แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 11  เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 6:1-6, 16-18)                        

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “จงระวัง อย่าปฏิบัติศาสนกิจของท่านต่อหน้ามนุษย์เพื่ออวดคนอื่น มิฉะนั้น ท่านจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ ดังนั้น เมื่อท่านให้ทาน จงอย่าเป่าแตรข้างหน้าท่าน เหมือนที่บรรดาคนหน้าซื่อใจคดมักทำในศาลาธรรมและตามถนนเพื่อจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์ เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่าน เมื่อให้ทาน อย่าให้มือซ้ายของท่านรู้ว่า มือขวากำลังทำสิ่งใด เพื่อทานของท่านจะได้เป็นทานที่ไม่เปิดเผย แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง จะประทานบำเหน็จให้ท่าน

เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา จงอย่าเป็นเหมือนบรรดาคนหน้าซื่อใจคด เขาชอบยืนอธิษฐานภาวนาในศาลาธรรม และตามมุมลานเพื่อให้ใครๆ เห็น เราบอกความจริงแก่ท่านว่า เขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว ส่วนท่าน เมื่ออธิษฐานภาวนา จงเข้าไปในห้องส่วนตัว ปิดประตู อธิษฐานต่อพระบิดาของท่านผู้สถิตอยู่ทั่วทุกแห่ง แล้วพระบิดาของท่านผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่งจะประทานบำเหน็จให้ท่าน”  


มธ 6:1-13 พระคริสตเจ้ามักตรัสสอนถึงเรื่องการจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนาและการให้ทานว่า เป็นการปฏิบัติศาสนกิจที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงสอนว่าแต่ละกิจการที่มองเห็นได้เหล่านี้อาจกลายเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอกได้ หากไม่ได้ทำด้วยความรักต่อพระเจ้า ด้วยจิตแห่งการสำนึกผิดและการกลับใจจากภายใน

การกลับใจภายใน

CCC ข้อ 1430 เช่นเดียวกับในสมัยของบรรดาประกาศกแล้ว การที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้กลับใจและเปลี่ยนชีวิตนั้น ก่อนอื่นไม่มุ่งถึง “การสวมผ้ากระสอบและโปรยเถ้าบนศีรษะ” การจำศีลอดอาหารและทรมานกาย แต่มุ่งโดยเฉพาะถึงการเปลี่ยนความคิดภายใน การเป็นทุกข์กลับใจ ถ้าไม่มีการกลับใจภายในเช่นนี้ กิจการภายนอกที่แสดงความทุกข์ถึงบาปก็ไร้ผลและเป็นการมุสา ตรงกันข้าม การกลับใจภายในย่อมเป็นแรงผลักดันให้แสดงเครื่องหมายออกมาภายนอกเป็นท่าทางและกิจการแสดงการกลับใจ

การเป็นทุกข์กลับใจมีหลายรูปแบบในชีวิตคริสตชน

CCC ข้อ 1434 การเป็นทุกข์กลับใจภายในของคริสตชนอาจมีวิธีแสดงออกต่างๆ ได้หลายรูปแบบ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์เน้นโดยเฉพาะถึงสามรูปแบบ คือ การจำศีลอดอาหาร การอธิษฐานภาวนา และการให้ทาน ซึ่งแสดงการกลับใจในความสัมพันธ์กับตนเอง ความสัมพันธ์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ควบคู่กับการชำระอย่างสมบูรณ์ที่ศีลล้างบาปหรือการเป็นมรณสักขีนำมาให้ พระคัมภีร์และบรรดาปิตาจารย์ยังกล่าวถึงวิธีการอื่นที่อาจช่วยให้ได้รับอภัยบาปได้ด้วย เช่น ความพยายามที่จะคืนดีกับเพื่อนพี่น้อง การร่ำไห้เสียใจที่ได้ทำบาป ความเอาใจใส่ต่อความรอดพ้นของเพื่อนพี่น้อง การภาวนาขอของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (หรือ “นักบุญ”) การแสดงเมตตาจิตซึ่ง “ลบล้างบาปได้มากมาย” (1 ปต 4:8)

