แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลปัสกา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 14:27-31ก)                                                              

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์ว่า “เรามอบสันติสุขไว้ให้ท่านทั้งหลาย เราให้สันติสุขของเราแก่ท่านเราให้สันติสุข แก่ท่าน ไม่เหมือนที่โลกให้ ใจของท่านอย่าหวั่นไหว หรือมีความกลัวเลย ท่านได้ยินที่เราบอกกับท่านแล้วว่า เรากำลังจะไป และเราจะกลับมาหาท่านทั้งหลาย ถ้าท่านรักเรา ท่านคงยินดีที่เรากำลังไปเฝ้าพระบิดา เพราะพระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา และบัดนี้เราได้บอกท่านทั้งหลายก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เพื่อว่าเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ท่านจะเชื่อ เราจะพูดกับท่านต่อไปอีกไม่นาน เพราะซาตานเจ้านายแห่งโลกนี้กำลังมา มันไม่มีอำนาจอันใดเหนือเรา แต่โลกจะต้องรู้ว่าเรารักพระบิดา และรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น” 


ยน 14:27-31 พระคริสตเจ้าทรงมอบสันติสุขเหนือกว่าสันติสุขใดๆ ที่โลกมอบให้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การไม่มีสงครามหรือการรุกราน แต่เป็นการประทานพลังอันมั่นคงของพระเจ้าและความสงบสุขภายใน  บัดนี้เราได้... รักพระบิดา : ความนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระบัญญัติของพระเจ้าคือบทพิสูจน์ความรักต่อพระบิดาของพระองค์

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา

CCC ข้อ 606 พระบุตรของพระเจ้าซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระองค์เอง แต่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระผู้ทรงส่งพระองค์มา “เมื่อเสด็จมาในโลกตรัสว่า […] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ […] โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นการบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป” (ฮบ 10:5-10) นับตั้งแต่วาระแรกที่ทรงรับสภาพมนุษย์ พระบุตรทรงรับเอาแผนการไถ่กู้ของพระเจ้ามาเป็นพันธกิจของพระองค์ “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34) การถวายบูชาของพระเยซูเจ้า “เพื่อ (ชดเชยบาปของมนุษย์) ทั้งโลกด้วย” (1 ยน 2:2) จึงเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ความรักของพระองค์กับพระบิดา “พระบิดาทรงรักเราเพราะเราสละชีวิตของเรา” (ยน 10:17) “โลกจะต้องรู้ว่ารักพระบิดาและรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น”(ยน 14:31)

สันติภาพ

CCC ข้อ 2305 สันติภาพในโลกนี้เป็นภาพและผลของสันติภาพของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็น “เจ้าแห่งสันติ” (อสย 9:5) ของพระเมสสิยาห์ เดชะพระโลหิตที่ทรงหลั่งบนไม้กางเขน พระองค์ทรงขจัดการเป็นศัตรูกันเดชะพระองค์ ทรงทำให้มนุษย์คืนดีกับพระเจ้าและทรงบันดาลให้พระศาสนจักรเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งเอกภาพของมนุษยชาติและความสัมพันธ์ของเขากับพระเจ้า “พระองค์คือสันติของเรา” (อฟ 2:14) และทรงประกาศว่า “ผู้สร้างสันติย่อมเป็นสุข” (มธ 5:9)


ยน 14:28  พระบิดาทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา : ในที่นี้พระคริสตเจ้าทรงกล่าวถึงความเป็นมนุษย์ของพระองค์เอง ในฐานะที่เป็นพระบุคคลหนึ่งในพระตรีเอกภาพ พระองค์ทรงมีความเท่าเทียมกับพระเจ้า และทรงเป็นพระเจ้าแท้และมนุษย์แท้ พระองค์ต้องสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพจากความตายเพื่อเสด็จกลับไปหาพระบิดา ในบทแสดงความเชื่อดั้งเดิมของอาธานาเซียมีกล่าวว่า พระคริสตเจ้า “ทรงเท่าเสมอกับพระบิดาในความเป็นพระเจ้าของพระองค์ แต่น้อยกว่าพระบิดาในมนุษยชาติของพระองค์”   

พระตรีเอกภาพ

CCC ข้อ 266 “ความเชื่อคาทอลิกคือ เรากราบนมัสการพระเจ้าหนึ่งเดียวในพระตรีเอกภาพ และกราบนมัสการพระตรีเอกภาพในเอกภาพ โดยไม่นำพระบุคคลทั้งสามมาปะปนกัน และไม่แยก พระธรรมชาติ (หนึ่งเดียวของทั้งสามพระบุคคล) พระบุคคลของพระบิดาไม่ใช่พระบุคคลของพระบุตรและของพระจิตเจ้า แต่พระบิดา พระบุตรและพระจิตเจ้าทรงมีพระธรรมชาติพระเจ้าหนึ่งเดียวกัน ทรงพระสิริรุ่งโรจน์เท่ากัน และทรงพระมหิทธิภาพนิรันดรร่วมกัน”


