แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันศุกร์  สัปดาห์ที่ 13  เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 9:9-13)                                                    

ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงดำเนินไปจากที่นั่น ทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อ มัทธิว กำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษี จึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป

ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่บ้านของมัทธิว คนเก็บภาษีและคนบาปหลายคน มาร่วมโต๊ะกับพระองค์และบรรดาศิษย์ เมื่อเห็นดังนี้ ชาวฟาริสีจึงถามศิษย์ของพระองค์ว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านจึงกินอาหารร่วมกับคนเก็บภาษีและคนบาปเล่า” พระเยซูเจ้าทรงได้ยินดังนั้น จึงตรัสตอบว่า “คนสบายดีย่อมไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ จงไปเรียนรู้ความหมายของพระวาจาที่ว่า ‘เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา’ เพราะเราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” 


มธ 9:9  จงตามเรามาเถิด : พระเจ้าทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์โดยปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชัง มัทธิวได้ถูกรวมเข้าอยู่ในกลุ่มคนบาปสาธารณะ เนื่องจากท่านมีอาชีพเก็บภาษีให้ชาวโรมัน  ลุกขึ้นตามพระองค์ไป : มัทธิวได้ละทิ้งทุกอย่างและติดตามไปเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าในทันที พระเจ้าทรงมีแผนการเฉพาะสำหรับแต่ละคนเพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์และทำงานประกาศพระวรสาร เมื่อเราไตร่ตรองถึงกระแสเรียกของตนในการภาวนา เราก็ต้องติดตามพระคริสตเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจและไม่รีรอด้วยเช่นกัน

พันธกิจของบรรดาอัครสาวก

CCC ข้อ 858 พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ที่พระบิดาเจ้าทรงส่งมา นับตั้งแต่เริ่มออกเทศน์สอนประชาชน “พระองค์ทรงเรียกผู้ที่พระองค์ทรงต้องการให้มาพบ [...] พระองค์จึงทรงแต่ตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน” (มก 3:13-14) ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็น “ผู้ที่ถูกส่งไป” ของพระองค์ (คำภาษากรีก “apostoloi” มีความหมายเช่นนี้) พระองค์ทรงปฏิบัติพันธกิจของพระองค์ต่อไปในเขาเหล่านี้ “พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน 20:21) ศาสนบริการของเขาเหล่านี้จึงเป็นการสืบต่อพันธกิจของพระองค์ พระองค์ตรัสแก่เขาทั้งสิบสองคนว่า “ผู้ที่ต้อนรับท่านทั้งหลายก็ต้อนรับเรา” (มธ 10:40)

CCC ข้อ 859 พระเยซูเจ้าทรงรับเขาเหล่านี้ให้มาร่วมพันธกิจที่ทรงได้รับมาจากพระบิดา เช่นเดียวกับที่ “พระบุตรไม่อาจทำสิ่งใดตามใจของตน” (ยน 5:19, 30) แต่รับทุกสิ่งจากพระบิดาผู้ทรงส่ง พระบุตรมาฉันใด ผู้ที่พระเยซูเจ้าทรงส่งไปก็ไม่อาจทำอะไรโดยไม่มีพระองค์ ที่ประทานอำนาจให้เขาปฏิบัติพันธกิจที่ทรงมอบให้เขาทำได้ฉันนั้น ดังนั้น บรรดาอัครสาวกของพระคริสตเจ้าจึงรู้ว่าพระเจ้าทรงทำให้ตนเป็น “ผู้รับใช้พันธสัญญาใหม่” (2คร 3:6) เป็น “ผู้รับใช้ของพระเจ้า” (2คร 6:4) “เป็นทูตแทนพระคริสตเจ้า” (2คร 5:20) “เป็นผู้รับใช้ของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ จัดการดูแลธรรมลํ้าลึกของพระเจ้า” (1คร 4:1) ได้อย่างเหมาะสม

CCC ข้อ 860 ในบทบาทของบรรดาอัครสาวก มีบางมิติที่ไม่อาจส่งต่อไปได้ นั่นคือการที่เขาเหล่านี้ได้รับเลือกไว้ให้เป็นพยานของการกลับคืนพระชนมชีพขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นรากฐานของพระศาสนจักร แต่บทบาทของเขาเหล่านี้ก็ยังมีมิติอื่นที่ยังคงอยู่ตลอดไปด้วยพระคริสตเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงอยู่กับเขาตราบจนสิ้นพิภพด้วย “พระคริสตเจ้าทรงฝากพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบให้นั้นไว้กับบรรดาอัครสาวก พันธกิจนี้จะคงอยู่ตราบจนสิ้นพิภพ เพราะพระวรสารที่เขาเหล่านี้จะต้องมอบต่อไปนั้นเป็นหลักการดำเนินชีวิตทั้งหมดสำหรับพระศาสนจักรตลอดไป เพราะฉะนั้น […] บรรดาอัครสาวกจึงเอาใจใส่ที่จะแต่งตั้งผู้สืบตำแหน่งต่อไป”


