แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพุธ สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลมหาพรต

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 8:31-42)                      

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับชาวยิวที่เชื่อในพระองค์ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง ท่านจะรู้ความจริง และความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ”

คนเหล่านั้นจึงตอบว่า “พวกเราเป็นเชื้อสายของอับราฮัม และไม่เคยเป็นทาสของใคร ท่านพูดได้อย่างไรว่า ‘ท่านทั้งหลายจะเป็นอิสระ’”

พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ‘ทุกคนที่ทำบาปก็เป็นทาสของบาป ทาสย่อมไม่พำนักอยู่ในบ้านตลอดไป แต่บุตรพำนักอยู่ตลอดไป ดังนั้น ถ้าพระบุตรทำให้ท่านเป็นอิสระ ท่านก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง เรารู้ว่าท่านทั้งหลายเป็นเชื้อสายของอับราฮัม แต่ท่านพยายามจะฆ่าเรา เพราะวาจาของเราไม่ซึมซาบเข้าไปในท่าน เราบอกสิ่งที่เราได้เห็นเมื่อเราอยู่เฉพาะพระพักตร์พระบิดา ท่านทั้งหลายก็ทำตามที่ท่านได้ยินจากบิดาของท่านด้วย’” คนเหล่านั้นตอบพระองค์ว่า “บิดาของพวกเราคืออับราฮัม”

พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรของอับราฮัม ท่านจงทำกิจการของอับราฮัมเถิด แต่บัดนี้ ท่านกำลังพยายามจะฆ่าเรา ซึ่งเป็นคนบอกความจริงที่เราได้ยินมาจากพระเจ้าให้ท่านฟัง อับราฮัมไม่เคยทำเช่นนี้เลย ท่านไม่ทำกิจการของอับราฮัม แต่ทำกิจการของบิดาของท่าน”

คนเหล่านั้นเถียงว่า “เราไม่ใช่ลูกไม่มีพ่อ บิดาเดียวที่เรามีคือพระเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้าพระเจ้าทรงเป็นบิดาของท่านจริง ท่านคงจะรักเรา เพราะเรามาจากพระเจ้า เราไม่ได้มาตามใจตนเอง แต่พระองค์ทรงส่งเรามา” 


ยน 8:31-32  ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ : มักมีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องอิสรภาพว่า เป็นสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการกระทำโดยไม่ต้องคำนึงมาตรฐานหรือแนวทางศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามอิสรภาพแท้จริงต้องเป็นการปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับกฎศีลธรรม และการทำให้สารแห่งพระวรสารเกิดผลในชีวิตของเรา

อิสรภาพของมนุษย์ในแผนการความรอดพ้น

CCC ข้อ 1739 อิสรภาพและบาป อิสรภาพของมนุษย์มีขอบเขตและผิดพลาดได้ ในความเป็นจริง มนุษย์ผิดพลาดเขาทำบาปโดยเสรี ถ้าเขาไม่ยอมรับแผนการณ์ความรักของพระเจ้า เขาก็หลอกตนเอง กลายเป็นทาสของบาป การแยกตนออกไปครั้งแรกนี้ก่อให้เกิดการแยกตนออกไปอื่นๆ อีกหลายครั้ง ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่เริ่มแรกแล้วเป็นพยานแสดงให้เห็นความวุ่นวายและการเบียดเบียนกันที่เกิดมาจากใจของมนุษย์ เป็นผลร้ายสืบเนื่องมาจากการใช้อิสรภาพอย่างไม่ถูกต้อง

CCC ข้อ 1740 อันตรายที่คุกคามอิสรภาพ การใช้อิสรภาพมิได้หมายถึงสิทธิที่จะพูดหรือทำอะไรได้ทุกอย่าง  เป็นความเข้าใจผิดที่จะคิดว่า “มนุษย์แต่ละคนซึ่งเป็นผู้มีอิสรภาพนี้เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาใคร อาจใช้สิ่งของต่างๆ ของโลกนี้ได้ตามใจตนเองเพื่อประโยชน์ของตนเอง” นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่จำเป็นเพื่อใช้อิสรภาพอย่างถูกต้องบ่อยครั้งมากทีเดียวกลับถูกมองข้ามและล่วงละเมิด สภาพความมืดบอดและอยุติธรรมเหล่านี้ล้วนทำร้ายชีวิตด้านศีลธรรมและมักจะชักนำทั้งผู้เข้มแข็งและผู้อ่อนแอให้ถูกผจญที่จะทำบาปผิดต่อความรัก ถ้ามนุษย์ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎศีลธรรม เขาก็ย่อมทำร้ายต่ออิสรภาพของตน จองจำตนเอง ทำลายความเป็นพี่น้องกับเพื่อนมนุษย์และขัดสู้ต่อต้านความจริงของพระเจ้า

