วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 8:27-35)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิป ขณะทรงพระดำเนิน พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง” พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด
พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ” พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทาน แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลังเรา อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”
พระเยซูเจ้าทรงเรียกประชาชนและบรรดาศิษย์เข้ามา ตรัสว่า “ถ้าผู้ใดอยากติดตามเรา ก็ให้เขาเลิกนึกถึงตนเอง ให้แบกไม้กางเขนของตน และติดตามเรา ผู้ใดใคร่รักษาชีวิตของตนให้รอดพ้น จะต้องสูญเสียชีวิตนั้น แต่ถ้าผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดี ก็จะรักษาชีวิตได้
มก 8:27-30 คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร : นี่เป็นคำถามพื้นฐานสำหรับทุกคน ถ้าพระคริสตเจ้าทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าแล้ว คำสอนของพระองค์ย่อมเปิดเผยความจริงของพระเจ้า ความตายและการกลับคืนชีพของพระองค์ประทานการไถ่กู้ให้รอดพ้น ในที่นี้คำถามถึงอัตลักษณ์ของพระองค์ได้รับคำตอบจากการประกาศยืนยันโดยนักบุญเปโตรว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระคริสต์” เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตว่านักบุญเปโตรไม่เป็นเพียงอีกเสียงหนึ่งที่แสดงความเห็นถึงพระองค์เท่านั้น แต่ท่านประกาศยืนยันความเชื่อที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้าด้วย
มก 8:31-37 เมื่อบรรดาอัครสาวกรับรู้แล้วว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ พระบุตรพระเจ้า พระองค์ทรงเริ่มอธิบายให้พวกเขาทราบว่า พระองค์จะต้องถูกจับกุมและทนทุกข์ทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ นักบุญเปโตรซึ่งก่อนหน้านี้ได้ประกาศยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์กลับเป็นคนแรกที่คัดค้าน จึงได้รับคำตำหนิอย่างรุนแรง บรรดาศิษย์พบว่าความตายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะต้องมาถึงนั้นเป็นเรื่องยากที่จะรับได้ เพราะความทุกข์ทรมานและความอัปยศมากมายเช่นนั้นที่จะต้องเกิดขึ้น
CCC ข้อ 557 “เวลาที่พระเยซูเจ้าจะต้องทรงจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่จะเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม” (ลก 9:51) การตัดสินพระทัยเช่นนี้แสดงว่าทรงพร้อมจะเสด็จขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสิ้นพระชนม์ที่นั่น พระองค์ทรงแจ้งเรื่องพระทรมานและการกลับคืนพระชนมชีพถึงสามครั้ง ขณะที่กำลังทรงพระดำเนินไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์ตรัสว่า “ประกาศกจะตายนอกกรุงเยรูซาเล็มไม่ได้” (ลก 13:33)
พระเยซูคริสตเจ้า “ทรงรับทรมานสมัยปอนทิอัสปีลาตทรงถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ และทรงถูกฝังไว้”
CCC ข้อ 572 พระศาสนจักรยังคงซื่อสัตย์ต่อการอธิบายความหมายพระคัมภีร์ทั้งหมดเหมือนกับที่พระเยซูเจ้าเคยทรงอธิบายทั้งก่อนและหลังจากปัสกาของพระองค์ “พระคริสตเจ้าจำเป็นต้องทนทรมานเช่นนี้ เพื่อจะเข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์มิใช่หรือ” (ลก 24:26) พระทรมานของพระเยซูเจ้าได้รับรูปแบบดังที่ได้เกิดขึ้นก็เพราะว่าทรงถูก “บรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ” (มก 8:31) คนเหล่านี้ “มอบพระองค์ให้คนต่างชาติสบประมาท เยาะเย้ย โบยตีและนำไปตรึงกางเขน” (มธ 20:19)
การกลับคืนพระชนมชีพ – เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ
CCC ข้อ 649 พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่า บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (1 ธส 4:14)
มก 8:31 พระคริสตเจ้าทรงทราบว่าพันธกิจการไถ่กู้ของพระองค์เกี่ยวโยงกับพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระองค์
พระวิญญาณและความรู้เยี่ยงมนุษย์ของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 474 ความรู้แบบมนุษย์ของพระคริสตเจ้า จากความสัมพันธ์ที่ทรงมีกับพระปรีชาญาณของพระเจ้าในพระบุคคลของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ ยังอาจเข้าใจพระประสงค์นิรันดรของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ และเสด็จมาเพื่อเปิดเผยพระประสงค์เหล่านี้ ในเรื่องเหล่านี้ถ้าพระองค์ทรงบอกว่าไม่ทรงทราบ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงประกาศว่าไม่ทรงมีพันธกิจให้เปิดเผยเรื่องนี้ให้เรารู้
