วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 4 เทศกาลมหาพรต
พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (ยน 9:1-41)
เวลานั้น ขณะที่พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินผ่านไป พระองค์ทอดพระเนตรเห็นคนตาบอดแต่กำเนิดคนหนึ่ง บรรดาศิษย์ทูลถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ใครทำบาป ชายคนนี้ หรือบิดามารดาของเขา เขาจึงเกิดมาตาบอด” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “มิใช่ชายคนนี้ หรือบิดามารดาของเขาทำบาป แต่เขาเป็นเช่นนี้ก็เพื่อให้กิจการของพระเจ้าปรากฏในตัวเขา” ตราบใดที่ยังเป็นกลางวันอยู่เราทั้งหลายต้องทำกิจการของผู้ที่ทรงส่งเรามา แต่เมื่อกลางคืนมาถึง ก็ไม่มีใครทำงานได้ ตราบที่เรายังอยู่ในโลก เราเป็นแสงสว่างส่องโลก เมื่อตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงถ่มพระเขฬะลงบนพื้นผสมกับดิน ป้ายตาคนตาบอด แล้วตรัสกับเขาว่า “จงไปล้างตาที่สระสิโลอัมเถิด” “สิโลอัม” หมายความว่า “ถูกส่งไป” คนตาบอดจึงไปล้างตา แล้วกลับมามองเห็น เพื่อนบ้านและคนที่เคยเห็นเขาเป็นขอทานมาก่อน พูดว่า “คนนี้เป็นคนที่เคยนั่งขอทานอยู่มิใช่หรือ” บางคนพูดว่า “ใช่แล้ว” บางคนพูดว่า “ไม่ใช่ แต่เป็นคนอื่นที่คล้ายคลึงกัน” แต่คนที่เคยตาบอดพูดว่า “ใช่แล้ว เป็นฉันเอง” คนเหล่านั้นจึงถามเขาว่า “ตาของท่านหายบอดได้อย่างไร’” เขาตอบว่า “คนที่ชื่อเยซูทำโคลนป้ายตาของฉัน และบอกฉันว่า “จงไปล้างตาที่สระสิโลอัมเถิด” ฉันจึงไปล้าง พอล้างแล้ว ก็มองเห็น” พวกนั้นถามว่า “เวลานี้คนนั้นอยู่ที่ไหน” เขาตอบว่า “ฉันไม่รู้” คนเหล่านั้นจึงพาคนที่เคยตาบอดไปหาชาวฟาริสี วันที่พระเยซูเจ้าทรงถ่มพระเขฬะผสมดินและทรงรักษาตาของคนตาบอดนั้นเป็นวันสับบาโต ชาวฟาริสีได้ถามเขาอีกว่า “เขามองเห็นได้อย่างไร” เขาจึงตอบว่า “คนนั้นเอาโคลนป้ายตาของฉัน ฉันไปล้างตาแล้วก็มองเห็น” ชาวฟาริสีบางคนพูดว่า “คนนั้นไม่ได้มาจากพระเจ้า เขาไม่ถือวันสับบาโต” แต่บางคนแย้งว่า “คนบาปจะทำเครื่องหมายอัศจรรย์อย่างนี้ได้อย่างไร” ชาวฟาริสีเหล่านั้นมีความคิดเห็นแตกต่างกัน จึงถามคนที่เคยตาบอดอีกว่า “ท่านล่ะ ท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับคนนั้น ที่เขาทำให้ตาของท่านกลับมองเห็น” เขาตอบว่า ”คนนั้นเป็นประกาศก” แต่ชาวยิวไม่ยอมเชื่อว่าชายคนนี้เคยตาบอดแล้วกลับมองเห็น จึงเรียกบิดามารดาของเขามา แล้วถามว่า “คนนี้เป็นลูกของท่าน ซึ่งท่านบอกว่าเกิดมาตาบอดใช่หรือไม่ บัดนี้ เขากลับมองเห็นได้อย่างไร” บิดามารดาตอบว่า “เรารู้ว่าคนนี้เป็นลูกของเรา และเกิดมาตาบอด แต่เราไม่รู้ว่า บัดนี้ เขามองเห็นได้อย่างไร หรือใครรักษาตาของเขา เราก็ไม่รู้ ท่านจงถามเขาเองเถิดเขาโตพอจะตอบเองได้แล้ว” บิดามารดาตอบเช่นนี้ก็เพราะกลัวชาวยิว ซึ่งตกลงกันแล้วว่า ใครยอมรับว่าพระองค์เป็นพระคริสตเจ้าจะถูกขับออกจากศาลาธรรม บิดามารดาของเขาจึงตอบว่า “เขาโตแล้ว ท่านจงถามเขาเองเถิด” ชาวยิวเรียกคนที่เคยตาบอดมาอีก บอกเขาว่า “จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด พวกเรารู้ว่าคนนั้นเป็นคนบาป” คนที่เคยตาบอดแย้งว่า “เขาเป็นคนบาปหรือไม่ ฉันไม่รู้ ฉันรู้อย่างเดียวว่า ฉันเคยตาบอด และบัดนี้มองเห็นแล้ว” พวกนั้นถามอีกว่า “เขาทำอะไรกับท่าน เขารักษาตาของท่านอย่างไร” คนที่เคยตาบอดตอบว่า “ฉันบอกท่านแล้ว แต่ท่านไม่ฟัง ทำไมท่านต้องการฟังอีกเล่า ท่านต้องการเป็นศิษย์ของเขาด้วยกระมัง” พวกนั้นจึงด่าเขาว่า “ท่านสิ เป็นศิษย์ของเขา ส่วนเราเป็นศิษย์ของโมเสส พวกเรารู้ว่า พระเจ้าตรัสกับโมเสส แต่เยซูคนนี้ เราไม่รู้ว่าเขามาจากไหน” คนที่เคยตาบอดจึงพูดว่า “แปลกจริงท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าเขามาจากไหน แต่เขาได้รักษาตาของฉันให้กลับมองเห็น เราทั้งหลายรู้ว่า พระเจ้าไม่ทรงฟังคนบาป แต่ทรงฟังผู้ที่ยำเกรงพระองค์และปฏิบัติตามพระประสงค์เท่านั้น แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยได้ยินเลยว่ามีใครรักษาคนตาบอดแต่กำเนิดให้หายได้ ถ้าเขาไม่ได้มาจากพระเจ้า เขาก็คงจะทำอะไรไม่ได้” คนเหล่านั้นตอบว่า “ท่านเกิดมาในบาปทั้งตัว แล้วยังกล้ามาสั่งสอนพวกเราอีกหรือ” แล้วจึงขับไล่เขาออกไป พระเยซูเจ้าทรงได้ยินว่าชาวฟาริสีขับไล่คนที่ตาบอดออกไปจากศาลาธรรม เมื่อทรงพบเขา จึงตรัสถามว่า “ท่านเชื่อในบุตรแห่งมนุษย์หรือ” เขาทูลถามว่า “บุตรแห่งมนุษย์คือใคร พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าจะได้เชื่อในพระองค์” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านได้เห็นแล้ว เป็นผู้ที่กำลังพูดอยู่กับท่านนี้แหละ” เขาจึงทูลว่า “ข้าพเจ้าเชื่อ พระเจ้าข้า” แล้วกราบลงนมัสการพระองค์ พระเยซูเจ้าตรัสว่า เรามาในโลกนี้เพื่อพิพากษา คนที่มองไม่เห็นจะได้มองเห็น ส่วนคนที่มองเห็นจะกลายเป็นคนตาบอด ชาวฟาริสีบางคนซึ่งอยู่ที่นั่นได้ยินพระวาจาเหล่านี้ จึงทูลถามพระองค์ว่า “พวกเราก็ตาบอดด้วยใช่ไหม” พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า ถ้าท่านทั้งหลายตาบอดท่านก็ไม่มีบาป แต่ท่านกล่าวว่า “เรามองเห็น” บาปของท่านจึงยังคงอยู่
