แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 23:1-12)                          

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่ประชาชนและบรรดาศิษย์ว่า “พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีนั่งบนธรรมาสน์ของโมเสส ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด แต่อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา เพราะเขาพูด แต่ไม่ปฏิบัติ เขามัดสัมภาระหนักวางบนบ่าคนอื่น แต่เขาเองไม่ปรารถนาแม้แต่จะขยับนิ้วไปยกขึ้น เขาทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนเห็น เช่น เขาขยายกลักบรรจุพระวาจาให้ใหญ่ขึ้น ผ้าคลุมของเขามีพู่ยาวกว่าของคนอื่น เขาชอบที่นั่งมีเกียรติในงานเลี้ยง ชอบนั่งแถวหน้าในศาลาธรรม ชอบให้ผู้คนคำนับตามลานสาธารณะ ชอบให้ทุกคนเรียกว่า ‘รับบี’

ส่วนท่านทั้งหลาย อย่าให้ผู้ใดเรียกว่า ‘รับบี’ เพราะอาจารย์ของท่านมีเพียงผู้เดียวและทุกคนเป็นพี่น้องกัน ในโลกนี้อย่าเรียกผู้ใดว่า ‘บิดา’ เพราะว่าพระบิดาของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระบิดาในสวรรค์ อย่าให้ผู้ใดเรียกท่านว่า ‘อาจารย์’ เพราะพระอาจารย์ของท่านมีเพียงพระองค์เดียวคือพระคริสตเจ้า ในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเป็นใหญ่จะต้องเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น ผู้ใดที่ยกตนขึ้น จะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดถ่อมตนลง จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น” 


มธ 23:1-36  พระคริสตเจ้าทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำสอนเรื่องการปฏิบัติบทบัญญัติของพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีว่า เป็นการบกพร่องในคุณธรรมความสุภาพ พระองค์ทรงใช้คำว่า คนหน้าซื่อใจคด เพื่ออธิบายถึงผู้คอยสาละวนอยู่กับการปฏิบัติตามกฎภายนอก โดยไม่สนใจต่อสิ่งที่ลึกและสำคัญกว่านั้น คือจิตตารมณ์ที่แฝงอยู่ในบัญญัตินั่นเอง 


มธ 23:2  ธรรมาสน์ของโมเสส : วลีนี้หมายถึงอำนาจการสอนของพวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสี

อำนาจสอนของพระศาสนจักร (Magisterium Ecclesiae)

CCC ข้อ 85 “หน้าที่ที่จะตีความหมายพระวาจาของพระเจ้าที่บันทึกไว้และที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมาทางวาจาได้อย่างถูกต้องนั้น พระศาสนจักรผู้มีอำนาจสอนเท่านั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้และใช้อำนาจนี้ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า” ซึ่งได้แก่พระสังฆราชที่มีความสัมพันธ์กับพระสังฆราชแห่งกรุงโรมผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร


มธ 23:5  กลักบรรจุพระวาจา : ในภาษาแอราเมอิก คำว่า teffin หมายถึง กล่องเล็กๆ ใช้บรรจุม้วนพระวาจา สำหรับสวมไว้ที่หน้าผากและติดไว้ที่แขนซ้ายในขณะสวดภาวนา (เทียบ ฉธบ 6:4)  ชายเสื้อ : หมายถึงพู่ที่ชาวยิวติดไว้บริเวณชายเสื้อของพวกเขา (เทียบ กดว 15:38-39; ฉธบ 22:12 )  กลักเหล่านี้ถูกใช้เพื่อทำให้พระบัญญัติของพระเจ้าคงอยู่ต่อหน้าต่อตาประชาชนชาวยิวเสมอ

