วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 1:46-56)
เวลานั้น พระนางมารีย์ตรัสว่า “วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จิตใจของข้าพเจ้าชื่นชมยินดีในพระเจ้า พระผู้ทรงกอบกู้ข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข พระผู้ทรงสรรพานุภาพทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่สำหรับข้าพเจ้า พระนามพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระกรุณาต่อผู้ยำเกรงพระองค์แผ่ไปตลอดทุกยุคทุกสมัย พระองค์ทรงยกพระกรแสดงพระอานุภาพ ทรงขับไล่ผู้มีใจมักใหญ่ใฝ่สูงให้กระจัดกระจายไป ทรงคว่ำผู้ทรงอำนาจจากบัลลังก์ และทรงยกย่องผู้ต่ำต้อยให้สูงขึ้น พระองค์ประทานสิ่งดีทั้งหลายแก่ผู้อดอยาก ทรงส่งเศรษฐีให้กลับไปมือเปล่า พระองค์ทรงช่วยเหลืออิสราเอลผู้รับใช้พระองค์ โดยทรงระลึกถึงพระกรุณา ดังที่ทรงสัญญาไว้แก่บรรพบุรุษของเรา แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป” พระนางมารีย์ประทับอยู่กับนางเอลีซาเบธประมาณสามเดือนจึงเสด็จกลับ
ลก 1:46-56 บทมักญีฟีกัต หรือบทเพลงสรรเสริญของพระนางมารีย์ ชื่อนี้มาจากคำแรกของการแปลจากภาษาลาติน เป็นบทภาวนาในบททำวัตรเย็นซึ่งเป็นบทภาวนาทางการของพระศาสนจักร บทมักญีฟีกัตนี้เป็นทั้งบทเพลงของพระนางมารีย์ พระมารดาพระเจ้าและของประชากรทั้งครบของพระเจ้าด้วย สำหรับพระหรรษทานและชัยชนะแห่งการไถ่กู้ที่เราได้รับโดยผ่านทางพระคริสตเจ้า สะท้อนให้เห็นได้จากบทเพลงสรรเสริญของนางฮันนาห์ (เทียบ 1ซมอ 2:1-10) บทมักญีฟีกัตแสดงถึงความชื่นชมยินดี เตือนให้ระลึกถึงความซื่อสัตย์ของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ อีกทั้งย้ำเตือนถึงความสำคัญของคุณธรรมความสุภาพถ่อมตนและความเมตตา บทภาวนานี้ “สรรเสริญ” พระเจ้าสำหรับสิ่งยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงกระทำต่อพระนางมารีย์ ผู้รับใช้ของพระองค์ผู้สุภาพและเปี่ยมด้วยความเชื่อ บทมักญีฟีกัต คือข้อพิสูจน์น่ามหัศจรรย์ของพระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นความหวังและผู้ภาวนาวิงวอนแทนเรา ความศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่และบทบาทพิเศษของพระนางในพันธกิจการไถ่กู้ได้นำไปสู่การทำนายว่า “ชนทุกสมัยจะกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นสุข” คำทำนายของบทมักญีฟีกัตจะถูกเติมเต็มให้สมบูรณ์ทุกครั้งที่บรรดาคริสตชนถวายเกียรติแด่พระนางด้วยถ้อยคำว่า “ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ” ในบทวันทามารีย์
การนมัสการพระเจ้า
CCC ข้อ 2097 นมัสการพระเจ้าหมายถึงการยอมรับด้วยความเคารพและยอมอยู่ใต้อำนาจอย่างที่สุดว่า“สิ่งสร้างเป็นความเปล่า” ที่มีความเป็นอยู่ได้จากพระเจ้าเท่านั้น นมัสการพระเจ้าคือการสรรเสริญพระองค์เช่นเดียวกับที่พระนางมารีย์ทรงกระทำในบท “Magnificat” (“วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่” ) ยกย่องพระองค์และถ่อมตน ประกาศด้วยความกตัญญูรู้คุณว่า พระองค์ทรงกระทำกิจการยิ่งใหญ่ และพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์ การนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวช่วยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการให้ความสำคัญแก่ตนเท่านั้น จากการเป็นทาสของบาป และจากการนับถือโลกนี้เป็นเทพเจ้า