ยน 9:1-23 แม้ชายตาบอดไม่สามารถมองเห็น แต่เขาเชื่อว่าพระคริสตเจ้าจะทรงช่วยให้ตาของเขาเปิดมาแลเห็นได้ ชาวฟาริสีถึงแม้ได้เห็นเหตุการณ์นี้ด้วยตนเองแต่ก็มีจิตใจที่มืดบอดด้วยเหตุของการไม่ยอมรับพระคริสตเจ้าและคำสอนของพระองค์ บ่อยครั้งความมืดบอดฝ่ายจิตเป็นผลมาจากความสงสัย จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่จะกลายเป็นบาปหนักหากเกิดจากความตั้งใจ
คำนิยามของบาป
CCC ข้อ 1850 บาปเป็นการทำผิดต่อพระเจ้า “ข้าพเจ้าทำบาปผิดต่อพระองค์ ต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ข้าพเจ้าทำสิ่งที่ทรงเห็นว่าชั่วร้าย” (สดด 51:4) บาปตั้งตัวขึ้นต่อสู้กับความรักของพระเจ้าต่อเราและทำให้ใจของเราหันเหไปจากพระองค์ นอกจากนั้น เช่นเดียวกับบาปแรก บาปเป็นการไม่เชื่อฟังพระเจ้า เป็นการกบฏต่อพระเจ้า เนื่องจากความต้องการที่จะ “เป็นเหมือนพระเจ้า” (ปฐก 3:5) รู้และตัดสินความดีชั่วด้วยตนเอง ดังนี้ บาปจึงเป็น “ความรักตนเองจนดูหมิ่นพระเจ้า” เพราะความเย่อหยิ่งทะนงตนนี้ บาปจึงอยู่ตรงกันข้ามสุดขั้วกับความเชื่อฟังของพระเยซูเจ้าผู้ทรงนำความรอดพ้นมาให้เรา
บาปชนิดต่าง ๆ
CCC ข้อ 1852 บาปมีความหลากหลายอย่างมาก พระคัมภีร์แสดงรายการของบาปไว้หลายแบบด้วยกัน จดหมายถึงชาวกาลาเทียกล่าวถึงกิจการของธรรมชาติมนุษย์ (ตามตัวอักษรว่า “ของเนื้อหนัง”) ไว้ตรงกันข้ามกับผลของพระจิตเจ้าดังนี้ “กิจการของธรรมชาติมนุษย์นั้นปรากฏชัดแจ้ง คือ การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราคะตัณหา การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวทมนต์คาถา การเป็นศัตรูกัน การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี การแตกแยก การแบ่งพรรค แบ่งพวก การเมามาย การสำมะเลเทเมา และอีกหลายประการในทำนองเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งดังที่เคยเตือนมาแล้วว่า ผู้ที่ประพฤติตนเช่นนี้จะไม่ได้อาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก” (กท 5:19-21)
ความหนักของบาป – บาปหนักและบาปเบา
CCC ข้อ 1855 บาปหนัก ทำลายความรักในใจมนุษย์เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายสำคัญของพระเจ้า ทำให้มนุษย์ออกห่างจากพระเจ้าผู้ทรงเป็นจุดหมายสุดท้ายและความสุขของเขา โดยชอบความดีที่ด้อยกว่าพระองค์ บาปเบา ยอมให้ความรักยังคงอยู่ แม้ว่าทำร้ายและทำให้ความรักบาดเจ็บ
CCC ข้อ 1856 บาปหนักซึ่งทำร้ายความรักที่เป็นบ่อเกิดชีวิตในตัวเรา เรียกร้องให้พระเจ้าทรงเริ่มพระเมตตาขึ้นใหม่และเรียกร้องให้มีการกลับใจ ซึ่งโดยวิธีปกติแล้วเกิดขึ้นภายในศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งการคืนดี “เมื่อเจตนามุ่งหาบางสิ่งที่ในตัวเองขัดสู้กับความรักซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายที่มนุษย์ถูกจัดไว้ให้มุ่งไปหา บาปก็มีลักษณะเป็นบาปหนักจากวัตถุของตน […] หรือถ้าเป็นการกระทำที่ขัดสู้กับความรักต่อพระเจ้า เช่นการสาปแช่งพระเจ้า การเป็นพยานเท็จหรืออะไรทำนองนี้ หรือเป็นการกระทำที่ขัดสู้กับความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เช่นการฆ่าคน การล่วงประเวณีหรืออะไรทำนองนี้ […] แต่บางครั้งเจตนาของผู้ทำบาปมุ่งหาสิ่งที่ในตัวเองมีความผิดระเบียบอยู่บ้าง แต่ไม่ขัดสู้กับความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ เช่น คำพูดไร้สาระ การหัวเราะมากเกินควรหรืออะไรทำนองนี้ กิจการเช่นนี้ก็เป็นบาปเบา”
CCC ข้อ 1857 เพื่อบาปจะเป็นบาปหนักได้จำเป็นต้องมีเงื่อนไขสามประการ บาปใดๆ ไม่ว่าเป็นบาปหนัก “เมื่อมีวัตถุเป็นเรื่องหนัก ยิ่งกว่านั้นบาปนั้นยังต้องทำไปโดยรู้ตัวเต็มที่และตั้งใจทำ”
CCC ข้อ 1858 มีเรื่องหนักที่พระบัญญัติสิบประการกำหนดไว้และพระเยซูเจ้าทรงตอบแก่ชายหนุ่มร่ำรวยคนนั้น “อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าลักขโมย อย่าเป็นพยานเท็จ อย่าฉ้อโกง จงนับถือบิดามารดา” (มก 10:19) ความหนักของบาปอาจมากหรือน้อยก็ได้ การฆ่าคนย่อมเป็นความผิดหนักกว่าการขโมย เรายังต้องพิจารณาถึงลักษณะของบุคคลที่รับความเสียหายด้วย ความเสียหายที่ทำกับญาติพี่น้องในตัวเองแล้วย่อมหนักกว่าความเสียหายที่ทำกับบุคคลภายนอก
CCC ข้อ 1859 จะเป็นบาปหนักได้จำเป็นต้องมีความรู้ตัวเต็มที่ และมีความจงใจเต็มที่ด้วย บาปหนักสมมุติว่าต้องมีความรู้ว่าการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นบาป ขัดกับพระบัญญัติของพระเจ้า บาปหนักยังเรียกร้องให้มีความตั้งใจที่รู้ตัวเพียงพอที่จะเป็นการเลือกส่วนตัวได้ การแสร้งว่าไม่รู้และใจดื้อด้านไม่ทำให้ความจงใจทำบาปน้อยลง แต่ยิ่งทำให้เพิ่มมากขึ้น
ยน 9:1-3 พระคริสตเจ้าทรงปฏิเสธการเชื่อถือว่า การตาบอดของชายนั้นมีเหตุมาจากบาปดั้งเดิมของเขาหรือจากพ่อแม่ของเขา การเชื่อว่าความเจ็บไข้และความโชคร้ายเป็นผลของบาปเป็นความเข้าใจผิดของคนทั่วไป แม้ว่าความเจ็บป่วยและความตายหยั่งรากลึกอยู่ในธรรมชาติของเราที่รับผลจากบาปกำเนิดและบาปในปัจจุบันก็จริง แต่พระเจ้าทรงอนุญาตให้มีโรคฝ่ายกายและความทุกข์ทรมานอื่นๆ ทุกอย่างก็เพื่อให้ความหมายกับการชำระและเป็นโอกาสให้มนุษย์ใกล้ชิดกับพระคริสตเจ้าและกางเขนของพระองค์ ในกรณีดังกล่าวนี้ความโชคร้ายของชายตาบอดกลับกลายเป็นโอกาสเพื่อให้พระคริสตเจ้าทรงเปิดเผยถึงพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า
ความเจ็บป่วยในชีวิตมนุษย์
