วันอาทิตย์พระทรมาน
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (มธ 27:11-54)
ขณะนั้น พระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ต่อหน้าผู้ว่าราชการ ผู้ว่าราชการถามพระองค์ว่า “ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “ท่านพูดเองแล้ว” แต่เมื่อบรรดาหัวหน้าสมณะและผู้อาวุโสกล่าวหาพระองค์ พระองค์มิได้ทรงตอบ
ปีลาตจึงถามพระองค์ว่า “ท่านไม่ได้ยินหรือว่าเขากล่าวหาท่านหลายประการ” แต่พระองค์มิได้ตรัสตอบแม้แต่คำเดียว ทำให้ผู้ว่าราชการประหลาดใจมาก
มีประเพณีที่ผู้ว่าราชการต้องปล่อยนักโทษคนหนึ่งตามคำขอร้องของประชาชนในวันฉลอง เวลานั้น มีนักโทษอุกฉกรรจ์คนหนึ่งชื่อ บารับบัส ดังนั้น เมื่อประชาชนมาชุมนุมกัน ปีลาตจึงถามว่า “ท่านทั้งหลายต้องการให้ข้าพเจ้าปล่อยผู้ใด ปล่อยบารับบัส หรือเยซู ที่เรียกว่าพระคริสต์” ปีลาตรู้อยู่แล้วว่า เขาจับพระองค์มามอบให้เพราะความอิจฉา
ขณะที่ปีลาตนั่งอยู่บนบัลลังก์ศาลนั้น ภรรยาของเขาส่งคนมาบอกว่า “อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ชอบธรรมคนนี้เลย เพราะวันนี้ ฉันฝันถึงเรื่องของคนคนนี้ จึงไม่สบายใจมาก”
แต่บรรดาหัวหน้าสมณะและผู้อาวุโสเสี้ยมสอนยุยงประชาชนเพื่อขอให้ปล่อยบารับบัส และประหารชีวิตพระเยซูเจ้า ผู้ว่าราชการจึงถามว่า “ในสองคนนี้ ท่านอยากให้ข้าพเจ้าปล่อยคนไหน” พวกเขาตอบว่า “บารับบัส”
ปีลาตจึงถามว่า “ถ้าเช่นนั้น จะให้ข้าพเจ้าทำอะไรกับเยซู ซึ่งมีชื่อว่า พระคริสต์” ทุกคนตอบว่า “ให้เขาถูกตรึงกางเขน” ปีลาตถามอีกว่า “เขาทำผิดอะไร” แต่ประชาชนร้องตะโกนดังยิ่งขึ้นว่า “ให้เขาถูกตรึงกางเขน”
เมื่อปีลาตเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่จะวุ่นวายยิ่งขึ้น จึงนำน้ำมาล้างมือต่อหน้าประชาชน กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอเกี่ยวข้องกับโลหิตของผู้นี้ เรื่องนี้เป็นธุระของท่าน” ประชาชนทุกคนตอบว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” แล้วปีลาตสั่งให้ปล่อยบารับบัส สั่งให้โบยตีพระเยซูเจ้า แล้วมอบพระองค์ให้เขานำไปตรึงบนไม้กางเขน
บรรดาทหารของผู้ว่าราชการนำพระเยซูเจ้าเข้าไปในจวน และเรียกทหารทั้งกองมาพร้อมกัน เขาเปลื้องฉลองพระองค์ออก นำเสื้อคลุมสีม่วงแดงมาคลุมให้ นำหนามมาสานเป็นมงกุฎสวมพระเศียร ให้พระองค์ถือไม้อ้อในพระหัตถ์ขวา แล้วคุกเข่าลงเฉพาะพระพักตร์ เยาะเย้ยพระองค์ว่า “ข้าแต่กษัตริย์ของชาวยิว ขอทรงพระเจริญเทอญ” เขาถ่มน้ำลายรดพระองค์ ฉวยไม้อ้อฟาดพระเศียร เมื่อเยาะเย้ยพระองค์แล้ว เขาก็ถอดเสื้อคลุมของพระองค์ออก นำฉลองพระองค์สวมให้ดังเดิม แล้วจึงนำพระองค์ไปตรึงบนไม้กางเขน
ขณะที่บรรดาทหารนำพระองค์ออกไปนั้น เขาพบชายชาวไซรีนคนหนึ่งชื่อ ซีโมน จึงเกณฑ์ให้แบกไม้กางเขนของพระองค์ เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า กลโกธา แปลว่า เนินหัวกะโหลก ทหารนำเหล้าองุ่นผสมดีมาให้พระองค์ดื่ม พระองค์ทรงชิมแล้วไม่ยอมดื่ม เมื่อตรึงพระองค์บนไม้กางเขนแล้ว เขานำฉลองพระองค์มาแบ่งกันโดยจับสลาก และนั่งเฝ้าดูพระองค์อยู่ที่นั่น
เขาติดป้ายเหนือพระเศียรของพระองค์ เขียนข้อกล่าวหาพระองค์ไว้ว่า ‘นี่คือเยซูกษัตริย์ของชาวยิว’ เขายังตรึงโจรสองคนพร้อมกับพระองค์ด้วย คนหนึ่งอยู่ข้างขวา อีกคนหนึ่งอยู่ข้างซ้าย
ผู้คนที่ผ่านไปมา ต่างสบประมาทพระองค์ สั่นศีรษะเยาะเย้ยว่า “ท่านผู้ทำลายพระวิหารและสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในสามวัน จงช่วยตนเองให้รอดพ้น ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า จงลงมาจากไม้กางเขนซิ” บรรดาหัวหน้าสมณะพร้อมกับธรรมาจารย์และผู้อาวุโสต่างเยาะเย้ยพระองค์เช่นเดียวกันว่า “เขาช่วยคนอื่นให้รอดพ้นได้ แต่ช่วยตนเองไม่ได้ เขาเป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล จงลงมาจากไม้กางเขนเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะเชื่อ เขาไว้วางใจในพระเจ้า หากพระองค์พอพระทัยเขา ขอให้พระองค์ทรงช่วยเขาบัดนี้เถิด เพราะเขาเคยพูดว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้า’” โจรที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนพร้อมกับพระองค์ก็เยาะเย้ยพระองค์ด้วย