มก 8:33 ในการพยายามคัดค้านพระคริสตเจ้าเรื่องการแบกกางเขนนั้น เปโตรมิได้กระทำด้วยเจตจำนงเดียวกับซาตานที่ประจญพระองค์ในที่เปลี่ยว (เทียบ มธ 4:1-11) มารปีศาจได้ประจญพระองค์ให้หลีกเลี่ยงการสละชีวิตซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการชดเชยบาปและเพื่อลบล้างความเป็นทาสที่ปีศาจมีอิทธิพลต่อโลก
คำนิยามของบาป
CCC ข้อ 1851 โดยเฉพาะในพระทรมาน เมื่อพระเมตตาของพระคริสตเจ้ากำลังจะมีชัยชนะอยู่นั้น บาปก็สำแดงความรุนแรงและความหลายหลากของมันออกมาอย่างชัดเจนที่สุด ได้แก่ความไม่เชื่อ ความอาฆาตเกลียดชัง การไม่ยอมรับและด่าทอของบรรดาผู้นำและประชาชน ความอ่อนแอของปีลาต ความโหดร้ายของบรรดาทหาร การทรยศของยูดาส –ซึ่งขมขื่นอย่างยิ่งสำหรับพระเยซูเจ้า– การปฏิเสธของเปโตรและการทอดทิ้งของบรรดาศิษย์ ถึงกระนั้น ในเวลาแห่งความมืดและของเจ้านายแห่งโลกนี้ การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าก็กลายเป็นเสมือนพุน้ำอย่างลึกลับที่หลั่งการอภัยบาปของเราออกมาโดยไม่มีวันเหือดแห้ง
มก 8:34-35 ให้แบกไม้กางเขนของตน : พระคริสตเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของเราแม้ในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนกางเขนด้วย การเป็นศิษย์แท้ของพระคริสต์หมายความว่า การสมัครใจรับการปฏิเสธ การเบียดเบียนทุกชนิด และแม้แต่ความตายเพื่อพระองค์ ผู้ใด... ก็จะรักษาชีวิตได้ : พระคริสตเจ้าทรงขอให้บรรดาผู้ติดตามพระองค์สละชีวิตของตน ในความหวังที่จะบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ถึงความชื่นชมยินดีและสันติสุขของพวกเขาเอง
ทำไมพระวจนาตถ์จึงทรงรับสภาพมนุษย์
CCC ข้อ 459 พระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์เพื่อทรงเป็นตัวอย่างความศักดิ์สิทธิ์ให้เรา “จงรับแอกของเราแบกไว้ และมาเป็นศิษย์ของเรา...” (มธ 11:29) “เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต ไม่มีใครไปเฝ้าพระบิดาได้นอกจากผ่านทางเรา” (ยน 14:6) พระบิดาทรงบัญชาเมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาว่า “จงฟังท่านเถิด” (มก 9:7) พระเยซูเจ้าทรงเป็นตัวอย่างความสุขแท้และแนวปฏิบัติของบัญญัติใหม่ “ท่านทั้งหลายจงรักกันเหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15 :12) ความรักนี้รวมถึงการถวายตัวเราตามแบบฉบับของพระองค์
การสมรสในองค์พระผู้เป็นเจ้า
CCC ข้อ 1615 การกล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่าพันธะการสมรสไม่มีวันจะลบล้างได้นั้น อาจทำให้หลายคนมีความข้องใจและเห็นว่าการเรียกร้องเช่นนี้แทบจะปฏิบัติไม่ได้ ถึงกระนั้นพระเยซูเจ้าก็มิได้ทรงกำหนดให้คู่สมรสต้องแบกภาระหนักเกินกำลังจนแบกไม่ไหว หนักกว่าธรรมบัญญัติของโมเสส พระองค์เสด็จมาเพื่อทรงรื้อฟื้นระเบียบของการเนรมิตสร้างตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้ถูกบาปรบกวน พระองค์จึงประทานกำลังและพระหรรษทานเพื่อดำเนินชีวิตการสมรสตามมาตรการใหม่ของพระอาณาจักรของพระเจ้า สามีภรรยาที่ดำเนินชีวิตตามพระคริสตเจ้า สละตนเอง แบกไม้กางเขนของตน จะสามารถ “เข้าใจ” ความหมายดั้งเดิมของการสมรสและดำเนินชีวิตตามความหมายนี้ได้อาศัยความช่วยเหลือของพระคริสตเจ้า พระหรรษทานของการสมรสแบบคริสตชนนี้เป็นผลจากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของชีวิตคริสตชนทั้งหมด
ชื่อนักบุญองค์อุปถัมภ์ของคริสตชน (Christian name)
CCC ข้อ 2157 คริสตชนมักเริ่มวันใหม่ เริ่มการอธิษฐานภาวนาและการทำกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน” ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วย่อมถวายวันของตนแด่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าและอัญเชิญพระหรรษทานของพระผู้ไถ่ให้มาช่วยเขาในฐานะบุตรของพระบิดาให้ทำกิจการในพระจิตเจ้า เครื่องหมายกางเขนยังทำให้เรามีกำลังต่อสู้ในการประจญและความยากลำบากต่าง ๆ
สรุป-นามของตนในพระศาสนจักร
CCC ข้อ 2166 คริสตชนย่อมเริ่มการอธิษฐานภาวนาและกิจการงานของตนด้วยเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน”
การมีจิตใจยากจน
CCC ข้อ 2544 พระเยซูเจ้าทรงสั่งบรรดาศิษย์ให้ถือว่าพระองค์สำคัญมากกว่าทุกสิ่งและทุกคน และยังทรงเสนอให้เขาสละทุกสิ่งที่ตนมีเพราะพระองค์และเพราะข่าวดี ไม่นานก่อนที่จะทรงรับทรมาน พระองค์ทรงเสนอหญิงม่ายชาวกรุงเยรูซาเล็มให้เป็นตัวอย่างแก่เขา หญิงม่ายผู้นี้ ทั้งๆ ที่ขัดสน ได้ให้ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับเลี้ยงชีพมาทำทาน บัญญัติให้มีใจเป็นอิสระไม่ผูกพันกับทรัพย์สมบัติเป็นข้อบังคับที่จำเป็นเพื่อจะเข้าในอาณาจักรสวรรค์ได้
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)