วันพุธ สัปดาห์ที่ 33 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา (ลก 19:11-28)
เวลานั้น ขณะที่ประชาชนกำลังฟังเรื่องเหล่านี้อยู่ พระเยซูเจ้าทรงอยู่ใกล้กรุงเยรูซาเล็มแล้ว ประชาชนคิดว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ากำลังจะปรากฏในไม่ช้า พระองค์จึงทรงเล่าเป็นอุปมาอีกเรื่องหนึ่ง พระองค์ตรัสว่า “บุรุษตระกูลสูงผู้หนึ่งออกเดินทางไปแดนไกลเพื่อรับตำแหน่งกษัตริย์ แล้วจะกลับมา เขาเรียกผู้รับใช้สิบคนเข้ามา แล้วมอบเงินจำนวนหนึ่งให้แต่ละคน สั่งว่า ‘จงเอาเงินนี้ไปทำธุรกิจจนกว่าเราจะกลับ’
แต่ชาวเมืองเกลียดชังเขา จึงส่งทูตคณะหนึ่งตามไปแจ้งว่า ‘พวกเราไม่ต้องการให้บุรุษผู้นี้เป็นกษัตริย์ปกครองเรา’ แต่เขาก็ยังได้รับตำแหน่งกษัตริย์แล้วกลับมา จึงสั่งให้ไปเรียกผู้รับใช้ที่เขามอบเงินให้ไว้มาพบ เพื่อจะรู้ว่าแต่ละคนได้ทำธุรกิจอย่างไร คนแรกเข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับเงินที่ท่านให้ไว้ ทำกำไรได้สิบเท่า’ นายจึงบอกเขาว่า ‘ดีแล้ว เจ้าเป็นผู้รับใช้ที่ดี เพราะเจ้าซื่อสัตย์ในเรื่องเล็กน้อย เจ้าจงมีอำนาจปกครองเมืองสิบเมืองเถิด’ คนที่สองเข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับเงินที่ท่านให้ไว้ ทำกำไรได้ห้าเท่า’ นายบอกเขาว่า ‘เจ้าจงไปปกครองเมืองห้าเมืองเถิด’ อีกคนหนึ่งเข้ามารายงานว่า ‘นายขอรับเงินที่ท่านให้ไว้อยู่นี่ ข้าพเจ้าเอาผ้าห่อเก็บไว้ ข้าพเจ้ากลัวท่าน เพราะท่านเป็นคนเข้มงวด ท่านเอาสิ่งที่ท่านไม่ได้ฝาก ท่านเก็บเกี่ยวสิ่งที่ท่านไม่ได้หว่าน’ นายจึงพูดกับเขาว่า ‘เจ้าขี้ข้าชั่วช้า ข้าจะตัดสินเจ้าจากคำพูดของเจ้า เจ้ารู้แล้วว่า ข้าเป็นคนเข้มงวด เอาสิ่งที่ข้าไม่ได้ฝากไว้ เก็บเกี่ยวสิ่งที่ข้าไม่ได้หว่าน ทำไมเจ้าจึงไม่เอาเงินของข้าไปฝากธนาคารไว้เล่า เมื่อข้ากลับมา ข้าจะได้เงินคืนพร้อมกับดอกเบี้ยด้วย’ นายยังกล่าวกับคนที่อยู่ที่นั่นว่า ‘จงเอาเงินจากเขามาให้กับผู้ที่ทำกำไรสิบเท่าเถิด’ คนเหล่านั้นพูดว่า ‘นายขอรับ เขามีเงินมากอยู่แล้ว’ นายจึงตอบว่า ‘ข้าบอกเจ้าทั้งหลายว่า ผู้ที่มีมาก จะได้รับมากขึ้น ส่วนผู้ที่มีน้อย สิ่งเล็กน้อยที่เขามีอยู่จะถูกริบไปด้วย ส่วนพวกศัตรูของข้าที่ไม่ต้องการให้ข้าเป็นกษัตริย์ จงพามาที่นี่ และประหารชีวิตต่อหน้าข้า’” เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินต่อไป เสด็จนำหน้าประชาชนขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม
ลก 19:11-27 อุปมาเรื่องเงินตะลันต์มุ่งเน้นว่า พระอาณาจักรของพระเจ้าในเชิงฝ่ายจิตนั้นมีที่พำนักอยู่ในจิตใจของมนุษย์ การก่อตั้งและการเผยแผ่พระอาณาจักรนี้ขึ้นอยู่กับความใจกว้างและคำตอบแห่งความเชื่อต่อพระหรรษทานที่พระองค์ประทานให้ในศีลล้างบาปแบบให้เปล่า พระหรรษทานนี้ต้องเติบโตขึ้นอาศัยกิจการแห่งความรักเมตตา และในขณะที่เติบโตขึ้นนั้นก็ทำให้ความรักของพระคริสตเจ้าหลั่งไหลสู่ใจของผู้อื่นด้วย ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะได้รับของประทานจากพระเจ้าและโอกาสต่างๆ ในแบบที่แตกต่างกัน เราแต่ละคนก็ต้องนำไปใช้ พัฒนาพรสวรรค์และโอกาสของตนเป็นอย่างดีเพื่อรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ในท้ายที่สุดองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงพิพากษาเกี่ยวกับกิจการและการเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์ของเราที่ได้เริ่มต้นแล้วอาศัยพระหรรรษทานแห่งศีลล้างบาป
