วันจันทร์ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลปัสกา
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 3:1-8)
เวลานั้น ชายคนหนึ่งจากกลุ่มชาวฟาริสีชื่อนิโคเดมัส เป็นหัวหน้าคนหนึ่งของชาวยิว เขามาเฝ้าพระเยซูเจ้าตอนกลางคืน ทูลว่า “รับบี พวกเรารู้ว่า ท่านเป็นอาจารย์ที่มาจากพระเจ้า เพราะไม่มีใครทำเครื่องหมายอัศจรรย์อย่างที่ท่านทำได้ นอกจากพระเจ้าจะสถิตกับเขา” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่าไม่มีใครเห็นพระอาณาจักรของพระเจ้า ถ้าเขาไม่ได้เกิดใหม่” นิโคเดมัสทูลถามว่า “คนชราแล้วจะเกิดใหม่ได้อย่างไรกัน เขาจะเข้าไปในครรภ์มารดาอีกครั้งหนึ่ง แล้วเกิดใหม่ได้หรือ” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่าไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าถ้าเขาไม่เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า สิ่งใดที่เกิดจากเนื้อหนังย่อมเป็นเนื้อหนังสิ่งใดที่เกิดจากพระจิตเจ้า ย่อมเป็นจิต อย่าประหลาดใจถ้าเราบอกท่านว่า ท่านทั้งหลายจำเป็นต้องเกิดใหม่จากเบื้องบน ลมย่อมพัดไปในที่ที่ลมต้องการ ท่านได้ยินเสียงลมพัดแต่ไม่รู้ว่า ลมพัดมาจากไหน และจะพัดไปไหน ทุกคนที่เกิดจากพระจิตเจ้าก็เป็นเช่นนี้”
ยน 3:1-21 นิโคเดมัสได้ศึกษาเรื่องกฎหมายของโมเสส และเป็นสมาชิกของสภาซันเฮดริน ซึ่งเป็นสภาสูงของชาวยิว เขาไปพบพระคริสตเจ้าในเวลากลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ผู้นำชาวยิวรับรู้ เนื่องจากพวกเขามีความสงสัยในพระคริสตเจ้าแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตว่านิโคเดมัส ซึ่งเป็นอาจารย์ เรียกพระคริสตเจ้าด้วยคำว่า “ รับบี” ซึ่งคำนี้หมายถึง อาจารย์
พระเยซูเจ้าและธรรมบัญญัติ
CCC ข้อ 581 ประชาชนชาวยิวและผู้นำทางจิตใจของเขาเห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพียง “อาจารย์” (รับบี) คนหนึ่ง หลายครั้งพระเยซูเจ้าเองก็ทรงใช้เหตุผลในกรอบการอธิบายธรรมบัญญัติในรูปแบบของบรรดาธรรมาจารย์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันพระเยซูเจ้าก็จำเป็นต้องขัดแย้งกับบรรดานักกฎหมายเหล่านี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงจำกัดวิธีที่ทรงอธิบายพระคัมภีร์อยู่ในขอบเขตการอธิบายของพวกเขา “เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขา” (มธ 7:29) ในพระองค์ พระวาจาเดียวกันที่ดังก้องบนภูเขาซีนายเพื่อประทานธรรมบัญญัติให้โมเสสบันทึกไว้ แสดงตัวอีกครั้งหนึ่งให้ประชาชนได้ยินบนภูเขาที่ทรงเทศน์สอนเรื่องความสุขแท้ พระวาจานี้ไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่ปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยใช้พระวาจาของพระเจ้าให้คำอธิบายขั้นสุดท้าย “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า[…] แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า...” (มธ 5:33-34) พระองค์ยังทรงใช้อำนาจของพระเจ้าเช่นเดียวกันเพื่อลบล้าง “ธรรมเนียมของมนุษย์” ซึ่งทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นโมฆะ
