แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 7:36-50)          

เวลานั้น ชาวฟาริสีคนหนึ่งทูลเชิญพระเยซูเจ้าไปเสวยพระกระยาหารกับเขา พระองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของชาวฟาริสีและประทับที่โต๊ะ ในเมืองนั้นมีหญิงคนหนึ่งเป็นคนบาป เมื่อนางรู้ว่า พระเยซูเจ้ากำลังประทับร่วมโต๊ะอยู่ในบ้านของชาวฟาริสี จึงถือขวดหินขาวบรรจุน้ำมันหอมเข้ามาด้วย นางมาอยู่ด้านหลังของพระองค์ใกล้ๆ พระบาท ร้องไห้จนน้ำตาหยดลงเปียกพระบาท นางใช้ผมเช็ดพระบาท จูบพระบาทและใช้น้ำมันหอมชโลมพระบาท

ชาวฟาริสีที่ทูลเชิญพระองค์เห็นดังนี้ก็คิดในใจว่า “ถ้าผู้นี้เป็นประกาศก เขาคงจะรู้ว่าหญิงที่กำลังแตะต้องเขาอยู่นี้เป็นใครและเป็นคนประเภทไหน นางเป็นคนบาป” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ซีโมน เรามีเรื่องจะพูดกับท่าน” เขาตอบว่า “เชิญพูดมาเถิด อาจารย์” พระองค์จึงตรัสว่า “เจ้าหนี้คนหนึ่งมีลูกหนี้อยู่สองคน คนหนึ่งเป็นหนี้อยู่ห้าร้อยเหรียญ อีกคนหนึ่งเป็นหนี้อยู่ห้าสิบเหรียญ ทั้งสองคนไม่มีอะไรจะใช้หนี้ เจ้าหนี้จึงยกหนี้ให้ทั้งหมด ในสองคนนี้ คนไหนจะรักเจ้าหนี้มากกว่ากัน” ซีโมนตอบว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคนที่ได้รับการยกหนี้ให้มากกว่า” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านตัดสินถูกต้องแล้ว”

พระองค์ทรงหันพระพักตร์มาทางหญิงผู้นั้น ตรัสกับซีโมนว่า “ท่านเห็นหญิงผู้นี้ใช่ไหม เราเข้ามาในบ้านของท่าน ท่านไม่ได้เอาน้ำมาล้างเท้าให้เรา แต่นางได้หลั่งน้ำตารดเท้าของเราและใช้ผมเช็ดให้ ท่านไม่ได้จูบคำนับเรา แต่นางจูบเท้าของเราตลอดเวลาตั้งแต่เราเข้ามา ท่านไม่ได้ใช้น้ำมันเจิมศีรษะให้เรา แต่นางใช้น้ำมันหอมชโลมเท้าของเรา เพราะเหตุนี้ เราบอกท่านว่าบาปจำนวนมากของนางได้รับการอภัยแล้วเพราะนางมีความรักมาก ผู้ที่ได้รับการอภัยน้อยก็ย่อมมีความรักน้อย” แล้วพระองค์ตรัสกับนางว่า “บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” บรรดาผู้ร่วมโต๊ะจึงเริ่มพูดกันว่า “คนนี้เป็นใคร จึงทำได้แม้แต่การอภัยบาป” พระองค์ตรัสกับหญิงนั้นว่า “ความเชื่อของเจ้าช่วยเจ้าให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุขเถิด” 


ลก 7:36-50  ถึงแม้หญิงผู้นี้ได้ทำบาปมากมาย แต่หญิงผู้มาพร้อมน้ำมันหอมนี้ก็สมควรได้รับการยกย่อง เพราะการกระทำด้วยความรักของเธอนั้นมากกว่าของซีโมนและชาวฟาริสี ซึ่งเป็นเจ้าภาพอาหารค่ำที่บกพร่องในการเตรียมต้อนรับพระคริสตเจ้าตามธรรมเนียมพื้นฐานในเวลานั้น เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อแท้จริงนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากการกลับใจและกิจเมตตา ความรักและความเชื่อของหญิงคนนี้ทำให้นางได้รับการอภัย ความรักของนางช่างยิ่งใหญ่จนทำให้นางได้รับการอภัยบาปจากพระคริสตเจ้า การกลับใจอย่างลึกซึ้งนี้จึงเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการเริ่มต้นชีวิตแห่งการภาวนาที่ลึกซึ้ง

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองคทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่น คำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่า ความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป อย่างคุ้นเคยเชน่ เดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรมแต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด

พระเจ้าเท่านั้นทรงอภัยบาป

CCC ข้อ 1441 พระเจ้าเท่านั้นทรงอภัยบาปได้ พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์จึงตรัสถึงพระองค์เองว่า “บุตรแห่งมนุษย์มีอำนาจอภัยบาปได้บนแผ่นดิน” (มก 2:10) และทรงใช้อำนาจนี้ของพระเจ้า “บาปของท่านได้รับการอภัยแล้ว” (มก 2:5) ยิ่งกว่านั้น พระองค์เองทรงใช้อำนาจพระเจ้าของพระองค์ ประทานอำนาจนี้แก่มนุษย์ เพื่อจะได้ใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระองค์

พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาของเรา

CCC ข้อ 2616 พระเยซูเจ้าทรงรับฟังการอธิษฐานภาวนาต่อพระองค์แล้วตั้งแต่ในเวลาที่ทรงเทศน์สอนประชาชนผ่านทางเครื่องหมายที่เกริ่นล่วงหน้าแล้วถึงอานุภาพของการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานภาวนาด้วยความเชื่อที่แสดงออกด้วยคำพูด (จากคนโรคเรื้อน จากไยรัส จากหญิงชาวคานาอัน จากโจรกลับใจ) หรือที่แสดงออกเงียบๆ (จากคนที่แบกคนอัมพาตเข้ามา จากหญิงตกเลือดที่มาสัมผัสฉลองพระองค์ด้วยน้ำตาและเครื่องหอมของหญิงคนบาป) การพร่ำขอของคนตาบอดว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิดโปรดเมตตาเราเถิด” (มธ 9:27) หรือ “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” (มก 10:47) ซึ่งจะถูกรับไว้ในธรรมประเพณีต่อมาที่เรียกว่า การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า คือวลีว่า “ข้าแต่พระเยซู ข้าแต่พระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า พระเจ้าข้า โปรดทรงพระเมตตาต่อข้าพเจ้าคนบาปด้วยเถิด” พระเยซูเจ้าทรงตอบการอธิษฐานภาวนาที่อ้อนวอนพระองค์ด้วยความเชื่อเสมอ โดยทรงรักษาโรคหรือประทานอภัยบาป “จงไปเป็นสุขเถิดความเชื่อของลูกช่วยลูกให้รอดพ้นแล้ว” นักบุญออกัสตินสรุปสามมิติของการอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าไว้อย่างน่าฟังว่า “พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาเพื่อเราในฐานะพระสงฆ์ของเรา ทรงอธิษฐานภาวนาในตัวเรา ในฐานะที่ทรงเป็นศีรษะของเรา ทรงรับคำอธิษฐานภาวนาจากเรา ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าของเรา ดังนั้น เราจงยอมรับเสียงของเราในพระองค์ และเสียงของพระองค์ในเรา”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)