วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 5:20-26)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “เราบอกท่านทั้งหลายว่า ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้ว ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ผู้ใดฆ่าคนจะต้องขึ้นศาล แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้อง จะต้องขึ้นศาล ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่’ ผู้นั้นจะต้องขึ้นศาลสูง ผู้ใดกล่าวแก่พี่น้องว่า ‘ไอ้โง่บัดซบ’ ผู้นั้นจะต้องถูกปรับโทษถึงไฟนรก ดังนั้น ขณะที่ท่านนำเครื่องบูชาไปถวายยังพระแท่น ถ้าระลึกได้ว่าพี่น้องของท่านมีข้อบาดหมางกับท่านแล้ว “จงวางเครื่องบูชาไว้หน้าพระแท่น กลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาถวายเครื่องบูชานั้น จงคืนดีกับคู่ความของท่านขณะที่กำลังเดินทางไปศาลด้วยกัน มิฉะนั้น คู่ความจะมอบท่านแก่ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาจะมอบท่านให้ผู้คุม ซึ่งจะขังท่านในคุก เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ท่านจะออกจากคุกไม่ได้ จนกว่าท่านจะชำระหนี้จนเศษสตางค์สุดท้าย”
มธ 5:20 ทั้งบรรดาธรรมจารย์และชาวฟาริสีต่างก็ปฏิบัติบทบัญญัติแบบตามตัวอักษร แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามจิตตารมณ์ของบทบัญญัตินั้น ซึ่งทั้งสองอย่างล้วนมีความจำเป็นสำหรับความรอดพ้น
พระบัญญัติสิบประการ
CCC ข้อ 2054 พระเยซูเจ้าทรงยอมรับพระบัญญัติสิบประการมาเทศน์สอนอีก แต่ทรงย้ำถึงพลังของพระจิตเจ้าที่ทำงานในตัวบทของบัญญัติเหล่านี้ด้วย พระองค์ทรงประกาศสอนเรื่องความชอบธรรมที่ดีกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสี รวมทั้งของคนต่างศาสนาด้วย พระองค์ทรงอธิบายข้อเรียกร้องต่างๆ ของธรรมบัญญัติเหล่านี้ทุกข้อ “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน […] แต่เรากล่าวแก่ท่านว่า ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:21-22)
มธ 5:21-22 ในขณะที่พระบัญญัติประการที่ห้าห้ามการฆ่าคน พระบัญญัติของพระคริสตเจ้าห้ามการเกลียดชัง การโกรธ และความรุนแรงทุกรูปแบบ
“เพื่อพิพากษาผู้เป็นและผู้ตาย”
CCC ข้อ 678 ในการเทศน์สอนประชาชน พระเยซูเจ้าทรงประกาศถึงการพิพากษาในวาระสุดท้ายตามแบบของบรรดาประกาศก และยอห์นผู้ประกอบพิธีล้าง ในเวลานั้นวิธีดำเนินชีวิตของแต่ละคนและความลับในใจจะถูกเปิดเผยแจ้งชัด เวลานั้น ความไม่เชื่ออย่างผิดๆ ที่คิดว่าพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้นั้นไม่มีค่าอะไรจะถูกพิพากษาลงโทษ ท่าทีของเราต่อพี่น้องเพื่อนมนุษย์จะเปิดเผยให้เห็นว่าเรารับหรือผลักไสไม่ยอมรับพระหรรษทานและความรักของพระเจ้า ในวันสุดท้าย พระเยซูเจ้าจะตรัสว่า “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)
พยานยืนยันของประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์
CCC ข้อ 2262 องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงพระบัญญัติประการนี้ในบทเทศน์บนภูเขา “อย่าฆ่าคน” (มธ 5:21) และยังทรงเพิ่มการห้ามไม่ให้โกรธ เกลียดชัง และแก้แค้นอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น พระคริสตเจ้ายังทรงขอร้องให้ศิษย์ของพระองค์หันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ด้วย ให้รักศัตรู พระองค์ไม่ทรงป้องกันพระองค์เองและยังตรัสให้เปโตรเอาดาบใส่ฝักเสียด้วย