ยน 3:3 เกิดใหม่ : ในภาษากรีก คำว่า Anothen แปลว่า “อีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งอาจแปลได้สองความหมายคือ “อีกครั้ง” และ “จากเบื้องบน” พระคริสตเจ้าทรงแนะนำนิโคเดมัสเกี่ยวกับการเกิดใหม่ฝ่ายจิตในชีวิตเดิมของเขา ชีวิตใหม่นี้ทำให้เราเป็นบุตรของพระเจ้าโดยทางพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร
พระธรรมล้ำลึกการสมภพ
CCC ข้อ 526 “การกลับเป็นเด็ก” ในความสัมพันธ์กับพระเจ้าเป็นเงื่อนไขเพื่อจะเข้าพระอาณาจักรได้ เพื่อจะทำเช่นนี้ได้ จึงจำเป็นต้องถ่อมตน กลายเป็นคนไม่มีความสำคัญ ยิ่งกว่านั้นยังจำเป็นต้อง “เกิดใหม่” (ยน 3:7) คือเกิดจากพระเจ้า เพื่อใครคนหนึ่งจะเป็นบุตรของพระเจ้าได้ พระธรรมล้ำลึกการสมภพของพระคริสตเจ้าจะสำเร็จสมบูรณ์ก็เมื่อพระคริสตเจ้า “จะปรากฏอยู่ในเราอย่างชัดเจน” การสมภพของพระเยซูเจ้าจึงเป็นพระธรรมล้ำลึกแห่ง “การแลกเปลี่ยนน่าพิศวง” นี้ “การแลกเปลี่ยนเช่นนี้น่าพิศวงจริง พระผู้เนรมิตสร้างมนุษยชาติทรงรับร่างกายที่มีชีวิตมาบังเกิดจากพระนางพรหมจารี และเมื่อทรงถ่อมพระองค์สมภพเป็นมนุษย์ พระองค์ก็ประทานพระเทวภาพของพระองค์ให้แก่เรา”
พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
CCC ข้อ 591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน” โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวงช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยความไม่เชื่อที่ทำให้ตาบอด
ยน 3:5 เกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า : พระคริสตเจ้าทรงยืนยันถึงความจำเป็นของการรับพิธีล้างบาปแบบใหม่ซึ่งพระองค์ทรงเป็นผู้สถาปนาขึ้น ซึ่งไม่ใช่พิธีล้างของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ซึ่งเป็นดังสัญลักษณ์ของการกลับใจเท่านั้น แต่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทำให้ผู้รับได้เกิดในชีวิตใหม่และได้รับการอภัยบาป รวมทั้งได้รับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรด้วย ไม่มีใครเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า : ศีลล้างบาปเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความรอดพ้น ด้วยเหตุนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงมอบหมายภารกิจให้บรรดาผู้ติดตามของพระองค์ไปเทศน์สอนและโปรดศีลล้างบาปให้กับชนทุกชาติ ถึงแม้ว่าพระศาสนจักรทราบดีว่าไม่มีหนทางอื่นใดที่จะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์ได้ แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้ศีลล้างบาปสามารถรอดพ้นได้ด้วย พระศาสนจักรยอมรับเรื่อง “การรับศีลล้างบาปด้วยความปรารถนา” สำหรับผู้ที่มีความเชื่อและกลับใจก่อนที่จะได้รับศีลล้างบาป และการ “รับศีลล้างบาปด้วยเลือด” สำหรับผู้ที่ยอมสละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อในพระคริสตเจ้า นอกจากนี้พระศาสนจักรยังตระหนักถึงความเป็นไปได้ของความรอดพ้นสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับข่าวสารของพระคริสตเจ้า แต่ได้ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างจริงใจตามความเข้าใจของพวกเขา