พระบัญญัติสิบประการในพระคัมภีร์

CCC ข้อ 2057 พระบัญญัติสิบประการเข้าใจได้โดยเฉพาะในบริบทของการอพยพซึ่งเป็นกิจการช่วยให้รอดพ้นที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ไม่ว่าพระบัญญัติสิบประการนี้จะเรียบเรียงไว้เป็นข้อห้าม หรือเป็นคำสั่ง (เช่น “จงนับถือบิดามารดาของท่าน”) ก็ล้วนแสดงเงื่อนไขสำหรับชีวิตที่ได้รับการช่วยให้พ้นจากการเป็นทาสของบาปแล้ว พระบัญญัติสิบประการเป็นแนวทางชีวิต “ถ้า […] ท่านจะรักองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านและเดินตามวิถีทางของพระองค์ ปฏิบัติตามบทบัญญัติ ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของพระองค์แล้ว ท่านจะมีชีวิตและทวีจำนวนขึ้น” (ฉธบ 30:16) พลังช่วยให้รอดพ้นของพระบัญญัติสิบประการนี้ปรากฏให้เห็น เช่นในบัญญัติให้พักผ่อนในวันสับบาโตที่กำหนดไว้ทั้งสำหรับคนต่างด้าวและบรรดาทาสด้วย “จงจำไว้ว่าท่านเคยเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์ และองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่านทรงใช้พระหัตถ์ทรงฤทธิ์และพระอานุภาพยิ่งใหญ่นำท่านออกจากที่นั่น” (ฉธบ 5:15)

CCC ข้อ 2058 พระบัญญัติสิบประการสรุปและประกาศกฎของพระเจ้า “องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสพระวาจาเหล่านี้แก่ท่านทุกคนที่มาชุมนุมกันที่ภูเขาด้วยพระสุรเสียงดังจากกองไฟ จากเมฆและความมืดทึบหลังจากนั้นพระองค์ไม่ได้ตรัสอะไรอีก พระองค์ทรงจารึกพระวาจานี้ไว้บนศิลาสองแผ่นและทรงมอบให้ข้าพเจ้า” (ฉธบ 5:22) เพราะฉะนั้น ศิลาสองแผ่นนี้จึงเรียกว่า “แผ่นศิลาจารึก” (หรือ “คำยืนยัน” หรือ “คำสั่ง” หรือ “ข้อกำหนด”) (อพย 25:16) เพราะแผ่นศิลาจารึกเหล่านี้บรรจุเงื่อนไขพันธสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ จึงจำเป็นต้องบรรจุ “แผ่นศิลาจารึก” เหล่านี้ (อพย 31:18; 32:15; 34:29) ไว้ใน “หีบ (พันธสัญญา)” (อพย 25:16; 40:1-3)

CCC ข้อ 2059 พระเจ้าทรงประกาศพระบัญญัติสิบประการ (“พระวาจาสิบคำ”) ในระหว่างการแสดงพระองค์บนภูเขาซีนาย (“พระองค์ตรัสแก่ท่านโดยตรงจากกองไฟบนภูเขา” ฉธบ 5:4) การที่ทรงแสดงพระองค์และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์นี้เป็นเรื่องของการเปิดเผย (revelation) การประทานพระบัญญัติจึงเป็นการประทานพระเจ้าพระองค์เองและพระประสงค์ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ทำให้เรารู้พระประสงค์ของพระองค์ พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากรของพระองค์

CCC ข้อ 2060 การประทานธรรมบัญญัติและกฎหมายจึงเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับประชากรของพระองค์ ในหนังสืออพยพ “พระบัญญัติสิบประการ” ได้รับการเปิดเผยในกระบวนการระหว่างการเสนอพันธสัญญา กับการทำสัตยาบรรณของการนี้ - หลังจากที่ประชากรผูกมัดตนเองเพื่อ “ทำ” สิ่งใดไม่ว่าที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสและ “เชื่อฟัง” พระองค์พระบัญญัติสิบประการไม่เคยได้รับการถ่ายทอดต่อมาเลยถ้าไม่ได้กล่าวถึงการทำพันธสัญญาเสียก่อน (“องค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของเราทรงทำพันธสัญญาไว้กับเราที่ภูเขาโฮเรบ” ฉธบ 5:2)

