วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 10:34-11:1)
เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสแก่บรรดาอัครสาวกว่า “อย่าคิดว่าเรามาเพื่อนำสันติภาพมาให้โลก เรามิได้มาเพื่อนำสันติภาพ แต่มาเพื่อนำดาบมาให้ เรามาเพื่อแยกบุตรชายจากบิดา แยกบุตรหญิงจากมารดา แยกบุตรสะใภ้จากมารดาของสามี ศัตรูของคนก็คือคนที่อยู่ร่วมบ้านกับเขานั่นเอง ผู้ที่รักบิดามารดามากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา ผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา ผู้ใดไม่รับเอาไม้กางเขนของตนแบกตามเรา ผู้นั้นก็ไม่คู่ควรกับเรา ผู้ที่หวงชีวิตของตนไว้ ก็จะสูญเสียชีวิตนั้น แต่ผู้ที่ยอมเสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เรา จะพบชีวิตนั้นอีก ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลาย ก็ต้อนรับเรา ผู้ที่ต้อนรับเรา ก็ต้อนรับพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา ผู้ที่ต้อนรับประกาศก เพราะเป็นประกาศก จะได้รับบำเหน็จรางวัลของประกาศก ผู้ที่ต้อนรับผู้ชอบธรรม เพราะเขาเป็นผู้ชอบธรรม จะได้รับบำเหน็จรางวัลของผู้ชอบธรรม ผู้ใดที่ให้น้ำเย็นแม้เพียงหนึ่งแก้วแก่คนใดคนหนึ่งในบรรดาคนธรรมดาๆ เหล่านี้ เพราะเขาเป็นศิษย์ของเรา เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ผู้นั้นจะได้รับบำเหน็จรางวัลอย่างแน่นอน” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสสั่งสอนศิษย์สิบสองคนแล้ว ก็เสด็จจากที่นั่นไปเทศนาสั่งสอนตามเมืองต่างๆ ในแคว้นกาลิลี
มธ 10:37 เพื่อตอบรับการเรียกของพระคริสตเจ้าให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ ทุกสิ่งต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับกระแสเรียกนี้ แม้แต่ความรักที่มีต่อครอบครัวของเราก็เป็นสิ่งสำคัญที่สนับสนุนกระแสเรียกนั้น เมื่อเด็กเติบโตขึ้น การรับรู้ถึงกระแสเรียกเฉพาะส่วนตัวของเขาที่มาจากพระเจ้าก็จะค่อยๆ ปรากฏชัดเจนและเข้มแข็งยิ่งขึ้น และพวกเขาก็ต้องทำวิจารณญาณของตนอย่างเอาใจใส่ ผู้ปกครองและสมาชิกในครอบครัวต้องคอยแนะนำพวกเขา ในท้ายที่สุดพวกเขาต้องอธิษฐานภาวนาและสนับสนุนเขาให้ตอบสนองเพื่อติดตามกระแสเรียกนี้
ครอบครัวและพระอาณาจักร
CCC ข้อ 2232 ความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญมาก แต่ก็ไม่เด็ดขาด เช่นเดียวกับที่เด็กทารกเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบส่วนตัวตามธรรมชาติและด้านจิตใจยิ่งขึ้น กระแสเรียกเฉพาะส่วนตัวของเขาที่มาจากพระเจ้าย่อมปรากฏชัดเจนและเข้มแข็งยิ่งขึ้น บิดามารดาจะต้องสังเกตกระแสเรียกของบุตรและสนับสนุนให้ตอบสนองเพื่อติดตามกระแสเรียกนี้ เขาต้องคิดว่ากระแสเรียกประการแรกของคริสตชนก็คือการติดตามพระเยซูเจ้า “ผู้ที่รักบิดามารดามากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเราผู้ที่รักบุตรชายหญิงมากกว่ารักเรา ก็ไม่คู่ควรกับเรา” (มธ 10:37)
มธ 10:38 การเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้านั้นหมายถึงการมีส่วนร่วมในไม้กางเขนของพระองค์ (มธ 10:25) ในการตายเพื่อยืนยันความเชื่อ ผู้เป็นศิษย์จะกลายเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าอย่างสมบูรณ์ ที่จริงแล้วในภาษากรีกคำว่า Martur มีความหมายว่า “พยาน” แม้คริสตชนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเรียกให้สละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อ ทุกคนก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะเป็นพยานและยอมรับความทุกข์ทรมานเพื่อพระคริสตเจ้า
พิธีล้างของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 1225 ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิทศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5) “เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้าจากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมาน เพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”
“ท่านทั้งหลายจงบำบัดรักษาคนเจ็บป่วย...”
