แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลปัสกา (ฉลองพระเมตตา)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 20:19-31)                                             

เวลาค่ำวันนั้นซึ่งเป็นวันต้นสัปดาห์ ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่เพราะกลัวชาวยิว พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงสำแดงพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกายแก่บรรดาศิษย์ เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็มีความยินดี พระองค์ตรัสกับเขาอีกว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น”

ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”

โทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” เป็นคนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกทั้งสิบสองคน ไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่นๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ศิษย์คนอื่นบอกเขาว่า “พวกเราได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแล้ว” แต่เขาตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” แปดวันต่อมา บรรดาศิษย์อยู่ด้วยกันในบ้านนั้นอีก โทมัสก็อยู่กับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ประตูปิดอยู่พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” แล้วตรัสกับโทมัสว่า “จงเอานิ้วมาที่นี่ และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเราเถิด อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด” โทมัสทูลพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ท่านเชื่อเพราะว่าได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อ แม้ไม่ได้เห็น ก็เป็นสุข”

พระเยซูเจ้ายังทรงกระทำเครื่องหมายอัศจรรย์อื่นอีกหลายประการให้บรรดาศิษย์เห็น แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์ 


ยน 20:19-20 พระคริสตเจ้าทรงมีพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมด้วยร่องรอยแห่งการถูกตรึงกางเขนของพระองค์ในลักษณะรุ่งโรจน์อันเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะที่ดังกึกก้อง ร่างกายของผู้ชอบธรรมก็จะได้รับสิริรุ่งโรจน์ในการพิพากษาครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน

สภาพความเป็นมนุษย์ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว

CCC ข้อ 645 เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดาศิษย์ผ่านการสัมผัส และเสวยพระกระยาหาร พระองค์ทรงเชิญเขาเช่นนี้ให้รับรู้ว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงจิต (หรือ “ผี” แต่โดยเฉพาะเพื่อเขาจะได้เห็นว่าพระกายที่กลับคืนชีพของพระองค์ที่เขาพบนี้เป็นพระกายเดียวกันกับพระกายที่เคยรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เพราะยังมีร่องรอยของพระทรมานปรากฏอยู่ ถึงกระนั้น พระวรกายแท้จริงนี้ก็มีคุณสมบัติใหม่ของพระวรกายรุ่งโรจน์พร้อมกันด้วย พระวรกายนี้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในเวลาและสถานที่อีกต่อไป แต่สามารถไปอยู่ที่ใดและเมื่อใดก็ได้ตามพระประสงค์ เพราะพระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์ไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในโลกอีกต่อไปและอยู่ในปกครองของพระบิดาเจ้าเท่านั้น และเพราะเหตุนี้ พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วจึงทรงอิสระอย่างยิ่งที่จะทรงสำแดงพระองค์ตามที่ทรงประสงค์ เช่นในรูปของคนสวนหรือ “ในรูปอื่น” (มก 16:12) ที่แตกต่างจากรูปที่บรรดาศิษย์เคยรู้จัก ทั้งนี้เพื่อปลุกความเชื่อของพวกเขานั่นเอง

พระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ

CCC ข้อ 659 “เมื่อพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าทรงรับพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ให้ประทับ ณ เบื้องขวา” (มก 16:19) พระกายของพระคริสตเจ้าทรงพระสิริรุ่งโรจน์นับตั้งแต่ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังที่สภาพใหม่เหนือธรรมชาติแสดงให้เห็นว่าจะทรงสภาพเช่นนี้ตลอดไปแต่ระหว่างช่วงเวลาสี่สิบวันที่ทรงดื่มและเสวยพระกระยาหารอย่างเป็นกันเองกับบรรดาศิษย์ สอนพวกเขาเรื่องพระอาณาจักร พระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ยังคงซ่อนอยู่ในรูปร่างของมนุษย์ธรรมดาทั่วไป การสำแดงพระองค์ครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้าจบสิ้นลงเมื่อสภาพมนุษย์ของพระองค์เข้าไปรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าอย่างเด็ดขาดโดยมีเมฆเป็นเครื่องหมาย ในสวรรค์ ที่พระองค์ประทับเบื้องขวาของพระเจ้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงสำแดงองค์โดยวิธีพิเศษเป็นการยกเว้นแก่เปาโล “ผู้เป็นเสมือนเด็กที่คลอดก่อนกำหนด” ด้วย เป็นการแสดงพระองค์ครั้งสุดท้ายและแต่งตั้งเขาให้เป็นอัครสาวก

