วันศุกร์ สมโภชพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 19:31-37)
วันนั้นเป็นวันเตรียมฉลอง ชาวยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนไม้กางเขนในวันสับบาโต เพราะวันสับบาโตวันนั้นเป็นวันฉลองยิ่งใหญ่ เขาจึงขออนุญาตปีลาตให้ทุบขาผู้ที่ถูกตรึงและนำศพไป บรรดาทหารทุบขาคนทั้งสองคนซึ่งถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ เมื่อทหารมาถึงพระเยซูเจ้าก็เห็นว่าพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงมิได้ทุบขาของพระองค์ แต่ทหารคนหนึ่งใช้หอกแทงด้านข้างพระวรกายของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที ผู้ที่ได้เห็นก็เป็นพยาน คำพยานของเขาน่าเชื่อถือ เขารู้ว่าเขาพูดความจริง เพื่อท่านทั้งหลายจะเชื่อด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อข้อความในพระคัมภีร์เป็นจริงว่า กระดูกของเขาจะไม่หักแม้เพียงชิ้นเดียว และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า เขาทั้งหลายจะมองดูผู้ที่เขาแทง
ยน 19:33 บางครั้งพวกทหารจะทำการหักขาของผู้ที่ถูกตรึงการเขน เพื่อทำให้สิ้นชีวิตเร็วขึ้น
ยน 19:34 โลหิตและน้ำก็ไหลออกมาทันที : โลหิตและน้ำเป็นเครื่องหมายถึงศีลล้างบาปและพิธีบูชาขอบพระคุณ ซึ่งเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งชีวิตใหม่ เอวาได้ถูกสร้างมาจากสีข้างของอาดัมฉันใด พระศาสนจักรก็ถูกสร้างมาจากสีข้างของพระคริสตเจ้าฉันนั้น น้ำยังแสดงถึงพระจิตเจ้าที่หลั่งมายังโลกนี้โดยพระคริสตเจ้า เป็น “น้ำแห่งชีวิต” ดังที่พระองค์ทรงกล่าวแก่หญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ (เทียบ ยน 4:10)
พระหทัยของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์
CCC ข้อ 478 พระเยซูเจ้าทรงรู้จักและรักเราทุกคน แต่ละคนในพระชนมชีพของพระองค์ ในขณะที่ทรงเป็นทุกข์ในสวนมะกอกเทศ และเมื่อทรงรับทรมาน พระองค์ยังทรงมอบพระองค์เพื่อพวกเราแต่ละคนด้วย พระบุตรของพระเจ้า “ทรงรักข้าพเจ้าและทรงมอบพระองค์เพื่อข้าพเจ้า” (กท 2:20) พระองค์ทรงรักเราทุกคนด้วยพระหทัยมนุษย์ เพราะเหตุนี้ พระหทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าซึ่งถูกแทงเพราะบาปของเราและเพื่อช่วยเราให้รอดพ้น “จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องบ่งชี้และเป็นสัญลักษณ์ [...] ของความรักที่พระผู้ไถ่ทรงรักพระบิดานิรันดรและมวลมนุษย์อยู่ตลอดเวลา”
สัญลักษณ์ของพระจิตเจ้า
CCC ข้อ 694 “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึงการกระทำของพระจิตเจ้าในศีลล้างบาป เนื่องจากว่าหลังจากการเรียกขานพระจิตเจ้าแล้ว น้ำกลายเป็นเครื่องหมายศีลศักดิ์สิทธิ์ของการเกิดใหม่ การเกิดครั้งแรกของเราเกิดขึ้นในน้ำภายในครรภ์มารดาฉันใด อันที่จริงน้ำศีลล้างบาปก็หมายความว่าเราได้เกิดมารับชีวิตของพระเจ้าเดชะพระจิตเจ้าฉันนั้น แต่ “เดชะพระจิตเจ้าพระองค์เดียว เราทุกคนได้รับการล้างมารวมกัน […] เราทุกคนต่างได้รับพระจิตเจ้าพระองค์เดียวกัน” (1 คร 12:13) พระจิตเจ้าเองจึงทรงเป็นน้ำทรงชีวิตที่เกิดจากพระคริสตเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนประหนึ่งจากพุน้ำซึ่งไหลรินในตัวเราเพื่อชีวิตนิรันดร
พระศาสนจักร – พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น
CCC ข้อ 766 แต่ก่อนอื่นหมด พระศาสนจักรเกิดจากการที่พระคริสตเจ้าทรงมอบพระองค์ทั้งหมดเพื่อความรอดพ้นของเรา พระองค์ทรงแสดงล่วงหน้าให้เห็นการมอบนี้แล้วในการทรงตั้งศีลมหาสนิท และทรงทำให้การมอบพระองค์นี้สำเร็จเป็นจริงบนไม้กางเขน “พระโลหิตและน้ำที่ไหลออกมาจากด้านข้างพระวรกายของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์หมายถึงจุดเริ่มต้นและการเจริญเติบโต(ของพระศาสนจักร)” “เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์น่าพิศวงของพระศาสนจักรทั้งหมดเกิดจากด้านข้างพระวรกายของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” นางเอวาถูกสร้างขึ้นจากสีข้างของอาดัมฉันใด พระศาสนจักรก็เกิดมาจากพระหทัยที่ถูกแทงของพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน”
