วันพุธ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 5:17-30)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนยันว่า “พระบิดาของเราทรงทำงานอยู่เสมอ เราก็ทำงานด้วยเช่นเดียวกัน” เพราะคำยืนยันนี้ ชาวยิวยิ่งพยายามจะฆ่าพระองค์ให้ได้ เพราะพระองค์ไม่เพียงแต่ละเมิดวันสับบาโตเท่านั้น แต่ยังทรงเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาของพระองค์อีกด้วย ซึ่งเป็นการทำตนเสมอพระเจ้า
พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า พระบุตรไม่ทำสิ่งใดตามใจของตน แต่ทำเฉพาะสิ่งที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำเท่านั้น เพราะสิ่งใดที่พระบิดาทรงกระทำ พระบุตรก็ย่อมกระทำเช่นเดียวกัน เพราะพระบิดาทรงรักพระบุตร และทรงแสดงให้พระบุตรเห็นทุกสิ่งที่ทรงกระทำ และจะทรงแสดงให้พระบุตรเห็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก เพื่อให้ท่านทั้งหลายรู้สึกประหลาดใจ พระบิดาทรงทำให้ผู้ตายกลับคืนชีวิต และประทานชีวิตให้ฉันใด พระบุตรก็ประทานชีวิตให้แก่ผู้ที่พอพระทัยฉันนั้น เพราะพระบิดาไม่ทรงพิพากษาผู้ใด แต่ทรงมอบการพิพากษาทั้งหมดให้พระบุตร เพื่อทุกคนจะได้ถวายพระเกียรติแด่พระบุตร ดังที่เขาถวายพระเกียรติแด่พระบิดา ผู้ที่ไม่ถวายพระเกียรติแด่พระบุตร ก็ไม่ถวายพระเกียรติแด่พระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมา เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้ที่ฟังวาจาของเรา และมีความเชื่อในพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา ก็ย่อมมีชีวิตนิรันดร และไม่ต้องถูกพิพากษา แต่เขาได้ผ่านจากความตายเข้าสู่ชีวิตแล้ว เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า เวลานั้นกำลังจะมาถึง และขณะนี้ก็กำลังเริ่มแล้ว เมื่อผู้ตายจะได้ยินพระสุรเสียงของพระบุตรพระเจ้า และผู้ที่ได้ยินแล้วจะมีชีวิต เพราะพระบิดาทรงมีชีวิตในพระองค์ฉันใด พระองค์ก็ประทานให้พระบุตรมีชีวิตในพระองค์เองฉันนั้น พระบิดาได้ประทานให้พระบุตรมีอำนาจพิพากษา เพราะพระบุตรทรงเป็นบุตรแห่งมนุษย์ ท่านทั้งหลายอย่าแปลกใจในเรื่องนี้เลย เพราะถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในหลุมศพจะได้ยินพระสุรเสียงของพระบุตรและจะออกมา ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีวิตมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่ว ก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์ เราทำอะไรตามใจของเราไม่ได้ เราได้ยินมาอย่างไร เราก็พิพากษาอย่างนั้น และคำพิพากษาของเราก็ถูกต้อง เพราะเรามิได้แสวงหาที่จะทำตามใจของเรา แต่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา”
ยน 5:17-18 พระบิดาของเราทรงทำงานอยู่เสมอ เราก็ทำงานด้วยเช่นเดียวกัน : เรามองว่าการถือปฏิบัติเรื่องการพักผ่อนในวันสับบาโตเป็นการทำตามแบบอย่างของพระเจ้า พระคัมภีร์บอกเราว่าพระเจ้าทรงพักในวันที่เจ็ดของการเนรมิตสร้าง ตามการอธิบายของนักบุญโทมัส อไควนัส ที่ว่า การพูดว่าพระเจ้าทรงพักผ่อนนั้นไม่ได้หมายความว่าพระองค์ทรงอยู่นิ่งเฉย “เป็นความจริงว่าในวันสับบาโตพระองค์ทรงพักผ่อนจากการเนรมิตสร้างสิ่งใหม่ๆ แต่พระองค์ยังทรงทำงานอย่างต่อเนื่องโดยรักษาสิ่งเหล่านั้นให้ดำรงคงอยู่” (Super Evangelium Ioannis, ad loc.) ในที่นี้พระคริสตเจ้าทรงยืนยันว่าการเลียนแบบพระเจ้าในวันสับบาโตคือการทำกิจการดีต่อไป คำกล่าวนี้ยังยืนยันถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์อีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ศัตรูตั้งข้อหาพระองค์ทั้งในเรื่องการละเมิดวันสับบาโตและการดูหมิ่นพระเจ้า