พันธกิจต่อเนื่องกันของพระบุตรและพระจิตเจ้า

CCC ข้อ 690 พระเยซูทรงเป็นพระคริสตเจ้า “พระผู้ทรงรับเจิม” เพราะพระจิตเจ้าทรงเจิมพระองค์ และไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ทรงรับสภาพมนุษย์ ก็ล้วนหลั่งไหลมาจากความบริบูรณ์นี้ ในที่สุด เมื่อพระคริสตเจ้าทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์แล้ว พระองค์ก็จะประทับอยู่กับพระบิดาและสามารถส่งพระจิตเจ้ามายังผู้ที่เชื่อในพระองค์ได้ด้วย พระจิตเจ้าจะทรงแบ่งปันพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์แก่เขา ซึ่งหมายถึงพระจิตเจ้าผู้ประทานพระสิริรุ่งโรจน์แก่พระคริสตเจ้า ตั้งแต่นี้ไปพันธกิจร่วมกัน (ของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้า) ก็จะครอบคลุมทุกคนที่พระบิดาทรงรับเป็นบุตรบุญธรรมร่วมอยู่ในพระกาย (ทิพย์) ของพระบุตร การส่งพระจิต การรับเป็นบุตรบุญธรรมจะเป็นการรวมมนุษย์กับพระคริสตเจ้าและทำให้เขามีชีวิตในพระองค์

“การเจิมหมายความว่า... เราต้องคิดว่าไม่มีช่องว่างระหว่างพระบุตรกับพระจิตเจ้า เช่นเดียวกับไม่มีช่องว่างที่เรารู้สึกหรือคิดได้คั่นกลางอยู่ระหว่างผิวหนังกับน้ำมันที่เจิม ดังนั้นผู้ที่อยากจะสัมผัสกับพระคริสตเจ้าด้วยความเชื่อ จึงต้องเข้าไปสัมผัสกับน้ำมันที่เจิมเสียก่อน เพราะไม่มีส่วนใดของร่างกายที่ไม่สัมผัสกับพระจิตเจ้า ดังนั้น การจะประกาศว่าพระบุตรทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเกิดขึ้นได้จากผู้ที่รับพระจิตเจ้า พระองค์เสด็จจากทุกทิศมายังทุกคนที่เข้ามาหาพระองค์”

ความหวังถึงฟ้าใหม่และแผ่นดินใหม่  

CCC ข้อ 1042 เมื่อสิ้นพิภพ พระอาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงความสมบูรณ์ หลังการพิพากษามวลมนุษย์แล้ว บรรดาผู้ชอบธรรมจะรับความรุ่งโรจน์ทั้งกายและวิญญาณ จะครองราชย์ตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้า และโลกจักรวาลเองก็จะรับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ เวลานั้น พระศาสนจักร “จะบรรลุถึงความบริบูรณ์ในสิริรุ่งโรจน์แห่งเมืองสวรรค์ เมื่อ […] โลกจักรวาลทั้งหมดซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์และบรรลุถึงจุดหมายของตนอาศัยมนุษย์ ก็จะรับการสถาปนาขึ้นใหม่อย่างสมบูรณ์ในพระคริสตเจ้าพร้อมกับมนุษยชาติทั้งมวลด้วย”

พระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 1060 พระอาณาจักรของพระเจ้าจะบรรลุถึงความบริบูรณ์ของตนเมื่อสิ้นพิภพ เวลานั้นบรรดาผู้ชอบธรรมจะครองราชย์ตลอดนิรันดรพร้อมกับพระคริสตเจ้า ได้รับสิริรุ่งโรจน์ทั้งกายและวิญญาณ และโลกจักรวาลที่เป็นวัตถุก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เวลานั้น พระเจ้าจะทรงเป็น “ทุกสิ่งในทุกคน” (1 คร 15:28) ในชีวิตนิรันดร