ตั้งแต่เวลาเที่ยง ทั่วแผ่นดินก็มืดจนถึงเวลาบ่ายสามโมง ครั้นถึงเวลาบ่ายสามโมง พระเยซูเจ้าทรงร้องเสียงดังว่า “เอลี เอลี เลมา สะบัคทานี” ซึ่งแปลว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” บางคนที่อยู่ที่นั่นได้ยิน จึงพูดว่า “เขากำลังร้องเรียกเอลียาห์”
ทันใดนั้น ชายคนหนึ่งวิ่งไปนำฟองน้ำจุ่มเหล้าองุ่นเปรี้ยว เสียบปลายไม้อ้อส่งให้พระองค์เสวย แต่คนอื่นพูดว่า “อย่าเพิ่ง คอยดูซิว่า เอลียาห์จะมาช่วยเขาไหม” แต่พระเยซูเจ้าทรงเปล่งเสียงดังอีกครั้งหนึ่ง แล้วสิ้นพระชนม์
ทันใดนั้น ม่านในพระวิหารก็ฉีกขาดเป็นสองส่วนตั้งแต่ด้านบนลงมาถึงด้านล่าง แผ่นดินสั่นสะเทือน ก้อนหินแตก คูหาที่ฝังศพเปิดออก ร่างของผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายร่างที่ล่วงหลับไปแล้วกลับคืนชีพ และออกมาจากหลุมศพหลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ เข้าไปในนครศักดิ์สิทธิ์แล้วแสดงตนแก่ผู้คนจำนวนมาก นายร้อยและบรรดาทหารที่เฝ้าพระเยซูเจ้า เมื่อเห็นแผ่นดินไหวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ตกใจกลัวยิ่งนัก กล่าวว่า “ชายคนนี้เป็นบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว”
มธ 27:11-31 ภายใต้กฎหมายโรมัน บรรดาผู้มีอำนาจของชาวยิวไม่สามารถทำการประหารพระคริสตเจ้าได้ พวกเขาจึงนำพระองค์ไปหาปิลาต ผู้สำเร็จราชการโรมันของแคว้นยูเดีย ผู้มีอำนาจประหารพระองค์ได้
ชาวยิวโดยรวมไม่มีความผิดในการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 597 ถ้าคิดคำนึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของพระวรสารทั้งสี่ฉบับ และคิดคำนึงถึงความผิดส่วนตัวของแต่ละคนที่มีบทบาทในการพิจารณาคดีนี้ (ชาวยิว สภาซันเฮดริน ปีลาต) ที่พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ เราไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มทุกคนต้องรับผิดชอบ แม้ว่าประชาชนจำนวนมากถูกเสี้ยมสอนยุยงให้มาร้องตะโกนกล่าวโทษ และมีการกล่าวโทษโดยรวมต่อทุกคนดังที่พบอยู่ในบทเทศน์ของบรรดาอัครสาวกหลังวันเปนเตกอสเตเพื่อเชิญชวนประชาชนให้กลับใจพระเยซูเจ้าเอง เมื่อประทานอภัยบนไม้กางเขน และหลังจากพระองค์ เปโตรก็ให้เหตุผลการกระทำของชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มและผู้นำของเขาว่ามาจาก “ความไม่รู้” จึงเป็นการไม่ถูกต้องยิ่งขึ้นที่จะอ้างเอาการร้องตะโกนของประชาชนที่ว่า “ขอให้เลือดของเขาตกเหนือเราและเหนือลูกหลานของเราเถิด” (มธ 27:25) ที่เป็นสูตรรับรองความรับผิดชอบการ กระทำมาขยายความรับผิดชอบไปครอบคลุมชาวยิวต่างเวลาและสถานที่ด้วย
พระศาสนจักรได้ประกาศเช่นเดียวกันในสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ด้วยว่า “กิจการที่เกิดขึ้นใน พระทรมานไม่ได้เป็นการกระทำที่ชาวยิวทุกคนซึ่งมีชีวิตอยู่ในเวลานั้นต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด และจะถือว่าชาวยิวในสมัยนี้ต้องรับผิดชอบด้วยก็ไม่ได้เช่นกัน […] เราต้องไม่กล่าวถึงชาวยิวว่าถูกพระเจ้าตำหนิหรือสาปแช่งประหนึ่งว่าการทำเช่นนี้สรุปได้จากพระคัมภีร์”
คนบาปทุกคนเป็นผู้ทำให้พระคริสตเจ้าต้องทรงรับทรมาน
CCC ข้อ 598 พระศาสนจักรไม่เคยลืมความจริงนี้ในการสั่งสอนความเชื่อเป็นทางการและในการเป็นพยานยืนยันของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์เลยว่า “บรรดาคนบาปเป็นผู้ก่อให้เกิดและส่งเสริมความทุกข์ทรมานทุกอย่างที่พระคริสตเจ้าทรงรับทน” เมื่อคิดถึงความจริงที่ว่าบาปของเรามีผลกระทบต่อพระคริสตเจ้า พระศาสนจักรไม่ลังเลใจเลยที่จะสอนว่าบรรดาคริสตชนต้องรับผิดชอบอย่างยิ่งในการที่พระเยซูเจ้าทรงต้องรับทรมาน แต่บ่อยมากเขากลับปัดความรับผิดชอบนี้ไปไว้กับชาวยิวเท่านั้น