ธรรมบัญญัติใหม่ หรือกฎแห่งพระวรสาร

CCC ข้อ 1968 กฎแห่งพระวรสารทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ คำเทศน์สอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ลบล้างข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของธรรมบัญญัติดั้งเดิม และไม่ได้ทำให้ข้อกำหนดเหล่านี้ลดค่าลงเลย แต่ทำให้พลังที่ซ่อนเร้นอยู่ของข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นและทำให้เกิดข้อเรียกร้องใหม่ๆ จากข้อกำหนดเหล่านี้ เปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับพระเจ้าและมนุษย์ของข้อกำหนดเหล่านี้ กฎแห่งพระวรสารไม่เพิ่มข้อกำหนดใหม่ภายนอก และก้าวหน้าเข้าไปปรับปรุงจิตใจซึ่งเป็นรากของการกระทำต่างๆ เมื่อมนุษย์ไม่ยอมรับสิ่งที่มีมลทิน เลือกสิ่งบริสุทธิ์ที่ก่อให้เกิดความเชื่อ ความหวังและความรัก และคุณธรรมประการอื่นๆ พร้อมกับคุณธรรมเหล่านี้ด้วย  พระวรสารจึงนำธรรมบัญญัติให้บรรลุถึงความบริบูรณ์โดยเอาอย่างความดีบริบูรณ์ของพระบิดาเจ้าสวรรค์โดยยกโทษให้ศัตรูและอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียน ตามแบบฉบับพระทัยกว้างของพระเจ้า

CCC ข้อ 1969 ธรรมบัญญัติใหม่ปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การให้ทาน การอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหาร โดยจัดให้กิจการเหล่านี้มุ่งไปหา “พระบิดา […] ผู้ทรงหยั่งรู้ในที่ลับ” ผิดกับผู้ที่ต้องการ “ให้ใครๆ เห็น” บทภาวนาของธรรมบัญญัติใหม่นี้ก็คือบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”


มธ 6:2  เพื่อจะได้รับคำสรรเสริญจากมนุษย์ : การกระทำที่ดีควรมุ่งไปยังพระเจ้า “ผู้ทรงหยั่งรู้ทุกสิ่ง” (มธ 6:4) และไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้ผู้อื่นประทับใจ แต่กิจการนั้นต้องดีในตัวเอง กระทำด้วยเจตจำนงเที่ยงตรงและในสถานการณ์เหมาะสม แต่หากทำด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น การแสวงหาคำนิยม กิจการดีนั้นย่อมไร้บุญกุศล 

ที่มาของความดีความชั่ว

CCC ข้อ 1752 นอกจากสิ่ง (หรือกิจการ) ที่ทำแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาในส่วนของผู้กระทำ เนื่องจากเจตนาเป็นที่มาของความสมัครใจที่จะทำกิจการและกำหนดจุดประสงค์ของการกระทำนั้น จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินว่าการกระทำนั้นดีหรือชั่ว  จุดประสงค์เป็นจุดหมายแรกที่เจตนามุ่งถึงและที่การกระทำกำลังดำเนินไปหา เจตนาเป็นการที่ความตั้งใจมุ่งไปหาจุดหมาย จึงเกี่ยวข้องกับจุดหมายของการกระทำ เจตนามุ่งไปยังสิ่งที่คาดหวังไว้เมื่อเริ่มกิจการ เจตนาไม่จำกัดอยู่แต่เพียงกับกิจการเดียว แต่อาจนำหลายกิจการมุ่งไปสู่จุดประสงค์เดียวกันได้ อาจจัดการนำทั้งชีวิตไปสู่จุดหมายสุดท้ายได้ด้วย ตัวอย่างเช่น การให้บริการมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นก็จริง แต่ก็ยังอาจได้รับแรงบันดาลใจจากความรักพระเจ้าเพื่อให้ความรักนี้เป็นจุดหมายสุดท้ายของกิจการทุกอย่างของเราได้ในเวลาเดียวกันด้วย กิจการเดียวกันอาจรับแรงบันดาลใจจากเจตนาหลายประการก็ได้ เช่น การให้บริการ (นอกจากเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ยังอาจมีเจตนา) เพื่อรับความดีความชอบหรือเพื่อโอ้อวดได้อีกด้วย

CCC ข้อ 1753 เจตนาที่ดี (เช่น เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น) ไม่ทำให้การกระทำที่ในตัวเองไม่ถูกต้อง (เช่น การมุสาหรือกล่าวร้าย) กลายเป็นการกระทำที่ดีและถูกต้องได้ จุดประสงค์ไม่ทำให้วิธีการที่ใช้กลับดีขึ้นได้ (Finis media non iustificat) ดังนั้น การตัดสินลงโทษผู้บริสุทธิ์ไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้องเพื่อช่วยประชาชนได้ ตรงกันข้าม เจตนาไม่ถูกต้องที่เพิ่มเข้ามา (เช่น การโอ้อวด) ย่อมทำให้กิจการที่ดีกลายเป็นกิจการชั่วได้ (เช่น การให้ทาน)