CCC ข้อ 1500 ความเจ็บป่วยและความทุกข์เป็นปัญหาหนักที่สุดประการหนึ่งที่ชีวิตมนุษย์ต้องเผชิญ เมื่อเจ็บป่วย มนุษย์มีประสบการณ์ถึงความอ่อนแอ ขอบเขตจำกัด และความไม่จีรังยั่งยืนของตน การเจ็บป่วยทุกครั้งอาจทำให้เรามองเห็นความตายได้อย่างใกล้ชิด
CCC ข้อ 1501 ความเจ็บป่วยอาจทำให้เรากังวลใจ ครุ่นคิดถึงแต่ตนเอง บางครั้งอาจทำให้เราหมดหวังและเคียดแค้นพระเจ้าได้ด้วย แต่ความเจ็บป่วยก็ยังอาจทำให้เราเป็นผู้มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น ช่วยให้รู้จักแยกแยะว่าในชีวิตสิ่งใดไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อจะมุ่งหาสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ บ่อยๆ ความเจ็บป่วยปลุกให้เราแสวงหาพระเจ้า กลับไปหาพระองค์
ผู้ป่วยเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า
CCC ข้อ 1502 ในพันธสัญญาเดิม มนุษย์เมื่อเจ็บป่วยมีชีวิตเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เขารำพันถึงความเจ็บป่วยของเขาเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และวอนขอให้พระองค์ผู้ทรงเป็นนายของชีวิตและความตายช่วยบำบัดรักษาตน ความเจ็บป่วยเป็นหนทางการกลับใจ และพระกรุณาของพระเจ้าก็เริ่มบำบัดรักษา ชาวอิสราเอลรู้สึกว่าความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับบาปและความชั่วอย่างลึกลับ และความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าตามธรรมบัญญัตินำชีวิตกลับคืนมา “เราคือพระยาห์เวห์ ผู้รักษาท่านให้หาย” (อพย 15:26) ประกาศกยังเห็นด้วยว่าความทุกข์มีความหมายอาจช่วยผู้อื่นให้พ้นจากบาปได้ด้วย ในที่สุด ประกาศกอิสยาห์ยังประกาศว่าพระเจ้าจะทรงนำช่วงเวลามาให้ศิโยน ซึ่งในเวลานั้นพระองค์จะทรงอภัยความผิดทั้งหมดและจะทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมดด้วย
ยน 9:6 บ่อยครั้ง พระคริสตเจ้าทรงใช้สิ่งของและท่าทางธรรมดาในการทำอัศจรรย์โดยมีนัยถึงความหมายฝ่ายจิต ศีลศักดิ์สิทธิ์คือเครื่องหมายที่เกิดผลอาศัยวัตถุ รูปแบบและศาสนบริกรเพื่อประทานพระหรรษทานของพระเจ้า ดังเช่น ในศีลมหาสนิท ปังและเหล้าองุ่นเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ซึ่งประทานการหล่อเลี้ยงเหนือธรรมชาติ
เครื่องหมายและสัญลักษณ์
CCC ข้อ 1151 เครื่องหมายที่พระคริสตเจ้าทรงรับมา พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้สิ่งสร้างเป็นเครื่องหมายเพื่อทรงสอนพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า ทรงใช้วัตถุหรือการกระทำแบบสัญลักษณ์เป็นเครื่องหมายเมื่อทรงรักษาโรคหรือเทศน์สอน พระองค์ทรงให้ความหมายใหม่แก่เหตุการณ์และเครื่องหมายต่างๆ ในพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะการอพยพและฉลองปัสกา เพราะพระองค์ทรงเป็นความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งหมด
พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์
CCC ข้อ 1504 พระเยซูเจ้าทรงขอร้องคนเจ็บป่วยให้มีความเชื่อ ทรงใช้เครื่องหมายเพื่อบำบัดรักษา เช่นทรงใช้พระเขฬะ การปกพระหัตถ์ ทรงป้ายโคลนและสั่งให้ไปล้างออก บรรดาคนเจ็บป่วยพยายามสัมผัสพระองค์ “เพราะมีพระอานุภาพออกจากพระองค์รักษาทุกคนให้หายโรค” (ลก 6:19) ดังนั้น ในศีลศักดิ์สิทธิ์ พระคริสตเจ้ายังคงทรง “สัมผัส” เพื่อบำบัดรักษาพวกเรา
ยน 9:7 จงไปล้าง : ในศีลล้างบาปเราได้รับการล้างบาปให้หมดสิ้นไป จารีตพิธีศีลล้างบาปกล่าวถึงน้ำที่ให้ชีวิตอยู่หลายครั้ง
ศีลล้างบาป
CCC ข้อ 985 ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกและสำคัญที่สุดสำหรับการอภัยบาป ศีลล้างบาปนี้รวมพวกเรากับพระคริสตเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ และประทานพระจิตเจ้าให้แก่เรา
“พระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ”
CCC ข้อ 2813 ในน้ำของศีลล้างบาป พวกเรา “ได้รับการชำระล้าง ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ ได้รับความชอบธรรมเดชะพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าและเดชะพระจิตของพระเจ้าของเรา” (1 คร 6:11) ตลอดชีวิต พระบิดาของเราทรงเรียกเรา “ให้เป็นคนศักดิ์สิทธิ์” (1 ธส 4:7) และเนื่องจากว่าเพราะพระองค์พระบิดา เราอยู่ในพระคริสต์เยซู “ผู้ที่พระเจ้าทรงตั้งให้เป็น […] ความศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา” (1 คร 1:30) ทั้งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์และชีวิตของเราในพระองค์จึงขึ้นอยู่กับการที่พระนามของพระองค์เป็นที่สักการะทั้งในและจากพวกเรา คำวอนขอข้อแรกจึงมีความสำคัญเช่นนี้ “นอกจากนั้น พระเจ้าทรงเป็นที่สักการะ (หรือ “รับความศักดิ์สิทธิ์”) จากผู้ใด พระองค์เองทรงความศักดิ์สิทธิ์ “ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์” (ลนต 11:44) เราวอนขอเช่นนี้ ให้เราที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ในศีลล้างบาปได้มั่นคงในสภาพที่เราได้เริ่มไว้ และเราวอนขอเช่นนี้ทุกวัน เพราะเราต้องการจะมีความศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน เพื่อเราที่ทำผิดทุกๆ วันจะได้ชำระความผิดนั้นโดยความพยายามทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตลอดเวลา […] เราอธิษฐานภาวนาเพื่อให้การทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์นี้จะได้คงอยู่ในตัวเราตลอดไป”