“เราต้องตัดสินว่าทุกคนที่ยังตกในบาปบ่อยๆ มีความผิดนี้ เนื่องจากว่าบาปของเราเป็นเหตุให้พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าต้องทรงรับทรมาน ผู้ที่ตกในความผิดและเกลือกกลั้วอยู่ในบาปจึงยังตรึงกางเขน พระบุตรของเจ้า ในตนเองและสบประมาทพระองค์ ความผิดนี้ในตัวเราดูเหมือนจะหนักกว่าในชาวยิวเสียอีก เพราะ ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวไว้ “ถ้าเขาเหล่านั้นรู้ เขาคงไม่ตรึงองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระสิริรุ่งโรจน์” (1 คร 2:8) พวกเราทั้งรู้จักพระองค์และประกาศความเชื่อในพระองค์ แต่เมื่อเราปฏิเสธพระองค์โดยการกระทำ เราก็เป็นเหมือนกับว่าลงมือทำร้ายพระองค์” “แม้แต่ปีศาจก็ไม่ได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขน แต่ท่านได้ตรึงพระองค์บนไม้กางเขนพร้อมกับเขาเหล่านั้น (=ชาวยิว?) และยังคงตรึงพระองค์บนไม้กางเขน พอใจอยู่ในความชั่วและบาป”
มธ 27:26, 29 โทษเฆี่ยนตีพระคริสตเจ้าเป็นการลงโทษที่น่ากลัวซึ่งกำหนดไว้สำหรับอาชญากรหรือทาสที่กบฏเท่านั้น แส้ที่ใช้เฆี่ยนทำด้วยเส้นหนังหลายเส้นผูกปลายด้วยตะขอโลหะหรือวัสดุแหลมคนอื่นที่ติดไว้เพื่อฉีกและเจาะผิดหนังทุกครั้งที่ฟาดลงไป การสวมมงกุฎหนามและการเยาะเย้ยจากทหารต่างชาติแสดงว่าการปฏิเสธและความตายของพระองค์มาจากทั้งจากคนต่างชาติและชาวยิว
ผู้นำชาวยิวมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตายเพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏ ข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
CCC ข้อ 591 พระเยซูเจ้าทรงขอให้ผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มเชื่อในพระองค์เพราะกิจการของพระบิดาที่พระองค์ทรงกระทำ แต่การแสดงความเชื่อเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการตายอย่างลึกลับต่อตนเองข้ามไปรับ “การเกิดใหม่จากเบื้องบน” โดยการชักนำของพระหรรษทานจากพระเจ้า การที่ทรงเรียกร้องเช่นนี้ให้กลับใจเมื่อเห็นว่าพระสัญญาสำเร็จเป็นจริงแล้วอย่างน่าพิศวงช่วยให้เราเข้าใจว่าสภาซันเฮดรินเข้าใจผิดที่คิดว่าพระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้า จึงสมควรต้องตาย สมาชิกของสภานี้จึงทำไปทั้งด้วยความไม่รู้ และด้วยความไม่เชื่อที่ทำให้ตาบอด
มธ 27:32-56 ฝูงชนที่เยาะเย้ย การฉีกพระภูษาของพระองค์ เสียงร้องของการถูกทอดทิ้งจากบนกางเขน รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระทรมานนั้นล้วนแสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามการทำนายในพันธสัญญาเดิม ความทุกข์ทรมานอย่างหนักหน่วงที่พระกายและพระวิญญาณของพระคริสตเจ้านั้นเกิดขึ้นจริงในขั้นสูงสุดกับพระเทวภาพของพระองค์ พระคริสตเจ้าทรงปฏิเสธที่จะดื่มเหล้าองุ่นผสมดีที่ใช้สำหรับบรรเทาความเจ็บปวดก่อนตาย แสดงถึงน้ำพระทัยของพระองค์ในการน้อมรับความทุกข์ทุกอย่างที่การไถ่บาปเรียกร้อง พระองค์ทรงเผชิญกับความตายอันทุกข์ระทมอันเนื่องมาจากการถูกแยกระหว่างร่างกายและวิญญาณในขณะที่ทรงแบกรับความหนักของบาปทั้งหมดของมวลมนุษย์
พระชนมชีพทั้งหมดของพระคริสตเจ้าเป็นพระธรรมล้ำลึก
CCC ข้อ 515 พระวรสารเขียนขึ้นโดยคนรุ่นแรกๆ ที่เข้ามารับความเชื่อ และต้องการแบ่งปันความเชื่อนี้แก่ผู้อื่น เมื่อเขารู้โดยอาศัยความเชื่อว่าพระเยซูเจ้าคือใครแล้ว เขาก็อาจแลเห็นและช่วยให้ผู้อื่นแลเห็นร่องรอยพระธรรมล้ำลึกเกี่ยวกับพระองค์ในพระชนมชีพบนแผ่นดินนี้ของพระองค์ได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ผ้าอ้อมที่หุ้มห่อพระวรกายเพื่อทรงสมภพ จนถึงน้ำองุ่นเปรี้ยวเมื่อทรงรับทรมาน ผ้าห่อพระศพในพระคูหา เมื่อทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ล้วนเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมล้ำลึกของพระองค์ พระภารกิจและการอัศจรรย์ที่ทรงกระทำ พระวาจาที่ตรัสล้วนเปิดเผยว่า “ในพระองค์นั้น พระเทวภาพบริบูรณ์สถิตอยู่ในสภาพมนุษย์ที่สัมผัสได้” (คส 2:9) ดังนี้ มนุษยภาพของพระองค์จึงปรากฏเป็นเสมือน “ศีลศักดิ์สิทธิ์” นั่นคือ เครื่องหมายและเครื่องมือที่พระเทวภาพของพระองค์ทรงใช้นำความรอดพ้นมาประทานแก่มนุษยชาติ และปรากฏให้เห็นในพระชนมชีพในโลกนี้ นำเราเข้าไปสัมผัสกับพระธรรมล้ำลึกที่เรามองเห็นไม่ได้ว่าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงรับพันธกิจมากอบกู้มนุษยชาติให้รอดพ้น