พระนามเฉพาะของพระจิตเจ้า
CCC ข้อ 691 “พระจิตเจ้า” (แปลตามตัวอักษรว่า “จิตศักดิ์สิทธิ์”) เป็นพระนามเฉพาะของพระผู้ที่เรานมัสการและถวายสักการะร่วมกับพระบิดาและพระบุตร พระศาสนจักรได้รับพระนามนี้มาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าและประกาศพระนามนี้ในพิธีศีลล้างบาปของสมาชิกซึ่งเป็นเสมือนบุตรของตนที่เกิดใหม่อาศัยศีลล้างบาป คำว่า “จิต” แปลคำภาษาฮีบรูว่า Ruah ซึ่งมีความหมายแรกว่า “ลม” “อากาศ” หรือ “ลมหายใจ” พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพของ “ลม” ที่เราสัมผัสได้นี้เพื่อสอนนีโคเดมัสถึงความใหม่เหนือธรรมชาติของพระองค์ผู้ทรงเป็นพระปราณของพระเจ้าโดยเฉพาะ เป็น “พระจิต” ของพระเจ้า ในอีกด้านหนึ่ง ทั้ง “จิต” และ “ศักดิ์สิทธิ์” ล้วนเป็นคุณลักษณะที่ทั้งสามพระบุคคลของพระเจ้าทรงมีร่วมกัน แต่เมื่อพระคัมภีร์ พิธีกรรม และบทความทางเทววิทยารวมสองคำนี้ไว้ด้วยกัน ก็หมายความถึงพระบุคคลของพระจิตเจ้า (ตามตัวอักษร “จิตศักดิ์สิทธิ์”) โดยไม่มีโอกาสจะสับสนกับการใช้คำว่า “จิต” และ “ศักดิ์สิทธิ์” กับการใช้ในสำนวนอื่นๆ เลย
ศีลนี้มีชื่อเรียกอย่างไร
CCC ข้อ 1215 ศีลนี้ยังมีชื่ออีกว่า “การชำระล้างที่ทำให้เราเกิดใหม่และได้รับการฟื้นฟูโดยพระจิตเจ้า” (ทต 3:5) เพราะยังหมายถึงและทำให้มีการบังเกิดจากน้ำและพระจิตเจ้า ถ้าไม่มีการบังเกิดใหม่นี้แล้วก็ไม่มีผู้ใด “อาจเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้” (ยน 3:5)
พิธีล้างของพระคริสตเจ้า
CCC ข้อ 1225 ในการฉลองปัสกาของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงเปิดธารแห่งศีลล้างบาปแก่มนุษย์ทุกคน อันที่จริง ก่อนที่จะทรงรับทรมานที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว พระองค์ทรงกล่าวถึงพระทรมานนี้ว่าเป็น “พิธีล้าง” ที่จะทรงรับในไม่ช้า พระโลหิตและน้ำที่ออกมาจากด้านข้างพระวรกายที่เปิดอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนก็เป็นรูปแบบของศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานชีวิตใหม่ให้เรา หลังจากนี้มนุษย์จึงอาจบังเกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” เพื่อเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้าได้ (ยน 3:5) “เมื่อท่านรับศีลล้างบาป จงดูเถิดว่าศีลล้างบาปนี้มาจากไหนถ้าไม่ใช่จากไม้กางเขนของพระคริสตเจ้า จากการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า พระธรรมล้ำลึกทั้งหมดอยู่ที่นั่น เพราะพระองค์ทรงรับทรมานเพื่อท่าน ท่านได้รับการไถ่กู้ในพระองค์ ท่านได้รับความรอดพ้นในพระองค์”
การอธิบายความหมายขั้นตอนต่างๆ ของพิธีกรรม
CCC ข้อ 1238 ต่อจากนั้นมีการเสกน้ำศีลล้างบาปด้วยบทภาวนาอัญเชิญพระจิตเจ้า (ในขณะนั้นเองหรือในพิธีตื่นเฝ้าปัสกา) พระศาสนจักรทูลวอนขอจากพระเจ้าให้พระอานุภาพของพระจิตเจ้าลงมาเหนือน้ำนี้เดชะพระบุตร เพื่อว่าผู้ที่จะรับศีลล้างบาปในน้ำนี้จะได้เกิด “จากน้ำและพระจิตเจ้า” (ยน 3:5)