CCC ข้อ 1754 สภาพแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งผลที่ตามมา เป็นองค์ประกอบอันดับรองที่ทำให้การกระทำหนึ่งมีผลทางศีลธรรม (ดีหรือชั่ว) องค์ประกอบเหล่านี้อาจทำให้ความดีหรือความชั่วของการกระทำแบบมนุษย์เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลงได้ (เช่น จำนวนเงินที่ขโมยมา) สภาพแวดล้อมเหล่านี้ยังอาจลดหรือเพิ่มความรับผิดชอบของผู้กระทำ (เช่น การกระทำเพราะกลัวความตาย) ในตัวเอง สภาพแวดล้อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางศีลธรรมของการกระทำได้ ไม่อาจทำให้การกระทำที่ชั่วในตัวเองกลายเป็นการกระทำที่ดีและถูกต้องได้

การกระทำที่ดีและการกระทำที่ชั่ว

CCC ข้อ 1755 การกระทำที่ดีทางศีลธรรมต้องประกอบด้วยความดีทั้งของกิจการที่ทำ จุดประสงค์ (หรือเจตนา) และสภาพแวดล้อม เจตนาชั่วทำให้การกระทำชั่วไปด้วย แม้กิจการที่ทำจะดีในตนเอง (เช่น การอธิษฐานภาวนาและจำศีลอดอาหารเพื่อโอ้อวดให้คนอื่นแลเห็น)

กิจการที่เลือกทำในตนเองเพียงอย่างเดียวอาจทำให้การกระทำทั้งหมดชั่วไปได้ กิจการหนึ่งอาจทำได้หลายวิธี – เช่น การผิดประเวณี – ซึ่งการเลือกเหล่านี้ล้วนไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะการเลือกวิธีการเหล่านี้หมายถึงความสับสนของเจตนาซึ่งก็คือความชั่วทางศีลธรรมนั่นเอง

การทำผิดต่อความจริง

CCC ข้อ 2447 งานเมตตากรุณาเป็นกิจการแสดงความรักที่เราช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องของเราเมื่อเขามีความต้องการทางร่างกายและจิตใจ การสั่งสอน ให้คำแนะนำ ปลอบโยน ให้กำลังใจเป็นงานเมตตากรุณาด้านจิตใจ เช่นเดียวกับการให้อภัยและความพากเพียรอดทน งานเมตตากรุณาด้านร่างกายส่วนมากประกอบด้วยการเลี้ยงดูผู้หิวโหย ให้ที่อยู่แก่ผู้ไม่มีที่อาศัย ให้เสื้อผ้าแก่ผู้ไม่มี เยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วยและผู้ถูกจองจำ ฝังศพผู้ตาย ในบรรดางานเหล่านี้ การให้ทานแก่ผู้ยากไร้ นับว่าเป็นงานแสดงความรักต่อเพื่อนพี่น้องเป็นพิเศษประการหนึ่ง การทำเช่นนี้ยังเป็นการงานแสดงความยุติธรรมที่พอพระทัยพระเจ้าด้วย

“ใครมีเสื้อสองตัว จงแบ่งตัวหนึ่งให้กับคนที่ไม่มี คนที่มีอาหารก็จงทำเช่นเดียวกัน” (ลก 3:11)

“ถ้าจะให้ดีแล้ว จงให้สิ่งที่อยู่ภายในเป็นทานเถิด แล้วทุกสิ่งก็จะสะอาดสำหรับท่าน” (ลก 11:41)

“ถ้าพี่น้องชายหญิงคนใดขัดสนเครื่องนุ่งห่ม และไม่มีอาหารประจำวัน แล้วท่านคนหนึ่งพูดกับเขาว่า ‘จงไปเป็นสุขเถิด ขอให้อบอุ่นและอิ่มเถิด’ แต่มิได้ให้สิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายแก่เขา จะมีประโยชน์ใดเล่า” (ยก 2:15-16)


มธ 6:6 คริสตชนทุกคนได้รับการเรียกให้เอาใจใส่ชีวิตแห่งการภาวนาส่วนตัว วัดเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับชุมชนในการชุมนุมกันเพื่ออธิษฐานภาวนาและนมัสการพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าศีลมหาสนิท ทั้งการภาวนาส่วนตัวและกิจศรัทธาที่ทำร่วมกันนั้นล้วนจำเป็นเพื่อการเติบโตในความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า

การดำเนินชีวิตในพระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 1693 พระเยซูคริสตเจ้าทรงทำตามที่พระบิดาพอพระทัยเสมอ พระองค์ทรงดำเนินพระชนมชีพสนิทสัมพันธ์กับพระบิดาอย่างสมบูรณ์ที่สุด เช่นเดียวกัน พระองค์จึงทรงเชิญบรรดาศิษย์ของพระองค์ให้ดำเนินชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระบิดาเจ้า “ผู้ทรงเห็นในที่เร้นลับ” (มธ 6:6) เพื่อจะได้เป็น “คนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ […] ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48)

พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2608 นับตั้งแต่บทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องการกลับใจ เรื่องการคืนดีกับพี่น้องก่อนจะถวายเครื่องบูชาบนพระแท่นบูชา เรื่องความรักศัตรูและการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียน เรื่องการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) เรื่องการไม่พูดมาก ไม่พูดซ้ำซาก เรื่องการให้อภัยจากใจจริงในการอธิษฐานภาวนา เรื่องการแสวงหาพระอาณาจักรด้วยใจจริง การกลับใจอย่างเต็มที่เยี่ยงบุตรเช่นนี้นำเราไปพบพระบิดา

พิธีกรรมของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 2655 พันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าซึ่งประกาศพระธรรมล้ำลึกเรื่องความรอดพ้น ทำให้พระธรรมล้ำลึกนี้เป็นปัจจุบันเผยแผ่ออกไปในพิธีกรรมของพระศาสนจักร ยังดำเนินต่อไปในใจที่อธิษฐานภาวนา บรรดาปิตาจารย์ผู้สอนเรื่องชีวิตจิตบางครั้งเปรียบใจของเรากับพระแท่นบูชา การอธิษฐานภาวนาทำให้พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เข้ามาอยู่ในใจเป็นของตนโดยเฉพาะ ทั้งในช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมและหลังจากการประกอบพิธีแล้ว การอธิษฐานภาวนา แม้จะเกิดขึ้น “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) ก็เป็นการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเสมอ การอธิษฐานภาวนานี้เป็นความสัมพันธ์กับพระตรีเอกภาพศักดิ์สิทธิ์

สถานที่ที่เหมาะสำหรับอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2691 โบสถ์ บ้านของพระเจ้าเป็นสถานที่เฉพาะของการอธิษฐานภาวนาตามพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนวัด ที่เดียวกันนี้ยังเป็นสถานที่พิเศษเพื่อนมัสการการประทับอยู่อย่างแท้จริงของพระคริสตเจ้าในศีลมหาสนิท การเลือกสถานที่โดยเฉพาะไม่ใช่เรื่องไม่สำคัญสำหรับการอธิษฐานภาวนาแท้จริง

- สำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอาจเป็น “มุมสำหรับการอธิษฐานภาวนา” ที่มีหนังสือพระคัมภีร์และรูปภาพศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเราจะได้อยู่ “ตามลำพัง” ต่อหน้าพระบิดาของเรา ในครอบครัวคริสตชน ห้องอธิษฐานภาวนาเล็กๆ เช่นนี้ช่วยให้มีการอธิษฐานภาวนาร่วมกันได้เป็นอย่างดี

- ในท้องที่ที่มีอารามตั้งอยู่ กระแสเรียกของชุมชนเหล่านี้ก็คือช่วยส่งเสริมการภาวนาทำวัตรร่วมกับบรรดาสัตบุรุษและช่วยให้มีความสงบเงียบที่จำเป็นสำหรับการอธิษฐานภาวนาส่วนตัวอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วย

- การแสวงบุญเชิญชวนให้เราคิดถึงการเดินทางของเราในโลกนี้ไปยังสวรรค์ โดยธรรมเนียมปฏิบัติยังเป็นเวลาพิเศษเพื่อรื้อฟื้นการอธิษฐานภาวนา สักการสถานต่างๆ จึงเป็นสถานที่พิเศษสำหรับผู้แสวงบุญ ให้เป็นดัง “พระศาสนจักร” ที่แสวงหาพุน้ำทรงชีวิต นำรูปแบบของการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชนมาเป็นชีวิต


มธ 6:16-18 ในทำนองเดียวกับคำสอนของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับเรื่องการให้ทานและการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงสอนผู้ติดตามของพระองค์ให้จำศีลอดอาหารด้วย มิใช่ทำเพียงเพื่อรับคำชมจากผู้อื่น แต่ด้วยเจตนาถวายเกียรติแด่พระเจ้า การกระทำภายนอกควรมาจากความรักภายในที่มีต่อพระเจ้า

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่น ธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่น คำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร) และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดา และกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด

CCC ข้อ 1430 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 6:1-13) 

CCC ข้อ 2608 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (มธ 6:6)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)