วันอาทิตย์ สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล อัครสาวก
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 16:13-19)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเขตเมืองซีซารียาแห่งฟีลิปและตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายกล่าวว่าบุตรแห่งมนุษย์เป็นใคร” เขาทูลตอบว่า “บ้างกล่าวว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างกล่าวว่าเป็นประกาศกเยเรมีย์หรือประกาศกองค์ใดองค์หนึ่ง”
พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านล่ะคิดว่าเราเป็นใคร” ซีโมน เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านเป็นสุขเพราะไม่ใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลาและบนศิลานี้ เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย”
มธ 16 : 16-17 ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว ซีโมนเปโตรเป็นคนแรกในบรรดาอัครสาวกที่ได้กล่าวยืนยันว่า พระเยซูเจ้าคือพระเมสซียาห์ พระบุตรของพระเจ้า ผู้ทรงชีวิต นี่คือความจริงสำคัญของความเชื่อซึ่งพระบิดาทรงเปิดเผยให้แก่ท่านโดยทางพระจิตเจ้า
พระเจ้าทรงพบกับมนุษย์
CCC ข้อ 50 มนุษย์ที่ใช้เหตุผลตามธรรมชาติ อาจรู้จักพระเจ้าได้อย่างมั่นใจโดยเริ่มจากผลงานต่างๆ ของพระองค์ แต่ก็ยังมีวิธีอื่นที่จะรู้จักพระเจ้าได้อีก วิธีการนี้มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้เลยอาศัยพลังความสามารถของตนเท่านั้น วิธีการเช่นนี้ได้แก่ การเปิดเผยของพระเจ้า พระเจ้าทรงตัดสินพระทัยโดยอิสระที่จะทรงเปิดเผยและประทานพระองค์แก่มนุษย์ พระองค์ทรงทำเช่นนี้โดยทรงเปิดเผยพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ ทรงมีแผนการแสดงพระทัยดีมาตั้งแต่นิรันดรในพระคริสตเจ้าสำหรับมวลมนุษย์ ทรงเปิดเผยแผนการนี้อย่างสมบูรณ์เมื่อทรงส่งพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พระบุตรสุดที่รัก และพระจิตเจ้ามาให้เรา
ความเชื่อเป็นพระหรรษทานประการหนึ่ง
CCC ข้อ 153 เมื่อนักบุญเปโตรประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตพระเยซูเจ้าทรงบอกเขาว่าเขามีความรู้นี้ไม่ใช่จากมนุษย์ แต่จากพระบิดาของพระองค์ “ผู้สถิตในสวรรค์” (มธ 16:17) ความเชื่อเป็นของประทานจากพระเจ้า เป็นคุณธรรมเหนือธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้ “เราจะแสดงความเชื่อเช่นนี้ได้ก็จำเป็นต้องมีพระหรรษทานของพระเจ้านำหน้าคอยช่วยเหลือ และมีพระจิตเจ้าคอยอนุเคราะห์อยู่ภายใน พระจิตเจ้าทรงเร้าจิตใจและทรงโน้มน้าวให้หันกลับมาหาพระเจ้า ทรงเปิดนัยน์ตาของสติปัญญาและประทาน “ให้กับทุกคนซึ่งความยินดีที่จะยอมรับความจริงและเชื่อความจริงนั้น”
พระเจ้าทรงเนรมิตสร้าง “จากความว่างเปล่า” (ex nihilo)
CCC ข้อ 298 เนื่องจากพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างได้จากความว่างเปล่า พระองค์ก็ประทานชีวิตวิญญาณให้แก่คนบาปอาศัยพระจิตเจ้าและทรงเนรมิตสร้างใจบริสุทธิ์แก่เขาได้ และยังประทานชีวิตร่างกายแก่ผู้ล่วงลับอาศัยการกลับคืนชีพ พระองค์ “ทรงเป็นผู้นำคนตายให้คืนชีพ และทรงทำให้สิ่งที่ยังไม่มีภาวะความเป็นอยู่ได้มีภาวะความเป็นอยู่” (รม 4:17) และเพราะอาศัยพระวาจาพระองค์ทรงทำให้แสงสว่างส่องในความมืดได้ พระองค์ยังประทานแสงสว่างแห่งความเชื่อแก่ผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ได้อีกด้วย