CCC ข้อ 2263 การป้องกันบุคคลหรือสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่ข้อยกเว้นข้อห้ามไม่ให้จงใจฆ่าผู้บริสุทธิ์ “การกระทำของคนหนึ่งที่ป้องกันตนเองอาจมีผลได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือการปกป้องชีวิตของตน ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือการฆ่าผู้บุกรุก” “ไม่มีอะไรป้องกันไม่ให้การกระทำหนึ่งมีผลสองอย่าง ผลอย่างหนึ่งเป็นผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น ส่วนอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นโดยที่ผู้กระทำไม่ได้ตั้งใจให้เกิด”
CCC ข้อ 2264 ความรักต่อตนเองยังคงเป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรม ดังนั้นจึงเป็นการชอบธรรมที่จะรักษาสิทธิปกป้องชีวิตของตน ผู้ที่ปกป้องชีวิตของตนจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าคนแม้ว่าเขาจำเป็นต้องทำกิจการที่ทำลายชีวิตของผู้จู่โจม “ถ้าผู้ใดใช้ความรุนแรงมากกว่าที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตของตน ก็เป็นการไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเขาขับไล่ความรุนแรงแต่พอประมาณ ก็จะเป็นการป้องกันตัวอย่างถูกต้อง […] เพื่อความรอดพ้น(ของวิญญาณ)ไม่จำเป็นที่คนหนึ่งจะต้องละเว้นการป้องกันตนเองเพื่อจะหลีกเลี่ยงไม่ต้องฆ่าคนอื่น เพราะคนเราต้องปกป้องดูแลชีวิตของตนเองมากกว่าชีวิตของผู้อื่น”
CCC ข้อ 2265 การป้องกันตนเองอาจไม่เป็นเพียงสิทธิ แต่ยังเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบชีวิตของผู้อื่นด้วย การป้องกันผลประโยชน์ส่วนรวมเรียกร้องให้ผู้จู่โจมอย่างอยุติธรรมถูกกันไว้ไม่ให้ทำร้ายผู้อื่นได้ ด้วยเหตุผลนี้ ผู้มีอำนาจปกครองอย่างถูกต้องจึงมีสิทธิที่จะใช้อาวุธเพื่อขับไล่ผู้จู่โจมชุมชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วย
สันติภาพ
CCC ข้อ 2302 องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา เมื่อทรงเตือนถึงพระบัญญัติ “อย่าฆ่าคน” (มธ 5:21) ยังทรงขอร้องให้มีสันติภายในใจและทรงประณามความไม่ถูกต้องของความเกลียดชังด้วย ความโกรธ คือความปรารถนาจะแก้แค้น “การเรียกร้องให้มีการแก้แค้นเพราะความผิดของคนที่ควรถูกลงโทษเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง” แต่เป็นสิ่งน่าชมที่จะกำหนดการชดเชย “เพื่อแก้ไขนิสัยเลวๆ และเพื่อรักษาความยุติธรรม” ถ้าความโกรธก้าวไกลไปจนถึงต้องการฆ่าเพื่อนพี่น้องโดยจงใจหรือทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส ก็เป็นการผิดหนักต่อความรัก เป็นบาปหนัก องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวว่า “ทุกคนที่โกรธเคืองพี่น้องจะต้องขึ้นศาล” (มธ 5:22)
CCC ข้อ 2303 ความเกลียดชัง โดยจงใจเป็นความผิดต่อความรัก การเกลียดชังเพื่อนพี่น้องเป็นบาป เมื่อใครคนหนึ่งจงใจต้องการให้เขารับอันตราย การเกลียดชังเพื่อนพี่น้องเป็นบาปหนักเมื่อใครคนหนึ่งจงใจปรารถนาให้เขาได้รับความเสียหายอย่างหนัก “เรากล่าวแก่ท่านว่าจงรักศัตรู จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน เพื่อท่านจะได้เป็นบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์...” (มธ 5:44-45)
