แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอาทิตย์  สัปดาห์ที่ 12  เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 10:26-33)                                          

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า “อย่ากลัวมนุษย์เลย ไม่มีสิ่งใดที่ปิดบังไว้ จะไม่ถูกเปิดเผย ไม่มีสิ่งใดที่ซ่อนเร้น จะไม่มีใครรู้ สิ่งที่เราบอกท่านในที่มืด ท่านจงกล่าวออกมาในที่สว่าง สิ่งที่ท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาเรือน อย่ากลัวผู้ที่ฆ่าได้แต่กาย แต่ไม่อาจฆ่าวิญญาณได้ จงกลัวผู้ที่ทำลายทั้งกายและวิญญาณให้พินาศไปในนรก นกกระจอกสองตัว เขาขายกันเพียงหนึ่งบาทมิใช่หรือ ถึงกระนั้น ก็ไม่มีนกสักตัวเดียวที่ตกถึงพื้นดินโดยที่พระบิดาของท่านไม่ทรงเห็นชอบ ผมทุกเส้นบนศีรษะของท่านถูกนับไว้หมดแล้ว ดังนั้น อย่ากลัวเลย ท่านมีค่ามากกว่านกกระจอกจำนวนมาก ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์ด้วย” 


มธ 10:28 วิญญาณ คือ องค์ประกอบสำคัญของมนุษย์  ร่างกายและจิตวิญญาณที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้เราเป็นมนุษย์ ด้วยจิตวิญญาณนี้เองที่ขับเคลื่อนร่างกายของเราให้มีชีวิต  นรก ที่เรียกว่า “เกเฮนนา” หรือ “ขุมไฟที่ไม่รู้จักดับ” คือสถานที่หรือสภาพของการถูกลงโทษชั่วนิรันดร์สำหรับผู้ที่ปฏิเสธความรักของพระเจ้า

“ร่างกายและวิญญาณรวมเป็นมนุษย์คนเดียว”

CCC ข้อ 363 ในพระคัมภีร์ คำว่า “วิญญาณ” บ่อยๆ หมายถึง “ชีวิต” ของมนุษย์ หรือ บุคคล มนุษย์ทั้งตัว แต่ยังหมายถึงสิ่งที่อยู่ลึกที่สุดในตัวมนุษย์และสิ่งมีค่าที่สุด ที่ทำให้เข้าเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าโดยเฉพาะด้วย “วิญญาณ” หมายถึงต้นกำเนิดที่เป็นจิตในตัวมนุษย์

CCC ข้อ 364  ร่างกายของมนุษย์มีส่วนในศักดิ์ศรีการเป็น “ภาพลักษณ์” ของพระเจ้า ร่างกายมนุษย์นี้เองในฐานะที่วิญญาณซึ่งเป็นจิตทำให้มีชีวิต และมนุษย์ที่ทั้งคนเป็นบุคคลยังถูกกำหนดไว้ให้เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าในพระวรกายของพระคริสตเจ้า “แม้ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณ มนุษย์ก็มีเอกภาพเป็นบุคคลหนึ่ง โดยสถานภาพทางร่างกายของตน มนุษย์รวมองค์ประกอบของโลกวัตถุเข้าไว้ในตน จนกระทั่งว่าโลกวัตถุนี้อาจบรรลุถึงจุดยอดของตนและส่งเสียงสรรเสริญพระผู้สร้างได้อย่างอิสระเสรีอาศัยมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องไม่รังเกียจชีวิตที่มีร่างกาย ตรงกันข้าม เขาต้องคิดว่าร่างกายของตน ในฐานะที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาและจะต้องกลับคืนชีพในวันสุดท้าย เป็นสิ่งที่ดีและสมจะได้รับเกียรติ”

CCC ข้อ 365   เอกภาพของวิญญาณกับร่างกายนี้ลึกซึ้งจนต้องถือว่าวิญญาณเป็น “รูปแบบ” ของร่างกาย นั่นคือเพราะวิญญาณซึ่งเป็นจิต ร่างกายซึ่งประกอบด้วยสสารจึงเป็นร่างกายแบบมนุษย์และมีชีวิตจิตและสสารในมนุษย์จึงไม่ใช่ธรรมชาติสองอย่างที่มารวมกัน แต่การรวมกันของทั้งสอง สิ่งทำให้เกิดธรรมชาติหนึ่งเดียวเท่านั้น

นรก

CCC ข้อ 1034 พระเยซูเจ้าตรัสบ่อยๆ ถึง “เกเฮนนา – ขุมไฟที่ไม่รู้จักดับ” ที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อและกลับใจจนถึงปลายชีวิตของตนเมื่อวิญญาณและร่างกายอาจถูกทำลายได้ พระเยซูเจ้าทรงใช้พระวาจารุนแรงแจ้งว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะใช้ทูตสวรรค์มารวบรวม [...] ทุกคนที่ประกอบการอธรรมให้ออกจากพระอาณาจักร แล้วเอาไปทิ้งในกองไฟ” (มธ 13:41-42) และพระองค์จะทรงประกาศคำตัดสินลงโทษ “ท่านทั้งหลายที่ถูกสาปแช่ง จงไปให้พ้น ลงไปในไฟนิรันดร” (มธ 25:41)