พระเยซูเจ้าและพระวิหาร
CCC ข้อ 585 ถึงกระนั้น ก่อนที่จะทรงรับทรมาน พระเยซูเจ้าทรงทำนายไว้ว่าอาคารสง่างามนี้จะต้องถูกทำลาย จะไม่มีก้อนหินเหลือซ้อนกันอยู่เลย ณ ที่นี้ พระองค์ทรงแจ้งเครื่องหมายของช่วงเวลาสุดท้ายที่กำลังจะเริ่มขึ้นพร้อมกับปัสกาของพระองค์ แต่คำพยากรณ์นี้จะถูกพยานเท็จบิดเบือนความหมายนำไปใช้ปรักปรำพระองค์ในการพิจารณาคดีต่อหน้ามหาสมณะ และยังถูกใช้เป็นคำสบประมาทพระองค์ขณะที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนด้วย
“พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบตามพระประสงค์ที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้แล้ว”
CCC ข้อ 599 การสิ้นพระชนม์อย่างโหดร้ายของพระเยซูเจ้าในสภาพน่าสมเพชไม่ได้เกิดขึ้นโดยเป็นผลจากเหตุบังเอิญมาพบกัน เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับแผนการของพระเจ้าซึ่งเป็นพระธรรมล้ำลึก ดังที่นักบุญเปโตรอธิบายให้ชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มฟังตั้งแต่การเทศน์ครั้งแรกในวันเปนเตกอสเต “พระเยซูเจ้าทรงถูกมอบในเงื้อมมือของท่านตามที่พระเจ้ามีพระประสงค์” (กจ 2:23) วิธีพูดเช่นนี้ของพระคัมภีร์ไม่หมายความว่าผู้ที่มอบพระเยซูเจ้าเป็นเพียงผู้รับคำสั่งมาปฏิบัติตามในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามแผนที่พระเจ้าทรงเขียนไว้ก่อนแล้วเท่านั้น
CCC ข้อ 600 เวลาทุกขณะเป็นปัจจุบันสำหรับพระเจ้าอยู่เสมอ ดังนั้นพระองค์จึงทรงสถาปนาแผนการนิรันดร “การกำหนดไว้ล่วงหน้า” (predestination) แล้ว ซึ่งรวมถึงการตอบสนองโดยอิสระของมนุษย์แต่ละคนต่อพระหรรษทานของพระองค์ในแผนการนี้: “ในเมืองนี้กษัตริย์เฮโรดและ ปอนทิอัสปีลาตร่วมกับคนต่างชาติและประชากรอิสราเอลต่อสู้กับพระเยซูเจ้าผู้รับใช้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระองค์ทรงเจิมไว้ เพื่อทำให้พระประสงค์ที่ทรงกำหนดไว้ด้วยพระอานุภาพสำเร็จไป” (กจ 4:27-28) พระเจ้าทรงอนุญาตการกระทำที่เกิดจากความมืดบอดของเขา[441]เพื่อทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จเป็นจริง
“พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเราตามความในพระคัมภีร์”
CCC ข้อ 601 พระคัมภีร์กล่าวล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องการถูกประหารชีวิตของ “ผู้รับใช้ชอบธรรม” ถึงแผนการของพระเจ้าที่จะช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้น ซึ่งเป็นธรรมล้ำลึกการไถ่กู้มวลมนุษยชาติให้พ้นจากการเป็นทาสของบาป ในการประกาศความเชื่อครั้งหนึ่งที่ท่านกล่าวว่าตน “ได้รับมา” นักบุญเปาโลประกาศว่า “พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเราตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์” (1 คร 15:3)การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเพื่อกอบกู้มนุษยชาตินี้ทำให้คำประกาศพระวาจาเรื่อง “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” สำเร็จเป็นจริง พระเยซูเจ้าเองทรงอธิบายความหมายพระชนมชีพและการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในมุมมองของ “ผู้รับใช้ผู้รับทรมาน” หลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว พระองค์ทรงอธิบายความหมายนี้ของพระคัมภีร์แก่ศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส และหลังจากนั้นแก่บรรดาอัครสาวกด้วย
“พระเจ้าทรงทำให้พระองค์เป็นบาปสำหรับพวกเรา”