ยน 20:21-23 ทันทีหลังจากพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ ซึ่งเป็นเครื่องหมายสูงสุดของชัยชนะเหนือบาปและความตาย พระองค์ทรงตั้งศีลแห่งการอภัยบาปและการคืนดี โดยประทานอำนาจแห่งการอภัยบาปในพระนามของพระองค์ให้แก่บรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อมา การเป่าลมเหนือบรรดาอัครสาวก ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า “วันเปนเตกอสเตของยอห์น” เป็นการกล่าวล่วงหน้าถึงการเสด็จมาของพระจิตเจ้า ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้รับพระจิตจากพระคริสตเจ้า และได้รับอำนาจให้กระทำในพระนามของพระองค์ สำหรับบรรดาอัครสาวกของพระองค์ ที่ได้รับศีลบวชเป็นกลุ่มแรกนี้ ได้รับอำนาจในการอภัยบาปซึ่งเป็นส่วนสำคัญในบทบาทของพวกเขาในการทำให้ประชาชนศักดิ์สิทธิ์ ในการส่งพวกเขาออกไปในโลก พระองค์ทรงกำชับพวกเขาให้สืบทอดภารกิจในการเยียวยารักษาฝ่ายจิตต่อไปโดยทางศีลล้างบาปและศีลอภัยบาป ความเชื่อในเรื่องการอภัยบาป เป็นปัจจัยสำคัญของบทยืนยันความเชื่อของบรรดาอัครสาวก และบทข้าพเจ้าเชื่อของสังคายนานิเชอา ซึ่งเราภาวนาในพิธีกรรมของพระศาสนจักร

พระเยซูคริสตเจ้า  

CCC ข้อ 730 ในที่สุดเวลาของพระเยซูเจ้าก็มาถึง ซึ่งหมายถึงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงมอบจิตของพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระบิดา และเวลาที่จะทรงพิชิตความตายโดยการสิ้นพระชนม์ เพื่อ “จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ […] เดชะพระสิริรุ่งโรจน์ของพระบิดา” (รม 6:4) และต่อมาไม่ช้าจะประทานพระจิตเจ้า “โดยทรงเป่าลม” เหนือบรรดาศิษย์ นับตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป พระพันธกิจของพระคริสตเจ้าและของพระจิตเจ้าก็กลับเป็นพันธกิจของพระศาสนจักร “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:22)

งานธรรมทูต – ความจำเป็นสำหรับสากลภาพของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 858 พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)

ข้าพเจ้าเชื่อการอภัยบาป

CCC ข้อ 976  สูตรยืนยันความเชื่อของอัครสาวกเชื่อมเรื่องการอภัยบาปกับความเชื่อถึงพระจิตเจ้า และยังเชื่อมกับความเชื่อเรื่องพระศาสนจักรและความสัมพันธ์ของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพประทานพระจิตเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก ประทานอำนาจพระเจ้าของพระองค์ที่จะอภัยบาปแก่เขาทั้งหลาย “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัย” (ยน 20:22-23) (อีกภาคหนึ่งของหนังสือคำสอนนี้จะกล่าวอย่างแจ้งชัดถึงการอภัยบาปอาศัยศีลล้างบาป ศีลอภัยบาป และศีลอื่นๆ โดยเฉพาะศีลมหาสนิท ดังนั้น ที่ตรงนี้จึงเพียงพอแล้วที่จะกล่าวสั้นๆ ถึงคำสอนพื้นฐานบางประการเท่านั้น)

ศีลล้างบาปหนึ่งเดียวเพื่ออภัยบาป

CCC ข้อ 977 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงผูกมัดการอภัยบาปเข้ากับความเชื่อและศีลล้างบาป “ท่านทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวดีให้มนุษย์ทั้งมวล ผู้ที่เชื่อและรับศีลล้างบาปก็จะรอดพ้น” (มก 16:15-16) ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดของการอภัยบาป เพราะศีลนี้รวมเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงยอมสละพระชนมชีพเพราะบาปของเรา และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อให้เราเป็นคนชอบธรรม เพื่อ “ให้เราดำเนินชีวิตแบบใหม่” (รม 6:4)

CCC ข้อ 978 “เมื่อเราประกาศยืนยันความเชื่อเป็นครั้งแรกและรับศีลล้างบาป เราก็ได้รับการอภัยบาปโดยสมบูรณ์อย่างที่ว่าไม่มีความผิดใดเหลืออยู่ให้ต้องลบล้างอีก ทั้งความผิดของบาปกำเนิดที่เราได้รับสืบทอดมา และความผิดที่เราได้จงใจทำหรือการจงใจละเว้นไม่ทำหน้าที่ รวมทั้งโทษบาปก็ไม่มีเหลือให้ต้องชดใช้อีกด้วย แต่ถึงกระนั้น พระหรรษทานของศีลล้างบาปก็ไม่ช่วยให้เราพ้นจากความอ่อนแอทุกอย่างตามธรรมชาติของเรา ตรงกันข้าม [...] แต่ละคนต้องต่อสู้กับพลังของตัณหาที่ยังคงชักนำเราให้ทำบาปอย่างไม่หยุดยั้ง”