มนุษย์ได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นชุมชน
CCC ข้อ 1879 บุคคลมนุษย์จำเป็นต้องมีชีวิตสังคม เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นอะไรพิเศษสำหรับมนุษย์ แต่เป็นข้อเรียกร้องของธรรมชาติมนุษย์ โดยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยการรับใช้และสนทนากับเพื่อนพี่น้อง มนุษย์ย่อมพัฒนาสมรรถภาพทุกอย่างของตน และดังนี้จึงตอบสนองกระแสเรียกของตน
CCC ข้อ 1880 สังคม เป็นการที่บุคคลจำนวนหนึ่งมารวมกันอย่างมีระเบียบโดยมีหลักการเรื่องเอกภาพที่อยู่เหนือแต่ละบุคคล สังคมซึ่งเป็นสิ่งที่แลเห็นได้และเป็นจิตในเวลาเดียวกันย่อมดำรงอยู่ในกาลเวลา รับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและเตรียมอนาคต อาศัยสังคม มนุษย์แต่ละคนเป็น “ทายาท” เขารับมรดกเป็น “พรสวรรค์” (talent) ที่ทำให้ตนร่ำรวยและต้องทำให้พรสวรรค์นี้เจริญเติบโตผลิตผลเพิ่มขึ้น ถูกต้องแล้วที่แต่ละคนต้องสละตนเองเพื่อชุมชนที่เขามีส่วนเป็นสมาชิกและมีหน้าที่ต้องเคารพผู้มีอำนาจปกครองเพื่อความดีของส่วนรวม
ความเสมอภาคและความแตกต่างกันระหว่างมนุษย์
CCC ข้อ 1936 มนุษย์ทุกคน เมื่อเข้ามาในโลกนี้ ไม่มีทุกสิ่งที่จำเป็นเพื่อความก้าวหน้าของชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เขาต้องการมนุษย์คนอื่นด้วย ความแตกต่างหลากหลายปรากฏชัดที่เกี่ยวข้องกับอายุ ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติทางปัญญาและความประพฤติ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่เขาอาจมีกับผู้อื่น หรือเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันทรัพย์สมบัติความร่ำรวย พระเจ้ามิได้ทรงแบ่ง “เงินตะลันต์” ให้ทุกคนเท่าๆ กัน
CCC ข้อ 1937 ความแตกต่างเช่นนี้เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าผู้ทรงประสงค์ให้แต่ละคนได้รับสิ่งที่เขาต้องการจากผู้อื่น และให้ผู้ที่มี “พรสวรรค์” ของตนแล้วได้รู้จักแบ่งปันพรเหล่านั้นแก่ผู้ที่มีความต้องการด้วย ความแตกต่างมักจะชักชวนและหลายครั้งถึงกับบังคับหลายคนให้มีใจกว้างรู้จักแบ่งปันกับผู้อื่น เป็นการส่งเสริมทำให้อารยธรรมต่างๆ ร่ำรวยขึ้นอีกด้วย “ทำไมเราจึงให้คุณธรรมต่างๆ กันแก่มนุษย์ ไม่ให้คุณธรรมทุกอย่างแก่คนเดียว แต่ให้คุณธรรมนี้แก่คนนั้น คุณธรรมนั้นแก่คนนี้ […] เราจะให้ความรักเป็นพิเศษแก่บางคน ให้ความยุติธรรมแก่คนนี้ ให้ความสุภาพถ่อมตนแก่คนโน้น ให้ความเชื่อมีชีวิตชีวาแก่คนนั้น […] และดังนี้ พระพร พระหรรษทาน คุณธรรมและของประทานมากมายทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายกาย […] เราแจกจ่ายของประทานยิ่งใหญ่แตกต่างกันมากมายทั้งหมดนี้ไม่เท่ากันแก่ทุกคน เพื่อท่านทั้งหลายจะได้มีโอกาสเพราะความจำเป็นที่จะฝึกหัดความรักต่อกัน […] เราต้องการให้คนหนึ่งต้องการอีกคนหนึ่ง และต้องการให้เขาเป็นผู้รับใช้เพื่อจัดการแจกจ่ายพระหรรษทานและของประทานต่างๆ ที่เขาได้รับมาจากเรา”
CCC ข้อ 1938 แต่ก็ยังมี ความไม่เท่าเทียมกันที่ผิด อีกด้วยที่ทำร้ายต่อชายหญิงนับล้านคน ความไม่เท่าเทียมเช่นนี้ขัดแย้งกับพระวรสารอย่างเปิดเผย “ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันของบุคคลเรียกร้องให้เราสร้างเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ที่ยุติธรรมและสมศักดิ์ศรีของมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น ความไม่เท่าเทียมกันมากเกินไปด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างสมาชิกหรือประชากรของครอบครัวมนุษยชาติชวนให้รู้สึกสะดุดใจ และขัดกับความยุติธรรมด้านสังคม ความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ ยังรวมไปถึงสันติภาพในสังคมและระหว่างชาติด้วย”
จุดหมายสากลและกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของทรัพย์สิน
CCC ข้อ 2402 ตั้งแต่แรกเริ่ม พระเจ้าทรงมอบโลกนี้และทรัพย์สมบัติของโลกนี้ไว้ให้มนุษยชาติจัดการร่วมกันเอาใจใส่ดูแล ใช้แรงงานควบคุมดูแลและได้รับผลประโยชน์จากโลก สิ่งของดีๆ จากการเนรมิตสร้างถูกกำหนดไว้สำหรับมนุษยชาติทั้งหมด ถึงกระนั้น พระเจ้าก็ทรงจัดแบ่งแผ่นดินให้แก่มนุษย์เพื่อให้เขามีความมั่นคงของชีวิตที่เสี่ยงต่อความขัดสนและถูกคุกคามจากความรุนแรง การเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นสิ่งถูกต้องเพื่อประกันอิสรภาพและศักดิ์ศรีของบุคคล เพื่อช่วยแต่ละคนให้สามารถให้ความช่วยเหลือต่อความจำเป็นพื้นฐานของผู้ที่เขามีหน้าที่ต้องดูแล การเป็นเจ้าของทรัพย์สินเช่นนี้ต้องเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนแสดงความร่วมมือกันได้ด้วย
ลก 19:13 เงินจำนวนหนึ่ง : เงินหนึ่งเหรียญหรือหนึ่งมีนา มีค่าเท่ากับค่าจ้างแรงงานเป็นเวลาประมาณสี่เดือน
ลก 19:28-40 การเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระคริสตเจ้าด้วยชัยชนะดัง “กษัตริย์ผู้เสด็จมาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า” นั้นเป็นความขัดแย้งที่ชัดเจนกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ขอถวายพระพรแด่กษัตริย์... ในที่สูงสุด : คำสรรเสริญเหล่านี้จากบรรดาผู้ที่กล่าวต้อนรับพระคริสตเจ้ายังคงมีการใช้ซ้ำอีกทุกวันนี้ในพิธีบูชาขอบพระคุณตอนที่ร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์
พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างพระเมสสิยาห์
CCC ข้อ 559 กรุงเยรูซาเล็มจะต้อนรับพระเมสสิยาห์ของตนอย่างไร พระเยซูเจ้าผู้ทรงหลีกเลี่ยงอยู่เสมอไม่ให้ประชาชนพยายามต้องการจะแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ ทรงเลือกเวลาเสด็จอย่างพระเมสสิยาห์เข้าในนคร “ของกษัตริย์ดาวิดบรรพบุรุษของพระองค์” (ลก 1:32) และทรงจัดเตรียมการเสด็จเข้านี้โดยละเอียด พระองค์ทรงรับการโห่ร้องต้อนรับดุจพระโอรสของกษัตริย์ดาวิด เหมือนผู้นำความรอดพ้นมาให้ (คำว่า “โฮซานนา” แปลว่า “จงช่วยให้รอดพ้นเถิด”) แต่บัดนี้ “กษัตริย์ผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (สดด 24:7-10) “ประทับบนหลังลา” (ศคย 9:9) เสด็จเข้านครของพระองค์ ทรงพิชิตธิดาแห่งศิโยน ซึ่งเป็นภาพของ พระศาสนจักรมาอยู่ใต้พระอานุภาพ มิใช่ด้วยกลอุบายหรือความรุนแรง แต่ด้วยความถ่อมตนซึ่งเป็นพยานถึงความจริง เพราะเหตุนี้ ในวันนั้นพวกเด็กๆ และ “ผู้ยากจนของพระเจ้า” ซึ่งโห่ร้องต้อนรับพระองค์เหมือนกับที่บรรดาทูตสวรรค์เคยแจ้งข่าวแก่พวกคนเลี้ยงแกะ จะเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองของพระอาณาจักร พระศาสนจักรจะนำคำโห่ร้องของพวกเด็กๆ เหล่านี้ที่ว่า “ท่านผู้มาในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าจงได้รับพระพร” (สดด 118:26) มาขับร้องอีกในบท “Sanctus [ศักดิ์สิทธิ์]” ของพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อเริ่มต้นการระลึกถึงงานฉลองปัสกาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)