แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

CATECHETICAL CENTER OF BANGKOK ARCHDIOCESE

thzh-CNenfritjako

วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลปัสกา (นักบุญโยเซฟ กรรมกร)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 10:11-18)                                                             

เวลานั้น พระเยซูเจ้าตรัสว่า เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี ผู้เลี้ยงแกะย่อมสละชีวิตเพื่อแกะของตน ลูกจ้างที่ไม่ใช่ผู้เลี้ยง และไม่เป็นเจ้าของแกะ เมื่อเห็นสุนัขป่าเข้ามา ก็ละทิ้งบรรดาแกะและหนีไป สุนัขป่าแย่งชิงแกะ และฝูงแกะก็กระจัดกระจายไป ลูกจ้างวิ่งหนีเพราะเขาเป็นเพียงลูกจ้าง ไม่มีความห่วงใยฝูงแกะเลย เราเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี เรารู้จักแกะของเรา และแกะของเราก็รู้จักเรา

พระบิดาทรงรู้จักเราฉันใด เราก็รู้จักพระบิดาฉันนั้น เรายอมสละชีวิตเพื่อแกะของเรา เรายังมีแกะอื่นๆ ซึ่งไม่อยู่ในคอกนี้ เราต้องนำหน้าแกะเหล่านี้ด้วย แกะจะฟังเสียงของเรา จะมีแกะเพียงฝูงเดียว และผู้เลี้ยงเพียงคนเดียว พระบิดาทรงรักเรา เพราะเราสละชีวิตของเรา เพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก นี่คือพระบัญชาที่เราได้รับจากพระบิดาของเรา”


ยน 10:1-21 พระคริสตเจ้าตรัสถึงพระองค์เองโดยใช้สองภาพที่เกี่ยวข้องกันคือ พระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีซึ่งนำทางฝูงแกะของพระองค์และเต็มใจสละชีวิตเพื่อแกะเหล่านั้น และพระองค์ยังทรงเป็นดังคอกแกะ เป็นประตูที่แกะของพระองค์จะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ในพันธสัญญาเดิม ประกาศกเยเรมีย์และประกาศกเอเสเคียลเรียกประชากรอิสราเอลว่า “ฝูงแกะ” และผู้นำของพวกเขาว่า “ผู้เลี้ยงแกะ” เพลงสดุดีที่ 23 ได้กล่าวถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างชัดเจนในฐานะผู้เลี้ยงแกะที่ปกป้อง คุ้มกัน และดูแลฝูงแกะของพระองค์

พระเยซูเจ้าและอิสราเอล

CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย

พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ

CCC ข้อ 582 ยิ่งกว่านั้น พระเยซูเจ้ายังทรงปฏิรูปกฎเกี่ยวกับเรื่องอาหารมีมลทินหรือไม่มีมลทิน ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตประจำวันของชาวยิว ให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทรงอธิบายความหมายในมุมมองของความเป็นเหมือน “ครูพี่เลี้ยง” ของกฎเหล่านี้ “สิ่งต่างๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขาเป็นมลทินไม่ได้ […]  ดังนี้ ทรงประกาศว่าอาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งที่ออกจากภายในมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน จากภายใน คือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย” (มก 7:18-21) พระเยซูเจ้าซึ่งทรงใช้อำนาจพระเจ้าอธิบายความหมายสุดท้ายของกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงทรงขัดแย้งกับนักกฎหมายบางคนที่ไม่ยอมรับการอธิบายของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำเครื่องหมายอัศจรรย์เพื่อยืนยันพระวาจาที่ทรงสั่งสอน การเช่นนี้เห็นได้ชัดเป็นพิเศษในปัญหาเรื่องวันสับบาโต หลายครั้งพระเยซูเจ้าทรงใช้เหตุผลของบรรดาธรรมาจารย์เอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ไม่เป็นการผิดพระบัญญัติให้หยุดพักในวันสับบาโต เพราะพระองค์ทรงรักษาโรคในวันสับบาโต