ดำเนินชีวิตในความจริง
CCC ข้อ 2465 พันธสัญญาเดิมยืนยันว่า พระเจ้าทรงเป็นบ่อเกิดความจริงทุกประการ พระวาจาของพระองค์เป็นความจริง ธรรมบัญญัติของพระองค์ก็เป็นความจริง “ความซื่อสัตย์ของพระองค์ดำรงอยู่ทุกยุคทุกสมัย” (สดด 119:90) เพราะพระเจ้า “ทรงสัตย์จริง” (รม 3:4) สมาชิกประชากรของพระองค์จึงได้รับเรียกมาให้ดำเนินชีวิตในความจริง
การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์
CCC ข้อ 2619 เพราะเหตุนี้ บทเพลงของพระนางมารีย์ ที่เรียกว่าบท “Magnificat” ในภาษาละติน บท “Megalynarion” ของจารีตไบซันติน เป็นบทเพลงขับร้องของพระมารดาของพระเจ้าและของพระศาสนจักรในเวลาเดียวกัน เป็นบทเพลงขับร้องของธิดาแห่งศิโยนและของประชากรใหม่ของพระเจ้า เป็นบทเพลงขับร้องขอบพระคุณสำหรับความสมบูรณ์ของพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานในแผนการความรอดพ้น เป็นบทเพลงขับร้อง “ของผู้ยากจน” ผู้มีความหวังเต็มเปี่ยมว่าพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้ “แก่อับราฮัมและบุตรหลานตลอดไป” จะสำเร็จเป็นจริงอย่างสมบูรณ์
การถวายตนโดยสิ้นเชิง
CCC ข้อ 2622 การอธิษฐานภาวนาของพระนางพรหมจารีมารีย์ ในการตอบรับต่อทูตสวรรค์ “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้า” และในบท Magnificat ของพระนาง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการถวายตนโดยสิ้นเชิงด้วยความเชื่อ
ในความสัมพันธ์กับพระมารดาของพระเจ้า
CCC ข้อ 2675 นับตั้งแต่การร่วมมือเป็นพิเศษเช่นนี้ของพระนางมารีย์กับพระราชกิจของพระจิตเจ้าพระศาสนจักร (ทั้งตะวันออกและตะวันตก) จึงพัฒนาการอธิษฐานภาวนาต่อพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า โดยมุ่งการอธิษฐานภาวนาไปยังพระบุคคลของพระคริสตเจ้าตามที่ปรากฏให้เห็นในพระธรรมล้ำลึกของพระองค์เป็นจุดศูนย์กลาง ในบทเพลงสรรเสริญและบทลำนำจำนวนมากที่เราใช้แสดงการอธิษฐานภาวนาออกมานี้ ส่วนใหญ่แล้วจะแสดงความรู้สึกออกมาเป็นสองแนวทางสลับกัน ความรู้สึกทางหนึ่ง “ประกาศความยิ่งใหญ่” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะ “เหตุการณ์ยิ่งใหญ่” ที่ทรงกระทำต่อผู้รับใช้ตํ่าต้อยของพระองค์ และที่ทรงกระทำต่อมวลมนุษย์ผ่านทางพระนาง ส่วนความรู้สึกอีกทางหนึ่งนั้นฝากคำวอนขอและคำสรรเสริญของบรรดาบุตรของพระเจ้าไว้ให้พระมารดาของพระเยซูเจ้า ทรงวอนขอแทน เพราะพระนางทรงรู้จักธรรมชาติมนุษย์ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรวมไว้กับพระองค์ประหนึ่งเป็นเจ้าสาวของพระองค์ในพระนางเป็นอย่างดี