CCC ข้อ 602 เพราะเหตุนี้ นักบุญเปโตรจึงอาจกล่าวถึงความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรดาอัครสาวกถึงแผนการที่พระเจ้าจะทรงช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นได้ดังนี้ “ท่านได้รับการไถ่กู้หลุดพ้นจากวิถีชีวิตไร้ค่าที่สืบมาจากบรรพบุรุษ […] ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสตเจ้า ดังเลือดของลูกแกะไร้มลทินหรือจุดด่างพร้อย พระองค์ทรงกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ก่อนสร้างโลก และทรงเปิดเผยพระคริสตเจ้าเพื่อท่านทั้งหลายในวาระสุดท้าย” (1 ปต 1:18-20) บาปต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลของบาปกำเนิด ต้องรับโทษถึงตาย เมื่อทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาในสภาพทาส นั่นคือในสภาพของมนุษย์ผู้ตกในบาปและดังนั้นจึงจะต้องตายเพราะบาป“เพราะเห็นแก่เรา พระเจ้าทรงทำให้พระองค์ผู้ไม่รู้จักบาปเป็นผู้รับบาป เพื่อว่าในพระองค์ เราจะได้กลายเป็นผู้ชอบธรรมของพระเจ้า” (2 คร 5:21)
มธ 27:46 บทเพลงสดุดีที่ 22 เริ่มด้วยคำเหล่านี้ที่บอกถึงความทุกข์ทรมานอันยิ่งใหญ่ หากดูเผินๆ เหมือนบอกถึงความสิ้นหวัง บทเพลงสดุดีจบด้วยถ้อยคำเร้าใจแห่งความรุ่งเรืองและชัยชนะ
“พระเจ้าทรงทำให้พระองค์เป็นบาปสำหรับพวกเรา”
CCC ข้อ 603 ไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าพระเยซูเจ้าทรงทำบาป แต่เพราะความรักเพื่อกอบกู้มนุษย์ที่รวมพระองค์ไว้กับพระบิดาเสมอ พระองค์จึงทรงยอมอยู่ในสภาพของเราที่เป็นคนบาปเหินห่างจากพระเจ้า เพื่อจะตรัสแทนเราบนไม้กางเขนได้ว่า “ข้าแต่พระเจ้า ข้าแต่พระเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (มก 15:34) เมื่อทรงรวมพระองค์กับเราคนบาปเช่นนี้แล้ว พระเจ้าจึง “ไม่ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:32) เพื่อเราจะได้ “กลับคืนดีกับพระเจ้าเดชะการสิ้นพระชนม์ของพระบุตร” (รม 5:10)
“แต่โปรดช่วยให้พ้นจากความชั่วร้ายเทอญ”
CCC ข้อ 2853 ชัยชนะเหนือ “เจ้านายแห่งโลกนี้” ครั้งเดียวสำหรับตลอดไปนี้ได้มาในเวลานั้นเมื่อพระเยซูเจ้าทรงยินดีมอบพระองค์แก่ความตายเพื่อประทานชีวิตให้แก่เรา เวลานั้นถึงเวลาที่จะพิพากษาโลกแล้ว และเจ้านายแห่งโลกนี้ “กำลังจะถูกขับไล่ออกไป” มัน “ได้เบียดเบียนสตรี” (วว 12:13) แต่ก็จับนางไม่ได้ นางคือนางเอวาคนใหม่ “เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน” ของพระจิตเจ้า ได้รับการปกป้องไว้ให้พ้นจากบาปและความเสื่อมสลายของความตาย (การปฏิสนธินิรมลและการได้รับเกียรติยกขึ้นสู่สวรรค์ของพระมารดาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า พระนางมารีย์ผู้ทรงเป็นพรหมจารีเสมอ) “มังกรโกรธสตรีและออกไปทำสงครามกับเผ่าพันธุ์ที่เหลือของนาง” (วว 12:17) เพราะเหตุนี้ พระจิตเจ้าจึงตรัสพร้อมกับพระศาสนจักรว่า “เชิญเสด็จมาเถิด ข้าแต่พระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้า” (วว 22:17,20) เพราะการเสด็จมาของพระองค์จะช่วยเราให้พ้นจากความชั่วร้าย (หรือ “จากมารร้าย”)
มธ 27:50 การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้าเกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาหนึ่งประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การพลีบูชาแห่งการไถ่บาปถูกทำให้เป็นปัจจุบันด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์ในทุกครั้งที่มีการเฉลิมฉลองพิธีบูชาขอบพระคุณ โดยทางพิธีนี้เราสามารถเอาการงานและความทุกข์ของเราร่วมเข้ากับการพลีบูชาบนกางเขนขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งยังคงมีความเป็นปัจจุบันเสมอในพิธีศีลมหาสนิท
การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียวที่สมบูรณ์
CCC ข้อ 613 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นทั้งการถวายบูชาปัสกา ซึ่งทำให้การไถ่กู้มนุษยชาติสำเร็จบริบูรณ์ อาศัยลูกแกะผู้ทรงลบล้างบาปของโลก และเป็นการถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่ ซึ่งทำให้มนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มนุษย์กลับคืนดีกับพระองค์อาศัยพระโลหิตที่หลั่งออกเพื่ออภัยบาปมนุษย์ทั้งหลาย