ยน 9:11 ดังที่ก่อนหน้านี้เราได้เห็นเรื่องราวของหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำ (เทียบ ยน 4:7-42) ภาษาของชายตาบอดในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของเขาที่เติบโตขึ้นและการเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของพระคริสตเจ้า ในตอนแรกเขากล่าวถึงพระคริสตเจ้าด้วยคำว่า บุรุษผู้หนึ่ง แต่เมื่อเรื่องเล่าดำเนินไป เขาได้กล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเป็น ประกาศก ที่ “มาจากพระเจ้า” และที่สุด เขาประกาศว่าพระองค์คือ พระเจ้า
“ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว”
CCC ข้อ 202 พระเยซูเจ้าเองก็ทรงยืนยันว่าพระเจ้า “ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว” และเราต้องรักพระองค์สุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาและสุดกำลัง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงบอกว่าพระองค์ทรงเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ด้วย[5] ลักษณะเฉพาะของคริสตศาสนาก็คือประกาศว่า “พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า”ด้วย การประกาศเช่นนี้ไม่ขัดกับความเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว การเชื่อในพระจิตเจ้า “องค์พระผู้เป็นเจ้าและผู้ประทานชีวิต” ก็ไม่นำความแตกแยกเข้ามาในพระเจ้าหนึ่งเดียว “เราเชื่อมั่นและประกาศชัดเจนว่ามีพระเจ้าแท้เพียงหนึ่งเดียว นิรันดร ยิ่งใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปร มนุษย์ไม่อาจเข้าใจพระองค์ได้ทั้งหมด ทรงสรรพานุภาพ มนุษย์ไม่อาจกล่าวถึงพระองค์ได้ คือพระบิดา พระบุตร และพระจิตเจ้า ทรงเป็นสามพระบุคคล แต่ทรงเป็นหนึ่งเดียวในสาระและความเป็นอยู่ หรือทรงมีพระธรรมชาติเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น”
องค์พระผู้เป็นเจ้า
CCC ข้อ 455 ตำแหน่ง “องค์พระผู้เป็นเจ้า” หมายถึงอำนาจปกครองของพระเจ้า การประกาศหรือเรียกพระเยซูเจ้าว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นการเชื่อในพระเทวภาพของพระองค์ “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซูคือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3)
การอธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 2665 การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร ซึ่งได้รับการหล่อเลี้ยงจากพระวาจาของพระเจ้าและ การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สอนเราให้อธิษฐานภาวนาต่อพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้า แม้ว่าการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรส่วนใหญ่จะมุ่งหาพระบิดา ก็ยังมีสูตรบทภาวนาจำนวนหนึ่งในทุกธรรมประเพณีทางพิธีกรรมที่มุ่งหาพระคริสตเจ้าด้วย เพลงสดุดีบางบทที่ในปัจจุบันได้รับการปรับใช้ตามสถานการณ์ในการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักร และพันธสัญญาใหม่ยังเชิญชวนให้เราใช้คำพูดกล่าวเพลงสดุดีเหล่านี้ และคิดคำนึงในใจให้เป็นการอธิษฐานภาวนาเรียกหาพระคริสตเจ้า เช่น ข้าแต่พระบุตรของพระเจ้า ข้าแต่พระ วจนาตถ์ของพระเจ้า ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าแต่พระผู้ไถ่กู้ ลูกแกะพระเจ้า ข้าแต่พระมหากษัตริย์ ข้าแต่พระบุตรสุดที่รัก ข้าแต่พระบุตรของพระนางพรหมจารี ข้าแต่ผู้อภิบาลที่ดี ชีวิตของข้าพเจ้าทั้งหลาย แสงสว่างของข้าพเจ้าทั้งหลาย ความหวังของข้าพเจ้าทั้งหลาย การกลับคืนชีพของข้าพเจ้าทั้งหลาย มิตรของมวลมนุษย์ ฯลฯ
ยน 9:22 เพราะกลัวชาวยิว : ให้ดูคำอธิบายของ ยน 7:11-13 ถูกขับออกจากศาลาธรรม : เป็นสำนวนของชาวยิวที่หมายถึงการตัดออกจากศาสนา
พระเยซูเจ้าและอิสราเอล
CCC ข้อ 575 การกระทำและพระวาจาในหลายกรณีจึงเป็น “เครื่องหมายแห่งการต่อต้าน” สำหรับผู้นำทางศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งพระวรสารของยอห์นเรียกบ่อยๆ ว่า “ชาวยิว” มากกว่าสำหรับสามัญชนประชากรของพระเจ้าโดยทั่วไป โดยแท้จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของพระองค์กับชาวฟาริสีมิได้มีแต่ความขัดแย้งกันเสมอไปเท่านั้น ชาวฟาริสีบางคนทูลเตือนพระองค์ถึงอันตรายที่พระองค์กำลังจะต้องเผชิญ พระองค์ทรงกล่าวชมพวกเขาบางคน เช่นธรรมาจารย์ที่ มก 12:34 กล่าวถึง และหลายครั้งทรงรับเชิญไปเสวยพระกระยาหารที่บ้านของชาวฟาริสี พระองค์ทรงยืนยันคำสอนที่กลุ่มศาสนาพิเศษในประชากรของพระเจ้ากลุ่มนี้ยอมรับเป็นคำสอนของตน เช่นคำสอนเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย รูปแบบต่างๆ เพื่อแสดงความเลื่อมใสศรัทธา (การให้ทานการอธิษฐานภาวนาและการจำศีลอดอาหาร และธรรมเนียมเรียกพระเจ้าเป็นพระบิดาและกำหนดว่าความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นบทบัญญัติสำคัญที่สุด
ผู้นำชาวยิวมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