ความจำเป็นของศีลล้างบาป
CCC ข้อ 1257 องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงยืนยันว่าศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับความรอดพ้น พระองค์ยังประทานพระบัญชาให้บรรดาศิษย์ไปประกาศข่าวดีและล้างบาปแก่ชนทุกชาติ ศีลล้างบาปจำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับฟังการประกาศพระวรสารแล้วและมีโอกาสที่จะขอรับศีลนี้ พระศาสนจักรไม่รู้จักวิธีการอื่นเพื่อจะเข้าไปรับความสุขนิรันดรได้อย่างมั่นใจนอกจากโดยศีลล้างบาป ดังนั้น พระศาสนจักรจึงระวังที่จะไม่ละเลยพันธกิจที่ได้รับมาจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อทำให้ทุกคนที่อาจรับศีลล้างบาปได้เกิดใหม่ “จากน้ำและพระจิตเจ้า” พระเจ้าทรงผูกมัดความรอดพ้นไว้กับศีลล้างบาป แต่พระองค์ไม่ทรงถูกผูกมัดโดยศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
CCC ข้อ 1258 นับตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว พระศาสนจักรมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ถูกฆ่าตายเพราะความเชื่อโดยที่ยังไม่ได้รับศีลล้างบาป ก็ได้รับศีลล้างบาปด้วยความตายของตนเพื่อพระคริสตเจ้า การล้างบาปด้วยโลหิตเช่นนี้เป็นเสมือนความปรารถนาที่จะรับศีลล้างบาป ให้ผลของศีลล้างบาปทั้งๆ ที่ไม่ใช่ศีลล้างบาปจริงๆ
CCC ข้อ 1259 สำหรับคริสตชนสำรอง (ผู้เรียนคำสอนเตรียมตัวรับศีลล้างบาป) ที่สิ้นชีวิตก่อนจะรับศีลล้างบาป ความปรารถนาชัดเจนของเขาที่จะรับศีลนี้พร้อมกับการเป็นทุกข์กลับใจจากบาปของตน รวมทั้งความรัก นำความรอดพ้นที่เขาไม่อาจรับโดยศีลศักดิ์สิทธิ์มาให้เขา
CCC ข้อ 1260 “เนื่องจากว่าพระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน และมนุษย์ทุกคนได้รับเรียกไปสู่จุดหมายสุดท้ายเดียวกัน นั่นคือไปพบพระเจ้า เราจึงต้องคิดว่าพระจิตเจ้าประทานโอกาสให้ทุกคนที่เพิ่งมารู้จักพระเจ้าได้เข้ามาร่วมมีส่วนพระธรรมล้ำลึกปัสกานี้ด้วย” มนุษย์คนใดไม่ว่าที่ไม่รู้จักข่าวดีของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรของพระองค์ แต่ก็ยังแสวงหาความจริงและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าตามความรู้ของตนก็อาจรับความรอดพ้นได้ด้วย เราอาจกล่าวได้ว่าบุคคลเช่นนี้คงจะปรารถนารับศีลล้างบาปอย่างเปิดเผย ถ้าได้รู้ว่าจำเป็นต้องรับศีลนี้
ปัสกาสุดท้ายของคริสตชน
CCC ข้อ 1682 สำหรับคริสตชน วันตาย ในจุดจบชีวิตศีลศักดิ์สิทธิ์ของเขา เป็นการเริ่มต้นความสมบูรณ์ของการเกิดใหม่ของเขาที่เริ่มขึ้นในศีลล้างบาป เป็น “ความเหมือน” อย่างเด็ดขาดกับ “ภาพลักษณ์ของพระบุตร” ที่เขาได้รับอาศัยการเจิมของพระจิตเจ้าและเป็นการร่วมโต๊ะงานเลี้ยงแห่งพระอาณาจักร ซึ่งเคยถูกเกริ่นไว้แล้วในศีลมหาสนิท แม้ว่าเขายังต้องการการชำระครั้งสุดท้ายซึ่งจำเป็นเพื่อจะสวมเสื้องานวิวาห์มงคลอยู่อีกก็ตาม