มธ 5:22 สภาซันเฮดรินคือองค์กรศาลสูงสุดของอิสราเอล ไฟนรก (ภาษาอาราเมอิกคือ “เกฮันนา”) มาจากภาษาฮีบรู แปลว่า "หุบเขาฮินโนม" เป็นหลุมใหญ่ที่อยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ใช้สำหรับเผาขยะอยู่ตลอดเวลา เป็นคำที่ใช้อธิบายเปรียบเทียบถึงสถานที่ลงโทษซึ่งผู้ตายต้องทนทุกข์ทรมานเพราะบาปของพวกเขา
นรก
CCC ข้อ 1036 ข้อความของพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักรเรื่องนรกเป็นการเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบที่มนุษย์ต้องใช้อิสรภาพโดยคำนึงถึงชะตากรรมนิรันดรของตน พร้อมกันนั้นยังเป็นการเร่งรัดเชิญชวนให้กลับใจอีกด้วย “จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย” (มธ 7:13-14) “เนื่องจากว่าเราไม่รู้วันเวลา องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงเตือนว่าเราจำเป็นต้องตื่นเฝ้าระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อว่าเมื่อช่วงเวลาชีวิตในโลกนี้ของเราที่มีเพียงครั้งเดียวแล้ว เราจะได้เหมาะสมที่จะได้รับเชิญเข้าไปร่วมงานวิวาห์กับพระองค์และรวมอยู่ในจำนวนของบรรดาผู้ได้รับพระพรจากพระเจ้า ไม่ถูกสั่งเหมือนผู้รับใช้ที่เลวให้ต้องไปอยู่ในไฟนิรันดร ในที่มืดภายนอกที่จะมีแต่การร่ำไห้และขบฟันด้วยความขุ่นเคือง”
มธ 5:23-24 ก่อนที่บุคคลหนึ่งจะคืนดีกับพระเจ้า เขาต้องคืนดีกับเพื่อนมนุษย์ก่อน บทภาวนาขององค์พระผู้เป็นเจ้า คือบทข้าแต่พระบิดาฯ จะสามารถกลายเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อได้มีการคืนดีกับเพื่อนมนุษย์แล้วเท่านั้น ศีลอภัยบาปเป็นหนทางปกติ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่หมายถึงการคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
“ท่านทั้งหลายจงรับไปกินเถิด” – การรับศีลมหาสนิท
CCC ข้อ 1388 เป็นการสอดคล้องกับความหมายของศีลมหาสนิทที่บรรดาผู้มีความเชื่อ ถ้าเขามีสภาพเตรียมตัวพร้อมตามที่พระศาสนจักรกำหนดไว้ จะรับศีลมหาสนิทเมื่อเขามาร่วมมิสซา “สภาสังคายนาส่งเสริมอย่างยิ่งให้สัตบุรุษมีส่วนร่วมในมิสซาอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยรับพระวรกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ได้เสกในมิสซาเดียวกันเมื่อพระสงฆ์รับศีลแล้ว”
CCC ข้อ 1389 “พระศาสนจักรกำหนดข้อบังคับให้บรรดาผู้มีความเชื่อ ต้องร่วมพิธีกรรมในวันอาทิตย์และวันฉลอง และรับศีลอภัยบาปและรับศีลมหาสนิทอย่างน้อยปีละครั้ง ในเทศกาลปัสกาถ้าทำได้” เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้วด้วยศีลแห่งการคืนดี แต่พระศาสนจักรยังส่งเสริมอย่างแข็งขันให้บรรดาผู้มีความเชื่อรับศีลมหาสนิทในวันอาทิตย์และวันฉลอง หรือบ่อยกว่านั้นคือทุกๆ วันด้วย
CCC ข้อ 1390 พระคริสตเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิททั้งองค์ภายใต้รูปปรากฏแต่ละชนิด การรับศีลมหาสนิทภายใต้รูปปรากฏของขนมปังเท่านั้นก็ทำให้เรารับผลพระหรรษทานทั้งหมดของศีลมหาสนิทแล้ว เพราะเหตุผลด้านการอภิบาล รูปแบบการรับศีลมหาสนิทเช่นนี้จึงกำหนดไว้เป็นรูปแบบตามปกติในจารีตละติน “การรับศีลมหาสนิทมีรูปแบบเป็นเครื่องหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้ารับภายใต้รูปปรากฏทั้งของขนมปังและเหล้าองุ่น เพราะในการรับศีลมหาสนิทแบบนี้ เราเห็นเครื่องหมายว่าการรับศีลมหาสนิทเป็นงานเลี้ยงได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” การรับศีลมหาสนิทในรูปแบบนี้ (ภายใต้รูปปรากฏทั้งสอง) เป็นรูปแบบตามปกติในจารีตตะวันออก
ศีลนี้มีชื่ออะไรบ้าง