CCC ข้อ 596 บรรดาผู้นำศาสนาที่กรุงเยรูซาเล็มมีความเห็นไม่ตรงกันถึงวิธีการที่จะต้องใช้เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า ชาวฟาริสีข่มขู่จะลงโทษผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์ สำหรับผู้ที่กลัวว่า “ทุกคนจะเชื่อเขา แล้วชาวโรมันก็จะมาทำลายทั้งพระวิหารและชนชาติของเรา” (ยน 11:48) มหาสมณะคายาฟาสประกาศพระวาจาเสนอแนะว่า “ถ้าคนคนเดียวจะตายเพื่อประชาชนจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่ชนทั้งชาติจะต้องพินาศไป” (ยน 11:50) เมื่อสภาซันเฮดรินตัดสินว่าพระเยซูเจ้ามีความผิดสมควรต้องตายเพราะดูหมิ่นพระเจ้า แต่เขาไม่มีอำนาจประหารชีวิตผู้ใดได้จึงมอบพระองค์แก่ชาวโรมันโดยกล่าวหาว่าพระองค์ยุยงประชาชนให้เป็นกบฏ ข้อกล่าวหานี้จะนำพระองค์มาเทียบกับบารับบัสที่มีความผิด “เพราะก่อการจลาจล” (ลก 23:19) บรรดาหัวหน้าสมณะยังข่มขู่ปีลาตด้วยข้อหาทางการเมืองเพื่อให้ปีลาตตัดสินประหารชีวิตพระเยซูเจ้า
ยน 9:24-41 ชาวฟาริสีมั่นใจว่าพระคริสตเจ้าทรงละเลยธรรมบัญญัติ พวกเขาดื้อรั้นไม่ยอมรับรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า จึงหาหลายเหตุผลไร้สาระเพื่ออธิบายถึงการรักษาชายคนนั้น การที่พวกเขาขับไล่ชายผู้มองเห็นได้แล้วนี้ไปจากศาลาธรรมเป็นการกระทำที่ไม่หมายถึงเพียงแค่การขับไล่ไปจากสถานที่สำหรับนมัสการเท่านั้น แต่มีความหมายถึงการตัดเขาออกจากศาสนาเลยทีเดียว
พระเยซูเจ้าและอิสราเอล
CCC ข้อ 574 นับตั้งแต่แรกที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศน์สอนประชาชน ชาวฟาริสีและพรรคพวกของกษัตริย์เฮโรด รวมทั้งบรรดาสมณะและธรรมาจารย์ ได้ประชุมปรึกษากันว่าจะกำจัดพระองค์ได้อย่างไร เพราะกิจการบางอย่างที่ทรงกระทำ เช่น การขับไล่ปีศาจ การอภัยบาป การรักษาคนเจ็บป่วยในวันสับบาโต การที่ทรงตีความตามแบบของพระองค์เกี่ยวกับกฎเรื่องการมีมลทินหรือไม่มี การที่ทรงคบค้ากับคนเก็บภาษีเพื่อรัฐบาลโรมและคนบาป บางคนที่มีเจตนาร้ายได้ตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ยังทรงถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระเจ้า และเป็นประกาศกเทียม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความผิดทางศาสนาที่ธรรมบัญญัติกำหนดโทษให้ประหารชีวิตโดยใช้ก้อนหินทุ่มให้ตาย
ยน 9:24 จงถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด : เป็นคำประกาศของชายตาบอดซึ่งกล่าวด้วยความชื่นชมยินดีที่ได้บอกความจริง (เทียบ ยชว 7:19) การออกพระนามพระเจ้าในการสาบานเท็จหรือด้วยเหตุผลที่ไม่เหมาะสมล้วนเป็นบาปหนักผิดต่อพระบัญญัติประการที่สอง
พระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์
CCC ข้อ 2149 การสาบาน ที่นำพระนามของพระเจ้าเข้ามาแทรกไว้ด้วย แม้จะไม่มีเจตนาที่จะกล่าวดูหมิ่นพระเจ้า ก็เป็นการขาดความเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พระบัญญัติประการที่สองยังห้ามการใช้พระนามของพระเจ้าในเวทย์มนต์คาถาด้วย “ที่ใดมีการออกพระนามของพระผู้ทรงมหิทธานุภาพ ที่นั่นพระนามของพระเจ้าย่อมยิ่งใหญ่ ในทำนองเดียวกัน ที่ใดที่มีการออกพระนามด้วยความเคารพและยำเกรงไม่กล้าทำผิด ก็ย่อมกล่าวได้ว่าที่นั่นพระนามของพระองค์ศักดิ์สิทธิ์”
การกล่าวพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่เหมาะสม
CCC ข้อ 2150 พระบัญญัติประการที่สองห้ามการสาบานเท็จ การสาบานคือการนำพระเจ้ามาเป็นพยานในเรื่องที่ตนกล่าวยืนยัน เป็นการเรียกความสัตย์จริงของพระเจ้ามาเป็นประกันว่าตนพูดความจริง การสาบานนำพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาใช้ “ท่านจะต้องยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน ท่านจะต้องกราบไหว้พระองค์และสาบานโดยออกพระนามพระองค์เท่านั้น” (ฉธบ 6:13)
CCC ข้อ 2151เป็นหน้าที่ต่อพระเจ้า ที่จะไม่ยอมรับการสาบานเท็จ พระเจ้าในฐานะพระผู้เนรมิตสร้างและองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นกฎของความจริงทุกประการ ถ้อยคำของมนุษย์สอดคล้องหรือขัดแย้งกับพระเจ้าผู้ทรงเป็นความจริง การสาบาน ถ้าจริงและถูกต้อง เน้นว่าถ้อยคำของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับความจริงของพระเจ้า การสาบานเท็จเรียกพระเจ้าให้มาเป็นพยานยืนยันคำมุสา
CCC ข้อ 2152 ผู้ที่สัญญาด้วยการสาบาน โดยไม่มีเจตนาจะปฏิบัติตาม หรือหลังจากสัญญาโดยสาบานแล้วไม่ถือคำสัญญานั้น ก็เป็นผู้ทวนสาบาน (ผิดคำสาบาน) การทวนสาบานนับเป็นความผิดหนักเพราะขาดความเคารพต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของคำพูดทั้งหลาย การผูกมัดตนเองด้วยคำสาบานว่าจะทำชั่วขัดกับความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนามของพระเจ้า
CCC ข้อ 2153 ระเยซูเจ้าทรงอธิบายพระบัญญัติประการที่สองนี้ในบทเทศน์บนภูเขา “ท่านได้ยินคำกล่าวแก่คนโบราณว่า อย่าผิดคำสาบาน แต่จงทำตามที่ได้สาบานไว้ต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย [...] ท่านจงกล่าวเพียงว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ คำพูดที่มากไปกว่านั้นมาจากมารร้าย” (มธ 5:33-34,37)พระเยซูเจ้าทรงสอนว่าคำสาบานทั้งหลายหมายถึงความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเราต้องให้เกียรติแก่การประทับอยู่ของพระเจ้าและความจริงของพระองค์ในคำพูดทุกคำ เราต้องระวังตัวกล่าวอ้างถึงพระเจ้าแต่พอควรพร้อมกับให้ความเคารพต่อการประทับอยู่ของพระองค์ซึ่งเราเป็นพยานถึงหรือลบหลู่ในคำพูดทุกคำของเรา