CCC ข้อ 1506 พระคริสตเจ้าทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้แบกไม้กางเขนของตนเองขึ้นติดตามพระองค์ และเมื่อติดตามพระองค์ เขาเหล่านี้ก็ได้มุมมองใหม่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยและผู้ป่วย พระเยซูเจ้าทรงนำเขาเข้ามาร่วมพระชนมชีพที่ยากจนและยินดีรับใช้ผู้อื่น ทรงทำให้เขามีส่วนร่วมศาสนบริการความเห็นอกเห็นใจและบำบัดรักษาโรค “เขาจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (มก 6:12-13)
มธ 10:40 ศาสนบริกรของบรรดาอัครสาวก ทั้งในด้านการเทศน์สอนและการโปรดศักดิ์สิทธิ์ ล้วนเป็นการสานต่อศาสนบริการของพระคริสตเจ้าเอง ผู้ได้รับศีลบวชของพระศาสนจักรปฏิบัติหน้าที่รับใช้ด้วยการเทศน์สอน การปฏิบัติคารวกิจ และการปกครองเชิงอภิบาล
พันธกิจของบรรดาอัครสาวก
CCC ข้อ 858 พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)
หน้าที่สั่งสอน
CCC ข้อ 888 บรรดาพระสังฆราช พร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ผู้ช่วยของท่าน “ก่อนอื่นมีหน้าที่ประกาศข่าวดีของพระวรสารของพระเจ้าแก่ทุกคน” ตามพระบัญชาขององค์พระผู้เป็นเจ้า ท่านเหล่านี้ “เป็นผู้ประกาศความเชื่อ นำศิษย์ใหม่ๆ เข้ามาหาพระคริสตเจ้า และเป็นผู้สั่งสอนความเชื่อของบรรดาอัครสาวกอย่างแท้จริงโดยอำนาจของพระคริสตเจ้าที่ได้รับมา
หน้าที่บันดาลความศักดิ์สิทธิ์
CCC ข้อ 893 พระสังฆราชยังเป็น “ผู้จัดการพระหรรษทานของสมณภาพสูงสุด” ด้วย โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เขาถวายเองและที่เขาจัดให้มีการถวายโดยบรรดาพระสงฆ์ผู้ร่วมงาน พิธีบูชาขอบพระคุณเป็นศูนย์กลางพิเศษของชีวิตพระศาสนจักร พระสังฆราชและบรรดาพระสงฆ์ยังบันดาลให้พระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ด้วยการอธิษฐานภาวนาและการปฏิบัติงานของตนผ่านทางศาสนบริการพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เขายังบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ (แก่พระศาสนจักร) ผ่านทางแบบอย่างชีวิตของตน “มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้อยู่ใต้ปกครอง แต่เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ” (1 ปต 5:3) และดังนี้ “เขาก็จะบรรลุถึงชีวิตนิรันดรพร้อมกับฝูงแกะที่เขารับฝากดูแล”
หน้าที่ปกครองดูแล
CCC ข้อ 894 “บรรดาพระสังฆราชปกครองพระศาสนจักรท้องถิ่นที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลในฐานะผู้แทนและผู้ช่วยของพระคริสตเจ้า โดยคำแนะนำ คำตักเตือน แบบอย่าง และโดยอำนาจหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย” ซึ่งเขาต้องใช้อำนาจนี้เพื่อเสริมสร้างด้วยจิตใจการรับใช้ ซึ่งเป็นจิตใจของพระอาจารย์ของเขา
มธ 11:1-6 เพื่อตอบคำถามแก่บรรดาศิษย์ของยอห์นบัปติสต์ พระคริสตเจ้าได้ทรงชี้ให้พวกเขาเห็นถึงการกระทำของพระองค์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัศจรรย์ในการรักษาของพระองค์ ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่า พระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่ถูกทำนายไว้แล้วในพันธสัญญาเดิม โดยอาศัยความเชื่อ เราสามารถมองเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้าที่ปรากฏอยู่โดยทางอัศจรรย์ของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ได้
เครื่องหมายพระอาณาจักรของพระเจ้า
CCC ข้อ 548 เครื่องหมายอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นพยานยืนยันว่าพระบิดาทรงส่งพระองค์มา เครื่องหมายอัศจรรย์เหล่านี้เชิญชวนให้ทุกคนมีความเชื่อในพระองค์ พระองค์โปรดให้ผู้ที่มีความเชื่อในพระองค์ได้รับตามที่ขอ อัศจรรย์จึงเสริมความเชื่อต่อพระองค์ผู้ทรงทำกิจการของพระบิดา กิจการเหล่านี้เป็นพยานยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า แต่อัศจรรย์เหล่านี้ก็อาจเป็นโอกาสความแคลงใจได้เหมือนกัน อัศจรรย์เหล่านี้ไม่มีเจตนาตอบสนองความมักรู้มักเห็นหรือความอยากดูมายากล แม้ทรงทำอัศจรรย์ที่ชัดเจนเช่นนี้แล้ว หลายคนก็ยังไม่ยอมรับพระองค์ และยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงทำเช่นนี้อาศัยอำนาจของปีศาจ
CCC ข้อ 549 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์ที่แสดงว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ช่วยให้บางคนพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เช่น ความหิว ความอยุติธรรม โรคภัยไข้เจ็บและความตาย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ไม่ได้เสด็จมาเพื่อทำลายความชั่วร้ายทั้งหมดในแผ่นดิน แต่เสด็จมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากการเป็นทาสที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการเป็นทาสของบาป ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางเขาที่ได้รับเรียกให้เป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นสาเหตุของการเป็นทาสทุกรูปแบบของมนุษย์
ความรักต่อผู้ยากไร้
CCC ข้อ 2443 พระเจ้าทรงอวยพระพรผู้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้ยากไร้และทรงตำหนิผู้ที่ไม่ยอมทำเช่นนี้ “ผู้ใดขออะไรจากท่าน ก็จงให้ อย่าหันหลังให้ผู้ที่มาขอยืมสิ่งใดจากท่าน” (มธ 5:42) “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย” (มธ 10:8) พระเยซูเจ้าจะทรงยอมรับผู้ที่ทรงเลือกสรรจากการที่เขาปฏิบัติต่อผู้ยากจน ในเมื่อการที่ “คนยากจนได้รับการประกาศข่าวดี” (มธ 11:5) เป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)