โทษนรก

CCC ข้อ 1056 พระศาสนจักรปฏิบัติตามพระฉบับของพระคริสตเจ้า เตือนบรรดาผู้มีความเชื่อถึงความจริงที่น่าเศร้าและน่าเวทนาเรื่องความตายนิรันดรที่ยังมีชื่ออีกด้วยว่า “นรก”

CCC ข้อ 1057 โทษนรกที่สำคัญอยู่ที่การต้องแยกตลอดนิรันดรไปจากพระเจ้าซึ่งมนุษย์จะมีชีวิตและความสุขได้ในพระองค์เท่านั้น และพระเจ้าก็ทรงเนรมิตสร้างเขามาเพื่อชีวิตและความสุขดังกล่าว และมนุษย์เองก็ปรารถนาจะได้ชีวิตและความสุขนี้ด้วย 


มธ 10:29 เช่นเดียวกับพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว บทที่ 6 ข้อที่ 31-33 พระคริสตเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามอบความไว้วางใจเยี่ยงบุตรต่อพระเจ้าพระบิดา ผู้ทรงดูแลเอาใจใส่ความต้องการต่างๆ ของเราอยู่เสมอ

พระเจ้าทรงทำตามที่ทรงวางแผนไว้ – พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้า

CCC ข้อ 305 พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เรามอบความไว้วางใจเยี่ยงบุตรต่อพระญาณเอื้ออาทรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ซึ่งเอาพระทัยใส่ต่อความต้องการแม้เล็กน้อยที่สุดของบรรดาบุตรของพระองค์ “ดังนั้นอย่ากังวลและกล่าวว่า ‘เราจะกินอะไร หรือจะดื่มอะไร’ […] พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการทุกสิ่งเหล่านี้ จงแสวงหาพระอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มทุกสิ่งเหล่านี้ให้” (มธ 6:31-33)


มธ 10:32-33 เมื่อผู้ที่มีความเชื่อถูกเรียกให้กระทำเช่นนั้น เขาจะต้องเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อในพระคริสตเจ้า โดยปราศจากความหวาดกลัว ถ้าพวกเขาต้องการจะเป็นศิษย์ที่แท้จริง

โครงสร้างของหนังสือคำสอนฉบับนี้

CCC ข้อ 13 การจัดเนื้อหาของหนังสือคำสอนฉบับนี้ดำเนินตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา คือจัดเนื้อหาคำสอนไว้บน “ฐานหลัก” สี่ฐาน ได้แก่ การประกาศยืนยันความเชื่อเมื่อรับศีลล้างบาป (บท “ข้าพเจ้าเชื่อ” หรือ fidei Symbolum) ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อ การดำเนินชีวิตตามความเชื่อ (หรือ “พระบัญญัติ”) และบทอธิษฐานภาวนาของผู้มีความเชื่อ (บท “ข้าแต่พระบิดา”)

ภาคที่หนึ่ง – การประกาศยืนยันความเชื่อ

CCC ข้อ 14 ผู้ที่มีความเชื่อและรับศีลล้างบาปเป็น (ศิษย์) ของพระคริสตเจ้าต้องประกาศยืนยันความเชื่อของศีลล้างบาป เพราะเหตุนี้ ก่อนอื่นหมด หนังสือคำสอนจึงกล่าวถึงการเปิดเผยที่พระเจ้าเสด็จมาพบและประทานพระองค์แก่มนุษย์ และกล่าวถึงความเชื่อที่มนุษย์ตอบสนองต่อพระเจ้า (ตอนที่หนึ่ง) บท “ข้าพเจ้าเชื่อ” สรุปข้อความเชื่อที่พระเจ้าในฐานะบ่อเกิดความดีทั้งปวง ในฐานะพระผู้กอบกู้ และในฐานะพระผู้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ ประทานแก่มนุษย์ และจัดเรียบเรียงเนื้อหาเรื่องความเชื่อศีลล้างบาปของเราออกเป็น “สามบท” คือ ความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพและพระผู้สร้าง – ความเชื่อในพระบุตร องค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่กู้ของเรา – และความเชื่อในพระจิตเจ้าผู้ประทานความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนจักร (ตอนที่สอง)

ความเชื่อ

CCC ข้อ 1816 ศิษย์ของพระคริสตเจ้าต้องไม่เพียงแต่รักษาความเชื่อไว้เท่านั้น แต่ยังต้องดำเนินชีวิตจากความเชื่อนี้ด้วย นอกจากนั้น ยังต้องประกาศความเชื่อ เป็นพยานถึงและเผยแผ่ความเชื่อนี้ด้วย “ทุกคนต้องพร้อมที่จะเป็นพยานยืนยันถึงพระคริสตเจ้าต่อหน้ามวลมนุษย์และเมื่อถูกเบียดเบียนด้วย พระศาสนจักรซึ่งติดตามพระองค์ในหนทางไม้กางเขน ไม่เคยขาดการเบียดเบียนเช่นนี้เลย” เพื่อจะรับความรอดพ้นได้ เราต้องรับใช้และเป็นพยานถึงความเชื่อ “ทุกคนที่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ และผู้ที่ไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่รับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วย” (มธ 10:32-33)

พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์

CCC ข้อ 2145 ผู้มีความเชื่อต้องเป็นพยานถึงพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า ประกาศความเชื่อถึงพระองค์โดยไม่ยอมแพ้ต่อความกลัว การเทศน์และสอนคำสอนต้องซึมซาบไปด้วยการกราบไหว้นมัสการและความเคารพต่อพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)