ผู้นำชาวยิวมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า

CCC ข้อ 596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตายเพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า

สัญลักษณ์ของพระศาสนจักร

CCC ข้อ 754 “พระศาสนจักรเป็น คอกแกะ ที่มีพระคริสตเจ้าทรงเป็นประตูที่จำเป็นเพียงประตูเดียวพระศาสนจักรยังเป็น ฝูงแกะ ที่พระเจ้าเองทรงประกาศไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” และแกะฝูงนี้แม้จะมีผู้เลี้ยงที่เป็นมนุษย์ปกครองดูแล แต่ก็ยังถูกนำและเลี้ยงดูจากพระคริสตเจ้าเองผู้ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีและเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้เลี้ยงและทรงสละชีวิตของตนเพื่อบรรดาแกะ

พระศาสนจักร – พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น

CCC ข้อ 764 “พระอาณาจักรนี้ปรากฏแจ้งแก่มวลมนุษย์ในพระวาจา พระราชกิจและการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า” การรับพระวาจาของพระเยซูเจ้าเป็น “การรับพระอาณาจักร” นี้ด้วย เมล็ดพันธุ์และจุดเริ่มของพระอาณาจักรนี้คือ “ฝูงแกะน้อยๆ” (ลก 12:32) ของคนเหล่านั้นที่พระเยซูเจ้าเสด็จมาเรียกให้มารวมอยู่โดยรอบพระองค์ และทรงเป็น “ผู้เลี้ยง” ของเขา เขาเหล่านี้รวมเป็นครอบครัวแท้จริงของพระเยซูเจ้า ผู้ที่ทรงเรียกให้มาอยู่กับพระองค์นั้น พระองค์ทรงสอน “วิธีปฏิบัติแบบใหม่” และคำอธิษฐานภาวนาเฉพาะให้เขาด้วย


ยน 10:11 ผู้เลี้ยงที่ดี : พระเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะสูงสุดของชาวอิสราเอล แม้ว่าพระองค์ทรงแต่งตั้งผู้เลี้ยงแกะที่เป็นมนุษย์ เช่น โมเสสและโยชูวา ซึ่งพูดในนามของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี จากเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิดตามที่ประกาศกเอเสเคียลได้ทำนายไว้ (เทียบ อสค 34: 11-24) ในพระศาสนจักร บรรดาบิชอปคือผู้เลี้ยงแห่งความเชื่อในสังฆมณฑลของท่าน โดยความช่วยเหลือของบรรดาพระสงฆ์และสังฆานุกรที่คอยช่วยดูแลวัดของพวกท่าน

“กุญแจพระอาณาจักร”

CCC ข้อ 553 พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจพิเศษแก่เปโตร “เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่าน ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ 16:19) “อำนาจถือกุญแจ” หมายถึงอำนาจดูแลบ้านของพระเจ้า คือพระศาสนจักร พระเยซูเจ้า “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” (ยน 10:11) ทรงยืนยันถึงบทบาทนี้หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15-17) อำนาจ “ผูกและแก้” จึงหมายถึงอำนาจที่จะอภัยบาป ที่จะตัดสินเรื่องคำสอนและระเบียบการปกครองในพระศาสนจักร พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจนี้ให้แก่พระศาสนจักรผ่านทางการปฏิบัติงานของบรรดาอัครสาวก และโดยเฉพาะของเปโตร ซึ่งเป็นผู้เดียวที่ทรงเจาะจงมอบกุญแจพระอาณาจักรให้