CCC ข้อ 1424 ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลการสารภาพบาป (Confessionis sacramentum) เพราะการสารภาพบาปของตนต่อหน้าพระสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของศีลนี้ ในความหมายลึกๆ ศีลนี้ยังเป็น “การประกาศ” เป็นการยอมรับและสรรเสริญความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและพระเมตตากรุณาของพระองค์ต่อมนุษย์คนบาป
ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งพระกรุณา (Indulgentiae sacramentum) เพราะเมื่อพระสงฆ์กล่าวสูตรอภัยบาป พระเจ้าก็ประทาน “พระกรุณา [...] และสันติภาพ” ให้แก่ผู้ที่เป็นทุกข์กลับใจ
ศีลนี้มีชื่อว่า ศีลแห่งการคืนดี (Reconciliationis sacramentum) เพราะนำความรักของพระเจ้ามาให้คนบาปที่พระองค์ทรงคืนดีด้วย “จงยอมคืนดีกับพระเจ้าเถิด” (2 คร 5:20) ผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความเมตตากรุณาจากความรักของพระเจ้า ย่อมพร้อมที่จะตอบสนองการเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “จงกลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน” (มธ 5:24)
พระเยซูเจ้าทรงสอนให้อธิษฐานภาวนา
CCC ข้อ 2608 นับตั้งแต่บทเทศน์บนภูเขา พระเยซูเจ้าทรงเน้นเรื่องการกลับใจ เรื่องการคืนดีกับพี่น้องก่อนจะถวายเครื่องบูชาบนพระแท่นบูชา เรื่องความรักศัตรูและการอธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เบียดเบียน เรื่องการอธิษฐานภาวนาต่อพระบิดา “ในห้องส่วนตัว” (มธ 6:6) เรื่องการไม่พูดมาก ไม่พูดซ้ำซาก เรื่องการให้อภัยจากใจจริงในการอธิษฐานภาวนา เรื่องการแสวงหา พระอาณาจักรด้วยใจจริง การกลับใจอย่างเต็มที่เยี่ยงบุตรเช่นนี้นำเราไปพบพระบิดา
ข้าแต่พระบิดา “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย”
CCC ข้อ 2792 ในที่สุด ถ้าเราอธิษฐานภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เราย่อมออกจากความเป็นเอกเทศ เพราะว่าความรักที่เราได้รับมานั้นช่วยเราให้พ้นจากสภาพเช่นนี้ คำว่า “ของข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตอนต้นของบทภาวนาบทข้าแต่พระบิดานี้ เช่นเดียวกับคำว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” (เรา) ในคำขอสุดท้ายสี่ข้อนั้น จึงไม่กีดกันผู้ใดออกไปเลย เพื่อให้เรากล่าวคำนี้ตามความจริง เราจะต้องเอาชนะการแตกแยกและการขัดแย้งกันเองให้ได้
“โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า” ... [โปรดยกหนี้ของเราให้แก่เรา]
CCC ข้อ 2841 คำวอนขอข้อนี้มีความสำคัญมาก จนกระทั่งว่าเป็นคำวอนขอเพียงข้อเดียวที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งและทรงขยายความในบทเทศน์บนภูเขา ข้อเรียกร้องประการหลักของพระธรรมล้ำลึกแห่งพันธสัญญาข้อนี้เป็นไปไม่ได้สำหรับมนุษย์ “แต่สำหรับพระเจ้า ทุกอย่างเป็นไปได้” (มธ 19:26)
“เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น”
CCC ข้อ 2842 คำว่า “เหมือน” นี้ไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวในคำสอนของพระเยซูเจ้า “ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ เหมือนกับที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) “(ท่าน)จงเป็นผู้เมตตากรุณาดังที่พระบิดาของท่านทรงพระเมตตากรุณาเถิด” (ลก 6:36) “เราให้บทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านรักกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (ยน 