วันเสาร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 6:16-21)
เวลานั้น เมื่อถึงเวลาเย็น บรรดาศิษย์ต่างลงไปยังทะเลสาบ และลงเรือข้ามฟากไปทางเมืองคาเปอรนาอุม ขณะนั้นมืดแล้ว พระเยซูเจ้าก็ยังไม่เสด็จมากับเขา ทะเลปั่นป่วนเพราะลมพัดจัด บรรดาศิษย์กรรเชียงเรือไปได้ราวสี่หรือห้ากิโลเมตร เห็นพระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินบนทะเล เข้ามาใกล้เรือ ก็ตกใจกลัว แต่พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “เราเอง อย่ากลัวเลย” บรรดาศิษย์รับพระองค์ลงเรือด้วยความเต็มใจ ทันใดนั้นเรือก็ถึงฝั่งที่เขามุ่งจะไป
ยน 6:16-21 เรื่องราวนี้เปิดเผยให้เห็นว่า ในขณะที่บรรดาศิษย์มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า ความเชื่อของพวกเขาก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากพระจิตเจ้าเพื่อจะบรรลุถึงวุฒิภาวะขั้นสมบูรณ์ การเดินทางข้ามทะเลที่มีพายุนี้ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์อพยพเมื่อโมเสสนำชาวอิสราเอลผ่านทะเลแดง เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นในเชิงเปรียบเทียบว่าพระศาสนจักรที่กำลังจาริกอยู่ในประวัติศาสตร์นี้ต้องต่อสู้กับพายุที่รุนแรงของการถูกเบียดเบียนและความบาป เพราะพระคริสตเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเราเสมอ ความกลัวจึงไม่สามารถเอาชนะเราได้เมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบาก
การยืนหยัดในความเชื่อ
CCC ข้อ 162 ความเชื่อเป็นของประทานที่พระเจ้าประทานให้เปล่าๆ เราอาจสูญเสียของประทานล้ำค่านี้ได้ นักบุญเปาโลเตือนทิโมธีว่า “ข้าพเจ้าขอแนะนำท่าน […] เพื่อท่านจะได้ [...] ต่อสู้อย่างกล้าหาญ โดยยึดความเชื่อและมโนธรรมที่ดีไว้ บางคนละทิ้งมโนธรรมที่ดี ความเชื่อของเขาจึงต้องพินาศ” (1ทธ 1:18-19) เพื่อจะมีชีวิต มีความเชื่อ และยืนหยัดในความเชื่อจนถึงวาระสุดท้าย เราต้องได้รับการเลี้ยงดูด้วยพระวาจาของพระเจ้า เราต้องอธิษฐานภาวนาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าให้พระองค์ทรงเพิ่มพูนความเชื่อให้แก่เรา ความเชื่อต้องแสดงออกเป็นการกระทำ “อาศัยความรัก” (กท 5:6) ต้องได้รับการส่งเสริมจากความหวัง และฝังรากอยู่ในความเชื่อของพระศาสนจักร
ยน 6:20 เราเอง : วลีซึ่งพระคริสตเจ้าทรงใช้ในที่นี้ยังสามารถแปลได้ว่า “เราเป็น” ซึ่งชวนให้ระลึกถึงพระนามของพระเจ้าที่ว่า “เราคือเราเป็น” ซึ่งพระองค์ทรงมอบไว้ให้กับโมเสส นี่จึงเป็นอีกการยืนยันหนึ่งของความเป็นพระเจ้าของพระองค์
พระเจ้าเท่านั้น “ทรงเป็น”
CCC ข้อ 213 ดังนั้น การที่ทรงเปิดเผยพระนามที่กล่าวถึงไม่ได้ว่า “เราคือเราเป็น” จึงแสดงความจริงนี้ว่า “มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเป็น” คำแปลพระคัมภีร์ฉบับ “เจ็ดสิบ” (Septuaginta หรือ LXX) และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรต่อมาหลังจากนั้นก็เข้าใจพระนามของพระเจ้าเช่นนี้: พระเจ้าทรงเป็นความเป็นอยู่อย่างสมบูรณ์ ไม่มีต้นไม่มีปลาย ขณะที่สิ่งสร้างต่างๆ รับอะไรไม่ว่าที่เป็นอยู่หรือมีอยู่มาจากพระองค์ พระองค์เท่านั้นทรงเป็นความเป็นอยู่ของพระองค์ และไม่ว่าจะทรงเป็นอะไรก็ทรงเป็นเช่นนั้นจากพระองค์เอง
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)