แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 14 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:1-6)                                           

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นกลับไปยังถิ่นกำเนิดของพระองค์ บรรดาศิษย์ติดตามไปด้วย ครั้นถึงวันสับบาโตพระองค์ทรงเริ่มสั่งสอนในศาลาธรรม ผู้ฟังมากมายต่างประหลาดใจ และพูดว่า “เขาเอาเรื่องทั้งหมดนี้มาจากไหน ปรีชาญาณที่เขาได้รับมานี้คืออะไร อะไรคืออัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยมือของเขา คนนี้เป็นช่างไม้ ลูกนางมารีย์ เป็นพี่น้องของยากอบ โยเสท ยูดาและซีโมนไม่ใช่หรือ พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรามิใช่หรือ” คนเหล่านั้นรู้สึกสะดุดใจและไม่ยอมรับพระองค์ พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ประกาศกย่อมไม่ถูกเหยียดหยามนอกจากในถิ่นกำเนิด ท่ามกลางวงศ์ญาติ และในบ้านของตน” พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้ นอกจากทรงปกพระหัตถ์รักษาผู้เจ็บป่วยบางคนให้หายจากโรคภัย พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่เขาเหล่านั้นไม่มีความเชื่อ 


มก 6:1-6 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระคริสตเจ้าทรงถูกปฏิเสธเมื่อพระองค์เสด็จกลับไปเมืองนาซาเร็ธ ผู้คนในเมืองต่างรู้จักพระองค์ว่า เป็นคนธรรมดาของเมืองนั้น มีอาชีพเป็นช่างไม้ พวกเขายังไม่พร้อมที่จะยอมรับพระองค์ในฐานะอาจารย์หรือรับบี จนกระทั่งถึงเวลาที่พระองค์ทรงเริ่มต้นพันธกิจสาธารณะ เมื่อทรงมีพระชนมายุสามสิบปี พระคริสตเจ้าทรงดำเนินชีวิตแบบส่วนตัวและเรียบง่าย ซึ่งพระคัมภีร์ได้กล่าวสรุปไว้โดยย่อ (เทียบ ลก 2:52) เราสามารถคาดเดาได้ว่าพระคริสตเจ้าทรงทำงานหนักในอาชีพของพระองค์ที่เมืองนาซาเร็ธในระหว่างช่วงชีวิต “ ปีที่ซ่อนเร้น” ของพระองค์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงคุณค่าของการมุ่งหาความศักดิ์สิทธิ์ ผ่านทางการทำงานและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา 

พระธรรมล้ำลึกพระชนมชีพซ่อนเร้นของพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 531 ตลอดเวลาส่วนใหญ่ในพระชนมชีพของพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพในสภาพแวดล้อมคล้ายกับมนุษย์ส่วนมาก ทรงทำงานที่ต้องออกแรงเหมือนคนทั่วไป ทรงอยู่ใต้ธรรมบัญญัติทางศาสนาของชาวยิว ทรงดำเนินพระชนมชีพในชุมชน ตลอดช่วงเวลานี้ พระวรสารบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังบิดามารดา และ “ทรงเจริญขึ้นทั้งในพระปรีชาญาณ พระชนมายุและพระหรรษทานเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าและต่อหน้ามนุษย์” (ลก 2:52)

CCC ข้อ 532 การที่พระเยซูเจ้าทรงเชื่อฟังพระมารดาและบิดาเลี้ยงของพระองค์เป็นการปฏิบัติตามพระบัญญัติประการที่สี่อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพในกาลเวลาของความเชื่อฟังอย่าง พระบุตรที่ทรงมีต่อพระบิดาในสวรรค์ของพระองค์ ความเชื่อฟังประจำวันที่ทรงมีต่อโยเซฟและพระนางมารีย์เป็นการบอกล่วงหน้าถึงการเชื่อฟังและเกริ่นถึงคำอธิษฐานภาวนาของพระองค์ในสวนเกทเสมนี “อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า...” (ลก 22:42) การเชื่อฟังของพระคริสตเจ้าในชีวิตประจำวันแห่งพระชนมชีพซ่อนเร้นได้เริ่มงานปฏิรูปฟื้นฟูแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่ความไม่เชื่อฟังของอาดัมได้ทำลายล้างไปแล้วขึ้นใหม่

CCC ข้อ533 พระชนมชีพซ่อนเร้นที่เมืองนาซาเร็ธช่วยมนุษย์ทุกคนให้มีส่วนร่วมชีวิตกับพระคริสตเจ้าโดยเฉพาะด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างธรรมดา “บ้านนาซาเร็ธเป็นเหมือนโรงเรียนที่เราเริ่มรู้จักพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า – คือเป็นโรงเรียนแห่งพระวรสาร […] ก่อนอื่นใด โรงเรียนแห่งนี้สอน ความเงียบ ขอให้เรารู้จักคุณค่าของความเงียบซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในชีวิต […] ที่นี่เรายังเรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิต บ้านนาซาเร็ธสอนเราให้รู้ว่าครอบครัวคืออะไร สอนให้สมาชิกในครอบครัวรู้จักรักกัน รู้จักความงดงามที่หนักแน่นแท้จริง รวมทั้งคุณสมบัติศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้ […] ที่นี่ในที่สุด เรายังเรียนรู้การทำงานและระเบียบวินัย บ้านนาซาเร็ธที่รัก บ้านของ “บุตรช่างไม้” ณ ที่นี้ข้าพเจ้าปรารถนาจะเข้าใจและเฉลิมฉลองกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้มนุษย์ต้องทำงาน กฎเกณฑ์นี้แม้จะเคร่งครัด แต่ก็นำความรอดพ้นมาให้โลก […] ณ ที่นี้ ในที่สุด ข้าพเจ้าต้องการแจ้งข่าวความรอดพ้นแก่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลก และแสดงให้ทุกคนแลเห็นว่า พระเยซู พระเจ้าผู้เป็นพี่ชายของท่าน เป็นแบบฉบับยิ่งใหญ่ในการทำงาน”