CCC ข้อ 2676 แนวความคิดทั้งสองแนวของการอธิษฐานภาวนาต่อพระนางมารีย์นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในบท “วันทามารีย์” “วันทามารีย์” (แปลตามตัวอักษรว่า “จงยินดีเถิด มารีย์”) บท “วันทามารีย์” เริ่มด้วยคำทักทายของทูตสวรรค์กาเบรียล พระเจ้าเองทรงทักทายพระนางมารีย์ผ่านทางทูตสวรรค์ของพระองค์ คำภาวนาของเรากล้านำคำทักทายพระนางมารีย์นี้มาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยคิดถึงการที่พระเจ้าทรงทอดพระเนตรผู้รับใช้ต่ำต้อยของพระองค์ และชื่นชมยินดีเหมือนกับที่ทรงยินดีในพระนาง
“เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน พระเจ้าสถิดกับท่าน” คำทักทายของทูตสวรรค์ทั้งสองประโยคนี้อธิบายความหมายของกันและกัน พระนางมารีย์ทรงเปี่ยมด้วยพระหรรษทาน เพราะพระเจ้าประทับอยู่กับพระนาง พระหรรษทานที่พระนางได้รับอย่างเต็มเปี่ยมก็คือการที่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดพระหรรษทานทั้งหมดประทับอยู่ด้วย “จงเปล่งเสียงยินดีเถิด […] ธิดาแห่งเยรูซาเล็มเอ๋ย […] องค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของเจ้าทรงอยู่ในเจ้า” (ศฟย 3:14, 17) พระนางมารีย์ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ด้วย ทรงเป็นธิดาแห่งศิโยน เป็นหีบพันธสัญญา เป็นสถานที่ที่พระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่ด้วย พระนางทรงเป็น “ที่พำนักของพระเจ้าในหมู่มนุษย์” (วว 21:3) “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” พระนางทั้งหมดเป็นของพระองค์ผู้เสด็จมาประทับอยู่ในพระนางซึ่งจะประทานพระองค์ให้แก่โลก
“ผู้ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ และพระเยซูโอรสของท่าน ทรงได้รับพระพรยิ่งนัก” หลังคำทักทายของทูตสวรรค์ เรานำคำทักทายของนางเอลีซาเบธมาเป็นคำทักทายของเราด้วย นางเอลีซาเบธ “ได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม” (ลก 1:41) นางเป็นคนแรกในลำดับมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยที่จะประกาศว่าพระนางมารีย์ได้รับพระพรเป็นสุข “เธอเป็นสุขที่เชื่อ...” (ลก 1:45) พระนางมารีย์ “ได้รับพระพรกว่าสตรีใดๆ” เพราะได้เชื่อว่าพระวาจาของพระเจ้าจะสำเร็จเป็นจริง เพราะความเชื่อ อับราฮัมจึงเป็นผู้ที่ “บรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นทั่วแผ่นดินจะได้รับพระพรเพราะท่าน” (ปฐก 12:3) อาศัยความเชื่อ พระนางมารีย์ก็เป็นมารดาของผู้มีความเชื่อทั้งหลายเพราะโดยทางพระนางชนทุกชาติทั่วแผ่นดินได้รับพระองค์ผู้ทรงเป็นพระพรจากพระเจ้า “พระเยซูโอรสของท่านทรงได้รับพระพรยิ่งนัก”
CCC ข้อ 2677 “สันตะมารีย์ พระมารดาพระเจ้า โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลาย...” เรารู้สึกแปลกใจเหมือนนางเอลีซาเบธ “ทำไมพระมารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้า” (ลก 1:43) เพราะเหตุที่พระนางมารีย์ทรงให้พระเยซูพระบุตรของพระนางแก่เรา พระนางจึงเป็นพระมารดาพระเจ้าและพระมารดาของเรา เราจึงอาจฝากตัวเรา ความกังวลและความต้องการทุกอย่างของเราไว้กับพระนางและวอนขอได้ พระนางทรงวอนขอเพื่อเราเช่นเดียวกับเพื่อพระนางเอง “ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” (ลก 1:38) เราฝากตัวไว้กับคำวอนขอของพระนาง เรามอบตัวเราพร้อมกับพระนางไว้กับพระประสงค์ของพระเจ้า “พระประสงค์จงสำเร็จไปเถิด”