CCC ข้อ 614 การถวายบูชานี้ของพระคริสตเจ้าเป็นการถวายบูชาหนึ่งเดียว และทำให้การถวายบูชาทั้งหลายสำเร็จบริบูรณ์มีค่าเหนือกว่าการถวายบูชาเหล่านั้นทั้งหมด ก่อนอื่นใด การถวายบูชานี้เป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าเอง พระบิดาทรงมอบพระบุตรของพระองค์เพื่อพระบุตรจะได้ทรงทำให้เราคืนดีกับพระองค์ ในขณะเดียวกันการถวายบูชานี้ยังเป็นการถวายพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์และถวายชีวิตของพระองค์อย่างอิสระเสรี เพราะความรักต่อพระบิดาเดชะพระจิตเจ้า เพื่อชดเชยความไม่เชื่อฟังของเรา
การถวายบูชาระลึกถึงของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักรซึ่งเป็นพระกายของพระองค์
CCC ข้อ 1364 ในพันธสัญญาใหม่ “พิธีระลึกถึง” รับความหมายใหม่ เมื่อพระศาสนจักรประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ พระศาสนจักรระลึกถึงการฉลองปัสกาของพระคริสตเจ้า การฉลองนี้กลับเป็นปัจจุบันด้วย การถวายบูชาที่พระคริสตเจ้าทรงถวายเพียงครั้งเดียวก็มีผลตลอดไปบนไม้กางเขนนั้นยังคงเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดไป “ทุกครั้งที่บนพระแท่นมีการถวายบูชาบนไม้กางเขน ที่ ‘พระคริสตเจ้าองค์ปัสกาของเราถูกฆ่าเป็นบูชาแล้ว’ (1 คร 5:7) งานไถ่กู้พวกเราก็เกิดขึ้นอีก”
มธ 27:51 ม่านในพระวิหารก็ฉีกขาดเป็นสองส่วน: ม่านนี้แยกประชาชนออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่ประทับของพระเจ้า เป็นส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในของพระวิหาร ที่ซึ่งมีแต่พระมหาสมณผู้เดียวเท่านั้นสามารถเข้าไปถวายบูชาต่อพระพักตร์พระเจ้าในนามของประชาชนปีละครั้ง ม่านที่ฉีกขาดเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการคืนดีระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ ทำลายสิ่งที่แยกมนุษย์จากพระเจ้าพันธสัญญาเดิมได้ให้บทบาทหนึ่งแก่ม่านนี้ แต่ได้ถูกยกเลิกไปโดยทางพระคริสตเจ้าในพันธสัญญาใหม่ ความเป็นจริงคือ การที่ม่านถูกฉีกออกจากด้านบนมาด้านล่าง บ่งชี้ว่าเป็นการกระทำของพระเจ้า
พระเยซูเจ้าและพระวิหาร
CCC ข้อ 586 พระเยซูเจ้าไม่ทรงเป็นอริต่อพระวิหารเลย พระองค์ทรงสั่งสอนหลักคำสอนของพระองค์ในพระวิหาร ทรงประสงค์จ่ายภาษีแก่พระวิหารและทรงต้องการให้เปโตร ที่เพิ่งทรงแต่งตั้งให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรในอนาคต ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังตรัสว่าทรงเป็นพระวิหารที่แสดงว่าพระเจ้าประทับในหมู่มนุษย์ตลอดไปด้วย เพราะเหตุนี้ การที่พระกายทรงถูกประหาร จึงเป็นการแจ้งถึงการที่พระวิหารจะถูกทำลายซึ่งจะแจ้งว่ายุคใหม่ของประวัติศาสตร์ความรอดพ้นมาถึงแล้ว “ถึงเวลาแล้วที่ท่านทั้งหลายจะนมัสการพระบิดาเจ้าไม่ใช่เฉพาะบนภูเขานี้หรือที่กรุงเยรูซาเล็ม” (ยน 4:21)
มธ 27:52-53 ร่างของผู้ศักดิ์สิทธิ์หลายร่าง... กลับคืนชีพ... แล้วแสดงตนแก่ผู้คนจำนวนมาก : ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการแสดงตนของบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์นี้หมายถึงการปรากฏมาหรือการกลับมาสู่ชีวิตในร่างกายของมนุษย์ แต่ยังอาจหมายถึงความรอดพ้นของบรรดาผู้ที่ได้ตายในพันธสัญญาเดิม ก่อนการคืนดีระหว่างพระเจ้ากับมนุษยชาติ พระศาสนจักรสอนตามที่ประกาศในบทข้าพเจ้าเชื่อว่า หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า พระองค์ “เสด็จสู่แดนมรณะ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง นรก แต่เป็นการอยู่ในสภาวะหนึ่งชั่วคราว หรือเป็นไฟชำระ สำหรับผู้อยู่ในพันธสัญญาเดิมที่รอคอยให้ประตูสวรรค์เปิดออกรับพวกเขา นี่อาจเป็นความหมายของคำว่า อ้อมอกของอับราฮัม ก็ได้ (เทียบ ลก 16:22)
พระเยซูคริสตเจ้าทรงถูกฝังไว้