CCC ข้อ 979 ในการสู้รบกับความเอนเอียงไปหาความชั่วเช่นนี้มีใครบ้างที่แข็งแรงและระวังตัวอยู่ตลอดเวลาจนหลีกหนีบาดแผลของบาปได้ทุกอย่าง “ดังนั้น เนื่องจากว่าในพระศาสนจักรจำเป็นต้องมีอีกอำนาจหนึ่งเพื่ออภัยบาปนอกเหนือจากศีลล้างบาป พระคริสตเจ้าจึงทรงมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้แก่พระศาสนจักรเพื่อจะได้ใช้อำนาจนี้ให้อภัยความผิดแก่ทุกคนที่เป็นทุกข์กลับใจ แม้ว่าเขาจะยังทำบาปอีกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต”

CCC ข้อ 980 ผู้ที่รับศีลล้างบาปแล้วยังอาจคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักรได้อีกอาศัยศีลอภัยบาป “เป็นการเหมาะสมแล้วที่บรรดาปิตาจารย์เรียกศีลอภัยบาปว่าเป็น ‘ศีลล้างบาปที่ลำบากประการหนึ่ง’ ศีลอภัยบาปนี้เป็นศีลที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ตกในบาปหลังจากรับศีลล้างบาปแล้วเท่ากับศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ยังไม่บังเกิดใหม่มาเป็นคริสตชน”

ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น

CCC ข้อ 1287 ความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าเช่นนี้ต้องไม่คงอยู่เพียงกับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่ต้องแบ่งปันกับประชากรทั้งหมดของพระเมสสิยาห์ด้วย พระคริสตเจ้าทรงสัญญาถึงการหลั่งของพระจิตเจ้านี้หลายครั้ง และทรงทำให้พระสัญญานี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันปัสกา หลังจากนั้นในวันเปนเตกอสเต ด้วยวิธีการที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น บรรดาอัครสาวกซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเริ่มประกาศ “กิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (กจ 2:11) และเปโตรก็ประกาศว่าการหลั่งพระจิตเจ้าลงมานี้เป็นเครื่องหมายของเวลาของพระเมสสิยาห์ ผู้ที่ขณะนั้นมีความเชื่อต่อการประกาศเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกรับศีลล้างบาป ก็ได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน

ศีลแห่งการกลับใจและการคืนดี  

CCC ข้อ 1485 ค่ำวันปัสกา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวก ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับอภัยด้วย” (ยน 20:22-23)

CCC ข้อ 1486 การอภัยบาปที่ได้ทำหลังรับศีลล้างบาปเกิดขึ้นได้โดยศีลศักดิ์สิทธิ์เฉพาะที่เรียกว่า ศีลแห่งการกลับใจ การสารภาพบาป ศีลอภัยบาป หรือศีลแห่งการกลับคืนดี

CCC ข้อ 1487 ผู้ที่ทำบาป ทำร้ายต่อพระเกียรติและความรักของพระเจ้า ทำร้ายต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ต่อสภาพความดีฝ่ายจิตของพระศาสนจักรที่คริสตชนแต่ละคนต้องเป็นศิลาทรงชีวิตที่ก่อสร้างพระศาสนจักรนี้

CCC ข้อ 1488 จากมุมมองของความเชื่อ ไม่มีภยันตรายใดที่ร้ายแรงกว่าบาป และไม่มีสิ่งใดที่มีผลร้ายมากกว่าสำหรับคนบาป สำหรับพระศาสนจักรและสำหรับทั่วโลก


ยน 20:24-29 ความดื้อรั้นช่างสงสัยของโทมัสแสดงให้เห็นว่า แม้กระทั่งบางคนในบรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าเองก็ยังรู้สึกยากที่จะเชื่อถึงการกลับคืนชีพของพระองค์  “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” : การอุทานของโทมัสนี้ไม่เพียงแต่แสดงออกถึงการจำพระองค์ได้ แต่ยังบ่งบอกถึงการนมัสการพระองค์ด้วย บรรดาคริสตชนก็เช่นกัน ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ พวกเขาสามารถจำพระคริสตเจ้าผู้ทรงชีวิตได้ในศีลมหาสนิท

