แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลพระคริสตสมภพ

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 1:19-28)                                                         

เวลานั้น ยอห์นเป็นพยานดังนี้ เมื่อชาวยิวจากกรุงเยรูซาเล็มส่งบรรดาสมณะและชาวเลวีไปถามยอห์นว่า “ท่านเป็นใคร” เขามิได้ปิดบังความจริง แต่ยืนยันว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่พระคริสต์” ดังนั้น เขาเหล่านั้นจึงถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเป็นใคร เป็นเอลียาห์หรือ” ยอห์นตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่เอลียาห์” “ท่านเป็นประกาศกหรือ” เขาตอบอีกว่า “ไม่ใช่” เขาเหล่านั้นจึงถามว่า “ท่านเป็นใคร เราจะได้นำคำตอบไปให้ผู้ที่ส่งเรามา ท่านพูดถึงตนเองอย่างไร” ยอห์นตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่าจงทำทางขององค์พระผู้เป็นเจ้าให้ตรงเถิด” ดังที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวไว้

  ผู้ที่ถูกส่งไปถามนั้นเป็นชาวฟาริสี เขาถามยอห์นอีกว่า “ทำไมท่านจึงทำพิธีล้าง ถ้าท่านไม่ใช่พระคริสต์ ไม่ใช่เอลียาห์ และไม่ใช่ประกาศก” ยอห์นตอบพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย แต่มีผู้หนึ่งประทับอยู่ในหมู่ท่าน เป็นผู้ที่ท่านไม่รู้จัก ผู้นั้นมาภายหลังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะแก้สายรัดรองเท้าของเขา” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หมู่บ้านเบธานี อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดนซึ่งยอห์นกำลังทำพิธีล้างอยู่ 


ยน 1:19-34 ยอห์น บัปติสต์ไม่เคยประกาศตนว่าเป็นพระคริสตเจ้า หรือเอลียาห์ หรือโมเสส แต่บอกว่า ท่านเป็นเสียงของผู้ที่ร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดาร ให้เตรียมทางต้อนรับการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์ ลูกแกะของพระเจ้า 

พระคริสตเจ้า

CCC ข้อ 438 การที่พระเยซูเจ้าทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์นี้แสดงให้เห็นพันธกิจที่ทรงได้รับจากพระเจ้า “ตามความหมายของพระนาม เพราะนาม ‘พระคริสต์’ หมายถึง ‘ผู้เจิม’ และ ‘ผู้รับเจิม’ รวมทั้งการเจิมที่ทรงรับด้วย ผู้ที่ทรงเจิมคือพระบิดา ผู้ทรงรับเจิมคือพระบุตร พระองค์ทรงรับเจิมในองค์พระจิตเจ้าซึ่งทรงเป็นการเจิม” การที่ทรงรับเจิมเป็นพระเมสสิยาห์ตั้งแต่นิรันดรนี้ถูกเปิดเผยในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพในโลกเมื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น เมื่อ “พระเจ้าทรงเจิมพระองค์ด้วยพระอานุภาพเดชะพระจิตเจ้า” (กจ 10:38) “เพื่อทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักแก่อิสราเอล” (ยน 1:31) ในฐานะพระเมสสิยาห์ของตน พระภารกิจและพระวาจาของพระองค์แสดงให้พระองค์เป็นที่รู้จักในฐานะ “พระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า”

การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์

CCC ข้อ 613 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นทั้งการถวายบูชาปัสกา ซึ่งทำให้การไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จบริบูรณ์ อาศัยลูกแกะผู้ทรงลบล้างบาปของโลก และเป็นการถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มนุษย์กลับคืนดีกับพระองค์อาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)