แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 31 เทศกาลธรรมดา (ฉลองวันครบรอบการถวายพระวิหารลาเตรัน)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 2:13-22)                                                                     

เวลานั้น เทศกาลปัสกาของชาวยิวใกล้จะมาถึง พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ในบริเวณพระวิหาร พระองค์ทรงพบพ่อค้าขายโค พ่อค้าขายแกะ พ่อค้าขายนกพิราบ และคนแลกเงินนั่งอยู่ที่โต๊ะ พระองค์ทรงใช้เชือกเป็นแส้ ทรงขับไล่ทุกคนรวมทั้งแกะและโคออกจากพระวิหาร ทรงปัดเงินกระจายเกลื่อนกลาด และทรงคว่ำโต๊ะของผู้แลกเงิน แล้วตรัสกับคนขายนกพิราบว่า “จงนำของเหล่านี้ออกไป อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด” บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า” ชาวยิวจึงเข้ามาทูลถามพระองค์ว่า “ท่านมีเครื่องหมายอะไรแสดงให้เรารู้ว่าท่านมีอำนาจทำดังนี้” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “จงทำลายพระวิหารนี้ แล้วเราจะสร้างขึ้นใหม่ภายในสามวัน” ชาวยิวพูดว่า “พระวิหารหลังนี้ต้องใช้เวลาสร้างถึงสี่สิบหกปี แล้วท่านจะสร้างขึ้นใหม่ในสามวันหรือ” แต่พระองค์กำลังตรัสถึงพระวิหารซึ่งหมายถึงพระกายของพระองค์ ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ว่าพระองค์ตรัสไว้ดังนี้ เขาจึงเชื่อทั้งพระคัมภีร์และพระวาจาที่พระองค์ตรัสไว้ 


ยน 2:13-25  นักบุญยอห์นได้ทำให้กระจ่างชัดในเรื่องที่พระคริสตเจ้าตรัสไว้เกี่ยวกับการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ว่า เป็นการกล่าวถึงพระกายของพระองค์เองมากกว่าเรื่องโครงสร้างภายนอกของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำเหล่านี้ถูกใช้ในการกล่าวหาพระองค์เองเมื่อจะทรงถูกจับกุมและถูกดำเนินคดี พระวิหารของกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายโดยชาวโรมันในปีที่ 70 ก่อนคริสตกาล ทว่าพระคริสตเจ้าเองทรงเป็นระวิหารใหม่นิรันดรของพระเจ้า คำกล่าวของพระองค์ในที่นี้ทำนายถึงการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ถึงแม้ว่าบรรดาศิษย์ของพระองค์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด จนกระทั่งถึงเวลาหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์

  พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

  CCC ข้อ 583 เช่นเดียวกับบรรดาประกาศกที่มาก่อนหน้าพระองค์ พระเยซูเจ้าทรงแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม ที่นั่น โยเซฟและพระนางมารีย์นำพระองค์ไปถวายหลังจากทรงสมภพได้สี่สิบวัน เมื่อทรงพระชนมายุสิบสองพรรษาพระองค์ทรงตัดสินพระทัยค้างอยู่ในพระวิหารเพื่อทรงเตือนบิดามารดาให้ระลึกว่าพระองค์จำเป็นต้องทำธุรกิจของ พระบิดา ทุกปีในช่วงเวลาที่ทรงพระชนมชีพซ่อนเร้น พระองค์เสด็จขึ้นไปที่นั่นอย่างน้อยในเทศกาลปัสกา

  CCC ข้อ 586 พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นอริต่อพระวิหารเลย พระองค์ทรงสั่งสอนหลักคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร ทรงประสงค์จ่ายภาษีแก่พระวิหารและทรงต้องการให้เปโตร ที่เพิ่งทรงแต่งตั้งให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรในอนาคต ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นพระวิหารที่แสดงว่าพระเจ้าประทับในหมู่มนุษย์ตลอดไปด้วย เพราะเหตุนี้ การที่พระกายทรงถูกประหาร จึงเป็นการแจ้งถึงการที่พระวิหารจะถูกทำลายซึ่งจะแจ้งว่ายุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้นมาถึงแล้ว “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)

  พระเจ้าทรงค่อยๆ เปิดเผยเรื่องการกลับคืนชีพตามลำดับ

  CCC ข้อ 994  ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงรวมความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพไว้กับพระบุคคลของพระองค์เองด้วย “เราเป็นการกลับคืนชีพและเป็นชีวิต” (ยน 11:25) พระเยซูเจ้าพระองค์เองจะทรงบันดาลให้ผู้ที่เชื่อในพระองค์กลับคืนชีพในวันสุดท้าย รวมทั้งผู้ที่กินพระกายและดื่ม  พระโลหิตด้วย พระองค์ประทานเครื่องหมายและประกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อทรงคืนชีวิตให้แก่ผู้ตายบางคน และดังนี้ก็ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ด้วยแม้ว่าการนี้จะอยู่ในอีกระดับหนึ่ง พระองค์ตรัสถึงเหตุการณ์พิเศษนี้เช่นเดียวกับเมื่อตรัสถึงเครื่องหมายของประกาศกโยนาห์ ถึงเครื่องหมายเรื่องพระวิหาร พระองค์ทรงแจ้งล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพที่จะเกิดขึ้นในวันที่สามหลังจากที่จะทรงถูกประหารชีวิต


ยน 2:14-16  นักบุญยอห์นได้จัดวางเรื่องราวการชำระพระวิหารไว้ในตอนเริ่มต้นพันธกิจของพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงขับไล่พวกพ่อค้าออกจากบริเวณพระวิหาร ด้วยความรักต่อบ้านพระบิดาของพระองค์ ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องเป็นบ้านแห่งการสวดภาวนานั่นเอง

  พระเยซูเจ้าและพระวิหาร

  CCC ข้อ 584 พระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นไปยังพระวิหารในฐานะสถานที่พิเศษเพื่อพบพระเจ้า สำหรับพระองค์  พระวิหารคือที่ประทับของพระบิดา เป็นบ้านการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงขัดเคืองพระทัยเมื่อลานด้านนอกของพระวิหารกลายเป็นตลาดสถานที่ค้าขาย ถ้าทรงขับไล่บรรดาพ่อค้าออกไปจากพระวิหาร พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพราะความรักเป็นพิเศษต่อพระบิดา “อย่าทำบ้านของพระบิดาของเราให้เป็นตลาด บรรดาศิษย์จึงระลึกได้ถึงคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ‘ความรักที่ข้าพเจ้ามีต่อบ้านของพระองค์เป็นเสมือนไฟที่เผาผลาญข้าพเจ้า’ (สดด 69:10)” (ยน 2:16-17) หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว บรรดาอัครสาวกก็ยังคงมีความเคารพต่อพระวิหารต่อมาด้วย


ยน 2:18  ชาวยิว : ในพระวรสารโดยนักบุญยอห์นนั้น คำนี้มักใช้หมายถึง “บรรดาชาวยิวผู้มีอำนาจ” มากกว่าการหมายถึงชาวยิวโดยทั่วไป กระนั้นก็ดี ในบรรดาชาวยิวผู้มีอำนาจ (พวกธรรมาจารย์ ชาวฟาริสี สภาสูง ฯลฯ) ก็ยังมีหลายคนที่เห็นอกเห็นใจพระคริสตเจ้า และยังได้ช่วยสนับสนุนพระองค์อีกด้วย

  พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

  CCC ข้อ 575  การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย  รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)