CCC ข้อ 624 “อาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า พระองค์ทรงลิ้มรสความตายเพื่อมนุษย์ทุกคน” (ฮบ 2:9) พระเจ้าทรงจัดไว้ในแผนการความรอดพ้นให้พระบุตรของพระองค์ไม่เพียงแต่ “สิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา” (1 คร 15:3) เท่านั้น แต่เพื่อทรง “ลิ้มรสความตาย” ด้วย ซึ่งหมายความว่าเพื่อทรงรู้จักสภาวะของความตาย คือสภาวะที่พระวิญญาณแยกจากพระกายในช่วงเวลาที่ทรงสิ้นพระชนม์กับเวลาที่จะทรงกลับคืนพระชนมชีพ สภาพของพระคริสตเจ้าที่สิ้นพระชนม์นี้เป็นธรรมล้ำลึกของพระคูหาและการเสด็จลงไปในแดนผู้ตาย เป็นธรรมล้ำลึกของวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เมื่อพระคริสตเจ้าทรงถูกฝังอยู่ในพระคูหา ทรงแสดงถึงการพักผ่อนยิ่งใหญ่ของพระเจ้าในวันสะบาโต หลังจากที่การประทานความรอดพ้นแก่มนุษย์เสร็จบริบูรณ์แล้วความรอดพ้นนี้นำสันติมาให้ทุกสิ่งในจักรวาล
“พระองค์จะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย”
CCC ข้อ 627 การสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้าเป็นความตายจริงๆ ที่ทำให้ความเป็นอยู่ของพระองค์ในโลกนี้จบลง แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ที่พระบุคคลของพระบุตรมีอยู่กับพระวรกาย พระวรกายจึงไม่เหมือนศพมนุษย์ทั่วไป เพราะ “ความตายยึดพระองค์ไว้ใต้อำนาจอีกต่อไปไม่ได้” (กจ 2:24) ดังนั้น “พระอานุภาพของพระเจ้าจึงรักษาพระวรกายของพระคริสตเจ้าไว้มิให้เน่าเปื่อย”เราอาจกล่าวถึงพระคริสตเจ้าได้ทั้ง “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) และ “ร่างกายของข้าพเจ้าพำนักอยู่ในความหวัง เพราะพระองค์จะไม่ทรงละทิ้งข้าพเจ้าไว้ในแดนผู้ตาย และจะไม่ทรงปล่อยผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ให้เน่าเปื่อย” (กจ 2:26-27)การกลับคืนพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า “ในวันที่สาม” (1 คร 15:4; ลก 24:46)[522] เป็นข้อพิสูจน์เรื่องนี้ เพราะมักจะคิดกันว่าความเปื่อยเน่ามักปรากฏตั้งแต่วันที่สี่
พระคริสตเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ
CCC ข้อ 632 คำยืนยันหลายครั้งในพันธสัญญาใหม่ว่าพระเยซูเจ้า “ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย” (1 คร 15:20) เป็นการอนุมานว่าก่อนจะทรงกลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ทรงพำนักอยู่ในแดนผู้ตาย การเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกให้ความหมายแรกของการเสด็จสู่แดนมรณะว่า เมื่อพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์แล้วเหมือนมนุษย์ทุกคนแล้ว ได้เสด็จด้วยพระวิญญาณลงไปยังที่พำนักของบรรดาผู้ตาย แต่เสด็จลงไปที่นั่นดังพระผู้กอบกู้ ประกาศข่าวดีแก่บรรดาจิตวิญญาณที่ถูกกักขังอยู่ที่นั่น
CCC ข้อ 633 พระคัมภีร์เรียกที่พำนักของผู้ตายที่พระคริสตเจ้าลงไปเมื่อสิ้นพระชนม์ว่า “Sheol” (“เชโอล” ในภาษาฮีบรู) หรือ “Haides” (“ไฮเดส” ในภาษากรีก) (เราแปลเป็นภาษาไทยว่า “แดนผู้ตาย” หรือ “แดนมรณะ” ส่วนภาษาอังกฤษแปลว่า “hell” ซึ่งที่นี่ต้องไม่แปลว่า “นรก”) ซึ่งผู้ที่อยู่ที่นั่นไม่อาจเห็นพระเจ้าได้ ผู้ตายทุกคน ทั้งคนดีและคนชั่วซึ่งรอคอยพระผู้ไถ่ อยู่ในสภาพเช่นนี้จริงๆ แต่นี่ก็มิได้หมายความว่าเขามีชะตากรรมเดียวกัน ดังที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงให้เห็นในเรื่องอุปมาที่เล่าว่าลาซารัสผู้ยากจนถูกรับไปอยู่ “ในอ้อมอกของอับราฮัม” “ดังนั้น พระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงเสด็จลงไปในแดนมรณะเพื่อช่วยวิญญาณของบรรดาผู้เลื่อมใสศรัทธาที่รอคอยอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม” พระเยซูเจ้ามิได้เสด็จลงไปในแดนมรณะเพื่อช่วยผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้ว และไม่ใช่เพื่อทำลายนรกของคนบาปที่ถูกพิพากษาลงโทษแล้ว แต่เพื่อช่วยบรรดาผู้ชอบธรรมซึ่งสิ้นชีวิตล่วงหน้าไปก่อนพระองค์