องค์พระผู้เป็นเจ้า  

CCC ข้อ 448 หลายต่อหลายครั้งในพระวรสาร ประชาชนที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าทูลเรียกพระองค์ว่า“องค์พระผู้เป็นเจ้า” ตำแหน่งนี้เป็นพยานยืนยันถึงความเคารพและความเชื่อมั่นของผู้ที่เข้ามาเฝ้าพระเยซูเจ้าและขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและรักษาโรค การทูลเรียกดังกล่าวโดยการดลใจของพระจิตเจ้าแสดงถึงการยอมรับพระธรรมล้ำลึกว่าพระเยซูเจ้าคือองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อพบพระองค์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว การทูลเรียกพระนามเช่นนี้เป็นการถวายนมัสการแด่พระองค์ด้วย “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28) ถ้อยคำเช่นนี้จึงรวมความหมายถึงความรักและความเลื่อมใสที่ปรากฏเป็นนอัตลักษณ์ของธรรมประเพณีคริสตชนตลอดมา “เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้านี่” (ยน 21:7)

การแสดงองค์ของพระเยซูเจ้าหลังจากทรงคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 643 ต่อหน้าพยานเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าว่าไม่ได้อยู่ในระบบทางกายภาพ และไม่ยอมรับว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความเชื่อของบรรดาศิษย์ได้ถูกทดสอบอย่างหนักจาก พระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระอาจารย์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงแจ้งไว้ล่วงหน้าแล้วความสะเทือนใจที่เกิดจากพระทรมานนี้หนักหนาสาหัสจนว่าบรรดาศิษย์ (อย่างน้อยบางคนในพวกเขา) มิได้เชื่อทันทีเมื่อได้รับข่าวการกลับคืนพระชนมชีพ แทนที่จะเล่าว่ากลุ่มบรรดาศิษย์มีประสบการณ์เข้าฌานชิดสนิทกับพระเจ้า พระวรสารทุกฉบับกล่าวว่า พวกเขารู้สึกท้อแท้ (“ใบหน้าเศร้าหมอง” - ลก 24:17) และมีความกลัว ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อบรรดาสตรีผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่กลับมาจากพระคูหา และคิดว่าถ้อยคำของพวกเธอ “เป็นเรื่องเหลวไหล” (ลก 24:11) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาอัครสาวกสิบเอ็ดคนตอนเย็นวันปัสกา พระองค์จึง “ทรงตำหนิพวกเขาที่ไม่ยอมเชื่อและมีใจแข็งกระด้างเพราะไม่ยอมเชื่อผู้ที่เห็นพระองค์เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16:14)

CCC ข้อ 644 แม้เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆ แล้ว บรรดาศิษย์ก็ยังมีความสงสัย เห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เขาคิดว่าตนกำลังเห็นผี “เขายินดีและแปลกใจจนไม่อยากเชื่อ” (ลก 24:41) โทมัสก็มีความสงสัยต้องการพิสูจน์เหมือนกัน และในโอกาสที่ทรงสำแดงพระองค์เป็นครั้งสุดท้ายในแคว้นกาลิลีที่มัทธิวเล่าไว้ “บางคนยังสงสัยอยู่” (มธ 28:17) ดังนั้น สมมุติฐานที่คิดว่าการกลับคืนพระชนมชีพเป็น “ผล” ที่เกิดจากความเชื่อ (หรือความงมงาย) ของบรรดาอัครสาวกจึงไม่สมเหตุผล ตรงกันข้าม ความเชื่อของพวกเขาถึงการกลับคืนพระชนมชีพเกิดขึ้น – โดยอิทธิพลของพระหรรษทาน – จากประสบการณ์โดยตรงกับพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 645 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 20:19-20)

CCC ข้อ 659 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 20:19-20)

พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิทเดชะพระวาจาและพระอานุภาพของพระจิตเจ้า  