พิธีล้างของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 1225 ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5)
“เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”
การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 2669 การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรถวายพระเกียรติและเคารพนับถือดวงพระทัยของพระเยซูเจ้า เช่นเดียวกับที่เรียกขานพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ กราบนมัสการพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับพระธรรมชาติมนุษย์และดวงพระทัยของพระองค์ที่ทรงยอมให้ถูกแทงเพราะความรักต่อมนุษย์และเพราะบาปของเรา การอธิษฐานภาวนาของคริสตชนยังชอบเดินตามทางไม้กางเขน สถานที่ต่างๆ จากจวนผู้ว่าราชการถึงเนินกลโกธา ไปจนถึงพระคูหาเป็นการเดินตามหนทางของพระเยซูเจ้าผู้ทรงไถ่โลกด้วยไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
ยน 19:36 กฎของโมเสสกำหนดว่า ลูกแกะบูชายัญต้องไม่มีมลทินและไม่มีกระดูกหัก (เทียบ อพย 12:5; กดว 9:11-12) ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่าพระคริสตเจ้าทรงเป็นลูกแกะบูชายัญแห่งปัสกาใหม่ ที่จะถูกรับประทานเป็นศีลมหาสนิทในพิธีกรรมของพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้น
“ลูกแกะที่ทรงลบล้างบาปของโลก”
CCC ข้อ 608 ยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง หลังจากยอมประกอบพิธีล้างให้พระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาคนบาปแล้ว เห็นในพระองค์และแจ้งให้ทุกคนรู้ว่าพระองค์คือ “ลูกแกะของพระเจ้า ซึ่งลบล้างบาปของโลกดังนี้ เขาจึงเปิดเผยว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นทั้ง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” ที่ยอมมอบตนโดยไม่ปริปากให้ถูกนำไปฆ่า และแบกบาปของคนทั้งปวง ทั้งยังเป็น “ลูกแกะปัสกา” สัญลักษณ์การไถ่กู้อิสราเอลในการฉลองปัสกาครั้งแรก พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าแสดงพันธกิจของพระองค์ คือการรับใช้และมอบชีวิตของพระองค์เป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย
ยน 19:37 พระมหาทรมาน การตรึงกางเขน และการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้านั้นเกิดขึ้นเพื่อไถ่บาปของเรา เป็นข้อพิสูจน์ถึงความรักสุดพรรณนาของพระเจ้าที่มีต่อเราและถึงความชั่วร้ายยิ่งนักของบาปของเราที่ทำเคืองพระทัยพระเจ้าและแยกเราออกจากพระองค์ การมองดูพระคริสตเจ้าที่ถูกตรึงกางเขน ผู้ถูกแทงเพราะบาปของเรา จะช่วยเราสู่การกลับใจได้
การกลับใจภายใน
CCC ข้อ 1432 หัวใจของมนุษย์มักจะเย็นชาและดื้อด้าน พระเจ้าจึงจำต้องประทานใจใหม่แก่มนุษย์ การกลับใจก่อนอื่นจึงเป็นงานของพระหรรษทานของพระเจ้าผู้ทรงบันดาลให้จิตใจของเรากลับมาหาพระองค์ “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้กลับมาพบพระองค์ แล้วข้าพเจ้าทั้งหลายก็จะกลับมา” (พคค 5:21) พระเจ้าประทานพลังให้เราเพื่อเราจะได้เริ่มต้นใหม่ เมื่อใจของเราค้นพบความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ย่อมรู้สึกสะเทือนใจต่อความน่าเกลียดและความหนักของบาป และเริ่มมีความกลัวที่จะทำบาปให้เคืองพระทัยพระเจ้าและต้องแยกไปจากพระองค์ ใจของมนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงเมื่อหันมองดูพระองค์ที่บาปของเราได้เสียบแทง “เราจงเพ่งมองดูพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและจงยอมรับว่าพระโลหิตนี้ประเสริฐเพียงไรสำหรับพระเจ้าพระบิดาของพระองค์ พระโลหิตนี้ได้หลั่งออกเพื่อความรอดพ้นของเราและนำพระหรรษทานการเป็นทุกข์กลับใจมาให้มนุษย์ทั้งโลก”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)