CCC ข้อ534 การพบพระเยซูเจ้าในพระวิหาร เป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่ทำลายความเงียบของพระวรสารเกี่ยวกับช่วงเวลาพระชนมชีพซ่อนเร้นของพระเยซูเจ้า ในเรื่องนี้พระเยซูเจ้าทรงอนุญาตให้เราแลเห็นพระธรรมล้ำลึกของการที่ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้าและทรงถวายพระองค์อย่างสมบูรณ์ต่อพันธกิจที่ทรงรับมาจากพระบิดา “พ่อแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในบ้านของพระบิดาของลูก”โยเซฟพร้อมกับพระนางมารีย์ “ไม่เข้าใจ” ที่พระองค์ตรัส แต่ก็ยอมรับพระวาจานี้ด้วยความเชื่อ และพระนางมารีย์ “ทรงเก็บเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ไว้ในพระทัย” ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินพระชนมชีพซ่อนเร้นอย่างเงียบๆ ตามปรกติเหมือนคนทั่วไป


มก 6:3 คนนี้เป็นช่างไม้ไม่ใช่หรือ : นี่เป็นการอ้างอิงเดียวในพระวรสารที่กล่าวถึงอาชีพของพระคริสตเจ้า เป็นการช่วยตอกย้ำว่าพระองค์ทรงใช้ชีวิตธรรมดาสามัญที่เมืองนาซาเร็ธ  ลูกนางมารีย์ : ไม่ชัดเจนว่า ณ ตอนนั้นโยเซฟได้เสียชีวิตไปแล้วหรือไม่  พี่น้อง : หมายถึงใครก็ได้ที่เป็นญาติผู้ชาย (เทียบ มธ 12: 46–50; มก 3: 31-35); ในอีกบริบทหนึ่งมีระบุว่ายากอบและโยเซฟเป็นบุตรชายของหญิงอีกคนหนึ่งที่ชื่อ มารีย์ (เทียบ มธ 13:55; 28:1)

พระนางมารีย์ “ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ”

CCC ข้อ 500 บางครั้งมีผู้แย้งคำสอนนี้โดยอ้างว่าพระคัมภีร์กล่าวถึง “พี่น้องชายหญิง” ของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรเข้าใจเสมอมาว่าข้อความเหล่านี้มิได้หมายถึงบุตรคนอื่นของพระนางพรหมจารีมารีย์ จริงแล้ว ยากอบและโยเซฟ “พี่น้อง” ของพระเยซูเจ้า (มธ 13:55) นี้เป็นบุตรของมารีย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งมัทธิวกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 28:1) ข้อความเหล่านี้จึงหมายถึงญาติใกล้ชิดตามสำนวนที่ใช้และรู้จักกันดีในพันธสัญญาเดิม


มก 6:5-6 การภาวนาที่เกิดผลเรียกร้องให้มีความเชื่อและความไว้วางใจในพระเจ้า บ่อยครั้งพระคริสตเจ้าทรงตำหนิบรรดาอัครสาวกของพระองค์เมื่อพวกเขาขาดความเชื่อ  ปกพระหัตถ์ : พระคริสตเจ้าทรงรักษาผู้คนโดยการสัมผัสพวกเขาด้วยพระหัตถ์ของพระองค์อยู่บ่อยครั้ง การปกพระหัตถ์บ่งบอกถึงการทำงานของพระจิตเจ้า และยังคงเป็นเครื่องหมายอันทรงอานุภาพที่ใช้ในพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน

สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 699 “มือ” (หรือ “พระหัตถ์”) พระเยซูเจ้าทรงปกพระหัตถ์รักษาคนเจ็บป่วย และอวยพระพรเด็กๆ บรรดาอัครสาวกจะทำเช่นเดียวกันในพระนามของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น พระเจ้ายังประทานพระจิตเจ้าอาศัยการปกมือของบรรดาอัครสาวก จดหมายถึงชาวฮีบรูกล่าวถึง “การปกมือ” ว่าเป็น “คำสอนพื้นฐาน” สำคัญเรื่องหนึ่งของตน พระศาสนจักรยังรักษาเครื่องหมายนี้ซึ่งแสดงถึงการประทานพลังของพระจิตเจ้าไว้ในพิธี “epiclesis” (= การอัญเชิญพระจิตเจ้า) ของศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ 

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2610 เช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงอธิษฐานภาวนาและขอบพระคุณพระบิดาก่อนที่จะได้รับของประทานจากพระองค์ พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีความกล้าเยี่ยงบุตร “ทุกสิ่งที่ท่านวอนขอในการอธิษฐานภาวนา จงเชื่อว่าท่านจะได้รับ และท่านก็จะได้รับ” (มก 11:24) พลังของการอธิษฐานภาวนาเป็นเช่นนี้ “ทุกสิ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นสำหรับผู้มีความเชื่อ” (มก 9:23) ความเชื่อที่ไม่สงสัย พระเยซูเจ้าทรงเศร้าพระทัยที่บรรดาพระประยูรญาติของพระองค์ “ไม่มีความเชื่อ” (มก 6:6) และเพราะความเชื่อที่น้อยเกินไปของบรรดาศิษย์ จนทรงประหลาดพระทัยเมื่อทรงเห็นความเชื่อของนายร้อยชาวโรมัน และของหญิงชาวคานาอัน

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)