CCC ข้อ 1381 “การที่พระกายแท้จริงและพระโลหิตแท้จริงของพระคริสตเจ้าอยู่ในศีลนี้ นักบุญโทมัสกล่าวว่า ‘เรารู้ได้ไม่ใช่ด้วยประสาทสัมผัส แต่ด้วยความเชื่อเท่านั้น ความเชื่อนี้อิงอยู่กับพระอานุภาพของพระเจ้า ดังนั้น นักบุญซีริลจึงกล่าวถึงพระวาจาที่พบในพระวรสารของลูกา (บทที่ 22 ข้อ 9) นี่เป็นกายของเราที่ถูกมอบเพื่อท่านทั้งหลายว่า ท่านอย่าสงสัยเลยว่าข้อความนี้จริงหรือเปล่า แต่จงรับพระวาจานี้ของพระผู้ไถ่ด้วยความเชื่อ เพราะพระองค์ทรงเป็นความจริง จึงไม่ทรงมุสา’”

« Adoro Te devote, latens Deitas, “ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงซ่อนเร้น ข้าพเจ้าขอนมัสการพระองค์ด้วยความ ศรัทธา

quae sub his figuris vere latitas; พระองค์ทรงซ่อนอยู่ภายใต้รูปปรากฏเหล่านี้

Tibi se cor meum totum subicit ดวงใจของข้าพเจ้ายอมอยู่ภายใต้พระองค์

quia Te contemplans totum deficit. เพราะทุกสิ่งที่พิจารณาถึงพระองค์ล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ

Visus, tactus, gustus in Te fallitur, การมอง การสัมผัส การรู้รส ล้วนล้มเหลวเมื่อใช้กับพระองค์

sed auditu solo tute creditur; เรามีความเชื่อได้จากการฟัง (จากพระองค์) เท่านั้น

credo quidquid dixit Dei Filius, ข้าพเจ้าเชื่อทุกสิ่งที่พระบุตรของพระเจ้าตรัส

verbo veritatis nihil verius ». ไม่มีอะไรจริงกว่าพระวาจาแห่งความจริงอีกแล้ว” 


ยน 20:30-31 นักบุญยอห์นได้เขียนถึงเจตจำนงของท่านในการนิพนธ์พระวรสาร ในฐานะที่ท่านเป็นประจักษ์พยานในชีวิตของพระคริสตเจ้า ท่านปรารถนาจะท้าทายผู้อ่านด้วยเรื่องเล่าน่าสนใจซึ่งนำบรรดาผู้อ่านให้เชื่อในพระเยซูเจ้าในฐานะที่ทรงเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า พระวรสารของท่านเมื่อเสริมเติมด้วยพระวรสารเล่มอื่นๆ จึงไม่ใช่ประวัติหรือชีวประวัติที่สมบูรณ์ของพระคริสตเจ้า เนื่องจากมีหลายสิ่งหลายอย่างยิ่งใหญ่ที่ยังไม่ได้มีการบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ดังที่ยอห์นได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน สิ่งที่บันทึกนั้นเขียนขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเกิดความเชื่อมากกว่าที่จะทำให้เข้าใจถึงชีวประวัติตามข้อเท็จจริง

การดลใจของพระเจ้าและความจริงในพระคัมภีร์

CCC ข้อ 105 พระเจ้าทรงเป็นผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ “ข้อความจริงต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบและมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้นได้รับการบันทึกไว้ด้วยการดลใจของพระจิตเจ้า”

“พระศาสนจักรมารดาศักดิ์สิทธิ์ อาศัยความเชื่อที่สืบจากอัครสาวก ถือว่าหนังสือทุกเล่มในพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ รวมทั้งส่วนต่างๆ ทุกส่วนในหนังสือเหล่านั้นทั้งหมดเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์และอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ เพราะได้เขียนขึ้นโดยการดลใจของพระจิตเจ้า มีพระเจ้าทรงเป็นผู้นิพนธ์และพระศาสนจักรได้รับมอบหมายในฐานะเป็นหนังสือเช่นนี้”

พันธสัญญาใหม่  

CCC ข้อ 124 “พระวาจาของพระเจ้า ซึ่งเป็นฤทธานุภาพของพระองค์และนำความรอดพ้นมาให้ทุกคนที่มีความเชื่อ ปรากฏและแสดงพลังอย่างเลิศล้ำในข้อเขียนของพันธสัญญาใหม่” ข้อเขียนเหล่านี้มอบความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้โดยสมบูรณ์ เรื่องราวที่เป็นศูนย์กลางของข้อเขียนเหล่านี้คือพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ พระจริยวัตร คำสั่งสอน พระทรมานและการที่ทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์ เช่นเดียวกับการเริ่มต้นของพระศาสนจักรโดยที่พระจิตเจ้าทรงช่วยอุดหนุน