CCC ข้อ 634 “ข่าวดีได้รับการประกาศแก่บรรดาผู้ตายด้วย......” (1 ปต 4:6) การเสด็จลงไปยังแดนมรณะจึงเป็นการทำให้การประกาศข่าวดีเรื่องความรอดพ้นประสบความสำเร็จ กิจการนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพันธกิจพระเมสสิยาห์ของพระเยซูเจ้า ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่มีความหมายแท้จริงกว้างใหญ่ในงานกอบกู้มนุษย์ทุกคน ทุกสมัย ทุกสถานที่ เพราะทุกคนที่ได้รับความรอดพ้น ล้วนเป็นผู้มีส่วนในงานกอบกู้
CCC ข้อ 635 ระคริสตเจ้าเสด็จลงไปยังส่วนลึกของความตาย เพื่อ “บรรดาผู้ตาย” จะได้ยิน “พระสุรเสียงของพระบุตรพระเจ้า และผู้ที่ได้ยินแล้วจะมีชีวิต” (ยน 5:25) พระเยซูเจ้า “เจ้าชีวิต” “โดยการสิ้นพระชนม์” ได้ทรงทำลาย “มารผู้มีอำนาจเหนือความตายลงได้” และทรงปลดปล่อย “ผู้ตกเป็นทาสอยู่ตลอดชีวิตเพราะความกลัวตาย” ให้เป็นอิสระ (ฮบ 2:14-15) ต่อจากนั้นพระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจึงทรง “มีอำนาจเหนือความตายและเหนือแดนผู้ตาย” (วว 1:18) และ “ทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดิน รวมทั้งใต้พื้นพิภพจะย่อเข่าลงนมัสการพระนามเยซูนี้” (ฟป 2:10)
“วันนี้ในแผ่นดินมีความเงียบยิ่งใหญ่ ต่อจากความเงียบยิ่งใหญ่ก็มีแต่ความอ้างว้างวังเวง มีความเงียบยิ่งใหญ่ก็เพราะพระมหากษัตริย์ทรงพระบรรทม แผ่นดินตกใจกลัวและสงบเงียบ เพราะพระเจ้าผู้ทรง พระกายทรงพระบรรทม และทรงปลุกผู้ที่หลับอยู่ตั้งแต่สร้างโลกมา […] ใช่แล้ว พระองค์เสด็จไปหาบิดามารดาเดิมประหนึ่งเสด็จตามหาแกะที่หลงไป ทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเสด็จเยี่ยมผู้พำนักอยู่ในความมืดและในเงาความตาย ก่อนอื่นใด พระองค์เสด็จไปปลดปล่อยอาดัมผู้ถูกจองจำให้พ้นจากความทุกข์ พร้อมกับเอวาผู้ถูกจองจำ – พระองค์ผู้ทรงเป็นทั้งพระเจ้าและเป็นลูกหลานของเขา […] (ตรัสว่า) ‘เราคือพระเจ้าของท่าน ซึ่งกลับเป็นบุตรของท่านเพราะท่าน […] ท่านซึ่งกำลังหลับอยู่ จงตื่นเถิด เพราะเราได้เนรมิตสร้างท่าน ไม่ใช่เพื่อให้ท่านถูกจองจำในแดนมรณะ จงลุกขึ้นจากบรรดาผู้ตายเถิด เราเป็นชีวิตของบรรดาผู้ตาย’”
สรุป - พระคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์
CCC ข้อ 636 เมื่อสูตรประกาศความเชื่อกล่าวว่า “พระเยซูเจ้าเสด็จสู่แดนมรณะ” ก็ประกาศว่าพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์จริงๆ และโดยการสิ้นพระชนม์ได้ทรงพิชิตความตายและมารปีศาจ “ผู้มีอำนาจเหนือความตาย” (ฮบ 2:14)
CCC ข้อ 637 เมื่อพระคริสตเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์เสด็จลงไปยังที่พำนักของบรรดาผู้ตาย โดยที่ พระวิญญาณยังคงสนิทอยู่กับพระบุคคลของพระองค์ พระองค์ทรงเปิดประตูสวรรค์แก่บรรดาผู้ชอบธรรมที่ได้สิ้นชีวิตล่วงหน้าไปก่อนพระองค์
มธ 27:54 ชายคนนี้เป็นบุตรของพระเจ้าแน่ทีเดียว : ยังไม่ชัดเจนว่านายร้อยนี้ยืนยันว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือทรงมีสภาวะพระเจ้า คำว่า “บุตรพระเจ้า” มักถูกใช้ในพันธสัญญาเดิมเพื่อหมายถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าเป็นพิเศษ คล้ายกับคำว่า “บุตรบุญธรรม” บ่อยครั้งเป็นคำที่ใช้กับผู้มีความเชื่อ ทูตสวรรค์ หรือกับบรรดาหัวหน้าชาวยิว
พระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า
CCC ข้อ 441 บุตรของพระเจ้า” ในพันธสัญญาเดิม เป็นตำแหน่งที่ให้แก่ทูตสวรรค์[44] แก่ประชากรที่ทรงเลือกสรร แก่บรรดาบุตรของอิสราเอล และกษัตริย์ของเขา คำว่า “บุตรของพระเจ้า” นี้จึงหมายถึง “การเป็นบุตรบุญธรรม” ที่พระเจ้าทรงตั้งไว้เป็นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพระองค์กับสิ่งสร้าง เมื่อ “พระเมสสิยาห์-กษัตริย์” ที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ถูกเรียกว่า “บุตรของพระเจ้า” นามนี้จึงไม่จำเป็นต้องหมายความว่าผู้นี้ ตามความหมายตามตัวอักษรของคำ มีธรรมชาติเหนือมนุษย์ ประชาชนที่เรียกพระเยซูเจ้า “พระเมสสิยาห์ของอิสราเอล” ว่า “บุตรของพระเจ้า” จึงอาจไม่ต้องการบอกอะไรมากกว่านี้
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)