CCC ข้อ 2154 ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรปฏิบัติตามตัวอย่างของนักบุญเปาโล เข้าใจว่าพระวาจาของพระเยซูเจ้าไม่ขัดกับการสาบานถ้าการนี้มีเหตุผลสมควร (เช่น ในศาล) “การสาบาน นั่นคือการเรียกขานพระนามของพระเจ้ามาเป็นพยานความจริง ทำไม่ได้ เว้นแต่ด้วยความจริง ในการพิพากษา และในเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรม”
CCC ข้อ 2155 ความศักดิ์สิทธิ์ของพระนามพระเจ้าเรียกร้องไม่ให้สาบานในเรื่องไม่สำคัญ และไม่ควรสาบานในกรณีที่การสาบานอาจเข้าใจได้ว่าเป็นการรับรองอำนาจที่เรียกร้องให้สาบานอย่างอยุติธรรม เราอาจปฏิเสธไม่ยอมสาบานได้เมื่อการสาบานถูกเรียกร้องจากอำนาจปกครองบ้านเมืองที่ไม่ถูกต้อง เราต้องปฏิเสธไม่ยอมสาบาน ถ้าถูกขอร้องให้สาบานเพื่อจุดประสงค์ที่ขัดกับศักดิ์ศรีของบุคคลหรือชุมชนของพระศาสนจักร
ยน 9:31 ผู้ที่ยำเกรงพระองค์และปฏิบัติตามพระประสงค์ : ยิ่งเราทำให้ความต้องการของเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้ามากเท่าใด คำอธิษฐานภาวนาของเราก็จะบังเกิดผลมากขึ้นเพียงนั้น
“พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”
CCC ข้อ 2827 “พระเจ้าทรงฟัง [...] ผู้ที่ [...] ปฏิบัติตามพระประสงค์เท่านั้น” (ยน 9:31) การอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรเดชะพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะในพิธีบูชาขอบพระคุณ ทรงพลังอย่างยิ่ง การอธิษฐานภาวนานี้ยังเป็นการวอนขอร่วมกับพระมารดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเจ้า และร่วมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เคยเป็น “ที่โปรดปราน” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าเพราะเขาเหล่านี้ไม่ได้ปรารถนาอะไรอื่นนอกจากพระประสงค์ของพระองค์ “ไม่มีอะไรผิดจากความจริงเมื่อเราเข้าใจว่า ‘พระประสงค์จงสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์’ มีความหมายเหมือนกับว่า ‘สำเร็จในพระศาสนจักรเหมือนในองค์พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา’ เหมือนดังในบุรุษผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดา และในสตรีที่เป็นเจ้าสาวของพระองค์”
ยน 9:34 เกิดมาในบาปทั้งตัว : พระศาสนจักรสอนว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับบาปกำเนิดซึ่งเป็นผลตามมาจากบาปของอาดัม ยกเว้นในกรณีเดียวของพระนางมารีย์เท่านั้น สิ่งนี้ต่างจากบาปปัจจุบันส่วนตัวของแต่ละคน ทั้งบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวทั้งหมดล้วนได้รับการชำระล้างจนหมดสิ้นในศีลล้างบาป
บาปแรกของมนุษย์
CCC ข้อ 397 มื่อมนุษย์ถูกปีศาจทดลอง เขายอมให้ความไว้วางใจที่เขามีต่อพระผู้สร้างตายไปในใจ และใช้เสรีภาพของเขาอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ได้เชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้า นี่คือสาระของบาปแรกของมนุษย์ บาปทั้งหลายที่ตามมาจะเป็นการไม่เชื่อฟังพระเจ้าและการขาดความไว้วางใจต่อความดีของพระองค์
CCC ข้อ 398 ในบาปนี้ มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ตนเองมากกว่าแก่พระเจ้า และโดยการนี้ยังดูหมิ่นพระองค์ เขาเลือกตนเอง ต่อต้านพระเจ้า ต่อต้านเงื่อนไขจำเป็นของสถานะความเป็นสิ่งสร้างของตน และดังนี้จึงต่อต้านผลดีสำหรับตนเอง มนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างมาในสถานะความศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงกำหนดเขาไว้เพื่อจะรับ “การร่วมพระเทวภาพ” ในพระสิริรุ่งโรจน์อย่างสมบูรณ์ แต่เขาถูกปีศาจหลอกลวง อยาก “เป็นเหมือนพระเจ้า” “แต่โดยไม่มีพระเจ้า นอกเหนือพระเจ้า และไม่ตามแผนของพระเจ้า”
CCC ข้อ 399 พระคัมภีร์แสดงให้เห็นผลของการไม่เชื่อฟังครั้งแรกนี้ อาดัมและเอวาสูญเสียพระหรรษทานความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมทันที เขากลัวพระเจ้าที่เขามีภาพลักษณ์ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระองค์ คิดว่าพระองค์ทรงหวงแหนอภิสิทธิ์ส่วนพระองค์
CCC ข้อ 400 ความกลมกลืนที่เป็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์เนื่องมาจากความชอบธรรมดั้งเดิมถูกทำลาย สมรรถนะที่จิตวิญญาณจะควบคุมร่างกายต้องพังทลายลง การอยู่ร่วมกันของชายกับหญิงตกอยู่ในความตรึงเครียด ความสัมพันธ์ระหว่างเขาทั้งสองคนจะมีลักษณะของความใคร่และการเป็นนายปกครอง ความกลมกลืนกับสิ่งสร้างก็ถูกทำลายลง สิ่งสร้างที่เรามองเห็นกลายเป็นสิ่งที่แตกต่างและเป็นศัตรูกับมนุษย์ เพราะมนุษย์สิ่งสร้างทั้งหลายจึงตกเป็นทาสของความเสื่อมสลาย ในที่สุด ผลของการไม่เชื่อฟังที่พระเจ้าตรัสล่วงหน้าไว้อย่างชัดเจน ก็จะเกิดขึ้นจริง มนุษย์จะกลับเป็นฝุ่นดิน เพราะเขาถูกปั้นมาจากดิน ความตายจึงเข้ามาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
