แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 10 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 3:20-35)                               

เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ประชาชนมาชุมนุมกันอีกจนพระองค์ไม่อาจเสวยและบรรดาศิษย์ก็ไม่อาจกินอาหารได้ เมื่อพระญาติของพระองค์ได้ยินเช่นนี้ ก็ออกไปคุมพระองค์ไว้ เพราะคิดว่าทรงเสียพระสติ

บรรดาธรรมาจารย์ที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มพูดว่า “เขามีปีศาจเบเอลเซบูล สิงอยู่” และ “ขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง” พระองค์จึงทรงเรียกเขาเหล่านั้นเข้ามาพบ ตรัสเป็นอุปมาว่า “ซาตานจะขับซาตานได้อย่างไร ถ้าอาณาจักรหนึ่งแตกแยก อาณาจักรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่งแตกแยก ครอบครัวนั้นก็ตั้งมั่นอยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าซาตานลุกขึ้นต่อสู้กันเองและแตกแยก มันก็อยู่ไม่ได้ ต้องถึงจุดจบ ไม่มีใครเข้าไปในบ้านของคนเข้มแข็งและปล้นเอาทรัพย์ของเขาได้ ถ้าไม่มัดคนเข้มแข็งนั้นไว้ก่อน เมื่อนั้นแหละจึงจะเข้าปล้นบ้านได้

“เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า มนุษย์จะรับการอภัยบาปทุกประการรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่ได้พูดออกไป แต่ใครที่พูดดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย เขามีความผิดตลอดนิรันดร” พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพราะมีผู้พูดว่า “คนนี้มีปีศาจสิงอยู่”

พระมารดาและพระประยูรญาติของพระองค์มาถึง ยืนรออยู่ข้างนอก ส่งคนเข้าไปทูลพระองค์  ประชาชนกำลังนั่งล้อมพระองค์อยู่ เขาจึงทูลพระองค์ว่า “มารดาและพี่น้องชายหญิงของท่านกำลังตามหาท่าน คอยอยู่ข้างนอก” พระองค์ตรัสถามว่า “ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา” แล้วพระองค์ทอดพระเนตรผู้ที่นั่งเป็นวงล้อมอยู่ ตรัสว่า “นี่คือมารดาและพี่น้องของเรา  ผู้ใดทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิงและเป็นมารดาของเรา”   


มก 3:20-30  ผู้คนจำนวนมากได้ติดตามพระคริสตเจ้าไปยังบ้านของพระองค์ ทำให้พระองค์ทรงไม่มีแม้กระทั่งเวลารับประทานอาหาร ดังนั้นแม้บรรดาเพื่อนๆ สนิทก็ยังตำหนิที่พระองค์ทรงมีเมตตาและทุ่มเทอย่างมากมายในการเทศน์สอนและการรักษาผู้ป่วย บรรดาธรรมาจารย์ได้เข้ามาในเมืองและกล่าวอ้างว่า ที่พระคริสตเจ้าสามารถขับผีปีศาจสำเร็จได้นั้นเป็นเพราะว่าพระองค์เองทรงก็ถูกครอบงำด้วยเช่นกัน ในสมัยนั้นมีความเชื่อกันว่า ปีศาจที่มีพลังมากกว่าสามารถขับไล่ปีศาจที่มีพลังน้อยกว่าได้ เบเอลเซบูล เป็นชื่อเทพเจ้าของชาวต่างชาติที่ชาวยิวนำมาใช้เรียกเป็นชื่อของปีศาจ

เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย


มก 3:27  พระคริสตเจ้าทรงอธิบายว่า พระองค์มิได้เป็นพวกเดียวกับปีศาจ แต่ทรงเป็นผู้พิชิตปีศาจต่างหาก ผู้ทรงเอาชนะคนแข็งแกร่ง และเอาสิ่งที่เป็นของพระองค์กลับคืนมา     