CCC ข้อ 1741 การช่วยให้รอดพ้นและความรอด พระคริสตเจ้าทรงนำความรอดพ้นมาให้มนุษย์ทุกคนเดชะไม้กางเขนรุ่งโรจน์ของพระองค์ พระองค์ทรงไถ่เขาคืนมาจากบาปที่เคยจองจำเขาไว้เป็นทาส “พระคริสตเจ้าทรงปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระแล้ว” (กท 5:1) ในพระองค์เรามีความสัมพันธ์กับความจริงที่ช่วยเราให้รอดพ้น พระเจ้าประทานพระจิตเจ้าแก่เรา และ “พระจิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตที่ใด เสรีภาพย่อมอยู่ที่นั่น” (2 คร 3:17) ดังที่ท่านอัครสาวกสอนเรา ตั้งแต่เวลานี้แล้วเรารู้สึกภูมิใจที่มีอิสรภาพของบรรดาบุตรของพระเจ้า

ดำเนินชีวิตในความจริง

CCC ข้อ 2466  ความจริงของพระเจ้าปรากฏชัดเจนอย่างสมบูรณ์ในพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทานและความจริงทรงเป็น “แสงสว่างส่องโลก” (ยน 8:12) พระองค์ทรงเป็นความจริง ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ไม่อยู่ในความมืด ศิษย์ของพระเยซูเจ้ายึดมั่นในพระวาจาของพระองค์เพื่อจะรู้ความจริงซึ่งจะช่วยให้เป็นอิสระและบันดาลให้ศักดิ์สิทธิ์ การติดตามพระเยซูเจ้าเป็นการดำเนินชีวิตเดชะพระจิตเจ้าแห่งความจริงที่พระบิดาทรงส่งมาในพระนามของพระองค์ ผู้ทรงนำเราไปสู่ความจริงทั้งมวล” (ยน 16:13) พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ให้รักความจริงโดยไม่มีเงื่อนไข “ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’” (มธ 5:37)


ยน 8:33  ไม่เคยเป็นทาสของใคร : ความหมายของคำกล่าวนี้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากประวัติศาสตร์ของชาวยิวเต็มไปด้วยช่วงเวลาแห่งการเป็นทาสและการถูกกดขี่ข่มเหง อย่างไรก็ตามพระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงการเป็นทาสของบาปและอิสรภาพจากบาปที่ผู้เป็นบุตรของพระเจ้าได้รับ แต่ด้วยการอวดอ้างในในความดีของตน ทำให้ชาวฟาริสีมองไม่เห็นบาปของตนเอง

ข้าพเจ้าเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรหนึ่งเดียวของพระเจ้า 

CCC ข้อ 431 ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น พระเจ้าไม่ทรงต้องการเพียงช่วยอิสราเอลให้พ้น “จากการเป็นทาส” (ฉธบ 5:6) ช่วยให้ออกมาจากอียิปต์ พระองค์ยังทรงช่วยเขาให้พ้นจากบาปด้วย เพราะบาปคือการทำผิดต่อพระเจ้าเสมอ พระองค์เท่านั้นจึงทรงอภัยบาปได้ เพราะเหตุนี้ อิสราเอลซึ่งมีสำนึกยิ่งๆ ขึ้นอยู่เสมอว่าบาปครอบคลุมมนุษย์ทั้งมวล จึงไม่อาจแสวงหาความรอดพ้นได้อีกนอกจากจะร้องหาพระนามของพระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดพ้นเท่านั้น

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเองในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาป อย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด

อิสรภาพของมนุษย์ในแผนการความรอดพ้น

CCC ข้อ 1739 อิสรภาพและบาป อิสรภาพของมนุษย์มีขอบเขตและผิดพลาดได้ ในความเป็นจริง มนุษย์ผิดพลาดเขาทำบาปโดยเสรี ถ้าเขาไม่ยอมรับแผนการณ์ความรักของพระเจ้า เขาก็หลอกตนเอง กลายเป็นทาสของบาป การแยกตนออกไปครั้งแรกนี้ก่อให้เกิดการแยกตนออกไปอื่นๆ อีกหลายครั้ง ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตั้งแต่เริ่มแรกแล้วเป็นพยานแสดงให้เห็นความวุ่นวายและการเบียดเบียนกันที่เกิดมาจากใจของมนุษย์ เป็นผลร้ายสืบเนื่องมาจากการใช้อิสรภาพอย่างไม่ถูกต้อง


ยน 8:35  ทาส… บุตร : พระคริสตเจ้าเสด็จมาเพื่อปลดปล่อยเราจากการเป็นทาสของบาป และทำให้เราเป็นบุตรของพระเจ้า สิ่งนี้สามารถสำเร็จไปได้โดยอาศัยศีลล้างบาป

พระเจ้าทรงเลือกอับราฮัม

CCC ข้อ 60 ประชากรที่สืบเชื้อสายมาจากอับราฮัมจะเป็นผู้รักษาพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับบรรพบุรุษ เป็นประชากรที่ได้รับการเลือกสรร ที่ทรงเรียกมาเตรียมชุมชนบุตรทุกคนของพระเจ้าเข้ามาในเอกภาพของพระศาสนจักร ประชากรนี้จะเป็นเสมือนเหง้าที่บรรดาชนต่างศาสนาที่เข้ามามีความเชื่อจะถูกนำมาทาบติดไว้

เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า

CCC ข้อ 549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่น ความหิว ความอยุติธรรม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์

พระจิตเจ้าแห่งพระสัญญา

CCC ข้อ 706 ตรงข้ามกับความหวังที่มนุษย์อาจมีได้ พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานลูกหลานแก่อับราฮัมเป็นผลของความเชื่อและพระอานุภาพของพระจิตเจ้า ชนทุกชาติบนแผ่นดินนี้จะได้รับพรผ่านทางเชื้อสายของเขา “เชื้อสาย” นี้ก็คือพระคริสตเจ้า ในพระคริสตเจ้านี้พระพรของพระจิตเจ้าจะนำบรรดาบุตรที่กระจัดกระจายไปของพระเจ้าเข้ามารวมด้วยกันอีก เมื่อทรงสาบานผูกมัดพระองค์ พระเจ้าก็ทรงผูกมัดพระองค์จะประทานพระบุตรสุดที่รักของพระองค์แล้ว รวมทั้งทรงสัญญาจะประทานพระจิตเจ้าซึ่งจะทรงเตรียมการไถ่กู้ประชากรที่พระเจ้าทรงได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์


ยน 8:36  พระบุตรทำให้ท่านเป็นอิสระ : การถวายบูชาแห่งการไถ่กู้ของพระคริสตเจ้าปลดปล่อยเราให้เป็นอิสระจากบาปแห่งความหยิ่งผยอง ความโกรธ ตัณหา ความโลภ ฯลฯ และจากอำนาจของปีศาจชั่วร้ายด้วย ความจริงนี้สะท้อนให้เห็นในบทภาวนาเสกศีลในพิธีบูชาขอบพระคุณที่ว่า "นี่คือถ้วยโลหิตของเรา  พระโลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง  โลหิตซึ่งจะหลั่งออกเพื่ออภัยบาปสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งหลาย”

พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราตามความในพระคัมภีร์

CCC ข้อ 601 พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องการถูกประหารชีวิตของ “ผู้รับใช้ชอบธรรม” ถึงแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกการไถ่กู้มวลมนุษยชาติให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป ในการประกาศความเชื่อครั้งหนึ่งที่ท่านกล่าวว่าตน “ได้รับมา”  นักบุญเปาโลประกาศว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1 คร 15:3) การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษยชาตินี้ทำให้คำประกาศพระวาจาเรื่อง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” สำเร็จเป็นจริง พระเยซูเจ้าเองทรงอธิบายความหมายพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในมุมมองของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงอธิบายความหมายนี้ของพระคัมภีร์แก่ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส และหลังจากนั้นแก่บรรดาอัครสาวกด้วย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)