CCC ข้อ 2061 พระบัญญัติมีความหมายสมบูรณ์ภายในพันธสัญญา พระคัมภีร์สอนว่าความประพฤติของมนุษย์มีความหมายสมบูรณ์ในพันธสัญญาและโดยทางพันธสัญญา พระบัญญัติประการแรกจาก “พระบัญญัติสิบประการ” ก่อนอื่นใดหมดเตือนให้ระลึกถึงความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ “เนื่องจากการที่มนุษย์ได้ตกลงมาจากอิสรภาพแห่งสวนอุทยานมารับสภาพการเป็นทาสในโลกนี้ข้อความแรกของพระบัญญัติสิบประการจึงเป็นพระสุรเสียงของพระเจ้าที่กล่าวถึงอิสรภาพ ตรัสว่า ‘เราคือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่าน เป็นผู้นำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์ให้พ้นจากการเป็นทาส’ (เทียบ อพ 20:2; ฉธบ 5:6)”


มธ 23:9  อย่าเรียกผู้ใดว่า บิดา : พระคริสตเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ว่า อย่าแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง หรือให้ใครมีอำนาจเหนือพระเจ้าพระบิดา คำว่า “รับบี” หรือ “บิดา” เป็นคำเรียกที่มักใช้กับครูบาอาจารย์ ดังเครื่องหมายแสดงถึงความเคารพสูงสุด พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้ครบครันและพระอาจารย์ผู้รอบรู้อย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ ไม่มีการห้ามใช้คำว่า “พ่อ” สำหรับเรียกบิดาผู้ให้กำเนิดหรือบิดาเลี้ยงหรือผู้ได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ อันที่จริงบรรดาอัครสาวกกล่าวถึงตนเองว่าเป็นดังสงฆ์วิญญาณรักษ์ ส่วนคริสตชนในชุมชนต่างๆ ที่พวกท่านตั้งขึ้นนั้นก็คือบุตรของพวกท่านเอง (เทียบ 1คร 4:14-15; 1ปต 5:13; กท 4:19) 

การมีบุตรของคู่สมรส

CCC ข้อ 2367 คู่สมรสที่ได้รับเรียกมาเพื่อให้ชีวิตย่อมมีส่วนร่วมกับพระอานุภาพเนรมิตสร้างและความเป็นบิดาของพระเจ้า “คู่สมรสต้องคิดว่าเป็นพันธกิจโดยเฉพาะของเขาที่จะทำหน้าที่สืบทอดชีวิตมนุษย์และอบรมสั่งสอนบุตร เขารู้ดีว่าตนเป็นผู้ร่วมงานแห่งความรักของพระเจ้าและเป็นผู้แสดงให้เห็นความรักนี้ ดังนั้น เขาจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบแบบมนุษย์และแบบคริสตชน”


มธ 23:12  ผู้ใดที่ยกตนขึ้น... จะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น : การเรียกร้องให้สุภาพถ่อมตนในที่นี้คล้ายคลึงกับคำเตือนสอนของพระคริสตเจ้าก่อนหน้านี้ ที่บอกให้กลายเป็น “เหมือนเด็กเล็กๆ” เพื่อจะได้เข้าในพระอาณาจักรสวรรค์ (มธ 18:3-4)

พระธรรมล้ำลึกการสมภพ

CCC ข้อ 526 “การกลับเป็นเด็ก” ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นเงื่อนไขเพื่อจะเข้าพระอาณาจักรได้ เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องถ่อมตน กลายเป็นคนไม่มีความสำคัญ ยิ่งกว่านั้นยังจำเป็นต้อง “เกิดใหม่” (ยน 3:7) คือเกิดจากพระเจ้า เพื่อใครคนหนึ่งจะเป็นบุตรของพระเจ้าได้ พระธรรมล้ำลึกการสมภพของพระคริสตเจ้าจะสำเร็จสมบูรณ์ก็เมื่อพระคริสตเจ้า “จะปรากฏอยู่ในเราอย่างชัดเจน” การสมภพของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่ง “การแลกเปลี่ยนน่าพิศวง” นี้ “การแลกเปลี่ยนเช่นนี้น่าพิศวงจริง พระผู้เนรมิตสร้างมนุษยชาติทรงรับร่างกายที่มีชีวิตมาบังเกิดจากพระนางพรหมจารี และเมื่อทรงถ่อมพระองค์สมภพเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ประทานพระเทวภาพของพระองค์ให้แก่เรา”

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)