พระเยซูเจ้าและอิสราเอล
CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย
พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยังตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์ แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้า หรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น
CCC ข้อ 594 พระเยซูเจ้าทรงประกอบกิจการหลายอย่างที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงช่วยให้รอดพ้น เช่น การอภัยบาป ชาวยิวบางคนซึ่งไม่ยอมรับว่าพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ในพระองค์ จึงคิดว่าพระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อ้างว่าตนเป็นพระเจ้า และตัดสินว่าพระองค์ทรงดูหมิ่นพระเจ้า
ยน 5:19-29 พระคริสตเจ้าตรัสถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของพระองค์กับพระบิดา ผู้ประทานอำนาจให้แก่พระองค์ในการตัดสินพิพากษาเหนือผู้เป็นและผู้ตาย การระบุถึงความเท่าเทียมกันของพระองค์เองกับพระบิดาเป็นเหตุให้บางคนเกิดความสงสัยและขุ่นเคือง พระบุตรทรงปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการปฏิเสธพระบุตรก็เท่ากับเป็นการปฏิเสธพระบิดาผู้ทรงส่งพระองค์มาด้วย ค่าของการปฏิเสธนั้นก็คือการสูญเสียชีวิตนิรันดร์โดยเจตนา
พระคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ
CCC ข้อ 635 พระคริสตเจ้าเสด็จลงไปยังส่วนลึกของความตาย เพื่อ “บรรดาผู้ตาย” จะได้ยิน “พระสุรเสียงของพระบุตรพระเจ้า และผู้ที่ได้ยินแล้วจะมีชีวิต” (ยน 5:25) พระเยซูเจ้า “เจ้าชีวิต” “โดยการสิ้นพระชนม์” ได้ทรงทำลาย “มารผู้มีอำนาจเหนือความตายลงได้” และทรงปลดปล่อย “ผู้ตกเป็นทาสอยู่ตลอดชีวิตเพราะความกลัวตาย” ให้เป็นอิสระ (ฮบ 2:14-15) ต่อจากนั้นพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงทรง “มีอำนาจเหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18) และ “ทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน รวมทั้งใต้พื้นพิภพจะย่อเข่าลงนมัสการพระนามเยซูนี้” (ฟป 2:10)
“วันนี้ในแผ่นดินมีความเงียบยิ่งใหญ่ ต่อจากความเงียบยิ่งใหญ่ก็มีแต่ความอ้างว้างวังเวง มีความเงียบยิ่งใหญ่ก็เพราะพระมหากษัตริย์ทรงพระบรรทม แผ่นดินตกใจกลัวและสงบเงียบ เพราะพระเจ้าผู้ทรงพระกายทรงพระบรรทม และทรงปลุกผู้ที่หลับอยู่ตั้งแต่สร้างโลกมา […] ใช่แล้ว พระองค์เสด็จไปหาบิดามารดาเดิมประหนึ่งเสด็จตามหาแกะที่หลงไป ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเสด็จเยี่ยมผู้พำนักอยู่ในความมืดและในเงาความตาย ก่อนอื่นใด พระองค์เสด็จไปปลดปล่อยอาดัมผู้ถูกจองจำให้พ้นจากความทุกข์ พร้อมกับเอวาผู้ถูกจองจำ – พระองค์ผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและเป็นลูกหลานของเขา […] (ตรัสว่า) ‘เราคือพระเจ้าของท่าน ซึ่งกลับเป็นบุตรของท่านเพราะท่าน […] ท่านซึ่งกำลังหลับอยู่ จงตื่นเถิด เพราะเราได้เนรมิตสร้างท่าน ไม่ใช่เพื่อให้ท่านถูกจองจำในแดนมรณะ จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตายเถิด เราเป็นชีวิตของบรรดาผู้ตาย’”
เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย
CCC ข้อ 679 พระคริสตเจ้าทรงเป็นเจ้านายของชีวิตนิรันดร ในฐานะพระผู้กอบกู้โลก พระองค์ทรงมีสิทธิเต็มที่ที่จะพิพากษาการกระทำและความคิดในใจของมนุษย์อย่างเด็ดขาด พระองค์ “ทรงได้สิทธิ” นี้มาโดยไม้กางเขนของพระองค์ พระบิดายัง “ทรงมอบการพิพากษาทั้งหมดให้พระบุตร” ด้วย (ยน 5:22) พระบุตรเสด็จมามิใช่เพื่อตัดสินลงโทษ แต่เพื่อโลกจะได้รับความรอดพ้น และเพื่อประทานชีวิตที่ทรงมีให้ (แก่โลก) ผู้ที่ไม่ยอมรับพระหรรษทานในชีวิตนี้ก็พิพากษาตัดสินตนเองแล้ว เขาจะรับผลตามงานที่เขาทำ และถ้าเขาปฏิเสธไม่ยอมรับพระจิตเจ้าแห่งความรักเขาก็ยังจะตัดสินลงโทษตนเองตลอดนิรันดรด้วย
ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร
CCC ข้อ 998 ใครจะกลับคืนชีพ? มนุษย์ทุกคนที่ตายแล้ว “ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีวิตมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:29)
ผลของศีลอภัยบาป
CCC ข้อ 1470 เมื่อคนบาปมอบตนแก่การตัดสินที่ทรงพระกรุณาของพระเจ้าในศีลนี้ เขาก็เสมือนว่า ยอมรับการตัดสินล่วงหน้าก่อนที่เขาจะต้องรับตอนปลายของชีวิตในโลกนี้ เพราะบัดนี้ ในชีวิตนี้พระเจ้าประทานโอกาสให้เราเลือกระหว่างชีวิตและความตายได้ และเราอาจเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้าที่บาปหนักกีดกั้นเราไว้ได้ก็โดยผ่านทางการกลับใจเท่านั้น คนบาปที่กลับมาหาพระคริสตเจ้าโดยการเป็นทุกข์กลับใจและความเชื่อ ย่อมผ่านจากความตายมาสู่ชีวิต “และไม่ถูกพิพากษาลงโทษ” (ยน 5:24)
ยน 5:19 พระประสงค์ของพระคริสตเจ้าสอดคล้องอย่างครบครันกับพระประสงค์ของพระบิดาจนพระองค์ทรงทำให้พระประสงค์นั้นสำเร็จลุล่วงไปอย่างสมบูรณ์ ในทางกลับกัน พระคริสตเจ้าทรงเชื้อเชิญบรรดาศิษย์ให้ติดตามแบบอย่างและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ หากปราศจากพระองค์ พวกเขาก็ไม่มีพละกำลังใดเลย
พันธกิจของบรรดาอัครสาวก
CCC ข้อ 859 พระเยซูเจ้าทรงรับเขาเหล่านี้ให้มาร่วมพันธกิจที่ทรงได้รับมาจากพระบิดา เช่นเดียวกับที่ “พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดตามใจของตน” (ยน 5:19, 30) แต่รับทุกสิ่งจากพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาฉันใด ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงส่งไปก็ไม่อาจทำอะไรโดยไม่มีพระองค์ ที่ประทานอำนาจให้เขาปฏิบัติพันธกิจที่ทรงมอบให้เขาทำได้ฉันนั้น ดังนั้น บรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าจึงรู้ว่าพระเจ้าทรงทำให้ตนเป็น “ผู้รับใช้พันธสัญญาใหม่” (2 คร 3:6) เป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” (2 คร 6:4) “เป็นทูตแทนพระคริสตเจ้า” (2 คร 5:20) “เป็นผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า เป็นผู้จัดการดูแลธรรมล้ำลึกของพระเจ้า” (1 คร 4:1) ได้อย่างเหมาะสม
ยน 5:28-29 ด้วยการใช้หลักเหตุผลและกฎธรรมชาติในจิตใจ อาศัยความช่วยเหลือจากพระหรรษทานของพระเจ้า เรามนุษย์สามารถใช้น้ำใจอิสระของตนในการเลือกสิ่งดีและปฏิเสธสิ่งชั่วร้ายได้ นี่คือการเลือกพื้นฐานด้านศีลธรรมของเรา การอบรมมโนธรรมในรูปแบบที่ถูกต้องจะนำทางเราในการแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าและนำไปสู่ชีวิตที่มีศีลธรรม ในการพิพากษาครั้งสุดท้ายคนตายจะฟื้นขึ้นมา และทุกคนจะได้รับชีวิตนิรันดร์หรือความตายนิรันดร์ย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละบุคคล
ผู้ตายกลับคืนชีพได้อย่างไร
CCC ข้อ 998 ใครจะกลับคืนชีพ มนุษย์ทุกคนที่ตายแล้ว “ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีวิตมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:29)
การพิพากษาครั้งสุดท้าย
CCC ข้อ 1038 การกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย “ทั้งผู้ชอบธรรมและคนอธรรม” (กจ 24:15) จะมาถึงก่อนการพิพากษาครั้งสุดท้าย แล้วจะถึง “เวลาที่ทุกคนในหลุมศพจะได้ยินพระสุรเสียง […] [ของบุตรแห่งมนุษย์] และจะออกมา ผู้ที่ได้ทำความดีจะกลับคืนชีพมารับชีวิตนิรันดร ส่วนผู้ที่ทำความชั่วก็จะกลับคืนชีวิตมารับโทษทัณฑ์” (ยน 5:28-29) แล้วพระคริสตเจ้า “จะเสด็จมาในพระสิริรุ่งโรจน์พร้อมกับบรรดาทูตสวรรค์ […] บรรดาประชาชาติจะมาชุมนุมกันเฉพาะพระพักตร์ พระองค์จะทรงแยกเขาออกเป็นสองพวกดังคนเลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ ให้แกะอยู่เบื้องขวา ส่วนแพะอยู่เบื้องซ้าย […] แล้วพวกนี้ก็จะไปรับโทษนิรันดร ส่วนผู้ชอบธรมจะไปรับชีวิตนิรันดร” (มธ 25:31-33, 46)
มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า
CCC ข้อ 1706 อาศัยเหตุผล มนุษย์ย่อมรับรู้พระสุรเสียงของพระเจ้าที่ดลใจเขา “ให้ทำความดีและหลีกหนีความชั่ว” แต่ละคนจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งสะท้อนอยู่ในมโนธรรมและได้รับการปฏิบัติตามโดยความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ การดำเนินชีวิตที่มีศีลธรรมจึงเป็นพยานยืนยันถึงศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์
“ให้ทำดี […] หลีกหนีความชั่ว”
CCC ข้อ 1713 มนุษย์จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎศีลธรรมซึ่งเร่งเร้าเขา “ให้ทำดี […] หลีกหนีความชั่ว” กฎนี้ดังก้องอยู่ในมโนธรรมของเขา
พระหรรษทาน
CCC ข้อ 1996 การรับความชอบธรรมของเรามาจากพระหรรษทานของพระเจ้า พระหรรษทานเป็นความโปรดปราน ความช่วยเหลือให้เปล่าที่พระเจ้าประทานแก่เรา เพื่อเราจะได้ตอบสนองการที่ทรงเรียกเราให้มาเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ มีส่วนร่วมพระธรรมชาติพระเจ้า และชีวิตนิรันดร
CCC ข้อ 1997 พระหรรษทานเป็น การมีส่วนร่วมพระชนมชีพของพระเจ้า นำเราเข้ามาร่วมสนิทกับชีวิตพระตรีเอกภาพ อาศัยศีลล้างบาป คริสตชนมีส่วนรับพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นศีรษะแห่งพระวรกายของพระองค์ ในฐานะ “บุตรบุญธรรม” ตั้งแต่นี้ไปเขาอาจเรียกพระเจ้าได้ว่า “พระบิดา” ร่วมกับพระบุตรเพียงพระองค์เดียว เขารับชีวิตของพระจิตเจ้าผู้ประทานความรักให้เขาและทรงบันดาลให้เกิดพระศาสนจักร
CCC ข้อ 1998 การเรียกให้มารับชีวิตนิรันดรเช่นนี้เป็นการเรียกเหนือธรรมชาติ เพราะขึ้นอยู่กับการริเริ่มโดยอิสระเสรีของพระเจ้าทั้งหมด เพราะพระองค์เท่านั้นอาจทรงเปิดเผยและประทานพระองค์แก่เราได้ การนี้อยู่เหนือความสามารถเข้าใจและพลังความปรารถนาของมนุษย์ เช่นเดียวกับของสิ่งสร้างทั้งหลายด้วย
