วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 21:33-43, 45-46)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย จงฟังอุปมาอีกเรื่องหนึ่งเถิด คหบดีผู้หนึ่งปลูกองุ่นไว้สวนหนึ่ง ทำรั้วล้อม ขุดบ่อย่ำองุ่น สร้างหอเฝ้า ให้ชาวสวนเช่า แล้วก็ออกเดินทางไปต่างเมือง เมื่อใกล้ถึงฤดูเก็บผล เจ้าของสวนจึงให้ผู้รับใช้ไปพบคนเช่าสวนเพื่อรับส่วนแบ่งจากผลผลิต แต่คนเช่าสวนได้จับคนใช้ ทุบตีคนหนึ่ง ฆ่าอีกคนหนึ่ง เอาหินทุ่มอีกคนหนึ่ง เจ้าของสวนจึงส่งผู้รับใช้จำนวนมากกว่าพวกแรกไปอีก คนเช่าสวนก็ทำกับพวกนี้เช่นเดียวกัน ในที่สุด เจ้าของสวนได้ส่งบุตรชายของตนไปพบคนเช่าสวน คิดว่า ‘คนเช่าสวนคงจะเกรงใจลูกของเราบ้าง’ แต่เมื่อคนเช่าสวนเห็นบุตรเจ้าของสวนมา ก็พูดกันว่า ‘คนนี้เป็นทายาท เราจงฆ่าเขาเสียเถิด เราจะได้มรดกของเขา’
เขาจึงจับบุตรเจ้าของสวน นำตัวออกไปนอกสวนแล้วฆ่าเสีย ดังนี้ เมื่อเจ้าของสวนมา เขาจะทำอย่างไรกับคนเช่าสวนพวกนั้น บรรดาผู้ฟังตอบว่า “เจ้าของสวนจะกำจัดพวกใจอำมหิตนี้อย่างโหดเหี้ยม และจะยกสวนให้คนอื่นเช่า ซึ่งจะแบ่งผลคืนให้เขาตามกำหนดเวลา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า “ท่านมิได้อ่านในพระคัมภีร์หรือว่า หินที่ช่างก่อสร้างทิ้งเสียนั้น ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกระทำเช่นนั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่เรายิ่งนักดังนั้น เราบอกท่านว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าจะถูกยกจากท่านทั้งหลาย ไปมอบให้แก่ชนชาติอื่นที่จะทำให้บังเกิดผล” เมื่อบรรดาหัวหน้าสมณะและชาวฟาริสีได้ยินอุปมาเหล่านี้ก็เข้าใจว่า พระองค์ตรัสถึงพวกเขา จึงพยายามจับกุมพระองค์ แต่ยังเกรงประชาชน เพราะประชาชนนับถือพระองค์เป็นประกาศก
มธ 21:33-43 พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของสวนองุ่น และประกาศกของพระองค์คือผู้รับใช้ที่ถูกส่งไปเตือนผู้เช่าสวนองุ่นนั้น พวกเขาได้ปฏิเสธที่จะฟังบรรดาประกาศก พระเจ้าจึงทรงส่งพระบุตรของพระองค์ ซึ่งก็ทรงถูกปฏิเสธและถูกประหารด้วยเช่นกัน พระคริสตเจ้าคือศิลาที่ถูกช่างก่อสร้างปฏิเสธ พระองค์ทรงกลายเป็นศิลาหัวมุมซึ่งพระศาสนจักรของพระองค์ได้ตั้งอยู่ ทำให้พระศาสนจักรนั้นมั่นคงและมีความเป็นเอกภาพโดยผ่านทางอำนาจและศาสนบริการของบรรดาอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน
พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