CCC ข้อ 401 หลังจากบาปแรก บาปก็ “เข้ามารุกราน” ทั่วโลกอย่างแท้จริง กาอินฆ่าอาแบลน้องชาย ความเสื่อมทรามทั่วโลกเป็นผลตามมาของบาป บาปแสดงตัวออกมาบ่อยๆ แม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล โดยเฉพาะในรูปของความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแห่งพันธสัญญาและในฐานะการฝ่าฝืนธรรมบัญญัติของโมเสส แม้กระทั่งหลังจากการไถ่กู้โดยพระคริสตเจ้าแล้ว ในหมู่คริสตชน บาปก็ยังแสดงตัวในแบบต่างๆ มากมาย พระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรไม่เคยหยุดเตือนเลยให้ระลึกว่าบาปมีอยู่ทั่วไปในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ “เรื่องราวที่พระเจ้าทรงเปิดเผยให้เรารู้สอดคล้องกับประสบการณ์ด้วย เมื่อมนุษย์เราสำรวจดูจิตใจของตนก็พบว่าตนมีความโน้มเอียงไปหาความชั่วและยังจมอยู่ในความชั่วร้ายมากมาย ซึ่งไม่อาจมาได้จากพระผู้สร้างที่ดีของตน เมื่อมนุษย์ปฏิเสธไม่ยอมรับพระเจ้าเป็นปฐมเหตุของตน รวมทั้งไม่ยอมรับระเบียบที่ทรงจัดไว้เพื่อมุ่งไปหาจุดหมายสุดท้ายของตน เขาก็ยังทำลายทั้งระเบียบที่ถูกจัดไว้สำหรับตนหรือต่อเพื่อนมนุษย์และต่อสิ่งสร้างทั้งมวลในเวลาเดียวกันด้วย”
ผลจากบาปของอาดัมต่อมนุษยชาติ
CCC ข้อ 402 มนุษย์ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบาปของอาดัมด้วย นักบุญเปาโลกล่าวยืนยันไว้ดังนี้ “มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาปเพราะความไม่เชื่อฟังของมนุษย์เพียงคนเดียว” (รม 5:19) “บาปเข้ามาในโลกเพราะมนุษย์คนเดียว และความตายเข้ามาเพราะบาปฉันใด ความตายก็แพร่กระจายไปถึงมนุษย์ทุกคนเพราะทุกคนทำบาปฉันนั้น....” (รม 5:12) ท่านอัครสาวกยังกล่าวถึงการที่มนุษย์ทั้งมวลได้รับความรอดพ้นในพระคริสตเจ้าควบคู่กันกับการที่มนุษย์ทุกคนทำบาปด้วย “การล่วงละเมิดของมนุษย์คนเดียวเป็นเหตุให้มนุษย์ทุกคนถูกลงโทษฉันใด กิจการชอบธรรมของมนุษย์คนเดียวก็นำความชอบธรรมที่บันดาลชีวิตมาให้มนุษย์ทุกคนฉันนั้น” (รม 5:18)
CCC ข้อ 403 พระศาสนจักรดำเนินตามคำสอนของนักบุญเปาโล ยังสอนอยู่ตลอดเวลาถึงความน่าสงสารยิ่งใหญ่ที่ครอบงำมนุษย์ และความโน้มเอียงของมนุษย์ต่อความชั่วร้ายและความตายก็อธิบายไม่ได้ถ้าความโน้มเอียงเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับบาปของอาดัม และกับความจริงที่ว่าเขาถ่ายทอดบาปมาถึงเราที่ทุกคนเกิดมาโดยรับผลกระทบของบาปซึ่งเป็น “ความตายของวิญญาณ” ด้วย จากความเชื่อมั่นนี้พระศาสนจักรจึงประกอบพิธีศีลล้างบาปแก่ทารกที่ยังไม่ได้ทำบาปส่วนตัวของตนด้วย
CCC ข้อ 404 บาปของอาดัมเป็นบาปที่มีผลต่อลูกหลานทุกคนของเขาได้อย่างไร มนุษยชาติทั้งมวลเป็น “เสมือนร่างกายของมนุษย์คนเดียว” ในอาดัม เนื่องจาก “เอกภาพของมวลมนุษย์” เช่นนี้ มนุษย์ทุกคนย่อมมีส่วนร่วมกับบาปของอาดัมเช่นเดียวกับที่ทุกคนมีส่วนร่วมกับความชอบธรรมของพระคริสตเจ้าด้วย ถึงกระนั้น การที่บาปกำเนิดถ่ายทอดต่อมานั้นก็ยังเป็นธรรมล้ำลึกที่เราไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด แต่อาศัยการเปิดเผย เรารู้ว่าอาดัมได้รับความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมแรกเริ่มไม่ใช่เพื่อตนเองเท่านั้น แต่เพื่อมนุษยชาติทั้งมวลด้วย เมื่ออาดัมและเอวาหลงเชื่อผู้ล่อลวง ทั้งสองทำบาป “ส่วนตัว” แต่บาปนี้มีผลกระทบต่อธรรมชาติมนุษย์ ที่เขาจะถ่ายทอด“สภาพที่ตกอยู่ในบาป”ต่อมาถึงลูกหลาน เป็นบาปที่จะถูกถ่ายทอดต่อมาสู่มนุษยชาติทั้งมวลโดยการแพร่พันธุ์ นั่นคือโดยการส่งต่อธรรมชาติมนุษย์ที่สูญเสียความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิมไปแล้ว เพราะเหตุนี้ บาปกำเนิดจึงได้ชื่อว่า “บาป” ในแบบอุปมา (analogical sense) เท่านั้น คือเป็นบาปที่ “ติดต่อกันมา” ไม่ใช่บาปที่ตนทำ คือเป็น “สภาพ” ไม่ใช่เป็น “การกระทำ”
CCC ข้อ 405 บาปกำเนิด แม้จะเป็นบาปของแต่ละคน ก็ไม่มีลักษณะเป็นความผิดส่วนตัวในลูกหลานคนใดของอาดัม เป็นการขาดความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมดั้งเดิม แต่ธรรมชาติมนุษย์ก็มิได้เสื่อมทรามไปทั้งหมด แต่ก็เป็นธรรมชาติที่บาดเจ็บในพลังเฉพาะของตน อยู่ใต้อำนาจของอวิชา ความเจ็บปวดและความตาย ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะทำบาป (แนวโน้มต่อความชั่วนี้เรียกว่า “ความใคร่”) ศีลล้างบาปประทานชีวิตพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า ทำลายบาปกำเนิดและหันมนุษย์กลับมาหาพระเจ้า แต่ผลของบาปกำเนิดต่อธรรมชาติที่อ่อนแอลงและโน้มหาความชั่วนั้นยังคงอยู่ในมนุษย์และชวนให้เขาต้องต่อสู้ด้านจิตใจ
CCC ข้อ 406 คำสอนของพระศาสนจักรเรื่องการถ่ายทอดบาปกำเนิดได้รับคำอธิบายชัดเจน โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 5 ภายใต้อิทธิพลการคิดคำนึงของนักบุญออกัสตินต่อสู้กับคำสอนของลัทธิเป-ลาเจียน และในศตวรรษที่ 16 ก็ได้รับการยืนยันต่อสู้กับการปฏิรูปของลัทธิโปรเตสแตนท์ เป-ลาจีอัสสอนว่ามนุษย์อาจดำเนินชีวิตที่ดีด้านจริยะโดยพลังเจตนาอิสระเสรีตามธรรมชาติของตนได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งความช่วยเหลือของพระหรรษทาน ดังนี้เขาจึงทำให้อิทธิพลความผิดของอาดัมเป็นเพียงตัวอย่างไม่ดีเท่านั้น ตรงกันข้าม นักปฏิรูปศาสนาชาวโปรเตสแตนท์รุ่นแรกๆ สอนว่าเพราะบาปกำเนิด มนุษย์เสื่อมทรามถึงที่สุดและไม่มีอิสระเสรีเหลืออยู่เลย เขาเหล่านั้นคิดว่าบาปที่มนุษย์แต่ละคนได้รับตกทอดต่อกันมาเป็นมรดกนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับความโน้มเอียงไปหาความชั่ว (ความใคร่) ซึ่งเราไม่อาจเอาชนะได้ พระศาสนจักรประกาศถึงความหมายของข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยเรื่องบาปกำเนิดในสภาสังคายนาที่เมืองโอเรนจ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ. 529 และในสภาสังคายนาที่เมืองเตรนท์เมื่อปี ค.ศ. 1546
การต่อสู้ที่หนักหน่วง.....
