดาเด็กๆ โดยย้ำพระวาจาที่ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด” ก่อนการรับศีลมหาสนิท ส่วนเรื่องเกี่ยวกับเด็กๆ ที่สิ้นชีวิตก่อนการรับศีลล้างบาปนั้น พระศาสนจักรไม่เคยออกคำประกาศอย่างเด็ดขาด แต่ยืนยันที่จะให้มีความหวังว่าพวกเขาจะได้เข้าสู่สวรรค์ และให้มอบฝากวิญญาณของผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ไว้ในพระเมตตาของพระเจ้า ดังที่เราจะพบได้ในจารีตพิธีฝังศพสำหรับเด็ก      

การอธิบายความหมายขั้นตอนต่างๆ ของพิธีกรรม

CCC ข้อ 1244 การรับศีลมหาสนิทครั้งแรก คริสตชนใหม่ซึ่งเป็นบุตรของพระเจ้าแล้วและสวมเสื้อสำหรับงานมงคลสมรสได้รับอนุญาตให้เข้าไปใน “การเลี้ยงงานสมรสของลูกแกะ” และรับอาหารเลี้ยงชีวิตใหม่ คือพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า บรรดาพระศาสนจักรจารีตตะวันออกยังคงรักษาความสำนึกอย่างชัดเจนถึงเอกภาพของกระบวนการรับคริสตชนใหม่ จึงให้ศีลมหาสนิทแก่ทุกคนที่เพิ่งรับศีลล้างบาปและศีลกำลัง รวมทั้งเด็กทารกด้วย โดยระลึกถึงพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย” (มก 10:14) พระศาสนจักรละตินซึ่งสงวนการรับศีลมหาสนิทไว้สำหรับผู้ถึงอายุรู้ความแล้วเท่านั้นก็ยังแสดงให้เห็นว่าศีลล้างบาปนำไปหาศีลมหาสนิทโดยให้นำทารกที่เพิ่งรับศีลล้างบาปเข้าไปที่พระแท่นบูชาเพื่อสวดภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดา”    

CCC ข้อ 1261อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มก 10:13-16)     

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)