วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก (มก 6:30-34)
เวลานั้น บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้าและทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” เพราะมีคนไปมาจนเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปยังที่สงัดพร้อมกับบรรดาอัครสาวก ประชาชนหลายคนเห็นพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือออกไป ก็คาดคะเนได้ว่า พระองค์จะทรงไปที่ใด จึงรีบเดินเท้าออกจากเมืองต่างๆ ไปที่นั่นและไปถึงก่อน เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงแลเห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเป็นดังฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง พระองค์จึงทรงเริ่มสั่งสอนเขาหลายเรื่อง
มก 6:30-44 เช่นเดียวกับพระวรสารเล่มอื่นเล่าเรื่องอัศจรรย์ของพระคริสตเจ้าเรื่องการเลี้ยงอาหารประชาชนด้วยการทวีขนมปังและปลาจำนวนไม่มาก ทำให้ระลึกถึงอัศจรรย์การเลี้ยงอาหารในพันธสัญญาเดิม (คือ มานนาในที่เปลี่ยว) และเป็นการอ้างอิงล่วงหน้าถึงศีลมหาสนิท ซึ่งจะหล่อเลี้ยงผู้คนได้มากมายมหาศาล การที่พระองค์ทรงเทศน์สอนประชาชนตามด้วยอัศจรรย์การทวีขนมปังและปลา เตือนให้ระลึกถึงพิธีกรรมในภาควจนพิธีกรรมและภาคบูชาขอบพระคุณ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของพิธีบูชาขอบพระคุณ นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับการหล่อเลี้ยงฝ่ายจิตด้วยพระวาจา ตามด้วยการบำรุงเลี้ยงด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งปังทรงชีวิต การรวมตัวกันในสถานที่หนึ่งเพื่อรับฟังพระวาจาและมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารศักดิ์สิทธิ์คือรูปแบบของประชากรใหม่ของพระเจ้า เป็นที่น่าสังเกตว่าในที่นี้พระคริสตเจ้าทรงใช้ภาษาของศีลมหาสนิทในการทวีขนมปัง ดังคำว่า “ทรงเงยพระพักตร์ขึ้น ทรงอวยพรและบิปัง... แล้วยื่นให้” (ข้อ 41) จากนั้น ทรงแจกจ่ายขนมปังโดยทางบรรดาอัครสาวกของพระองค์
เครื่องหมายของขนมปังและเหล้าองุ่น
CCC ข้อ 1335 อัศจรรย์การทวีขนมปัง เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงถวายพระพร บิขนมปังและทรงให้บรรดาศิษย์นำไปแจกเพื่อเลี้ยงประชาชนนั้น เป็นภาพล่วงหน้าของความอุดมสมบูรณ์ของขนมปังศีลมหาสนิทหนึ่งเดียวของพระองค์นี้ เครื่องหมายอัศจรรย์ที่ทรงเปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่หมู่บ้านคานาก็ประกาศถึงการรับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าแล้ว เครื่องหมายอัศจรรย์นี้แสดงถึงความสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ของงานเลี้ยงวิวาห์มงคลในพระอาณาจักรของพระบิดา ในงานเลี้ยงนี้บรรดาผู้มีความเชื่อจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ที่เปลี่ยนเป็นพระโลหิตของพระคริสตเจ้าแล้ว
มก 6:34 ฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง : ภาพสัญลักษณ์นี้ถูกใช้ในหนังสือพันธสัญญาเดิม เพื่ออธิบายถึงการขาดผู้นำฝ่ายจิตในอิสราเอล (เทียบ กดว 27:17; ยรม 23:1-3) และพระเมสสิยาห์ที่ทรงสัญญาไว้ ผู้ซึ่งจะเป็นผู้นำประชากรของพระองค์ (เทียบ อสค 34:23) นอกนั้นยังทำให้รำลึกถึงอุปมาของพระคริสตเจ้าเรื่องผู้เลี้ยงที่ดี (เทียบ ยน 10:11-16) และคำสั่งของพระคริสตเจ้าที่ให้ออกไปตามหา “ลูกแกะที่หายไป” ของอิสราเอล (เทียบ มธ 10:6)
สัญลักษณ์ของพระศาสนจักร
CCC ข้อ 754 “พระศาสนจักรเป็น คอกแกะ ที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประตูที่จำเป็นเพียงประตูเดียวพระศาสนจักรยังเป็น ฝูงแกะ ที่พระเจ้าเองทรงประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” และแกะฝูงนี้ แม้จะมีผู้เลี้ยงที่เป็นมนุษย์ปกครองดูแล แต่ก็ยังถูกนำและเลี้ยงดูจากพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีและเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้เลี้ยง และทรงสละชีวิตของตนเพื่อบรรดาแกะ”
ผลของศีลบวช - พระหรรษทานของพระจิตเจ้า
CCC ข้อ 1586 สำหรับพระสังฆราช พระหรรษทานแห่งพละกำลัง (บทภาวนาเจิมถวายพระสังฆราชในจารีตละตินวอนขอ “Spiritum principalem” หรือ “พระจิตเจ้าผู้ทรงปกครองและนำชีวิต”) คือพระหรรษทานที่จะนำพระศาสนจักรและป้องกันพระศาสนจักรนี้อย่างกล้าหาญและชาญฉลาดดังบิดาและผู้อภิบาล มีความรักจากใจจริงและเต็มใจต่อผู้ยากจน คนเจ็บป่วยและขัดสน พระหรรษทานประการนี้ย่อมผลักดันเขาให้ประกาศข่าวดีแก่ทุกคน ให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาสัตบุรุษผู้เป็นเสมือนฝูงแกะของตน เพื่อจะนำหน้าเขาในหนทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ทำตนในพิธีบูชาขอบพระคุณให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าพระสมณะและเครื่องบูชา โดยไม่หวั่นกลัวที่จะมอบชีวิตเพื่อบรรดาแกะของตน
“ข้าแต่พระบิดาเจ้าผู้ทรงล่วงรู้จิตใจมนุษย์ทั้งหลาย ขอโปรดให้ผู้รับใช้พระองค์ผู้นี้ ซึ่งทรงเลือกสรรให้เป็นพระสังฆราช เลี้ยงดูประชากรซึ่งเป็นเสมือนฝูงแกะศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ปฏิบัติหน้าที่มหาสมณะอย่างไร้ที่ติเฉพาะพระพักตร์ รับใช้พระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อจะได้วอนขอให้ทรงพระกรุณา และให้เขาถวายบรรณาการของพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์อยู่เสมอมิได้ขาด ขอให้ฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าซึ่งประทานตำแหน่งมหาสมณะแก่เขา โปรดให้เขามีอำนาจอภัยบาปตามพระบัญชา ขอให้เขาแจกจ่ายภาระหน้าที่ตามพระประสงค์ และแก้พันธะผูกมัดทั้งปวงตามอำนาจที่พระองค์ได้ประทานแก่บรรดาอัครสาวก ขอให้เขามีจิตใจอ่อนโยนและสะอาดบริสุทธิ์เป็นที่พอพระทัย ถวายสักการบูชาที่หอมหวลแด่พระองค์ ทั้งนี้ ขอพึ่งพระบารมีพระเยซูคริสตเจ้าพระบุตรของพระองค์...”
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)