มธ 9:10-13  บางคนรู้สึกสะดุดเพราะพระคริสตเจ้าทรงอยู่รวมกับพวกคนบาป แต่พระองค์ทรงแสดงพระเมตตาต่อคนบาปด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้า เรื่องนี้ทำให้เกิดการเป็นที่สะดุดมากขึ้นอีกเพราะเหตุการณ์นั้นถูกมองว่าเป็นการอ้างถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์เอง

พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว

CCC ข้อ 589 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจโดยเฉพาะ เพราะทรงประกาศว่าการที่ทรงแสดงพระทัยเมตตากรุณาต่อคนบาปนั้นเป็นเหมือนกับที่พระเจ้าทรงปฏิบัติต่อพวกเขาด้วย พระองค์ยัง ตรัสเป็นนัยอีกว่าการที่ทรงร่วมโต๊ะกับพวกคนบาปนั้น เป็นการที่ทรงรับพวกเขาให้ร่วมโต๊ะในยุคพระเมสสิยาห์แต่โดยเฉพาะเมื่อทรงอภัยบาป พระเยซูเจ้าทรงทำให้ผู้นำทางศาสนาของอิสราเอลจนตรอก เขากล่าวถูกต้องแล้วด้วยความขัดเคืองมิใช่หรือว่า “ใครอภัยบาปได้นอกจากพระเจ้าเท่านั้น” (มก 2:7) ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาป ก็หมายความว่าพระองค์กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า เป็นมนุษย์ผู้ตั้งตนเสมอเท่าพระเจ้า หรือมิฉะนั้นก็ทรงกล่าวความจริง และพระองค์ก็ทรงเปิดเผยและทำให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่รู้จักแก่ทุกคน

การถวายบูชา

CCC ข้อ 2100 การถวายบูชาภายนอก เพื่อจะเป็นการถวายบูชาแท้จริง ต้องเป็นการแสดงออกของการถวายบูชาฝ่ายจิต “เครื่องบูชาแด่พระเจ้าคือดวงจิตที่เป็นทุกข์...” (สดด 51:19) บรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิมหลายครั้งตำหนิการถวายบูชาที่ไม่มาจากการมีส่วนร่วมจากภายในจริงๆ หรือการถวายบูชาที่ไม่ควบคู่ไปกับความรักต่อเพื่อนมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงเตือนให้ระลึกถึงถ้อยคำของประกาศกโฮเชยาว่า “เราพอใจความเมตตากรุณา มิใช่พอใจเครื่องบูชา” (มธ 9:13; 12:7) การถวายบูชาที่สมบูรณ์หนึ่งเดียวก็คือการถวายบูชานั้นที่พระคริสตเจ้าทรงถวายบนไม้กางเขนด้วยการถวายพระองค์ทั้งหมดแด่ความรักของพระบิดาและเพื่อความรอดพ้นของเรา ถ้าเราร่วมถวายตัวเรากับการถวายบูชาของพระองค์ เราก็อาจทำให้ชีวิตของเราเป็นการถวายบูชาแด่พระเจ้าได้ 


มธ 9:13  ถ้อยคำเหล่านี้ของพระคริสตเจ้าสะท้อนให้เห็นรูปแบบหนึ่งของจารีตพิธีสารภาพบาปในพิธีบูชาขอบพระคุณ ด้วยคำภาวนาที่ว่า “พระองค์เสด็จมาเรียกคนบาป” 

การเป็นทุกข์กลับใจมีหลายรูปแบบในชีวิตคริสตชน

CCC ข้อ 1438 เทศกาลและวันกลับใจใช้โทษบาปที่กำหนดไว้ในปีพิธีกรรม (เทศกาลมหาพรต ทุกวันศุกร์เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า) เป็นช่วงเวลาพิเศษของพระศาสนจักรเพื่อการปฏิบัติการกลับใจและชดเชยบาป ช่วงเวลาเหล่านี้เหมาะเป็นพิเศษสำหรับการฝึกด้านจิตใจ พิธีกรรมชดเชยบาป การเดินทางแสวงบุญเป็นเครื่องหมายของการกลับใจชดเชยบาป การสละตนโดยสมัครใจ เช่น การจำศีลอดอาหารและการให้ทานการแบ่งปันฉันพี่น้อง (กิจการเมตตาธรรมและแพร่ธรรม)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)