CCC ข้อ 443 ถ้าเปโตรสามารถรับรู้ลักษณะโลกุตระของการที่พระเยซูพระเมสสิยาห์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้าได้นั้นก็เพราะว่าพระองค์เองทรงแสดงให้ท่านเห็นอย่างชัดเจน ต่อหน้าสภาซันเฮดรินเมื่อบรรดาผู้กล่าวโทษพระองค์ถามว่า “ดังนั้น ท่านเป็นบุตรของพระเจ้าใช่ไหม” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “ท่านพูดเองนะว่าเราเป็น” (ลก 22:70) เป็นเวลานานก่อนหน้านั้นแล้วพระองค์ตรัสว่าทรงเป็น “บุตร” ซึ่งรู้จักพระบิดาแตกต่างจาก “ผู้รับใช้” ซึ่งพระเจ้าทรงเคยส่งมาหาประชากรอิสราเอลก่อนหน้านั้น ทรงอยู่เหนือกว่า บรรดาทูตสวรรค์ พระองค์ทรงแยกการทรงเป็นบุตรของพระเจ้าจากการที่บรรดาสาวกเป็นโดยไม่เคยตรัสเลยว่า “พระบิดาของพวกเรา” นอกจากเพื่อทรงสั่งเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงอธิษฐานภาวนาดังนี้ ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มธ 6:9) และยังทรงเน้นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง “พระเจ้าของเราและพระเจ้าของท่านทั้งหลาย” (ยน 20:17)
สัญลักษณ์ของพระศาสนจักร
CCC ข้อ 755 “พระศาสนจักรเป็นพื้นที่การกสิกรรม หรือ ทุ่งนาของพระเจ้า ในทุ่งนานี้ มีต้นมะกอกเทศโบราณต้นหนึ่งขึ้นอยู่ รากของมันคือบรรดาบรรพบุรุษ ในต้นไม้ต้นนี้ได้มีและจะมีการคืนดีกันระหว่างชนชาติยิวกับชนต่างชาติ พระเจ้าผู้ทรงเป็นเหมือนกสิกรจากสวรรค์ทรงปลูกพระศาสนจักรไว้เป็นเสมือนสวนองุ่นงดงาม พระคริสตเจ้าทรงเป็นเถาองุ่นแท้จริง พระองค์ประทานชีวิตและความอุดมสมบูรณ์แก่บรรดาเถาองุ่นซึ่งได้แก่ เราทุกคนที่คงอยู่ในพระองค์โดยทางพระศาสนจักร และถ้าไม่มีพระองค์แล้ว เราก็ไม่อาจทำอะไรได้เลย”
CCC ข้อ 756 “หลายครั้งพระศาสนจักรยังได้ชื่อว่าเป็น สิ่งก่อสร้าง ของพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงเปรียบพระองค์กับก้อนหินที่บรรดาช่างก่อสร้างได้โยนทิ้งไป แต่ได้กลายเป็นศิลาหัวมุม (มธ 21:42 และข้อความที่ตรงกัน กจ 4:11; 1 ปต 2:7; สดด 118:22) บรรดาอัครสาวกได้สร้างพระศาสนจักรบนรากฐานนี้ พระศาสนจักรจึงรับความมั่นคงและเอกภาพจากรากฐานนี้ด้วย สิ่งก่อสร้างนี้ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น “บ้านของพระเจ้า” ที่ครอบครัวของพระองค์พำนักอยู่ “ที่พำนักของพระเจ้า” ในพระจิตเจ้า “กระโจมที่ประทับ” ของพระเจ้ากับมนุษย์ และโดยเฉพาะ “พระวิหาร” ศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาปิตาจารย์ยกย่องว่าสะท้อนให้เห็นในโบสถ์ต่างๆ ที่สร้างด้วยศิลา และในพิธีกรรมยังเปรียบได้กับนครศักดิ์สิทธิ์ กรุงเยรูซาเล็มใหม่อีกด้วยและเราก็เป็นเสมือนศิลามีชีวิตที่สร้างขึ้นเป็นวิหารนี้ในโลก ยอห์นเพ่งดูนครศักดิ์สิทธิ์นี้กำลังลงมาจากพระเจ้าบนสวรรค์ในโลกใหม่ “เตรียมพร้อมเหมือนกับเจ้าสาวที่แต่งตัวรอเจ้าบ่าว” (วว 21:1-2)
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)