หน้าที่ปกครองดูแล

CCC ข้อ 894 “บรรดาพระสังฆราชปกครองพระศาสนจักรท้องถิ่นที่เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลในฐานะผู้แทนและผู้ช่วยของพระคริสตเจ้า โดยคำแนะนำ คำตักเตือน แบบอย่าง และโดยอำนาจหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย” ซึ่งเขาต้องใช้อำนาจนี้เพื่อเสริมสร้างด้วยจิตใจการรับใช้ ซึ่งเป็นจิตใจของพระอาจารย์ของเขา

CCC ข้อ 895 “อำนาจนี้ที่เขาใช้ปฏิบัติหน้าที่ของตนส่วนตัวในพระนามของพระคริสตเจ้าเป็นอำนาจเฉพาะตามปกติของเขาโดยตรง แม้ว่าในที่สุดแล้วการใช้อำนาจนี้ต้องถูกควบคุมโดยอำนาจสูงสุดของพระศาสนจักร” แต่ก็ต้องไม่คิดว่าบรรดาพระสังฆราชเป็นเพียงผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาที่อำนาจสามัญโดยตรงของพระองค์เหนือทั่วพระศาสนจักรไม่ยกเลิกอำนาจปกครองของบรรดาพระสังฆราช แต่ตรงกันข้าม ยังส่งเสริมและปกป้องด้วย พระสังฆราชต้องใช้อำนาจนี้ของตนร่วมกับพระศาสนจักรทั้งหมดโดยมีพระสันตะปาปาทรงคอยแนะนำ

CCC ข้อ 896 ผู้เลี้ยงแกะที่ดีจะต้องเป็นตัวอย่างและ “รูปแบบ” ของหน้าที่อภิบาลของพระสังฆราช พระสังฆราชต้องสำนึกถึงความอ่อนแอของตน “รู้จักเห็นใจผู้ที่ไม่รู้และหลงผิด ดูแลผู้อยู่ใต้ปกครองเสมือนบุตร […] ต้องไม่ปฏิเสธที่จะรับฟัง […] บรรดาผู้มีความเชื่อก็ต้องมีความใกล้ชิดกับพระสังฆราชเช่นเดียวกับที่พระศาสนจักรชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า และเหมือนกับที่พระคริสตเจ้าทรงชิดสนิทกับพระบิดา ท่านทุกคนจงเชื่อฟังพระสังฆราชเช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเชื่อฟังพระบิดา และจงเชื่อฟังคณะสงฆ์เหมือนกับเชื่อฟังบรรดาอัครสาวก ท่านจงเคารพบรรดาสังฆานุกรเหมือนกับพระบัญชาของพระเจ้า อย่าให้ผู้ใดทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระศาสนจักรโดยแยกจากพระสังฆราชเลย”

ศาสนบริกรของศีลนี้

CCC ข้อ 1465 เมื่อประกอบพิธีศีลอภัยบาป พระสงฆ์ก็ทำหน้าที่ของผู้เลี้ยงแกะที่ดีซึ่งแสวงหาแกะที่หายไป ทำหน้าที่ของชาวสะมาเรียผู้ใจดีซึ่งรักษาบาดแผล แสดงบทบาทของบิดาผู้กำลังรอคอยลูกล้างผลาญและต้อนรับเมื่อลูกกลับมา ทำหน้าที่ของผู้พิพากษายุติธรรมซึ่งไม่ลำเอียง ที่คำพิพากษาของเขายุติธรรมและเมตตากรุณาพร้อมกันด้วย พูดสั้นๆ พระสงฆ์เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแสดงความรักของพระเจ้าผู้ทรงพระกรุณาต่อคนบาป

ศาสนบริกรการอธิษฐานภาวนา

CCC ข้อ 2686 ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช ยังเป็นผู้รับผิดชอบที่จะอบรมบรรดาพี่น้องในพระคริสตเจ้าให้อธิษฐานภาวนา เขาเหล่านี้เป็นผู้รับใช้ของพระผู้อภิบาลที่ดี ได้รับศีลบวชเพื่อนำประชากรของพระเจ้าไปยังต้นตอของการอธิษฐานภาวนา ได้แก่พระวาจาของพระเจ้า พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ชีวิตสนิทกับพระเจ้าอาศัยคุณธรรมความเชื่อ ความหวังและความรัก ซึ่งเป็นดัง “วันนี้” ของพระเจ้าในสภาพความเป็นจริง