CCC ข้อ 1999 พระหรรษทานของพระคริสตเจ้าเป็นของประทานที่ทรงให้เราเปล่าๆ สิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราเป็นชีวิตของพระองค์ที่ทรงหลั่งลงในวิญญาณของเราเดชะพระจิตเจ้าเพื่อบำบัดรักษาวิญญาณจากบาปและบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ให้ เป็นพระหรรษทานที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์ หรือทำให้เราเป็นเหมือนพระเจ้า (พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร) ที่เรารับในศีลล้างบาป พระหรรษทานนี้เป็นบ่อเกิดงานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเรา “ดังนั้น ถ้าผู้ใดอยู่ในพระคริสตเจ้า ผู้นั้นก็เป็นสิ่งสร้างใหม่ สภาพเก่าผ่านพ้นไป สภาพใหม่เกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งมาจากพระเจ้า พระองค์ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์เดชะพระคริสตเจ้า” (2 คร 5:17-18)
CCC ข้อ 2000 พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรเป็นของประทานถาวร เป็นความพร้อมมั่นคงเหนือธรรมชาติที่ทำให้วิญญาณสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเพื่อจะได้ดำรงชีวิตกับพระเจ้าและปฏิบัติงานเพราะความรักต่อพระองค์ เราต้องแยกพระหรรษทานถาวร (habitual grace) ซึ่งเป็นความพร้อมมั่นคงเพื่อดำเนินชีวิตและปฏิบัติงานตามการเรียกร้องของพระเจ้า จากพระหรรษทานปัจจุบัน (actual grace) ซึ่งหมายถึงการที่พระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องจัดการไม่ว่าในการเริ่มกลับใจ หรือในการปฏิบัติงานบันดาลความศักดิ์สิทธิ์สืบต่อไป
CCC ข้อ 2001 การเตรียมมนุษย์เพื่อรับพระหรรษทานก็เป็นผลงานของพระหรรษทานแล้ว พระหรรษทานเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปลุกและช่วยอุดหนุนความร่วมมือของเราเพื่อรับความชอบธรรมอาศัยความเชื่อและเพื่อรับความศักดิ์สิทธิ์อาศัยความรัก พระเจ้าทรงทำให้งานที่ทรงเริ่มไว้ในตัวเราบรรลุผลสำเร็จ “เพราะพระองค์ทรงทำงานเมื่อทรงเริ่มทำให้ให้เรามีความปรารถนาอยากทำ และทรงร่วมงานกับเราที่อยากทำจนสำเร็จ” “เมื่อทำงาน เราก็ทำงานจริงๆ แต่เราก็ร่วมทำงานกับพระองค์ที่ทรงทำงานด้วย เพราะพระกรุณาของพระองค์นำหน้าเราไปแล้ว พระกรุณานำหน้าเราเพื่อเราจะได้รับการบำบัดรักษา เพราะพระกรุณาจะตามเราเพื่อเลี้ยงดูเราที่ได้รับการบำบัดรักษาแล้วด้วย พระกรุณานำหน้าเราเพื่อเรียกเรา จะตามหลังเราเพื่อประทานความรุ่งโรจน์ให้เรา นำหน้าเพื่อให้เราดำเนินชีวิตด้วยความเลื่อมใสศรัทธา จะตามหลังเพื่อให้เราดำเนินชีวิตกับพระองค์เสมอไป เพราะถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย”
CCC ข้อ 2002 การริเริ่มโดยเสรีของพระเจ้าย่อมเรียกร้องการตอบสนองโดยเสรีของมนุษย์ด้วย เพราะพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ ประทานให้เขามีอิสระเสรี มีความสามารถที่จะรู้จักและรักพระองค์ด้วย วิญญาณจะมีความสัมพันธ์รักใครได้ก็โดยอิสระเสรีเท่านั้น พระเจ้าทรงสัมผัสและปลุกจิตใจมนุษย์โดยตรงไม่ต้องผ่านสิ่งใด พระองค์ทรงจัดไว้ในมนุษย์ให้ต้องการแสวงหาความจริงและความดีที่พระองค์เท่านั้นอาจตอบสนองได้เต็มที่ พระสัญญาจะประทาน “ชีวิตนิรันดร” ตอบสนองความต้องการนี้เกินกว่าความคาดหวังทั้งหลาย “เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงหยุดพักในวันที่เจ็ดหลังจากที่ได้ทรงปฏิบัติกิจการที่ดีมากของพระองค์แล้ว ดังที่ได้ตรัสไว้กับเราในหนังสือของพระองค์ ดังนั้น หลังจากที่เราได้ทำงานของเรา ‘ดีมาก’ เพราะพระองค์ประทานให้แล้ว เราก็จะหยุดพักในวันสะบาโตแห่งชีวิตนิรันดรในพระองค์ด้วย”