ข่าวดี – พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์
CCC ข้อ 424 เราได้รับพลังผลักดันของพระจิตเจ้าและพลังดึงดูดจากพระบิดา จึงเชื่อและประกาศความเชื่อถึงพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) และบนความเชื่อเช่นนี้ของเปโตร ซึ่งเป็นเสมือนศิลา พระคริสตเจ้าทรงสถาปนาพระศาสนจักรของพระองค์
พระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 440 พระเยซูเจ้าทรงรับการประกาศแสดงความเชื่อของเปโตรซึ่งยอมรับพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ พร้อมกับทรงแจ้งถึงพระทรมานที่กำลังจะมาถึงของ “บุตรแห่งมนุษย์” พร้อมกันนั้นยังทรงเปิดเผยความหมายแท้จริงของการทรงเป็นกษัตริย์-พระเมสสิยาห์อีกด้วยว่าทรงเป็น “บุตรแห่งมนุษย์” โลกุตระผู้ซึ่ง “ลงมาจากสวรรค์” (ยน 3:13) และในพันธกิจการกอบกู้ยังทรงเป็นผู้รับใช้ผู้รับทรมาน “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” (มธ 20:28) เพราะเหตุนี้ ความหมายแท้จริงของการเป็นกษัตริย์ของพระองค์จึงปรากฏชัดเจนเมื่อจะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้นเปโตรจะประกาศให้ประชากรรู้ได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์ “ขอให้เผ่าพันธุ์อิสราเอลทั้งมวลรู้แน่เถิดว่าพระเจ้าทรงแต่งตั้งพระเยซูผู้นี้ที่ท่านทั้งหลายนำไปตรึงบนไม้กางเขนให้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระคริสตเจ้า” (กจ 2:36)
พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
CCC ข้อ 441 “บุตรของพระเจ้า” ในพันธสัญญาเดิม เป็นตำแหน่งที่ให้แก่ทูตสวรรค์ แก่ประชากรที่ทรงเลือกสรร แก่บรรดาบุตรของอิสราเอล และกษัตริย์ของเขา คำว่า “บุตรของพระเจ้า” นี้จึงหมายถึง “การเป็นบุตรบุญธรรม” ที่พระเจ้าทรงตั้งไว้เป็นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพระองค์กับสิ่งสร้าง เมื่อ “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” นามนี้จึงไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ผู้นี้ตามความหมายตามตัวอักษรของคำ มีธรรมชาติเหนือมนุษย์ ประชาชนที่เรียกพระเยซูเจ้า “พระเมสสิยาห์ของอิสราเอล” ว่า “บุตรของพระเจ้า” จึงอาจไม่ต้องการบอกอะไรมากกว่านี้
CCC ข้อ 442 แต่นี่ไม่ใช่ในกรณีของเปโตรที่ประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” เพราะพระเยซูเจ้าทรงตอบเขาอย่างสง่าว่า “มิใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย” (มธ 16:17) เปาโลก็จะกล่าวเช่นเดียวกันถึงการกลับใจของตนขณะที่กำลังเดินทางไปยังกรุงดามัสกัสว่า “พระเจ้าผู้ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทรงเรียกข้าพเจ้าเดชะพระหรรษทานของพระองค์ และพอพระทัยที่จะแสดงพระบุตรของพระองค์ในตัวข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศข่าวดีถึงพระบุตรแก่บรรดาคนต่างศาสนา...” (กท 1:15-16) “เขาเทศน์สอนในศาลาธรรมทันที ประกาศว่า พระเยซูเจ้าพระองค์นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กจ 9:20) ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว การรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าจะเป็นหัวใจของความเชื่อที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก ซึ่งเปโตรได้ประกาศเป็นรากฐานของพระศาสนจักร