CCC ข้อ 125 พระวรสาร คือหัวใจของพระคัมภีร์ทั้งหมด “เพราะเป็นพยานสำคัญถึงพระชนมชีพและคำสั่งสอนของพระวจนาตถ์ผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ พระผู้ไถ่ของเรา”

CCC ข้อ 126 เราอาจแบ่งขั้นตอนการรวบรวมพระวรสารได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ

1. พระชนมชีพและการเทศน์สอนของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรยึดถืออย่างมั่นคงว่า พระวรสารทั้งสี่ฉบับ “บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงๆ บอกอย่างซื่อสัตย์ให้เรารู้ถึงสิ่งที่พระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า ทรงกระทำและทรงสั่งสอนจริงๆ ขณะที่ทรงพระชนม์อยู่ท่ามกลางมนุษย์จนถึงวันที่เสด็จสู่สวรรค์”

2. ธรรมประเพณีเล่าสืบต่อมาเป็นคำพูด “เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จสู่สวรรค์แล้ว บรรดาอัครสาวกก็ถ่ายทอดสิ่งที่พระองค์เคยตรัสและเคยทรงกระทำให้ผู้ฟังต่อมาด้วยความเข้าใจที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เขาได้รับความเข้าใจนี้จากเหตุการณ์รุ่งโรจน์ต่างๆ ของพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และได้รับการสั่งสอนจากความสว่างของพระจิตเจ้าแห่งความจริง”

3. พระวรสารที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร “ผู้นิพนธ์ได้เขียนพระวรสารทั้งสี่ฉบับ โดยคัดเลือกเอาบางสิ่งบางอย่างจากเหตุการณ์และจากพระวาจาจำนวนมากมายที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยเล่าด้วยปากต่อปากหรือที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และยังสังเคราะห์บางเรื่องเข้าด้วยกัน หรืออธิบายโดยคำนึงถึงสภาพการณ์ของกลุ่มคริสตชนต่างๆ โดยยังยึดถือรูปแบบการประกาศข่าวดีไว้เสมอ และดังนี้เขาจึงถ่ายทอดความจริงเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าให้แก่เราด้วยความจริงใจ”

พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า

CCC ข้อ 442 แต่นี่ไม่ใช่ในกรณีของเปโตรที่ประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็น “พระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” เพราะพระเยซูเจ้าทรงตอบเขาอย่างสง่าว่า “มิใช่มนุษย์ที่เปิดเผยให้ท่านรู้ แต่พระบิดาเจ้าของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงเปิดเผย” (มธ 16:17) เปาโลก็จะกล่าวเช่นเดียวกันถึงการกลับใจของตนขณะที่กำลังเดินทางไปยังกรุงดามัสกัสว่า “พระเจ้าผู้ทรงเลือกสรรข้าพเจ้าไว้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา ก็ทรงเรียกข้าพเจ้าเดชะพระหรรษทานของพระองค์ และพอพระทัยที่จะแสดงพระบุตรของพระองค์ในตัวข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประกาศข่าวดีถึงพระบุตรแก่บรรดาคนต่างศาสนา...” (กท 1:15-16) “เขาเทศน์สอนในศาลาธรรมทันที ประกาศว่าพระเยซูเจ้าพระองค์นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า” (กจ 9:20) ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว การรับว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าจะเป็นหัวใจของความเชื่อที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวก ซึ่งเปโตรได้ประกาศเป็นรากฐานของพระศาสนจักร

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึก

CCC ข้อ 514 เรื่องราวหลายเรื่องที่เราอยากรู้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าไม่มีบันทึกไว้ในพระวรสาร พระวรสารแทบจะไม่ได้เล่าอะไรเลยเกี่ยวกับพระชนมชีพของพระองค์ที่เมืองนาซาเร็ธ และส่วนใหญ่ของพระชนมชีพเปิดเผยของพระองค์ก็ไม่มีเล่าไว้เลย เรื่องราวที่พระวรสารบันทึกไว้ก็ถูกเล่า “เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เชื่อว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อนี้แล้ว ท่านทั้งหลายก็จะมีชีวิตเดชะพระนามของพระองค์” (ยน 20:31)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)