13:34) การปฏิบัติตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นเพียงการปฏิบัติตามพระแบบฉบับของพระเจ้าเพียงภายนอก แต่นี่เป็นเรื่องการมีส่วนความศักดิ์สิทธิ์ ความเมตตากรุณา และความรักของพระเจ้าอย่างมีชีวิตชีวา “จากส่วนลึกของจิตใจ” มีเพียงพระจิตเจ้า “ที่เราดำเนินชีวิต” (กท 5:25) ตามพระองค์เท่านั้น อาจทำให้ความรู้สึกนึกคิด “ของเรา” เป็นเหมือนกันกับความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในพระคริสต์เยซู เมื่อนั้นแหละ การให้อภัยหนึ่งเดียวกันจึงเป็นไปได้ เมื่อเรา “ให้อภัยกันดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านในองค์พระคริสตเจ้า” (อฟ 4:32)
CCC ข้อ 2843 พระวาจาให้อภัยขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงมีชีวิตขึ้นมาจากความรักนี้ที่รักจนถึงที่สุดนิทานอุปมาเรื่องผู้รับใช้ไร้เมตตา ซึ่งเป็นจุดยอดคำสอนขององค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับชุมชนพระศาสนจักรสรุปด้วยถ้อยคำว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน ถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง” อันที่จริง ที่นี่เอง ใน “ส่วนลึกของจิตใจ” ที่ทุกสิ่งถูกผูกไว้หรือถูกแก้ออก การไม่รู้สึกถูกทำร้ายจิตใจอีกต่อไปและลืมมันไปได้นั้นไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่ดวงใจที่ถวายตัวแด่พระจิตเจ้า ย่อมเปลี่ยนบาดแผลให้เป็นความเห็นอกเห็นใจและชำระความทรงจำให้สะอาด เปลี่ยนการถูกทำร้ายให้เป็นการวอนขอแทน
CCC ข้อ 2844 การอธิษฐานแบบคริสตชนแผ่ขยายไปถึงการให้อภัยแก่ศัตรู เปลี่ยนรูปของศิษย์ ทำให้มีลักษณะเหมือนพระอาจารย์ การให้อภัยเป็นจุดยอดหนึ่งของการอธิษฐานแบบคริสตชน เรารับผลของการอธิษฐานภาวนาได้ก็เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจเหมือนกับพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น การให้อภัยยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าในโลกของเรานั้นความรักทรงพลังมากกว่าบาป บรรดามรณสักขีทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นพยานถึงเรื่องนี้ต่อพระเยซูเจ้า การให้อภัยเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการคืนดี ของบุตรพระเจ้ากับพระบิดาของเขาและการคืนดีระหว่างกันของมนุษย์
CCC ข้อ 2845การให้อภัยนี้ ซึ่งในสาระสำคัญเป็นคุณลักษณะของพระเจ้า ไม่มีขอบเขตและไม่มีขนาด ถ้าเป็นเรื่องของ “ความผิด” (“บาป” ตาม ลก 11:4 หรือ “หนี้” ตาม มธ 6:12 ในต้นฉบับภาษากรีก) พวกเราทุกคนล้วนเป็น “ลูกหนี้” เสมอ “อย่าเป็นหนี้ผู้ใด นอกจากเป็นหนี้ความรักซึ่งกันและกัน” (รม 13:8) ความสัมพันธ์ของพระตรีเอกภาพเป็นบ่อเกิด และมาตรการของความจริงในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ความสัมพันธ์นี้ยังเป็นชีวิตในการอธิษฐานภาวนา โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ
“พระเจ้าไม่ทรงรับเครื่องบูชาของผู้ก่อให้เกิดการแตกแยก และทรงสั่งให้เขาละพระแท่นบูชากลับไปคืนดีกับพี่น้องเสียก่อน เพื่อจะได้มีใจสงบและอธิษฐานภาวนาขอให้พระเจ้าทรงพระกรุณาได้ ของถวายของเราที่มีค่ามากกว่าสำหรับพระเจ้าก็คือสันติและความสามัคคีกันฉันพี่น้องของเรา และการเป็นประชากรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยเอกภาพของพระบิดาและพระบุตรและพระจิตเจ้า”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)