CCC ข้อ 407 คำสอนเรื่องบาปกำเนิด – ที่เกี่ยวข้องกับคำสอนเรื่องการไถ่กู้โดยอาศัยพระคริสตเจ้า – เปิดโอกาสให้เราพิจารณาได้อย่างชัดเจนถึงสภาพของมนุษย์และกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในโลก เพราะบาปของบิดามารดาเดิม ปีศาจได้มีอำนาจบางอย่างเหนือมนุษย์ แม้ว่ามนุษย์ก็ยังคงมีอิสระเสรีอยู่อีก บาปกำเนิดนำ “การทำให้มนุษย์เป็นทาสอยู่ใต้อำนาจของผู้นั้น ‘ซึ่งมีอำนาจเหนือความตาย’ ซึ่งได้แก่ปีศาจ” มากับตนด้วย การไม่รู้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่บาดเจ็บ มีความโน้มเอียงไปหาความชั่วเปิดโอกาสแก่ความหลงผิดอย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องการอบรม เรื่องการเมือง กิจกรรมด้านสังคม และจริยธรรม
CCC ข้อ 408 ผลตามมาของบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวของมนุษย์ทุกคนนำสภาพบาปมาให้โลกในส่วนรวม สภาพที่อาจเรียกได้โดยใช้สำนวนของนักบุญยอห์นว่า “บาปของโลก” (ยน 1:29) วลีนี้ยังหมายถึงอิทธิพลด้านลบที่สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนและโครงสร้างด้านสังคม ซึ่งเป็นผลจากบาปของมนุษย์ มีอิทธิพลต่อมนุษย์แต่ละคนด้วย
เพื่ออภัยบาป......
CCC ข้อ 1263 อาศัยศีลล้างบาป บาปทุกประการได้รับอภัย คือ บาปกำเนิด และบาปทุกประการที่แต่ละคนได้ทำ โทษทุกประการของบาปก็ได้รับอภัยด้วย[61] อันที่จริงในผู้ที่ได้เกิดใหม่(ด้วยศีลล้างบาป)แล้ว ก็ไม่เหลือสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคไม่ให้เขาเข้าในพระอาณาจักรของพระเจ้าได้ ทั้งบาปของอาดัม ทั้งบาปส่วนตัวของเขา รวมทั้งผลต่างๆ ของบาปด้วย ผลร้ายแรงที่สุดของบาปก็คือการแยกจากพระเจ้า
ยน 9:35-38 พระคริสตเจ้า แสงสว่างของโลก มิเพียงทรงเปิดตาของชายนี้เท่านั้น แต่ทรงส่องสว่างจิตและใจของเขาด้วย เขาจึงสามารถประกาศยืนยันถึงความเชื่อในความเป็นพระเจ้าของพระคริสตเจ้า เป็นการแสดงให้เห็นว่าความทุกข์ทรมานและการรักษาให้หายสามารถนำสู่การกลับใจได้
ความเจ็บป่วยในชีวิตมนุษย์
CCC ข้อ 1501 ความเจ็บป่วยอาจทำให้เรากังวลใจ ครุ่นคิดถึงแต่ตนเอง บางครั้งอาจทำให้เราหมดหวังและเคียดแค้นพระเจ้าได้ด้วย แต่ความเจ็บป่วยก็ยังอาจทำให้เราเป็นผู้มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น ช่วยให้รู้จักแยกแยะว่าในชีวิตสิ่งใดไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อจะมุ่งหาสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ บ่อยๆ ความเจ็บป่วยปลุกให้เราแสวงหาพระเจ้า กลับไปหาพระองค์
พระคริสตเจ้าทรงเป็นเสมือนนายแพทย์
CCC ข้อ 1505 พระคริสตเจ้าทรงสะเทือนพระทัยเพราะความเจ็บปวดมากมายเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทรงอนุญาตให้คนเจ็บป่วยสัมผัสพระองค์ได้ แต่ยังทรงทำให้ความน่าสงสารของเราเป็นของพระองค์ด้วย “พระองค์ทรงรับเอาความอ่อนแอของเราไว้ และทรงแบกความเจ็บป่วยของเรา” (มธ 8:17) พระองค์มิได้ทรงบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งหมด การที่ทรงบำบัดรักษาเป็นเครื่องหมายว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว เป็นการแจ้งถึงการบำบัดรักษาที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือแจ้งถึงชัยชนะต่อบาปและความตายโดยปัสกาของพระองค์ บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าทรงรับน้ำหนักทั้งหมดของความชั่วมาไว้กับพระองค์ และทรงแบก “บาปของโลก” ไว้ (ยน 1:29) ความเจ็บป่วยเป็นเพียงผลของบาปนี้เท่านั้น อาศัยพระทรมานและการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระคริสตเจ้าประทานความหมายใหม่ให้แก่ความทุกข์ ตั้งแต่นี้ไป ความทุกข์อาจทำให้เราเป็นเหมือนพระองค์และอาจมีส่วนร่วมกับพระทรมานเพื่อไถ่กู้ของพระองค์ด้วย
ยน 9:39-41 พระคริสตเจ้าทรงอธิบายโดยชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างชายตาบอดกับชาวฟาริสี ผู้ใดแสวงหาความจริงอย่างถ่อมตนจะได้รับแสงสว่างแห่งความเชื่อ แต่ผู้หยิ่งยโสและไม่ยอมกลับใจย่อมอยู่ในความมืดบอดแห่งความจริง
พระเยซูเจ้าและความเชื่อของอิสราเอลในพระเจ้าและพระผู้ไถ่กู้หนึ่งเดียว
CCC ข้อ 588 พระเยซูเจ้าทรงทำให้ชาวฟาริสีไม่พอใจเมื่อเสวยร่วมโต๊ะกับคนเก็บภาษีและคนบาปอย่างคุ้นเคยเช่นเดียวกับเมื่อทรงร่วมโต๊ะกับพวกเขา พระเยซูเจ้าทรงยืนยันไม่เห็นด้วยกับ “ผู้ที่ภูมิใจว่าตนเป็นผู้ชอบธรรมและดูหมิ่นผู้อื่น” (ลก 18:9) ตรัสว่า “เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาปให้กลับใจ” (ลก 5:32) พระองค์ยังทรงก้าวไปไกลยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อทรงประกาศอย่างเปิดเผยต่อหน้าชาวฟาริสีว่า ในเมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป พวกเขาที่คิดว่าตนไม่ต้องการ การกอบกู้ย่อมทำตนเป็นคนตาบอด
(จากหนังสือ THE DIDACHE BIBLE with commentaries based on the Catechism of the Catholic Church, Ignatius Bible Edition)