“โปรดภาวนาเพื่อลูกทั้งหลายผู้เป็นคนบาป บัดนี้และเมื่อจะตายเทอญ” เมื่อวอนขอให้พระนางมารีย์ภาวนาเพื่อเรา เรายอมรับว่าเป็นคนบาปน่าสงสารและหันมาหา “พระมารดาผู้ทรงเมตตากรุณา” มาหาพระนางผู้ศักดิ์สิทธิ์อย่างสมบูรณ์ เราฝากตัวเราไว้กับพระนาง “บัดนี้” ในวันนี้ชีวิตของเรา ความวางใจของเรายังขยายออกไปอีกเพื่อมอบ “เวลาที่เราจะสิ้นใจ” แก่พระนาง ณ บัดนี้ด้วย ขอให้พระนางอยู่กับเราในเวลานั้น เหมือนกับที่ได้ทรงอยู่กับพระบุตรเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และขอให้พระนางทรงรับเราเหมือนกับเป็นมารดาของเรา และนำเราไปพบพระบุตรของพระนางในสวรรค์ด้วย
CCC ข้อ 2678 ความศรัทธาของคริสตชน พระศาสนจักรตะวันตกในสมัยกลางได้พัฒนาการสวดสายประคำขึ้นเป็นการทดแทนพิธีทำวัตรแบบชาวบ้าน ส่วนในพระศาสนจักรตะวันออก การภาวนาที่มีรูปแบบการตอบรับซํ้าๆ กัน เช่น Akathistos และ Parklesis ยังคงเป็นรูปแบบการอธิษฐานภาวนาคล้ายกับการขับร้องทำวัตรในพระศาสนจักรต่างๆ ของจารีตไบแซนไทน์ ขณะที่ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรอาร์เมเนีย ค็อปต์ และซีเรียคชอบบทเพลงสรรเสริญแบบชาวบ้านต่อพระมารดาพระเจ้ามากกว่า แต่บท “วันทามารีย์” บท Theotokia เพลงสรรเสริญของนักบุญเอเฟรมหรือเกรโกรีแห่งนาเร็ก ต่างยังรักษาธรรมประเพณีการอธิษฐานภาวนาที่มีรากฐานเดียวกัน
CCC ข้อ 2679 พระนางมารีย์เป็นผู้อธิษฐานภาวนาที่สมบูรณ์ เป็นรูปแบบของพระศาสนจักร เมื่อเราอธิษฐานภาวนาต่อพระนาง เราก็ใกล้ชิดกับแผนการของพระบิดาผู้ทรงส่งพระบุตรมาเพื่อช่วยมนุษย์ทุกคนให้รอดพ้น เรารับพระนางมาเป็นมารดาของเรา พระมารดาของพระเยซูเจ้ากลับมาเป็นพระมารดาของทุกคนผู้มีชีวิต เราอาจอธิษฐานภาวนากับพระนางและอธิษฐานภาวนาต่อ พระนางได้ การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรคล้ายกับว่าได้รับการอุดหนุนจากการอธิษฐานภาวนาของพระนางมารีย์ การอธิษฐานภาวนาเช่นนี้เป็นความสัมพันธ์กับพระองค์ในความหวัง
การอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชน
CCC ข้อ 2680 คำอธิษฐานภาวนาย่อมมุ่งหาพระบิดาโดยเฉพาะ บางครั้งอาจมุ่งหาพระเยซูเจ้าได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการเรียกพระนามของพระองค์ “ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นคนบาปเถิด”
CCC ข้อ 2681 “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) พระศาสนจักรจึงเชิญชวนเราให้เรียกหาพระจิตเจ้าให้เป็นประหนึ่งพระอาจารย์ภายในผู้สอนการอธิษฐานภาวนาแบบคริสตชน
CCC ข้อ 2682 พระศาสนจักรยินดีอธิษฐานภาวนาร่วมกับพระนางพรหมจารีเพราะพระนางทรงร่วมงานเป็นพิเศษกับพระจิตเจ้าเพื่อประกาศกิจการยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงกระทำในพระนาง และเพื่อฝากคำวอนขอและคำสรรเสริญให้พระนางช่วยทูลถวายแด่พระเจ้าแทนเราด้วย
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)