มธ 16 : 18 พระคริสตเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อของซีโมน โดยประทานนามใหม่ว่า เปโตร แปลว่า “ศิลา” และทรงสถาปนาท่านให้เป็นดั่งศิลา พระองค์จะทรงตั้งพระศาสนจักรไว้บนศิลานี้ เปโตรเป็นคนโดดเด่นที่สุดในบรรดาอัครสาวก 12 องค์ และได้รับพันธกิจพิเศษกว่าใครๆ ท่านมีหน้าที่ปกป้องคำสอนเที่ยงแท้ของพระคริสตเจ้า ทำหน้าที่เป็นดังจุดศูนย์รวมของความเป็นหนึ่งเดียว เป็นนายชุมพาของบรรดาอัครสาวกและพระศาสนจักรทั้งครบ การเรียกแบบพิเศษของเปโตรนี้คือจุดเริ่มต้นของศาสนบริการเปโตร ซึ่งก็คือ สันตะสำนัก ที่สืบทอดตำแหน่งบิชอปแห่งกรุงโรมต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ธรรมาสน์คือสัญลักษณ์แห่งอำนาจของบิชอปในสังฆมณฑลของพระองค์
“กุญแจพระอาณาจักร”
CCC ข้อ 552 ในกลุ่มชายทั้งสิบสองคนนี้ ซีโมนเปโตรมีตำแหน่งเป็นที่หนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงมอบพันธกิจพิเศษให้เขา เปโตรได้รับการเปิดเผยจากพระบิดาประกาศว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16) องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงประกาศแก่เขาว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้” (มธ 16:18) พระคริสตเจ้า “ศิลาทรงชีวิต” ทรงยืนยันว่าพระศาสนจักรที่ทรงตั้งไว้บนเปโตรผู้เป็นดังศิลาจะมีชัยชนะเหนืออำนาจของความตาย เพราะความเชื่อที่เขาได้ประกาศ เปโตรจะคงเป็นหินผาที่ไม่มีวันสั่นคลอนของพระศาสนจักร เขาจะมีพันธกิจรักษาความเชื่อนี้ไว้ไม่ให้ลดลงเลย แต่จะช่วยค้ำจุนพี่น้องไว้ในความเชื่อนี้ตลอดไป
CCC ข้อ 553 พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจพิเศษแก่เปโตร “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “อำนาจถือกุญแจ” หมายถึงอำนาจดูแลบ้านของพระเจ้า คือพระศาสนจักรพระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11) ทรงยืนยันถึงบทบาทนี้หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-17) อำนาจ “ผูกและแก้” จึงหมายถึงอำนาจที่จะอภัยบาป ที่จะตัดสินเรื่องคำสอนและระเบียบการปกครองในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจนี้ให้แก่พระศาสนจักรผ่านทางการปฏิบัติงานของบรรดาอัครสาวก และโดยเฉพาะของเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ทรงเจาะจงมอบกุญแจพระอาณาจักรให้
“พระธรรมล้ำลึกศักดิ์สิทธิ์เรื่องเอกภาพของพระศาสนจักร”
CCC ข้อ 816 “นี่คือพระศาสนจักรหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า […] ซึ่งพระผู้ไถ่ของเราเมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ทรงมอบให้เปโตรเป็นผู้อภิบาลดูแล ทรงมอบให้ท่านและอัครสาวกคนอื่นๆ เป็นผู้เผยแผ่และปกครองดูแล […] พระศาสนจักรซึ่งถูกสถาปนาจัดให้เป็นสังคมที่มีระเบียบนี้ยังคงอยู่ในพระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งมีผู้สืบตำแหน่งจากเปโตรและบรรดาพระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์ กับท่านเป็นผู้ปกครองดูแล” พระกฤษฎีกาที่กล่าวถึงคริสตศาสนิกสัมพันธ์ของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ให้คำอธิบายว่า “อาศัยพระศาสนจักรคาทอลิกหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็น ‘ความช่วยเหลือนำความรอดพ้นมาให้มวลมนุษย์’ นี้ ทุกคนอาจเข้าถึงเครื่องมือทุกอย่างที่นำความรอดพ้นมาให้ได้ เราเชื่อว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงมอบขุมทรัพย์ทุกอย่างของพันธสัญญาใหม่ไว้กับคณะอัครสาวกที่มีเปโตรเป็นประมุข ทุกคนจำเป็นต้องเข้ามารวมเป็นเสมือนร่างกายเดียวกันอย่างสมบูรณ์เพื่อสถาปนาพระกายหนึ่งเดียวของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ ทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของประชากรของพระเจ้าแล้วโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง”
พระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่งก็เป็น “สากล” ด้วย
CCC ข้อ 834 พระศาสนจักรท้องถิ่นเป็นพระศาสนจักรคาทอลิกอาศัยความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งหนึ่ง คือพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ซึ่ง “เป็นประธานความรัก” “พระศาสนจักรทั้งหมดคือบรรดาผู้มีความเชื่อซึ่งอยู่ทั่วไปทุกแห่งจำเป็นต้องมารวมอยู่กับพระศาสนจักรแห่งนี้เพราะความเป็นผู้นำอย่างเด่นชัด” “นับตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อพระวจนาตถ์ของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์เสด็จลงมาอยู่กับเรา พระศาสนจักรทุกแห่งของบรรดาคริสตชนได้ยอมรับและยังถือว่าพระศาสนจักรซึ่งอยู่ที่นั่น (คือที่กรุงโรม) เป็นรากฐานมั่นคงหนึ่งเดียว และเป็นพระศาสนจักรใหญที่สุด จนว่าประตูนรกไม่มีวันที่จะเอาชนะพระศาสนจักรนี้ได้ตามพระสัญญาของพระผู้ไถ่”
คณะพระสังฆราชและสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ทรงเป็นประมุข
CCC ข้อ 881 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตั้งให้ซีโมนคนเดียวที่ทรงให้นามว่า “เปโตร” เป็นศิลาตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ และทรงมอบกุญแจ (พระศาสนจักร) ให้เขา ทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้อภิบาลดูแลฝูงแกะทั้งหมด “เห็นได้ชัดว่าบทบาทที่จะผูกและแก้ที่เปโตรได้รับนี้ยังได้ทรงมอบให้แก่คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนอีกด้วย” บทบาทผู้อภิบาลนี้ของเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ เกี่ยวข้องกับรากฐานของพระศาสนจักร บรรดาพระสังฆราชสืบต่อบทบาทนี้โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นประมุข
ผู้สืบตำแหน่ง
CCC ข้อ 935 พระคริสตเจ้าทรงส่งบรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากเขาออกไปประกาศความเชื่อและสถาปนาพระอาณาจักรของพระองค์ พระองค์ทรงตั้งเขาให้เป็นผู้ร่วมพันธกิจของพระองค์
CCC ข้อ 936 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งเปโตรให้เป็นรากฐานที่แลเห็นได้ของพระศาสนจักรของพระองค์และทรงมอบกุญแจของพระศาสนจักรให้เขา พระสังฆราชของพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม ผู้สืบตำแหน่งของเปโตร “เป็นประมุขของคณะพระสังฆราช เป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้าและเป็นผู้อภิบาลพระศาสนจักรสากลในโลกนี้”
CCC ข้อ 937 สมเด็จพระสันตะปาปา “ทรงพระอำนาจสูงสุด สมบูรณ์ โดยตรงและสากลในการอภิบาลดูแลวิญญาณ”