ยน 10:16 แกะอื่นๆ : เป็นการกล่าวถึงชาวต่างชาติที่พระคริสตเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแกะฝูงใหม่ของพระองค์ คือพระศาสนจักร โดยอาศัยคำสอนของพระศาสนจักรและการเป็นประจักษ์พยานแห่งความเชื่อ พระศาสนจักรได้นำสารแห่งพระวรสารไปสู่บรรดาผู้เป็นคาทอลิกและพี่น้องต่างความเชื่อด้วยเช่นเดียวกัน

พระเจ้าทรงเลือกอับราฮัม

CCC ข้อ 60 ประชากรที่สืบเชื้อสายมาจากอับราฮัมจะเป็นผู้รักษาพระสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับบรรพบุรุษ เป็นประชากรที่ได้รับการเลือกสรร ที่ทรงเรียกมาเตรียมชุมชนบุตรทุกคนของพระเจ้าเข้ามาในเอกภาพของพระศาสนจักร ประชากรนี้จะเป็นเสมือนเหง้าที่บรรดาชนต่างศาสนาที่เข้ามามีความเชื่อจะถูกนำมาทาบติดไว้


ยน 10:17-18 การพลีบูชาของพระคริสตเจ้าได้ชดเชยบาปของโลก ในฐานะที่ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า ทรงมีพระธรรมชาติเดียวกัน (เป็นหนึ่งเดียว) กับพระบิดาและพระจิตเจ้า การพลีบูชาของพระองค์จึงมีคุณค่าอย่างไม่มีขีดจำกัด พระองค์ทรงกลับคืนชีพอีกครั้งในวันที่สามโดยอาศัยอำนาจแห่งความเป็นพระเจ้าของพระองค์เอง

พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นของถวายแด่พระบิดา

CCC ข้อ 606 พระบุตรของพระเจ้าซึ่งเสด็จลงมาจากสวรรค์ไม่ใช่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระองค์เอง แต่เพื่อปฏิบัติตามพระทัยของพระผู้ทรงส่งพระองค์มา “เมื่อเสด็จมาในโลกตรัสว่า […] ข้าพเจ้ามาเพื่อปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ […] โดยพระประสงค์นี้เอง เราทั้งหลายได้รับความศักดิ์สิทธิ์เดชะการถวายพระวรกายของพระองค์เป็นการบูชาที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำแต่เพียงครั้งเดียวโดยมีผลตลอดไป” (ฮบ 10:5-10) นับตั้งแต่วาระแรกที่ทรงรับสภาพมนุษย์ พระบุตรทรงรับเอาแผนการไถ่กู้ของพระเจ้ามาเป็นพันธกิจของพระองค์ “อาหารของเราคือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป” (ยน 4:34) การถวายบูชาของพระเยซูเจ้า “เพื่อ (ชดเชยบาปของมนุษย์)ทั้งโลกด้วย” (1 ยน 2:2) จึงเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ความรักของพระองค์กับพระบิดา “พระบิดาทรงรักเราเพราะเราสละชีวิตของเรา” (ยน 10:17) “โลกจะต้องรู้ว่ารักพระบิดาและรู้ว่าพระบิดาทรงบัญชาให้เราทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น” (ยน 14:31)

พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาเพื่อไถ่กู้มวลมนุษย์

CCC ข้อ 609 พระเยซูเจ้าทรงรับความรักของพระบิดาต่อมวลมนุษย์มาไว้ในพระหทัยมนุษย์ของพระองค์ “ทรงรักเขาจนถึงที่สุด” (ยน 13:1) เพราะ “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13) ดังนี้ พระธรรมชาติมนุษย์ของพระองค์จึงถูกใช้ในพระทรมานและการสิ้นพระชนม์เป็นดังเครื่องมืออิสระและสมบูรณ์แสดงความรักของพระเจ้าที่ต้องการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้น โดยแท้จริงแล้ว พระองค์ทรงยอมรับพระทรมานและสิ้นพระชนม์โดยอิสระเสรีเพราะความรักที่ทรงมีต่อพระบิดาและต่อมนุษย์ที่ทรงประสงค์จะช่วยให้รอดพ้น “ไม่มีใครเอาชีวิตไปจากเราได้ แต่เราเองสมัครใจสละชีวิตนั้น” (ยน 10:18) ดังนี้จึงเป็นเสรีภาพสูงสุดของพระบุตรพระเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จออกไปเผชิญหน้ากับความตาย

การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์

CCC ข้อ 614 การถวายบูชานี้ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียว และทำให้การถวายบูชาทั้งหลายสำเร็จบริบูรณ์มีค่าเหนือกว่าการถวายบูชาเหล่านั้นทั้งหมด ก่อนอื่นใด การถวายบูชานี้เป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าเอง พระบิดาทรงมอบพระบุตรของพระองค์เพื่อพระบุตรจะได้ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์ ในขณะเดียวกันการถวายบูชานี้ยังเป็นการถวายพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และถวายชีวิตของพระองค์อย่างอิสระเสรี เพราะความรักต่อพระบิดาเดชะพระจิตเจ้า เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา

วันที่สามทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

CCC ข้อ 638 “เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น  พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลานโดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพ” (กจ 13:32-33) การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นความจริงสูงสุดของความเชื่อของเราในพระคริสตเจ้า เป็นความจริงสำคัญที่สุดที่ถูกมอบไว้ให้แก่ชุมชนคริสตชนกลุ่มแรกที่นำความจริงนี้มาปฏิบัติในชีวิต  ถ่ายทอดสืบต่อมาเป็นธรรมประเพณีพื้นฐาน  บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในพันธสัญญาใหม่ ได้รับการประกาศสอนเป็นสาระสำคัญของพระธรรมล้ำลึกปัสกาพร้อมกับเรื่องไม้กางเขน

“พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย

  พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อทรงพิชิตความตาย

  พระองค์เองประทานชีวิตแก่บรรดาผู้ตาย”

ความหมายและความสำคัญด้านการไถ่กู้ของการกลับคืนพระชนมชีพ

CCC ข้อ 651 “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์สอนของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน” (1 คร 15:14) ก่อนอื่นหมด การกลับคืนพระชนมชีพเป็นการยืนยันรับรองทุกสิ่งที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำและทรงสั่งสอน ความจริงทุกข้อ แม้ความจริงที่จิตใจของมนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้เลยนั้นได้รับการรับรองว่าเป็นความจริงแน่นอน ถ้าพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพประทานเหตุผลเด็ดขาดว่าพระองค์ทรงอำนาจพระเจ้าดังที่ได้ทรงสัญญาไว้

CCC ข้อ 652 การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเป็นการทำให้พระสัญญาของพันธสัญญาเดิมสำเร็จเป็นจริง รวมทั้งพระสัญญาที่พระเยซูเจ้าทรงสัญญาไว้ขณะที่ทรงพระชนมชีพในโลกนี้ด้วย ข้อความที่ว่า “ตามความในพระคัมภีร์” แสดงว่าการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าทำให้คำพยากรณ์เหล่านี้สำเร็จเป็นความจริง