พระเยซูเจ้าทรงถูกทดลอง

CCC ข้อ 539 บรรดาผู้นิพนธ์พระวรสารอธิบายว่าเหตุการณ์ลึกลับนี้มีความหมายเกี่ยวกับความรอดพ้น  พระเยซูเจ้าในฐานะอาดัมคนใหม่ยังคงซื่อสัตย์ในเมื่ออาดัมคนแรกได้พ่ายแพ้การผจญ พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติตามการเรียกอิสราเอลอย่างสมบูรณ์ ขณะที่อิสราเอลได้ท้าทายพระเจ้าเมื่อเดินทางในถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาสี่สิบปี พระคริสตเจ้ากลับทรงแสดงพระองค์เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่เชื่อฟังปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเต็มที่ พระเยซูเจ้าทรงพิชิตปีศาจในเรื่องนี้ พระองค์ทรงมัดคนเข้มแข็งนั้นไว้เพื่อจะปล้นเอาทรัพย์ของเขาไปได้ ชัยชนะของพระเยซูเจ้าเหนือปีศาจผู้มาผจญในถิ่นทุรกันดารบอกล่วงหน้าถึงชัยชนะแห่งพระทรมาน ซึ่งเป็นการแสดงการเชื่อฟังอย่างสูงสุดด้วยความรักเยี่ยงบุตรต่อพระบิดา   


มก 3:29  พระคริสตเจ้าทรงอธิบายเป็นนัยว่า พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นพระเจ้าโดยบอกว่างานของพระเจ้าเป็นงานของปีศาจ นี่ยังเป็นบาปที่ให้อภัยได้ แต่การดูหมิ่นพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นการปฏิเสธบาปหรือการรักษาไว้ซึ่ง “สิทธิ” ในการทำบาปจนกระทั่งถึงการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดที่จะกลับใจ และการปฏิเสธที่จะรับพระเมตตาของพระเจ้านั้นไม่สามารถให้อภัยได้เลย พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะให้อภัยนั้นไม่มีขอบเขตจำกัด แต่พระองค์ไม่ทรงบังคับใครให้ต้องรับพระเมตตาของพระองค์    

ความหนักของบาป – บาปหนักและบาปเบา

CCC ข้อ 1864 “มนุษย์จะได้รับการอภัยบาปทุกชนิดรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าด้วย แต่คำดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย” (มธ 12:31) พระเมตตาของพระเจ้าไม่มีขอบเขต และผู้ที่จงใจไม่ยอมรับพระเมตตาของพระเจ้าโดยการเป็นทุกข์กลับใจ เขาย่อมไม่ยอมรับการอภัยบาปของตนและความรอดพ้นที่พระจิตเจ้านำมาให้ ความใจกระด้างเช่นนี้อาจนำไปจนถึงการไม่ยอมเป็นทุกข์กลับใจในวาระสุดท้ายและการถูกลงโทษตลอดนิรันดร   


มก 3:31-35  พระประยูรญาติ : พระคริสตเจ้าทรงใช้คำนี้เพื่อหมายถึงญาติพี่น้องและญาติผู้ชายคนอื่นๆ (เทียบ มธ 12:46) พระคริสตเจ้ามิได้ทรงปฏิเสธครอบครัวของพระองค์ แต่ทรงต้องการขยายความหมายเป็นครอบครัวฝ่ายจิตที่รวมถึงประชากรของพระเจ้าทุกคนด้วย    

พระนางมารีย์ “ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ” 

CCC ข้อ 500 บางครั้งมีผู้แย้งคำสอนนี้โดยอ้างว่าพระคัมภีร์กล่าวถึง “พี่น้องชายหญิง” ของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรเข้าใจเสมอมาว่าข้อความเหล่านี้มิได้หมายถึงบุตรคนอื่นของพระนางพรหมจารีมารีย์ จริงแล้ว ยากอบและโยเซฟ “พี่น้อง” ของพระเยซูเจ้า (มธ 13:55) นี้เป็นบุตรของมารีย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ซึ่งมัทธิวกล่าวถึงอย่างชัดเจนว่า “มารีย์อีกคนหนึ่ง” (มธ 28:1) ข้อความเหล่านี้จึงหมายถึงญาติใกล้ชิดตามสำนวนที่ใช้และรู้จักกันดีในพันธสัญญาเดิม    

CCC ข้อ 501 พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระนางมารีย์ แต่ความเป็นพระมารดาฝ่ายจิตของพระนางมารีย์แผ่ขยายครอบคลุมมนุษย์ทุกคนที่พระองค์เสด็จมาทรงกอบกู้ “พระนางประสูติพระบุตรซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นบุตรคนแรกในบรรดาพี่น้องจำนวนมาก (เทียบ รม 8:29) ซึ่งหมายถึงผู้มีความเชื่อที่พระนางทรงร่วมมือให้กำเนิดและอบรมสั่งสอนด้วยความรักเยี่ยงมารดา”    

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)