มธ 16:19 กุญแจแห่งอาณาจักรสวรรค์ : “กุญแจ” นี้แสดงถึงอำนาจที่เปโตรได้รับมอบเพื่อปกครองพระศาสนจักร หมายถึงอำนาจแห่งการอภัยบาป การกำหนดหลักธรรมคำสอน รวมทั้งการประกาศเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ นักบุญเปโตรและบรรดาบิชอปแห่งกรุงโรมผู้สืบทอดอำนาจของท่านจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพของพระศาสนจักรทั้งมวล พระศาสนจักรตระหนักดีว่าอำนาจนี้จะต้องส่งผ่านต่อไปยังผู้ที่สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร คือบรรดาพระสันตะปาปา และการรับประกันความจริงนี้ได้รับการเสริมให้หนักแน่นยิ่งขึ้นด้วยข้อความเชื่อเรื่องความไม่ผิดพลั้งของสมเด็จพระสันตปาปาในเรื่องข้อความเชื่อและศีลธรรม ซึ่งได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการจากสภาพระสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1870
อำนาจสอนของพระศาสนจักร (Magisterium Ecclesiae)
CCC ข้อ 85 “หน้าที่ที่จะตีความหมายพระวาจาของพระเจ้าที่บันทึกไว้และที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมาทางวาจาได้อย่างถูกต้องนั้น พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนเท่านั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้และใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งได้แก่พระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร
CCC ข้อ 86 “อำนาจสั่งสอนนี้มิได้อยู่เหนือพระวาจาของพระเจ้า แต่รับใช้พระวาจา สอนแต่ความจริงที่ได้รับถ่ายทอดมา ในฐานะที่ความจริงนี้ได้รับมอบมาจากพระเจ้าโดยมีพระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือ ผู้มีอำนาจสอนจึงต้องรับฟังพระวาจาด้วยความศรัทธา เก็บรักษาพระวาจาไว้ด้วยความเคารพ และอธิบายพระวาจาด้วยความซื่อสัตย์ และตักตวงเอาความจริงทุกข้อจากคลังแห่งความเชื่อหนึ่งเดียวนี้มาแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อความจริงที่พระเจ้าทรงเผยให้เราต้องเชื่อ”
พระอาณาจักร
CCC ข้อ 567 พระคริสตเจ้าทรงเริ่มสถาปนาพระอาณาจักรสวรรค์ในโลกนี้ “พระอาณาจักรนี้ปรากฏชัดแก่มนุษย์ในพระวาจา พระราชกิจและการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” พระศาสนจักรเป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มต้นของพระอาณาจักรนี้ พระคริสตเจ้าทรงมอบกุญแจ (ซึ่งหมายถึง “อำนาจปกครอง”) ของพระศาสนจักรนี้ไว้กับเปโตร
พระศาสนจักร
CCC ข้อ 869 พระศาสนจักรสืบเนื่องจากอัครสาวก – พระศาสนจักรถูกสถาปนาขึ้นบนรากฐานที่มั่นคง คืออัครสาวกทั้งสิบสององค์ของลูกแกะ พระศาสนจักรไม่มีวันถูกทำลายได้ พระศาสนจักรถูกรักษาไว้ในความจริงหลงผิดไม่ได้ พระคริสตเจ้าทรงปกครองพระศาสนจักรผ่านทางเปโตรและบรรดาอัครสาวกอื่นๆ ซึ่งยังคงอยู่ในบรรดาผู้สืบตำแหน่งของเขาเหล่านี้ คือในสมเด็จพระสันตะปาปาและคณะพระสังฆราช
การคืนดีกับพระศาสนจักร
CCC ข้อ 1444 เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้บรรดาอัครสาวกมีส่วนในอำนาจอภัยบาปได้เช่นเดียวกับพระองค์ พระองค์ยังประทานให้เขามีอำนาจนำคนบาปเข้ามาคืนดีกับพระศาสนจักรได้ ด้วยเหตุผลของบทบาทนี้ของเขาในพระศาสนจักรแสดงให้เห็นในพระวาจาที่พระคริสตเจ้าตรัสอย่างสง่าแก่เปโตรว่า “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “เห็นได้ชัดว่าอำนาจผูกและแก้ที่ทรงมอบแก่เปโตรนี้พระองค์ยังทรงมอบแก่คณะอัครสาวกที่รวมอยู่กับประมุขของตนด้วย” (มธ 18:18; 28:16-20)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)