ยน 14:30  เจ้านายแห่งโลก : คำนี้หมายถึงซาตาน พระคริสตเจ้าทรงได้รับชัยชนะเหนือซาตานเพราะพระองค์ทรงปรารถนามอบตนเองเพื่อชดเชยบาปของมนุษยชาติทั้งมวล การไถ่กู้อาศัยการพลีบูชาของพระองค์บนไม้กางเขนทำให้เราสามารถร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าได้

CCC ข้อ 606 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 14:27-31)

คำนิยามของบาป

CCC ข้อ 1851 โดยเฉพาะในพระทรมาน เมื่อพระเมตตาของพระคริสตเจ้ากำลังจะมีชัยชนะอยู่นั้น บาปก็สำแดงความรุนแรงและความหลายหลากของมันออกมาอย่างชัดเจนที่สุด ได้แก่ความไม่เชื่อ ความอาฆาตเกลียดชัง การไม่ยอมรับและด่าทอของบรรดาผู้นำและประชาชน ความอ่อนแอของปีลาต ความโหดร้ายของบรรดาทหาร การทรยศของยูดาส –ซึ่งขมขื่นอย่างยิ่งสำหรับพระเยซูเจ้า– การปฏิเสธของเปโตรและการทอดทิ้งของบรรดาศิษย์ ถึงกระนั้น ในเวลาแห่งความมืดและของเจ้านายแห่งโลกนี้ การถวายบูชาของพระคริสตเจ้าก็กลายเป็นเสมือนพุน้ำอย่างลึกลับที่หลั่งการอภัยบาปของเราออกมาโดยไม่มีวันเหือดแห้ง

“แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”

CCC ข้อ 2853 ชัยชนะเหนือ “เจ้านายแห่งโลกนี้” ครั้งเดียวสำหรับตลอดไปนี้ได้มาในเวลานั้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงยินดีมอบพระองค์แก่ความตายเพื่อประทานชีวิตให้แก่เรา เวลานั้นถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว  และเจ้านายแห่งโลกนี้ “กำลังจะถูกขับไล่ออกไป” มัน “ได้เบียดเบียนสตรี” (วว 12:13) แต่ก็จับนางไม่ได้ นางคือนางเอวาคนใหม่ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ของพระจิตเจ้า ได้รับการปกป้องไว้ให้พ้นจากบาปและความเสื่อมสลายของความตาย (การปฏิสนธินิรมลและการได้รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ของพระมารดาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ) “มังกรโกรธสตรีและออกไปทำสงครามกับเผ่าพันธุ์ที่เหลือของนาง” (วว 12:17) เพราะเหตุนี้ พระจิตเจ้าจึงตรัสพร้อมกับพระศาสนจักรว่า “เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า” (วว 22:17, 20) เพราะการเสด็จมาของพระองค์จะช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย (หรือ “จากมารร้าย”)


ยน 14:31 การยอมรับพระทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า เป็นของขวัญแห่งความรักที่ไม่เพียงแค่มอบให้แก่มนุษย์ทุกคนเท่านั้น แต่ทรงมอบถวายแด่องค์พระเจ้าพระบิดาเจ้าด้วย

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา

CCC ข้อ 607 ความปรารถนาจะรับแผนการไถ่กู้เพราะความรักของพระบิดานี้เป็นพลังบันดาลใจตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า เพราะพระทรมานเพื่อไถ่กู้มนุษยชาติก็คือเหตุผลที่ทรงรับสภาพมนุษย์ “ข้าแต่พระบิดาเจ้า โปรดช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากเวลานี้เถิด แต่ข้าพเจ้ามาก็เพื่อเวลานี้” (ยน 12:27) “เราจะไม่ดื่มจากถ้วยที่พระบิดาประทานให้เราหรือ” (ยน 18:11) และบนไม้กางเขน ก่อนที่จะตรัสว่า “สำเร็จบริบูรณ์แล้ว” (ยน 19:30) พระองค์ตรัสว่า “เรากระหาย” (ยน 19:28)

ความรัก

CCC ข้อ 1825 พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพราะความรักต่อเราขณะที่เรายังเป็น “ศัตรูอยู่” (รม 5:10) องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขอร้องเราให้รักแม้กระทั่งศัตรูของเราเช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงกระทำ ให้เราทำให้ผู้อยู่ห่างไกลจากเราเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกับเรา ให้เรารักเด็กเล็กๆ และคนยากจน เหมือนกับที่เรารักพระองค์ด้วย นักบุญเปาโลอัครสาวกบรรยายถึงความรักไว้อย่างไม่มีผู้ใดเทียบได้ “ความรักย่อมอดทน มีใจเอื้อเฟื้อ ไม่อิจฉา ไม่โอ้อวดตนเอง ไม่จองหอง ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ความรักไม่ฉุนเฉียว ไม่จดจำความผิดที่ได้รับ ไม่ยินดีในความชั่ว แต่ร่วมยินดีในความถูกต้อง ความรักให้อภัยทุกอย่าง เชื่อทุกอย่าง หวังทุกอย่าง อดทนทุกอย่าง” (1 คร 13:4-7)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)