CCC ข้อ 2003 ก่อนสิ่งใดอื่นทั้งหมดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระหรรษทานเป็นของประทานของพระจิตเจ้าซึ่งประทานให้เราเป็นผู้ชอบธรรมและศักดิ์สิทธิ์ แต่พระหรรษทานยังรวมถึงพระพรอื่นๆ ที่พระจิตเจ้าประทานแก่เราเพื่อทำให้เราร่วมงานของพระองค์ด้วย ทำให้เราช่วยให้ผู้อื่นสามารถรับความรอดพ้นและร่วมงานเสริมสร้างพระวรกายของพระคริสตเจ้า คือพระศาสนจักรได้ด้วย พระหรรษทานเหล่านี้เป็นพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระพรเฉพาะของศีลศักดิ์สิทธิ์แต่ละศีล นอกจากนี้ยังมีพระหรรษทานพิเศษ ที่ยังเรียกอีกว่า ‘พระพรพิเศษ’ (charismata) ตามคำภาษากรีกที่นักบุญเปาโลใช้ หมายถึง ‘ความโปรดปราน’ ‘พระพรที่ประทานให้เปล่า’ ‘ผลประโยชน์’ ไม่ว่าพระพรพิเศษเหล่านี้จะมีลักษณะอย่างไร และบางครั้งอาจจะพิเศษสุดๆด้วย เช่นพระพรทำอัศจรรย์หรือพูดภาษาต่างๆ พระพรพิเศษเหล่านี้ล้วนมีจุดหมายมุ่งหาพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร และมีจุดหมายเพื่อความดีส่วนรวมของพระศาสนจักร เพื่อรับใช้ความรักซึ่งเสริมสร้างพระศาสนจักร
CCC ข้อ 2004 ในจำพวก “พระหรรษทานพิเศษ” เราต้องกล่าวถึง “พระหรรษทานประจำสถานะ” (graces of state) ซึ่งหมายถึงพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ ควบคู่กับความรับผิดชอบในชีวิตคริสตชนและศาสนบริการที่คนใดคนหนึ่งต้องปฏิบัติในพระศาสนจักร “เรามีพระพรพิเศษแตกต่างกันตามพระหรรษทานที่พระองค์ประทานให้ ผู้ได้รับพระพรที่จะประกาศพระวาจา ก็จงใช้พระพรนั้นมากน้อยตามส่วนความเชื่อของตน ผู้ที่ได้รับพระพรที่จะรับใช้ ก็จงรับใช้ ผู้ที่ได้รับพระพรที่จะสอน ก็จงสอน ผู้ที่ได้รับพระพรที่จะตักเตือน ก็จงตักเตือน ผู้ที่บริจาค ก็จงบริจาคด้วยความเอื้อเฟื้ออย่างจริงใจ ผู้ที่เป็นผู้นำ ก็จงทำหน้าที่ผู้นำด้วยความเอาใจใส่ ผู้ที่แสดงความเมตตากรุณา ก็จงแสดงความเมตตากรุณาด้วยใจยินดี” (รม 12:6-8)
CCC ข้อ 2005 เนื่องจากว่าพระหรรษทานเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติจึงไม่อยู่ใต้อำนาจของประสบการณ์ของเรา และเป็นที่รู้จักได้อาศัยความเชื่อเท่านั้น เราจึงไม่อาจใช้ประสาทสัมผัสหรือการทำงานของเรายืนยันหรือสรุปได้ว่าเราได้รับความชอบธรรมหรือรอดพ้นแล้ว ถึงกระนั้น ตามพระวาจาขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสว่า “ท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา” (มธ 7:20) การพิจารณาจึงพระพรต่างๆ ของพระเจ้าในชีวิตของเราและของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นประกันให้เรารู้ว่าพระหรรษทานกำลังทำงานอยู่ในตัวเราและผลักดันเราให้มีความเชื่อและมีท่าทีแห่งความยากจนที่วางใจในพระเจ้ามากยิ่งๆ ขึ้นเสมอ
ตัวอย่างงดงามของท่าทีเช่นนี้พบได้ในคำตอบของนักบุญโยนแห่งอาร์คต่อคำถามเพื่อจับผิดของผู้พิพากษาของพระศาสนจักรที่ถามว่าเธอรู้ไหมว่าตนอยู่ในสถานะพระหรรษทานของพระเจ้าหรือเปล่า เธอตอบว่า “ถ้าดิฉันไม่อยู่ (ในสถานะพระหรรษทาน) ก็ขอให้พระเจ้าทรงบันดาลให้ดิฉันอยู่ ถ้าดิฉันอยู่ (ในสถานะพระหรรษทาน) ก็ขอพระเจ้าทรงยึดดิฉันมั่นไว้ (ในสถานะนั้น)”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)