ยน 3:6 เกิดจากเนื้อหนัง... ย่อมเป็นจิต : เนื้อหนังมาจากโลกนี้ ส่วนจิตนั้นอยู่ระดับเหนือธรรมชาติ การเกิดครั้งแรก มาจากกระบวนการทางธรรมชาติ ในขณะที่การเกิดใหม่มาจากพระเจ้า การชำระให้บริสุทธิ์จากบาป และการได้รับชีวิตเหนือธรรมชาติเป็นผลหลักสองประการของศีลล้างบาป
CCC ข้อ 526 อ่านเพิ่มเติมด้านบน (ยน 3:3)
พระหรรษทานของศีลล้างบาป
CCC ข้อ 1262 เราเข้าใจผลต่างๆ ของศีลล้างบาปได้จากองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมผัสได้ของจารีตพิธีศีลล้างบาปการจุ่มตัวลงไปในน้ำเป็นสัญลักษณ์หมายถึงความตายและการชำระ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการเกิดใหม่และการฟื้นฟูอีกด้วย ดังนั้น ผลสำคัญสองประการของศีลล้างบาปจึงได้แก่การชำระบาปและการเกิดใหม่ในพระจิตเจ้า
ยน 3:8 จิต เป็นเหมือนลมที่เราสามารถสัมผัสถึงผลที่มีอยู่ได้ และสามารถทราบว่ามีอยู่จริงได้โดยไม่ต้องมองเห็น ในภาษาฮียรู คำว่า “Ruah” หมายถึง จิต และตามตัวอักษรยังหมายถึง “ลม” อีกด้วย
พระเยซูคริสตเจ้า
CCC ข้อ 728 พระเยซูเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยเรื่องพระจิตเจ้าเต็มที่จนกระทั่งพระองค์ทรงได้รับพระสิริรุ่งโรจน์โดยการสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้วเท่านั้น ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงกล่าวพาดพิงถึงพระจิตเจ้าบ้างแล้วเมื่อตรัสสอนประชาชน เมื่อทรงเปิดเผยว่าพระกายของพระองค์เป็นอาหารเพื่อชีวิตในอนาคตของโลก พระองค์ยังตรัสพาดพิงถึงพระจิตเจ้าด้วยกับนิโคเดมัส กับหญิงชาวสะมาเรีย และกับประชาชนที่มาร่วมฉลองเทศกาลอยู่เพิงพร้อมกับพระองค์ พระองค์ตรัสอย่างเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์เมื่อตรัสเกี่ยวกับการอธิษฐานภาวนา และการเป็นพยานที่พวกเขาจะต้องแสดงถึงพระองค์
ศีลกำลังในแผนการความรอดพ้น
CCC ข้อ 1287 ความสมบูรณ์ของพระจิตเจ้าเช่นนี้ต้องไม่คงอยู่เพียงกับพระเมสสิยาห์เท่านั้น แต่ต้องแบ่งปันกับประชากรทั้งหมดของพระเมสสิยาห์ด้วย พระคริสตเจ้าทรงสัญญาถึงการหลั่งของพระจิตเจ้านี้หลายครั้ง และทรงทำให้พระสัญญานี้สำเร็จเป็นครั้งแรกในวันปัสกา หลังจากนั้นในวันเปนเตกอสเตด้วยวิธีการที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น บรรดาอัครสาวกซึ่งได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยมเริ่มประกาศ “กิจการยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (กจ 2:11) และเปโตรก็ประกาศว่าการหลั่งพระจิตเจ้าลงมานี้เป็นเครื่องหมายของเวลาของพระเมสสิยาห์ ผู้ที่ขณะนั้นมีความเชื่อต่อการประกาศเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกรับศีลล้างบาป ก็ได้รับพระพรของพระจิตเจ้าด้วยเช่นเดียวกัน
อารมณ์และศีลธรรมในชีวิต
CCC ข้อ 1769 ในชีวิตคริสตชน พระจิตเจ้าทรงทำงานโดยทรงขับเคลื่อนบุคลิกของเขาทั้งหมด รวมทั้งความยากลำบาก ความกลัวและความโศกเศร้าของเขา เช่นเดียวกับที่เราเห็นเมื่อพระคริสตเจ้าทรงเป็นทุกข์โศกเศร้าในสวนเกทเสมนี ในพระคริสตเจ้า อารมณ์ความรู้สึกประสามนุษย์บรรลุความบริบูรณ์ได้ในความรักและความสุขของพระเจ้า
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)