CCC ข้อ 653 การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นการยืนยันว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์เคยตรัสไว้ว่า “เมื่อใดที่ท่านยกบุตรแห่งมนุษย์ขึ้น เมื่อนั้นท่านจะรู้ว่า ‘เราเป็น’ (ยน 8:28) การกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ผู้ทรงถูกตรึงกางเขนแสดงให้เห็นว่าพระองค์คือพระเจ้าผู้เคยตรัส (แก่โมเสส) ว่า “เราเป็น” ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้าเอง นักบุญเปาโลประกาศแก่ชาวยิวได้ว่า “เราขอประกาศข่าวดีให้ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระสัญญาที่ประทานแก่บรรดาบรรพบุรุษนั้น พระเจ้าทรงกระทำให้เป็นจริงสำหรับเราทั้งหลายผู้เป็นลูกหลาน โดยทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย ดังที่มีเขียนไว้ในเพลงสดุดีบทที่สองว่า ท่านเป็นบุตรของเรา เราให้กำเนิดท่านในวันนี้” (กจ 13:32-33) การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพระธรรมล้ำลึกการรับสภาพมนุษย์ของพระบุตรของพระเจ้า การกลับคืนพระชนมชีพเป็นการทำให้แผนการนิรันดรของพระเจ้าสำเร็จเป็นจริง

CCC ข้อ 654 พระธรรมล้ำลึกปัสกามีเหตุผลสองประการ พระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์เพื่อช่วยกอบกู้เราให้พ้นจากบาป เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพพระองค์ก็ทรงเปิดทางให้เราเข้าไปรับชีวิตใหม่ ชีวิตใหม่นี้ก็คือการบันดาลความชอบธรรมโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้เรากลับเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย […] ฉันใด เราก็จะดำเนินชีวิตแบบใหม่ด้วยฉันนั้น” (รม 6:4) การบันดาลความชอบธรรมประกอบด้วยความตายต่อบาปและการมีส่วนอีกครั้งหนึ่งในพระหรรษทาน การนี้ยังทำให้เราเป็นบุตรบุญธรรม (ของพระเจ้า) อีกด้วย เพราะทำให้มนุษย์กลับเป็นพี่น้องของพระคริสตเจ้าดังที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาศิษย์หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วว่า “จงไปแจ้งข่าวแก่พี่น้องของเรา” (มธ 28:10) พี่น้องไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่เพราะพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานให้ เพราะการเป็นบุตรบุญธรรมนี้ทำให้เรามีส่วนร่วมโดยแท้จริงในชีวิตของพระบุตรเพียงพระองค์เดียว ชีวิตนี้ได้รับการเปิดเผยอย่างสมบูรณ์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์

CCC ข้อ 655 ในที่สุด การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า – และพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ – เป็นต้นเหตุและที่เกิดของการกลับคืนชีพของเราด้วย “พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายเป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไปแล้ว […] มนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้น” (1 คร 15:20-22) พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วทรงชีวิตอยู่ในใจของผู้ที่มีความเชื่อที่กำลังรอคอยให้เหตุการณ์นี้สำเร็จเป็นจริง  ในพระองค์ บรรดาคริสตชน “สัมผัสอานุภาพของโลกหน้า” (ฮบ 6:5) และชีวิตของเขาก็ถูกพระคริสตเจ้าทรงรวมไว้ในพระองค์ “เพื่อผู้ที่มีชีวิตจะได้ไม่มีชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่มีชีวิตเพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อเขา” (2 คร 5:15)

การกลับคืนพระชนมชีพ – เป็นผลงานของพระตรีเอกภาพ

CCC ข้อ 649 พระบุตรทรงใช้พระอานุภาพพระเจ้าของพระองค์เองบันดาลให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระเยซูเจ้าทรงประกาศว่าบุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับทรมานอย่างมาก จะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมาจะกลับคืนชีพ ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังทรงยืนยันอย่างชัดเจนว่า “เราสละชีวิตของเราเพื่อจะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก […] เรามีอำนาจที่จะสละชีวิตของเรา และมีอำนาจที่จะเอาชีวิตนั้นคืนมาอีก” (ยน 10:17-18) “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (1 ธส 4:14)

(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)